10 ต.ค. 2021 เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
2 ปัจจัยที่มีผลกับมูลค่าหุ้น...
"ความเสี่ยง (Risk) ที่สะท้อนผ่านต้นทุนเงินลงทุน (WACC)
1
จากบทความก่อน www.blockdit.com/posts/610dbf7c57f30604a9e5f4d9
เราได้ทิ้งท้ายสูตรคำนวณ PE คือ
📍 PE = Payout Ratio /(K-g)
ซึ่ง Payout Ratio คือ อัตราการจ่ายปันผลต่อกำไร เช่น กำไร 100 จ่ายปันผล 20% จะมี Payout ratio 20 ครับ
🟢 K คือ ต้นทุนเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น หรือ Cost of Equity คือ เราต้องการผลตอบแทนจากการซื้อหุ้นตัวนี้เท่าไหร่หรือบริษัทนี้มีความเสี่ยงในส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าไหร่
🟢 g คือ การเติบโตของ EPS หรือกำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัท
โดยความหมายของสูตรหมายความว่าหุ้นจะมี PE ได้มากๆ (หรือหุ้นจะแพงได้มากๆ) ก็ต่อเมื่อ บริษัทมีการจ่ายปันผลมากๆ บวกกับ การเติบโตของกำไรมากๆ และความเสี่ยงของบริษัทมีน้อย ในบทความก่อนเราพูดถึงการเติบโต (growth, g) ไปแล้วบทความนี้เราจะมาพูดถึงปัจจัยที่มีผลอีกปัจจัยคือ ความเสี่ยงกันนะครับ
โดยความเสี่ยงทางการเงินจะมีหลายประเภท แต่เราจะขอพูดเกี่ยวกับความเสี่ยงหลักๆที่เกี่ยวกับการประเมินมูลค่าเท่านั้น ครับ ก่อนอื่นเลยเรามาเข้าใจกับคำว่าความเสี่ยงและต้นทุนการลงทุนกันก่อน
ความเสี่ยง (Risk) หมายถึงความไม่แน่นอนที่ทำให้เป้าหมายหรือแผนงานไม่บรรลุตามทีตั้งไว้
ถ้าในทางการเงินก็ หมายถึง การที่ผลตอบแทนจาการลงทุนจะไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ เช่น ต้องการผลตอบแทน 10% แต่ตลาดปรับตัวลงทำให้ผลตอบแทนเหลือ 8% เป็นต้น ซึ่งความเสี่ยงทางการเงินจะวัดด้วยค่า Standard Deviation ของราคาทรัพย์สิน
ในทางธุรกิจ หมายถึงความไม่แน่นอนที่ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัทจะไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ ซึ่งปกติจะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk, BR) และความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk, FR)
สำหรับความเสี่ยงทางธุรกิจ คือ บริษัทมีความผันผวนของกำไรมาก ซึ่งโดยมากบริษัทที่มีต้นทุนคงที่ (Fix Cost, FC) สูงจะมีความเสี่ยงทางธุรกิจสูงด้วย หรืออธิบายอย่างง่ายคือ บริษัทที่ Fix Cost สูงๆ เมื่อเทียบกับต้นทุนผันแปร (Varient Cost,VC)
เมื่อยอดขายเปลี่ยนแปลงเท่ากัน บริษัทที่มีต้นทุนคงที่สูง จะมีกำไรน้อยกว่าบริษัทที่มีต้นทุนคงที่น้อยกว่า เช่น บริษัท A กับ B มียอดขายเท่ากันที่ 5,000 ล้านบาท แต่มีต้นทุนคงที่ไม่เท่ากันโดย บริษัท A มีต้นทุนคงที่ 1,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัท B มีต้นทุนคงที่แค่ 300 ล้านบาท และต้นทุนผันแปรเท่ากัน
