14 ต.ค. 2021 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
เจาะอุตสาหกรรมชาส่านซี โมเดลยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร สู่ผลิตภัณฑ์ส่งออกทั่วโลก
1
หากเอ่ยถึง อุตสาหกรรมชาจีนที่ผู้อ่านอาจจะคุ้นเคยกับชาจากมณฑลฝูเจี้ยนหรือจากมณฑลเจ้อเจียง ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ผู้อ่านหลายท่านอาจยังไม่ทราบว่า แท้จริงแล้ว เบื้องหลังพื้นที่อันกว้างใหญ่ของจีน ล้วนมีทรัพย์ในดินที่เหมาะแก่การปลูกพืชรวมไปถึงชาให้มีคุณสมบัติโดดเด่น มณฑลส่านซีก็เช่นกัน นอกจากจะมีชื่อเสียงในการเป็นแหล่งปลูกผลไม้เมืองหนาวแล้ว ยังเป็นแหล่งปลูกและแปรรูปชาเขียวที่สำคัญอีกด้วย โดยขอเริ่มจากภาพรวมอุตสาหกรรมชาของประเทศไทยก่อน
1
ภาพรวมอุตสาหกรรมชาในประเทศไทย
ชาเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกชา ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย ระบุว่า
1.ชาที่ปลูกในไทยส่วนใหญ่เป็นชาพันธุ์อัสสัม (Assam Tea) และพันธุ์ชาจีน (Chinese Tea) และเมื่อแบ่งตามกระบวนการผลิตจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ (ก) ชาเขียว (Green tea) ไม่ผ่านกระบวนการหมัก โดยจะนำใบชาที่เก็บได้มาคั่วบนกระทะร้อน แล้วนำไปนวดและอบแห้ง สีของน้ำชาจะมีสีเขียวถึงเขียวอมเหลือง (ข) ชาอู่หลง (Oolong tea) ผ่านกระบวนการหมักเพียงบางส่วน โดยการผึ่งแดดแล้วนำไปผึ่งในที่ร่ม ซึ่งเป็นกระบวนการหมักที่ทำให้เกิดสารที่มีกลิ่นและสีที่แตกต่างไปจากชาเขียว โดยน้ำชาอูหลงจะมีสีเหลืองอมเขียว และสีน้ำตาลอมเขียว และ (ค) ชาดำ (Black tea) ผ่านกระบวนการหมักอย่างสมบูรณ์ ทำให้ชาดำมีสีน้ำตาลแดง
2. ในไทยนิยมใช้ชาพันธุ์ชาอัสสัมมาผลิตเป็นชาดำ ชาเขียว และชาไทย ในขณะที่พันธุ์ชาจีนนิยมนำมาผลิต เป็นชาอูหลง ชาเขียว และชาแดง (ชาฝรั่ง) ปัจจุบันการปลูกชาพันธุ์อัสสัมในไทยมีมากกว่าการปลูกชาพันธุ์จีน
3. ในปี 2562 ไทยสามารถผลิตชาอัสสัมได้ 93,875 ตัน หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของผลผลิตทั้งหมด ในขณะที่ผลิตชาจีนได้ 9,039 ตัน คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 (ผลผลิตชารวมในปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 จากปี 2561) ทั้งนี้ เป็นผลผลิตใช้ในประเทศร้อยละ 85 และส่งออกเพียงร้อยละ 15
4. แม้แต่การส่งออกชาและผลิตภัณฑ์ชาของไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคิดเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ส่งออกหลักของโลกอย่างจีน ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากต้นทุนการผลิตและราคาของไทยสูงกว่าประเทศในเอเซีย ทำให้ความสามารถใน การแข่งขันค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเกษตรกรไทยในบางพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการผลิตชาให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการ จึงจำเป็นต้องมีการการปรับตัวปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตรวมไปถึงการหาช่องทางการจำหน่ายรูปแบบใหม่ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมชาของไทยขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีศักยภาพ
