7 ต.ค. 2021 เวลา 08:48 • กีฬา
🟠 ตอนที่ 8 เกร็ดความรู้ เรื่องส้นเท้าครับ 😁
1
เกร็ดความรู้เรื่องส้นเท้า
🔷️ เรายังอยู่กับหนังสือเล่มเดิม Injury-free running, 2nd edition โดย Tom Michaud, 2021 นะครับ โดยวันนี้จะพูดถึงหนึ่งในอวัยวะสำคัญของการวิ่ง ก็คือส้นเท้านะครับ
injury-running free, 2nd edition
🔷️ ส้นเท้านั้น จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนหลัก ๆ คือ กระดูกส้นเท้า (calcaneus) และส่วนของชั้นไขมันที่รับแรงกระแทกครับ (fat pad)
1. กระดูกส้นเท้า หรือเรียกชื่อว่า calcaneus เป็นกระดูกที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งถูกธรรมชาติออกแบบมาอย่างพิเศษ เพื่อให้สามารถรับแรงกระแทกได้แบบดีมาก ๆ คือชั้นนอกจะเป็นกระดูกแข็งที่มีลักษณะเป็นแผ่นหนา (cortical bone) มีความหนาประมาณเท่า ๆ กับกระดาษแข็ง ส่วนชั้นในนั้น จะมีลักษณะเป็นโพรงกระดูก (cancellous หรือ spongy bone ซึ่งมีการเรียงตัวของเนื้อกระดูกในลักษณะที่รับแรงได้ดี และด้วยความที่มีลักษณะเป็นโพรง มีรูพรุนมาก ๆ จะทำให้เลือดสามารถเข้ามาเลี้ยงกระดูกส่วนนี้ได้เยอะ ส่งผลดีต่อการสร้าง และซ่อมแซมส่วนที่มีการสึกหรอ หรือเสียหายจากการใช้งานได้ดีอีกด้วยครับ
โครงสร้างกระดูกส้นเท้า ชั้นนอกเป็นเปลือกแข็ง ด้านในเป็นกระดูกที่มีลักษณะเป็นโพรง
2. ส่วนของชั้นไขมัน ที่เรียกว่า fat pad นั้น มีความหนาประมาณ 19 มม. จะแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือชั้นใน และชั้นนอก
โครงสร้าง fat pad ของส้นเท้า และการความยืดหยุ่นเมื่อรับแรงกระแทก
🔸️ ชั้นใน เป็นชั้นไขมันที่มีความยืดหยุ่นสูง มีโครงสร้างเป็นแบบ macrochamber ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างตามจังหวะลงเท้า และสามารถดูดซับแรงกระแทกได้ดี ถ้าเทียบกับ Sorbothane ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่ผลิตมาเพื่อเป็นอุปกรณ์เสริมรองเท้าที่สามารถรับแรงกระแทกดีที่สุดเท่าที่มีในท้องตลาดตอนนี้ จะพบว่า ส้นเท้าของเรามีความสามารถมากกว่าเกิน 2 เท่าเสียอีกครับ
🔸️ ชั้นนอก เป็นชั้นไขมันที่มีความยืดหยุ่นน้อย มีโครงสร้างแบบ microchamber ไม่ค่อยมีความสามารถในการดูดซับแรงกระแทก มีคุณสมบัติเด่นด้านการคงรูป คอยโอบอุ้มชั้นในให้คงรูปอยู่ตามธรรมชาติได้
🔷️ มีการศึกษาโดยใช้เครื่องเอกซเรย์ดูส้นเท้า ในช่วงขณะที่รับแรงกระแทกจากการเดิน และการวิ่งจะพบว่า
ภาพ xray แสดงการศึกษาการยุบตัวของ fat pad ขณะ heel strike
🔸️ ในขณะเดิน ช่วง heel strike ชั้น fat pad จะมีการยุบตัวลงประมาณ 40% และรับแรงกระแทกประมาณ 20% ของทั้งหมดจากการที่มี heel strike (ส่วนที่เหลือ จะแบ่ง ๆ กัน กระจายไปตามกระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้ออื่น ๆ ครับ)
🔸️ ตอนวิ่ง จะมีแรงกระแทกในแนวดิ่ง (vertical force) เพิ่มขึ้นประมาณ 3-5 เท่า เมื่อสังเกตดูการยุบตัวของ fat pad ใน 2 สถานการณ์นี้ จะพบว่า
1. เมื่อวิ่งเท้าเปล่า จะมีการยุบตัวของ fat pad ประมาณ 60%
2. เมื่อใส่รองเท้าวิ่ง จะมีการยุบตัวของ fat pad ประมาณ 35% (พอ ๆ กับตอนเดินเลยครับ)
🔷️ จะเห็นว่า fat pad เป็นส่วนสำคัญมาก ในการรับแรงกระแทกในจังหวะ Heel strike แต่อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ กล้ามเนื้อน่อง ทั้งทางด้านหน้า และด้านหลัง ซึ่งถ้ามีความแข็งแรงมาก จะส่งผลทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระการดูดซับแรงกระแทกนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน
🔸️ ถ้าจะยกตัวอย่างให้เข้าใจมากขึ้น ลองนึกนึกภาพเวลาเรารับลูกบอลที่โยนเข้ามาหาเราด้วยความแรง ถ้าเราเหยียดแขนรับตรง ๆ แรงกระแทกจะกระทบที่ฝ่ามือเราเต็ม ๆ แต่หากเรารับในท่าที่ค่อย ๆ งอแขนผ่อนแรง (ซึ่งต้องอาศัยกำลังกล้ามเนื้อต้นแขนที่แข็งแรงเพียงพอ)
การรับบอลที่มากระแทก เมื่อใช้กล้ามเนื้อแขนช่วยดูดซับแรง จะทำให้แรงกระแทกลดลง
🟠 โดยสรุปนะครับ ในแง่ของการรับแรงกระแทกช่วง heel strike นั้น กระดูกส้นเท้า + fat pad เป็นอวัยวะถูกธรรมชาติออกแบบ สร้างมาให้รับหน้าที่นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งปริมาณแรงมากน้อยที่มากระแทกนั้นจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความเร็ว ท่าวิ่ง ระยะก้าว หรือท่าของการวางเท้าเป็นต้น การวิ่งเท้าเปล่า หรือการวิ่งด้วย minimalist shoes แล้วลงเท้าแบบ heel strike จะทำให้มีแรงกระแทกที่ส้นเท้ามากขึ้น อาจทำให้มีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่กล้ามเนื้อเท้า และน่องไม่แข็งแรงครับ
🏃‍♂️ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการวิ่งนะครับ 🙂
โฆษณา