สมมติต้นทุนผันแปรเท่ากับ 5 บาทต่อสินค้า 1 ชิ้นเท่ากัน ถ้าขายสินค้าได้ 500 ล้านชิ้นจะมีรายได้ 5,000 ล้านบาท แต่มีต้นทุน และกำไรจากการดำเนินงาน ตามนี้
ยอดขาย ต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร กำไรจากการดำเนินงาน
บริษัท A 5,000 1,000 2,500 1,500
บริษัท B 5,000 300 2,500 2,200
ถ้าปีหน้ายอดขายเกิดลดลงเป็น 4,800 ล้านบาท หรือขายสินค้าได้แค่ 480 ล้านชิ้น กำไรจากาการดำเนินงานจะเปลี่ยนแปลง ตามนี้
และถ้ายอดขายลดลงเป็น 4,500 บาทหรือขายสินค้าได้แค่ 450 ล้านชิ้น กำไรจะลดลงจากตอนขายได้ 500 ล้านชิ้น อีกตามนี้
จะเห็นว่าบริษัทที่มีต้นทุนคงที่มากจะยิ่งมีความเสี่ยงทางธุรกิจสูงไปด้วย ซึ่งหมายความว่าจะขาดทุนได้ง่ายกว่าแต่ก็จะหมายถึงเวลาที่ยอดขายเพิ่มมากขึ้นกำไรก็จะเพิ่มเร็วกว่าด้วยเหมือนกัน เราสามารถวัด Business Risk ได้จากค่า Degree of Operating Leverage (Dol) ซึ่งค่านี้ยิ่งสูงก็ยิ่งแปลว่ามี Business Risk มากไปด้วย
สำหรับความเสี่ยงทางการเงิน คือ บริษัทที่มีหนี้สินมากกว่าก็จะมีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นมากกว่าทำให้มีความเสี่ยงทางการเงินสูงกว่าบริษัทที่มีหนี้น้อย เพราะว่าถ้ายอดขายลดลงโอกาสที่บริษัทจะชำระคืนหนี้ไม่ได้จะสูงกว่าบริษัทที่ไม่มีหนี้หรือมีหนี้น้อยกว่าด้วย
เอาล่ะครับ อธิบายมายาวเลย ที่ต้องการจะบอกก็คือ เวลาเราลงทุนหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ซักบริษัทหนึ่ง กับบริษัทที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจสูงกว่าเราก็ย่อมต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนในบริษัทนี้มากกว่าไปด้วยนั่นเอง (เหมือนบริษัทที่เครดิตไม่ดีเวลาไปกู้เงินธนาคารก็จะกู้ยากกว่าบริษัทเครดิตดี
และถ้ากู้ได้ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าครับ) ซึ่งอัตราผลตอบแทนที่เราต้องการนี้ ปกติจะคำนวณได้โดยคำนวณจากต้นทุนเงินลงทุน (Weighted Average Cost of Capital, WACC) ซึ่งมีสูตรคำนวณตามด้านล่างนี้นะครับ
📍 WACC = We*Ke + Wd*Kd *(1-T)
🟢 We คือ สัดส่วนของผู้ถือหุ้น หรือว่าบริษัทมีสัดส่วนการใช้เงินลงทุนจากผู้ถือหุ้นเป็นร้อยละเท่าไหร่ของเงินลงทุนทั้งหมดโดยคำนวณจาก
📍 We = ส่วนของผู้ถือหุ้น /(ส่วนของผู้ถือหุ้น+หนี้สินที่มีดอกเบี้ย)
ตรงนี้ส่วนหนึ่งบอกว่าบริษัทใช้เงินลงทุนจากผู้ถือหุ้นหรือเงินของบริษัทเองเท่าไหร่ (กี่ %) ของเงินที่นำมาลงทุนสร้างกิจการทั้งหมด ส่วนนี้อย่างที่กล่าวข้างต้นคือถ้าบริษัทมีกระแสเงินสดดี
คือสามารถใช้เงินจากการดำเนินงานมาลงทุนต่อได้ ก็อาจจะใช้เงินจากส่วนที่ต้องกู้ยืมน้อยครับ ซึ่งบริษัทที่ใช้เงินตัวเองมาลงทุนได้จะมี Financial Risk น้อยเพราะว่าไม่ต้องก่อหนี้มาเพื่อลงทุนขยายกิจการ
👉 สามารถอ่านเรื่องกระแสเงินสดได้จากบทความ https://www.blockdit.com/posts/60378a8044d1390be1e9b400