วันนี้ ศูนย์ BIC ซีอานจะพาทุกท่านไปรู้จักยอดชา 4 ประเภทที่รัฐบาลส่านซีใช้เป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร แก้ไขปัญหาความยากจน โดยยกระดับบรรจุภัณฑ์และสร้างแบรนด์ที่ใช้ร่วมกันเพื่อความเป็นเอกภาพในการทำตลาดเพื่อส่งออกสู่ต่างประเทศ
มองจีน เรียนรู้ แล้วย้อนมากลับมาพัฒนา
อุตสาหกรรมชาของจีนเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมหลักของภาคการเกษตรที่ได้รับการส่งเสริมจากกระทรวงเกษตร (MOA) อย่างต่อเนื่อง โดยจีนถือเป็นผู้ผลิตชาอันดับ 1 ของโลก มีพื้นที่ปลูกชากระจายอยู่ใน 18 มณฑลทั่วประเทศ ในปี 2563 มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 47.78 ล้านหมู่ (ราว 19.46 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 3.26 แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 41.52 ล้านหมู่ (17.02 ล้านไร่) ที่สามารถเก็บใบชาได้
ข้อมูลจากสมาพันธุ์ชาแห่งชาติ (中国茶叶流通协会) ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่ผลิตชากลุ่มชาเขียวได้มากที่สุดชาที่จีนปลูกและผลิตได้มากที่สุด 6 ประเภทแรก โดยในปี 2019 จีนผลิตชาเขียวได้กว่า 1.77 ล้านตัน และมณฑลส่านซีผลิตได้ 117,500 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.64 ของชาเขียวที่ผลิตได้ทั้งประเทศ แม้สัดส่วนการผลิตจะน้อยมากแต่ชาของมณฑลส่านซีก็ได้รับการยอมรับทั้งในรสชาติและคุณภาพ โดยมี 4 ชาพระเอกหลัก ดังนี้ (1) “ชาเซียนหาว”เมืองฮั่นจง (汉中仙毫) (2) “ชาฝูซี” เมืองอันคัง (安康富硒茶) (3) “ชาเฉวียนหมิง” ของเทือกเขาฉินหลิ่ง (秦岭泉茗茶) และ (4) “ชาจิ่งหยาง” เมืองเสียนหยาง (咸阳泾阳茶) นอกจากนี้ ยังมีชาจื่อหยางเหมาเจียน (紫阳毛尖) ชาก้วนก้วน (罐罐茶) และชาหูโหยว (糊油茶) ชาท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน
ประวัติและความเป็นมาของชามณฑลส่านซี
อุตสาหกรรมชาของส่านซีมีความยาวนานเฉกเช่นกับของจีน โดยเฉพาะเมื่อครั้งเส้นทางสายไหมโบราณ มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชาจีนและชาตะวันตก ประวัติศาสตร์ชาของส่านซี เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซัง (商朝)ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (汉朝) ชาจากเทือกเขาต้าปา (大巴山) ได้ถูกบันทึกเป็น1 ใน 7 สุดยอดชาของประเทศ และในสมัยราชวงศ์ถัง ได้มีการบันทึกภูมิประเทศที่เหมาะสมต่อการปลูกและชาไว้ใน “新唐书•地理志” (New Tang Book Geography) ไว้ว่า “贡茶有山南道、剑南道、淮南道” ซึ่ง Shaannan (Tribute teas come from Shannan, Jiannan and Huainan) หมายถึงชาของมณฑลส่านซี โดยเฉพาะชาที่มาจากเทือกเขาปา (山南道) ได้ถูกใช้เป็นชาบรรณาการแก่ราชวงศ์สำคัญๆ แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของชาส่านซีที่ได้รับการยอมรับกันมาอย่างช้านาน
ส่องอุตสาหกรรมชาส่านซี ฐานผลิตชาคุณภาพดีของจีน
ข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐบาลมณฑลส่านซีระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มณฑลส่านซีผลิตชาได้ราว 76,200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 15,499 ล้านหยวน หากเปรียบเทียบกับข้อมูลเมื่อปี 2562 ที่มณฑลส่านซีมีผลผลิต 117,500 ตัน ก็จะพบว่าแนวโน้มการผลิตมีการเติบโตขึ้น เพราะผลผลิตเพียงครึ่งแรกของปี 2563 ก็มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 64.85 ของปริมาณที่ผลิตได้ของทั้งปี 2562 แล้ว
