18 ต.ค. 2021 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
ศักยภาพทางเศรษฐกิจของเขต YRD ในจีนและบทบาทสำคัญกับไทย (ตอนแรก)
เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีหรือ Yangzte River Delta (YRD) ประกอบด้วย 1 เมือง 3 มณฑล ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย ซึ่งเป็น 1 ใน 3 คลัสเตอร์เมืองขนาดใหญ่ของจีน[1] เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสูงที่สุดในจีน
จากความโดดเด่นตามที่กล่าว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจึงได้สนับสนุนให้บูรณาการเขต YRD ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติของจีน และนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เขต YRD พัฒนาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันด้วย
YRD ชูศักยภาพเศรษฐกิจและการค้า
ตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา ภาพรวมเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี โดยเขต YRD ถือเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน โดยสามารถเห็นได้จากสถิติที่สำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ดังนี้
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า
1. เขต YRD มี GDP รวม 13,043,466 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 24.5 ของ GDP ทั่วทั้งจีน ซึ่งถือเป็นเขตที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในจีน ทั้งนี้ GDP ของพื้นที่ในเขต YRD จัดอยู่ใน 15 อันดับแรกจากทุกพื้นที่ในจีน[2] โดยเจียงซูสูงเป็นอันดับที่ 2 รองจากกวางตุ้ง เจ้อเจียงเป็นอันดับที่ 4 อานฮุยเป็นอันดับที่ 10 และเซี่ยงไฮ้เป็นอันดับที่ 11
2. หากจัดอันดับ GDP โดยยึดตามระดับเมืองแล้ว เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มี GDP สูงที่สุดในจีนและเป็นเมืองเดียวที่มีมูลค่า GDP ทะลุยอด 2 ล้านล้านหยวน (2,010,253 ล้านหยวน) ขณะที่ปักกิ่งมี GDP เป็นอันดับที่ 2 (1,922,800 ล้านหยวน) เซินเจิ้นเป็นอันดับที่ 3 (1,432,447 ล้านหยวน) กว่างโจวเป็นอันดับที่ 4 (1,310,189 ล้านหยวน) ฉงชิ่งเป็นอันดับที่ 5 (1,290,341 ล้านหยวน) และซูโจว (เจียงซู) เป็นอันดับที่ 6 (1,068,466 ล้านหยวน)
3. อัตราการขยายตัว GDP เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563 ของเจียงซู (ร้อยละ 13.2) เจ้อเจียง (ร้อยละ 13.4) และอานฮุย (ร้อยละ 12.9) เฉลี่ยสูงกว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ภาพรวมทั่วทั้งจีน (ร้อยละ 12.7) ขณะที่อัตราการขยายตัว GDP เซี่ยงไฮ้ (ร้อยละ 12.7) เท่ากับภาพรวมทั่วทั้งจีน ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจในเขต YRD
4. มูลค่าการค้าระหว่างประเทศภาพรวมของเขต YRD เท่ากับ 1,004,811.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 36.1 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั่วทั้งจีน โดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเจียงซู (369,669.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เจ้อเจียง (295,740.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เซี่ยงไฮ้ (290,179.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และอานฮุย (49,221.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นอันดับที่ 2 อันดับที่ 3 อันดับที่ 4 และอันดับที่ 13 ของทั่วทั้งจีนตามลำดับ[3] (กวางตุ้งเป็นอันดับที่ 1)
อาเซียนมีบทบาทสำคัญด้านการค้ากับ YRD
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า เขต YRD มีสัดส่วนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศมากกว่า 1 ใน 3 ของทั่วทั้งจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญในการดำเนินยุทธศาสตร์ “วงจรคู่ (dual circulation)” ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ YRD ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีบทบาทในการขยายความร่วมมือการค้าระหว่างอาเซียน – จีน โดยสามารถเห็นได้จากสถิติที่สำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ดังนี้
จากตารางข้างต้นจะเห็นได้ว่า
1. มูลค่าการค้าอาเซียน – จีนเท่ากับ 410,221.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.75 ของมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับทั่วโลก (2,781,312.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 37.5
2. ช่วงครึ่งแรกปี 2564 อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 นำหน้า EU และสหรัฐอเมริกา
3. มูลค่าการค้าอาเซียน – YRD เท่ากับ 138,841.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 36.8 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.8 ของมูลค่าการค้าระหว่าง YRD กับทั่วโลก (1,004,811.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.8 ของมูลค่าการค้าระหว่างอาเซียน – จีน
4. อาเซียนนับเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญของการค้าระหว่างประเทศในเขต YRD โดยมูลค่าการค้าตามข้อ 3 สูงกว่ามูลค่าการค้าเขต YRD – สหรัฐอเมริกา (134,675.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการค้าเขต YRD – ญี่ปุ่น (79,532.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการค้าเขต YRD – เกาหลีใต้ (67,480.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
จากข้อมูลข้างต้นทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่า เขต YRD ถือเป็น “หัวใจสำคัญ” ของภาพรวมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการค้าของจีนเขต YRD และนับเป็น “ประตูสำคัญ” ที่เปิดสู่สากล ทั้งนี้ แต่ละพื้นที่ในเขต YRD มีบทบาทความสำคัญที่โดดเด่นต่างกัน และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดในบทความตอนต่อไป
—————————–
[1] อีก 2 คลัสเตอร์เมืองขนาดใหญ่ของจีน ได้แก่ พื้นที่อ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area: GBA) และพื้นที่ปักกิ่ง – เทียนจิน – มณฑลเหอเป่ย (Beijing – Tianjin – Hebei Urban Agglomeration)
[2] พื้นที่ที่มี GDP สูงเป็น 15 อันดับแรกของจีนในช่วงครึ่งแรกปี 2564 ได้แก่ กวางตุ้ง เจียงซู ซานตง เจ้อเจียง เหอหนาน เสฉวน ฝูเจี้ยน หูเป่ย หูหนาน อานฮุย เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เหอเป่ย เจียงซี และส่านซี
[3] กวางตุ้งมีมูลค่าการค้า รปท. สูงเป็นอันดับที่ 1 ของจีน คิดเป็น 586,153.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จัดทำโดย : นายโอภาส เหลืองดาวเรือง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง :
- https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 2021年上半年中国外贸进出口总值同比增长27.1% วันที่ 13 กรกฎาคม 2564
- www.163.com หัวข้อ 2021上半年各省市GDP:江苏暴增8476亿,山东强势复兴 วันที่ 22 กรกฎาคม 2564
- https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 2021年上半年GDP排行,谁掉队了?วันที่ 28 กรกฎาคม 2564
- https://view.inews.qq.com หัวข้อ 国内2大经济区:长三角和珠三角,谁“更胜一筹”,潜力更大?วันที่ 17 สิงหาคม 2564
ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ และการลงทุนในจีนได้ทาง www.thaibizchina.com
ไม่พลาดเรื่องราวที่น่าสนใจ สมัครรับ e-newsletters (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ทาง https://thaibizchina.com/about-us/newsletter/
#ThaiBizChina
#เพื่อนคู่คิดเพื่อธุรกิจไทยในจีน
โฆษณา