และสำหรับใครที่สงสัยเรื่องสัดส่วนของเงินลงทุนจากผู้ถือหุ้น และเงินลงทุนจากเจ้าหนี้ 👉 สามารถอ่านบทความนี้ได้ในตอนต้นของบทความครับ https://www.blockdit.com/posts/60377296edeb140c05491b4d
🟢 Wd = สัดส่วนของเจ้าหนี้ หรือบริษัทใช้เงินลงทุนจากเจ้าหนี้ร้อยละเท่าไหร่ของเงินลงทุนรวม คำนวณจาก
📍 Wd = หนี้สินมีดอกเบี้ย /(ส่วนของผู้ถือหุ้น+หนี้สินที่มีดอกเบี้ย)
ซึ่งตรงนี้ถ้าบริษัทเป็นบริษัทที่ต้องขยายการลงทุนโดยใช้เงินลงทุนมาก และมีกระแสเงินสดน้อยก็อาจจะต้องกู้ยืมมาก ทำให้ Financial Risk สูงตามไปด้วยก็จะส่งผลให้ต้นทุนเงินลงทุนสูงด้วย
แต่อย่างไรก็ตามบริษัททั่วไปนิยมการกู้ในสัดส่วนที่ดีที่สุด (Optimum) เพราะว่าดอกเบี้ยจากการกู้ยืมนำไปลดภาษีได้ก็จะส่งผลให้ WACC โดยรวมน้อยกว่าไม่กู้เลย ครับ ดังนั้นถึงจะมีกระแสเงินสดดีบริษัทส่วนมากก็นิยมกู้เพื่อลงทุนบางส่วนด้วยเพื่อให้มูลค่าของบริษัทมีค่ามากที่สุด (ตรงนี้ในส่วนท้ายบทความจะอธิบายอีกทีครับ)
🟢 Ke คือ ต้นทุนเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น (Cost of Capital) โดยคำนวณจากสูตร CAPM ตามสมการด้านล่างครับ
📍 Ke = Rf + B*(Rm-Rf)
ซึ่งสามารถอธิบายสมการได้ง่ายๆ คือ การลงทุนในหุ้นซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าสินทรัพย์ปลอดภัย (Risk Free Asset) ก็ควรที่จะให้ผลตอบแทนมากกว่าด้วย เพราะถ้าให้ผลตอบแทนเท่ากันหรือว่าต่างกันไม่มาก
นักลงทุนก็ควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยที่ความเสี่ยงต่ำกว่ามากกว่า (เช่น พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น) ดังนั้นผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการจากหุ้นควรมากกว่าสินทรัพย์ปลอดภัยระดับหนึ่ง ซึ่งผลตอบแทนส่วนที่มากกว่านี้เรียกว่า Risk Premium (Rp) ซึ่งคำนวณจาก
📍 Risk Premium = B*(Rm-Rf)
🟢 Rf (Risk Free Rate) หรือ อัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยงซึ่งได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยง โดยทั่วไปเรานิยมใช้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี
 
🟢 Rm คือ ผลตอบแทนของตลาดหุ้น ซึ่งปกติเราจะกำหนดให้ Rm เท่ากับอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งสำหรับตลาดหุ้นไทย คือ 12% แต่ถ้าเป็นตลาดหุ้นอื่นก็ต้องใช้ Rm ของตลาดนั้นครับ
🟢 B หรือ Beta คือ ตัวเลขที่บอกถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้นทั้งตลาดครับ โดยหุ้นที่มี B สูงๆ จะมีราคาเปลี่ยนแปลงมากเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น-ลง เช่น ตลาดปรับขึ้น 1% หุ้นที่มี B 1.5 อาจจะปรับตัวขึ้น 1.5% เป็นต้น
🟢 Ke บอกว่าหุ้นตัวนี้ให้ผลตอบแทนเท่าไหร่ซึ่งในการคำนวณ WACC นอกจาก Ke เรายังต้องคำนวณ Kd อีกด้วย
 