นอกจากนี้ ข้อมูลจากศุลกากรนครซีอาน ระบุว่าในปี 2562 มณฑลส่านซีได้เริ่มส่งออกชาไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มชาเขียว 59 ล็อตและชาดำ 7 ล็อต เพิ่มขึ้นจากปี 2561 กว่า 321% แม้อัตราการเติบโตจะพุ่งสูง แต่กลับพบว่าปริมาณการส่งออกคิดเป็นเพียง 399 ตัน จากผลผลิตทั้งปี สถิติเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่ามณฑลส่านซียังคงเน้นตลาดผู้บริโภคในประเทศ แต่ก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศบ้างแล้ว โดยมีตลาดส่งออกชาเขียวที่สำคัญ คือ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง มาเลเซีย และตลาดส่งออกชาดำที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และมาเก๊า ความสำคัญของ “การเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตรท้องถิ่น” จึงเป็นอีกหนึ่งแนวคิดน่าสนใจที่ไทยอาจพิจารณาเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับธุรกิจของตนเอง
อุตสาหกรรมชา โมเดลยกระดับความยากจนในพื้นที่ส่านหนาน (ส่านซีใต้)
อุตสาหกรรมชา กลายมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่ส่านซีใต้ (陕南地区) อย่างจริงจังครั้งแรกในปี 2552 ผ่านเแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชาแห่งชาติปี 2552-2558 (2009-2015 年全国茶业重点区域发展规划) ในแผนฯ กำหนดให้พื้นที่บริเวณส่านซีตอนใต้ (3 เมืองหลักได้แก่ เมืองฮั่นจง (汉中市) เมืองอันคัง (安康市) และเมืองซังลั่ว (商洛市) เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การปลูกชาที่สำคัญของส่านซี มีการส่งเสริมการปลูกชาและเพิ่มศักยภาพในอุตสาหกรรมการผลิตชาอย่างเป็นรูปธรรม ภายหลังที่รัฐบาลจีนประกาศทำสงครามต่อสู่ความยากจน อุตสาหกรรมชาของมณฑลส่านซีถูกยกขึ้นเป็นอีกหนึ่ง “ยุทธศาสตร์แก้จนอย่างตรงจุด” (Targeted Poverty Alleviation) อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเป้าหมายและความท้าทายของรัฐบาลท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา
“坐坐青山变成金山银山” (Green Mountains are gold and silver mountains) หนึ่งในคติพจน์ของผู้บริหารระดับสูงของมณฑลที่ต้องการเปลี่ยนจากภูเขาธรรมดาๆ สู่พื้นที่แห่งการสร้างรายได้แก่ประชากรในพื้นที่ รัฐบาลท้องถิ่นได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้สอดคล้องกับศักยภาพที่ท้องถิ่นตนมีไม่เพียงแต่สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาเท่านั้น แต่รัฐบาลส่านซียังได้สนับสนุนให้รัฐบาลท้องถิ่นนำวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าทางอินเทอร์เน็ต ในการทำการตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการค้า ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อดึงดูดผู้บริโภค ดังนี้
1
1. การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิต (科技茶)
โดยมี สนง. เกษตรแห่งมณฑลส่านซีร่วมกับ สนง. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมณฑลส่านซีเป็นหัวเรือหลักในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการผสมสายพันธุ์ชา การดูแลต้นชาที่มีอายุมาก ตลอดจนการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำอื่น ๆ อาทิ ในเดือน ก.ค. 2561 ร่วมมือกับ ม. เทคโนโลยีการเกษตรนอร์ธเวสต์ (Northwest A&F University) ม. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งมณฑลส่านซี (Shaanxi University of Science & Technology) และ ม. ซีอานเจียวทง (Xi’an Jiaotong University) ก่อตั้งทีมวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องมือหลักที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและแปรรูปชาดำ “Key technology and equipment innovation team for Fu Tea processing” ซึ่งถือเป็นทีมนวัตกรรมเทคโนโลยีที่สำคัญด้านชาแห่งแรกของมณฑลส่านซี (Shaanxi’s first tea-based key technological innovation team) เน้นการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเครื่องมือสำหรับการผลิตและแปรรูปชาดำของมณฑลส่านซี
นอกจากการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้เพิ่มปริมาณและคุณภาพของชาแล้ว มณฑลส่านซียังได้กำหนดมาตรฐานชาเป็นของตนเอง อาทิ ระเบียบว่าด้วยการรับรองมาตรฐานชาจื่อหยางให้สามารถใช้ตราเครื่องหมายการค้า Rich Selenium ได้ (紫阳富硒茶证明商标使用管理规格: Ziyang Selenium-enriched Tea Certification Trademark Use Management Rules) ตลอดจนการกำหนดมาตรฐาน : QS certified tea companies produce strict specifications for their products ซึ่งทำให้ชาของมณฑลส่านซีมีมาตรฐานในการกำกับและดูแลจากหน่วยงานของรัฐอย่างมีเอกภาพ
2. การกำหนดพื้นที่นำร่องพี่เลี้ยง กระจายองค์ความรู้ ต่อไปยังพื้นที่ใกล้เคียง
ในปี 2560 ส่านซีได้กำหนดให้อำเภอซีเซียง (西乡县) ทางตอนใต้ของเมืองฮั่นจง เป็นฐานการผลิตชาเพื่อการส่งออก เนื่องจากเป็นฐานการปลูกชาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และยังเป็นอำเภอที่ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของมนุษย์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย ปัจจุบัน อ. ซีเซียง มีพื้นที่เพาะปลูกชามากถึง 301,000 หมู่ (123,360 ไร่) โดยเฉพาะชาอู่จื่อเซียนหาว (午子仙毫) ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพราะได้รับรางวัล “Famous Brand Products” จากงานมหกรรมการเกษตรนานาชาติ (China International Agriculture Expo)
จากพื้นที่ปลูกชาข้างต้น ยังจำแนกเป็นพื้นที่เกษตรเพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน(贫困村种植茶园 : Poor village tea plantation) มากถึง 248,400 หมู่ (101,803 ไร่) เกษตรกรกว่า 50,000 ครัวเรือนยึดอาชีพปลูกชาเป็นอาชีพหลัก ทำให้ในแต่ละปีสามารถผลิตชาได้เฉลี่ย 10,321.5 ตัน/ปี สร้างรายได้รวมกันกว่า1,240 ล้านหยวน เห็นได้ชัดว่า “การปลูกชา” กลายมาเป็นรายได้สำคัญของเกษตรกร อำเภอซีเซียง
3. สร้างช่องทางการตลาดออนไลน์ ปฏิรูปการตลาดดั้งเดิมที่พึ่งพาแต่การจำหน่ายสินค้าผ่าน Physical Stores
3.1 ปฏิรูปการตลาดดั้งเดิม
ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม Big Data และอินเทอร์เน็ตของจีน มีส่วนสำคัญที่ทำให้จีนหลุดพ้นจากความยากจนได้ เพราะช่วยสร้างช่องทางการตลาดออนไลน์ให้สินค้าและบริการจากพื้นที่ห่างไกล มีโอกาสส่งตรงไปถึงมือผู้บริโภคได้มากขึ้น2 นับเป็นผลความสำเร็จของรัฐบาลจีนที่ได้ระบุให้ “อุตสาหกรรม 5G” เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016 – 2020) สอดคล้องกับข้อมูลจาก The Internet Society of China ของ สำนักงานข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งชาติ (China Internet Network Information Center: 中国互联网络信息中心) ประจำ ปี 2019 ที่ระบุว่า จนถึงเดือนมิถุนายน 2019 จีนมีประชาชนที่ใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อน (Mobile Internet Users) มากถึง 846.81 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2018 กว่า 29.83 ล้านคน