🟢 Kd คือ ต้นทุนเงินลงทุนของเจ้าหนี้ เพราะว่าเงินที่บริษัทนำมาลงทุนนั้นมีทั้งเงินของเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นดังนั้นการนำต้นทุนเงินของเจ้าหนี้มาคำนวณต้นทุนเงินลงทุนจึงจำเป็น ซึ่ง Kd ส่วนมาเราวัดจากดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารที่บริษัทนั้นกู้
หรือดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่บริษัทนั้นออกขาย เป็นต้น (กรณีมีทั้ง 2 ส่วนอาจจะต้องเฉลี่ยกันแบบถ่วงน้ำหนัก คือ สมมติ มีดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคาร 5% และดอกเบี้ยหุ้นกู้ 4% และกู้ธนาคาร 50% ออกหุ้นกู้ 50% กรณีนี้คำนวณได้ kd = (0.5*5%) + (0.5*5%) = 4.5% เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้เราสามารถหาได้จากงบการเงินของบริษัท ในส่วนหมายเหตุประกอบงบการเงินครับ
ค่า WACC หรือต้นทุนเงินลงทุนที่คำนวณได้ใช้อย่างไรคำตอบคือ ใช้เป็นอัตราคิดลดของการประเมินมูลค่าหุ้น (ซึ่งเราจะพูดถึงในบทความครั้งต่อไป) ต้นทุนของกิจการอาจจะมองได้ว่าเป็นเหมือนผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นต้องการในการลงทุนด้วยเพราะว่าเป็นตัวสะท้อนถึงความเสี่ยงของกิจการเอาไว้แล้ว
ทำให้ผู้ถือหุ้นควรได้รับผลตอบแทนเท่า WACC เป็นอย่างน้อยและในการประเมินมูลค่าเราจะทำการคิดลดกระแสเงินสดมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน (คือเอา WACC ไปเป็นตัวหารกระแสเงินสดในแต่ละปีและยกกำลังของปีนั้นๆนั่นเอง) และการประเมินมูลค่าหุ้นคือ สิ่งสำคัญของการลงทุนแนว VI ดังนั้นความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยของการประเมินมูลค่าจึงเป็นสิ่งสำคัญครับ
อธิบายต่อจากด้านบน WACC จะมีค่ามากระดับนึงเมื่อใช้สัดส่วนของ Wd น้อยแต่เมื่อเพิ่ม Wd WACC จะลดลงจนถึงจุดต่ำสุดและหลังจากนั้นการเพิ่ม Wd จะทำให้ WACC เพิ่มจากภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มตามจำนวนหนี้ทำให้กำไรลดลงส่งผลให้ WACC เพิ่มขึ้น
ทำให้มูลค่าหุ้นลดลงตามอัตราคิดลดที่เพิ่มขึ้น บริษัทจึงมักจะหาจุด Optimal ที่ทำให้มูลค่าหุ้นสูงสุดนั่นเอง
 
อย่างไรก็ตามความเสี่ยงยังมีความเสี่ยงอีกหลายแบบ เช่น ความเสี่ยงของกิจการขนาดเล็ก ความเสี่ยงของลักษณะเฉพาะตัวของกิจการ แต่ว่าบทความนี้ขอกล่าวถึงความเสี่ยงเบื้องต้นไว้เท่านี้ก่อนแล้วกัน ครับ
 
เอาล่ะจบไปแล้วสำหรับต้นทุนเงินลงทุน อาจจะซับซ้อนซักนิด แต่ว่าคงไม่ยากเกินไปใช่ไหมครับ ตอนต่อไปเราจะพูดถึงเรืองกระแสเงินสดและการประเมินมูลค่าแบบสัมบูรณ์ (Absolute Approach) กันนะครับ
ชอบ "กดถูกใจ" ใช่ "กดแชร์"
แล้วพบกับบทความดี ๆ จาก SkillLane อีกมากมาย
กดติดตามไว้ได้เลย!
พบกับคอร์สออนไลน์การเงินการลงทุน โดยกูรูระดับประเทศที่ SkillLane
👉 คลิกเลย https://skl.website/3lmIt61
โฆษณา