และในปี 2019 รัฐบาลจีนได้ยกระดับความสามารถในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ ที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงยาก ตลอดจนการยกระดับขีดความสามารถในการรองรับโทรเวชกรรม (Telemedicines) และการศึกษาทางไกล (Distance Education)
3.2 การตลาดออนไลน์ ตัวช่วยการค้ายุค COVID-19
ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 อุตสาหกรรมเกษตรของมณฑลส่านซีได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 สำนักงานกิจการเกษตรมณฑลส่านซี (陕西省果业中心) จึงได้ร่วมกับ Taobao Live และ JD Western Regions Agricultural ก่อตั้ง “Northwest Live Broadcasting Base” (网红直播示范基地) ซึ่งเป็นฐานการฝึกอบรมความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและการตลาดออนไลน์แก่ผู้ประกอบการที่ผลิตและแปรรูปสินค้าของมณฑลส่านซี
นายอำเภอซีเซียง ร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ฐานปลูกและผลิตชาของอำเภอ
ครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร และมีความร่วมมือกับ 4458 (试试我吧/Try me) แพลตฟอร์มถ่ายทอดสดแหล่งผลิตและแปรรูปสินค้าชื่อดังของจีน ในการถ่ายทอดสดสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปท้องถิ่นของมณฑลส่านซี ซึ่งสำนักงานฯ จะเป็นผู้คัดเลือกผู้ประกอบการก่อนในชั้นแรก หากสินค้าของผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือก มีคุณภาพดีและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในขณะนั้น พิธีกรหรือ Influencer สามารถเลือกรับสินค้าไปประชาสัมพันธ์สินค้าด้วยตนเอง หรือสามารถ Review สินค้า ณ Northwest Live Broadcasting Base ได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงของอำเภอ หรือหมู่บ้าน ยังเป็น Key Opinion Leaders ที่สำคัญในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของสินค้าเกษตรท้องถิ่นตนได้อีกด้วย
นายกเทศมนตรี อ. ไป๋สุ่ยร่วมกิจกรรมโปรโมตแอปเปิ้ลไป๋สุ่ยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
4. มุ่งสร้างเอกภาพในแบรนด์เกษตรสินค้าท้องถิ่น (Branding)
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมณฑลส่านซีให้ความสำคัญต่อการสร้างความเป็นเอกภาพ ให้กับภาพลักษณ์สินค้าเกษตร โดยไม่เพียงสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยและปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ แต่ยังให้ความสำคัญต่อการสร้างแบรนด์ เพื่อยกระดับสินค้าผ่านการกำหนด “ตัวตน” ของธุรกิจ (Brand Awareness)
เช่น เมื่อปลายปี 2563 มณฑลส่านซีอนุมัติให้เมืองฮั่นจง เป็นเมืองนำร่องแบรนด์สินค้าเกษตรท้องถิ่นสาธารณะ “Wei Jian Hanzhong” (Taste of Hanzhong) ที่ร่วมกับสมาพันธ์สินค้าเกษตรสีเขียวเมืองฮั่นจง ก่อตั้งบริษัท Hanzhong Public Brand Operation Co., Ltd มีจุดประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าเกษตรท้องถิ่น และทำการตลาดผ่านสหกรณ์และกลุ่มเศรษฐกิจหมู่บ้าน ที่จะเป็นหัวเรือหลักในการคัดสรรและดูแลบรรจุภัณฑ์ของสินค้าสินค้าเกษตรท้องถิ่นที่ผ่านการคัดเลือกให้ใช้โลโก้ข้างต้นได้ ซึ่งจะทำให้การจำหน่ายสินค้าเกษตรหลักของเมืองฮั่นจงทั้งในและต่างประเทศ มีเอกภาพและง่ายต่อการจดจำมากขึ้น
ปัจจุบันสินค้าเกษตรของเมืองฮั่นจง ยังผ่านการรับรองจากหลากหลายมาตรฐาน อาทิ Pollution-free Certified Products 243 รายการ Green Production Base 199 รายการ Organic Certified Products 62 รายการ และ Green Certification Products 52 รายการ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าเกษตรแปรรูปแก่ผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ (1) ใบชา (2) น้ำมันจากเมล็ดชา (3) น้ำมันดอก Rapeseed (4) กีวี (5) มันเทศ (6) น้ำมันจากดอกโบตั๋น (7) ข้าว และ (8) ส้ม ทั้งนี้ รายการสินค้าที่ได้รับการรับรองจะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
สินค้าที่ปรับใช้แบรนด์และโลโก้ Wei Jian Hanzhong” (Taste of Hanzhong) พร้อมบรรจุภัณฑ์ใหม่
5. สร้างการรับรู้ในวงกว้าง ผ่านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ
ชาของมณฑลส่านซีได้รับการรับรองถึงคุณภาพและชื่อเสียงจากการแข่งขันมากมาย ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ในพิธีมอบรางวัลการแข่งขันนานาชาติ Ding Cheng Tea King ฤดูใบไม้ผลิ ครั้งที่ 11 (第十一届国际鼎承茶王赛春季赛颁奖仪式) ชาจากมณฑลส่านซีได้รับรางวัลมากถึง 7 แบรนด์ โดยส่วนมากเป็นชาที่ปลูกและแปรรูปจากเมืองฮั่นจง (汉中市) ทางตอนใต้ของมณฑลส่านซี ได้แก่
– รางวัลเหรียญทองพิเศษ (ประเภทชาเขียว): ได้แก่ ยี่ห้อชิงมู่ชวน (青木川牌汉中仙毫) ยี่ห้อจือลิ่วจี๋ (至六吉牌汉中仙毫) และยี่ห้อเฟิ่งหยวน (凤源牌汉中仙毫)
– รางวัลเหรียญทอง (ประเภทชาเขียว): ยี่ห้อเจี่ยเซียงหยวน (栗乡缘牌象园雾芽) และยี่ห้อเผิงเสียง (鹏翔汉中仙毫)
– รางวัลเหรียญทอง (ประเภทชาแดง): ยี่ห้อลวี่เจียวจื่อ (绿娇子牌汉中红)
– รางวัลเหรียญทอง (ประเภทชาดำ): ยี่ห้อโย่วเริ่นหลี่ (右任故里牌陕西官茶)
จะเห็นได้ว่าการเป็นเจ้าภาพกิจกรรมต่าง ๆ สามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางส่งเสริมการรับรู้ของผู้บริโภคได้อย่างดี ที่ผ่านมา นครซีอาน ได้ใช้เวทีเหล่านี้ประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมชาท้องถิ่น เป็นโอกาสในการแสวงหาความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจในและต่างประเทศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 4-8 มิถุนายน 2564 นครซีอานได้เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมชานานาชาติ โดยมี นายหลี่ ซานหยวน (Li Sanyuan: 李三原) สมาชิกสภาที่ปรึกษาสภาประชาชนแห่งมณฑลส่านซี เป็นประธาน ผู้แทนสำนักงานเกษตรชนบทมณฑลส่านซี สำนักงานการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมมณฑลส่านซี พร้อมด้วยผู้แทนจาก สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน/ไทย มาเลเซีย กัมพูชา และเกาหลีใต้ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง การจัดงานมหกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมชาที่กลับมาเดินหน้าได้อย่างปกติภายหลังวิกฤต COVID-19
“ถอดบทเรียนอุตสาหกรรมชาของส่านซี สู่โอกาสที่วิสาหกิจไทยสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้”
1. การนำจุดเด่นของท้องถิ่นมาใช้เป็นจุดขาย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า
ในช่วงที่ผ่านมา สินค้าเกษตรของมณฑลส่านซี นำธาตุซีลีเนียม (Selenium) มาเป็นจุดขายในการประชาสัมพันธ์เกษตร อาทิ ชาจื่อหยางฟู่ซี (ZiYang Rich Selenium Tea) ของเมืองอันคัง ซึ่งเป็นเมืองเดียวของมณฑลส่านซีที่มีธาตุซีลีเนียมสูง มาเป็นจุดเด่นในสินค้า เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของจีนขาดแคลนซีลีเนียม กล่าวคือกว่าร้อยละ 72 ของพื้นที่ในจีนมีธาตุซิลีเนียมอยู่น้อย และกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ดังกล่าวขาดแคลนธาตุซิลีเนียมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ปัจจุบัน ชาจื่อหยางได้รับการยอมรับว่า มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์หลายชนิดในร่างกาย
ระดับความรุนแรงของการขาดซีลีเนียม สีแดง:สีส้ม:สีเหลือง:สีเขียว
2. การให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เพียงสวยงามหรือตอบสนองการใช้งาน แต่ต้องสอดคล้องกับเทรนด์ยุคปัจจุบัน
ปัจจุบัน ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บรรจุภัณฑ์มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะในตลาดที่มีสินค้าให้เลือกจำนวนมากอย่างจีน หากไม่ใช่แบรนด์ที่ครองตลาดมาอย่างยาวนาน โอกาสที่จะแจ้งเกิดย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะจีนเป็นตลาดด้านบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ไม่เพียงแต่เฉพาะบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับการจัดส่งสินค้าออนไลน์ด้วย
ผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญต่อการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อดึงดูดใจลูกค้าและสามารถคงคุณภาพสินค้าเอาไว้ได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังต้องหมั่นศึกษาระเบียบข้อบังคับจากภาครัฐที่มักปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ อาทิ การเน้นบรรจุภัณฑ์ของสินค้า /บรรจุภัณฑ์สำหรับจัดส่งสินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะจีนตั้งเป้าว่าภายในปี 25651 จีนจะเร่งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์สำหรับเดลิเวอรี่ และภายในปี 2568 จีนจะสร้างกลไกการจัดการบรรจุภัณฑ์ การใช้งาน การรีไซเคิล และการกำจัดขยะระยะยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ในประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านชิ้น
การดีไซน์รูปแบบบรรจุภัณฑ์ ควรมีเอกลักษณ์ มีคำอธิบายคุณสมบัติพร้อมแหล่งที่มา ซึ่งควรมีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนชัดเจนการมีภาษาจีนบนซองบรรจุภัณฑ์ การให้ความสำคัญกับการออกแบบและนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ นอกจากจะต้องคำนึงถึงความสวยงามหรือฟังก์ชั่นในการใช้งานแล้ว ยังต้องคำนึงถึงระเบียบและข้อบังคับที่สอดคล้องกับประเทศต้นทางที่จะเข้าไปทำตลาดด้วย การหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบและนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มทั้งในแง่ของแฟชั่นและฟังก์ชั่นจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรพลาดที่จะศึกษา
3. การพิจารณาใช้ช่องทางออนไลน์/แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าหรือ KOL จีนทำการตลาดสินค้า
ปัจจุบัน ความนิยมในการประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ Xiaohongshu (Little Red Book) Wechat Tiktok หรือ toutiao.com ล้วนแต่เป็นแอปพลิเคชันที่คนจีนนิยมมากในเวลานี้ รวมไปถึงอาจพิจารณาใช้ Influencers/KOL ประชาสัมพันธ์สินค้า ก็เป็นหนึ่งในช่องทางสร้างการรับรู้สินค้าไทยได้เร็ว และมีความต่อเนื่องกว่าเน้นการหา Distributor เพียงอย่างเดียว ตลาด Influencers/KOL แบ่งได้หลายประเภท อาทิ Influencer กลุ่ม Celebrity กลุ่ม Key Opinion Leaders / กลุ่ม Micro Influencer ผ่านการสตรีมสด (Live Streaming) บทแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในจีนที่ผู้ประกอบการเลือก
4. การต่อยอดสินค้าปฐมภูมิ สู่สินค้าแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและความน่าสนใจ
ปัจจุบัน สินค้าชาของจีน ยังได้รับการพัฒนาสู่รูปแบบอาหารและเครื่องดื่มที่สร้างมูลค่ามหาศาล อาทิ การพัฒนานำมาทำเป็นขนมขบเคี้ยว เค้ก เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม อาทิ
小罐茶 (เสี่ยว ก้วน ฉา) เน้นชาเป็นคุณภาพพรีเมี่ยม และเป็น portion ขนาดพอดีทานในแต่ละครั้ง
奈雪的茶 Nayuki ร้านชาชื่อดังที่กำลังได้รับความนิยม ด้วยการนำชามาต่อยอดเป็นเบเกอรี่และเครื่องดื่มที่หลากหลาย
Ten Fu (天福茗茶) ร้านชาชื่อดังที่ผลิตขนมจากชาจำหน่ายด้วย
ร้าน 陕拾叁 (ส่านสือซาน) ร้านจำหน่ายขนมชื่อดังของมณฑลส่านซี กับไอศครีมที่ผลิตจากชารสต่าง ๆ
โดยสรุป อุตสาหกรรมชาของมณฑลส่านซี เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวของการพัฒนาสินค้าเกษตรท้องถิ่นให้เป็นเครื่องมือเลี้ยงปากท้องของเกษตรกร โดยเฉพาะการได้รับการสนับสนุนทั้งในส่วนของการพัฒนาสายพันธุ์ไปจนถึงช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ซึ่งผู้ผลิตและแปรรูปชาไทยอาจพิจารณานำแนวทางและรูปแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาจีนมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มการรับรู้ของมูลค่าสินค้าเพิ่มส่วนแบ่งซึ่งเป็นตลาด
ซึ่งปัจุบัน ชาไทยก็ได้รับความนิยมในจีน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางไปประเทศไทย ศูนย์ BIC นครซีอาน จึงขอชี้ช่องทางว่าโอกาสในการทำตลาดชาไทยในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนยังคงเปิดกว้าง เนื่องจากมีคู่แข่งทางตลาดน้อย ซึ่งจากการสำรวจตลาดพบว่าปัจจุบัน มีผู้ประกอบการจำหน่ายชานมไทย (泰式手表红奶茶/泰式奶茶) ในราคาประมาณ 15-20 หยวน / 500 มล. เพียง 1 รายเท่านั้น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้บริโภคในซีอาน และได้รับการจัดอันดับจาก APP Meituan (APP บริการส่งอาหารชื่อดังของจีน) ถึง 4.9/5 คะแนน ดังนั้น ศูนย์ BIC นครซีอาน จึงหวังว่าบทความนี้อาจจะเป็นการถอดบทเรียนอุตสาหกรรมชาของจีน พร้อมกับชี้ช่องทางโอกาสการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้ไม่มากก็น้อย
จัดทำโดย :ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน
ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ และการลงทุนในจีนได้ทาง www.thaibizchina.com
ไม่พลาดเรื่องราวที่น่าสนใจ สมัครรับ e-newsletters (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ทาง https://thaibizchina.com/about-us/newsletter/
#ThaiBizChina
#เพื่อนคู่คิดเพื่อธุรกิจไทยในจีน
โฆษณา