11 ต.ค. 2021 เวลา 13:46 • สุขภาพ
+++ 7 วิธีรักษา อาการเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s Tenosynovitis)
มือเป็นอวัยวะที่ใช้งานได้หลายลักษณะ หลายทิศทาง แต่หากใช้งานแค่เพียงลักษณะเดิมซ้ำ ๆ อาจทำให้มีอาการปวดข้อมือเรื้อรัง จนกลายเป็นโรคได้ อาการปวดข้อมือโรคหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในวัยทำงานคือ โรคเอ็นข้อมืออักเสบ หรือเอ็นข้อมืออักเสบเดอกาแวง (De Quervain’s Tenosynovitis)
โรคเอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s Tenosynovitis)
เป็นโรคที่มีการอักเสบ, บวม และมีการหนาตัว ของปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อข้อมือ (Abductor Pollicis Longus , APL และ Extensor Pollicis Brevis , EPB) ที่อยู่บริเวณหลังมือฝั่งนิ้วโป้ง (First Dorsal Compartment) ทำให้เส้นเอ็นบริเวณนี้เคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด มีผลต่อการควบคุมการทำงานของนิ้วโป้ง เพราะข้อต่อขยับได้ลดลง (First Metacarpophalangeal , 1st MCP และ First Carpometacarpal , 1st CMC)
เกิดจากการใช้งานมือในลักษณะเดิมซ้ำ ๆ พบมากในมือข้างที่ถนัด เช่น การเขียนหนังสือ, การใช้กรรไกรตัดผม, การเสิร์ฟลูกเทนนิส, การสีไวโอลิน, การซักผ้าด้วยมือเป็นประจำ ซึ่งการรักษาทำได้ทั้งแบบประคับประคอง และแบบผ่าตัด
การรักษาเอ็นข้อมืออักเสบ แบบประคับประคอง (Conservative Treatment)
พักการใช้งาน (Rest)
เป็นหลักการพื้นฐานที่แนะนำให้ทำทุกราย หากเกิดการบาดเจ็บจากโรค ที่เกิดจากการใช้งานหนัก หรือใช้งานซ้ำมาเป็นเวลานาน เพื่อให้เอ็นข้อมืออักเสบลดลง และลดการกระตุ้นการบาดเจ็บเพิ่ม
สวมอุปกรณ์ประคองข้อมือ
แนะนำให้ใช้อุปกรณ์ที่ทำให้ข้อมือได้พักการใช้งาน อย่างเฝือกที่ดามบริเวณนิ้วโป้งและข้อมือฝั่งนิ้วโป้ง (Thumb Spica Splint) โดยให้หัวแม่มืองอประมาณ 30 องศา และกางออกประมาณ 30 องศา แนะนำให้ใส่นานประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นหายอักเสบและยุบบวม
การรับประทานยาลดอาการอักเสบ (NSAIDs)
ยาลดอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-inflammatory Drugs, NSAIDs) หรือเอ็นเซด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) , ไดโคลฟีแน็ก (Diclofenac) , นาพร็อกเซน (Naproxen) , เซเลค็อกสิบ (Celecoxib)
ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงาน ของเอนไซม์ไซโคลออกซิจีเนส (Cyclooxygenase, COX) ที่ทำหน้าที่สร้างสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ทำให้ลดการอักเสบได้ จึงช่วยลดอาการเจ็บปวด และลดไข้ได้เป็นอย่างดี แต่ควรระวังในคนที่มีปัญหาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เพราะยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองทางเดินอาหารได้ จึงควรรับประทานหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมาก ๆ
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในเอ็นข้อมือ
เลือกใช้ในกรณีที่รักษาด้วยการประคับประคอง ด้วยวิธีอื่นทั้งหมดแล้ว แต่อาการปวดยังไม่หายไป หรือปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งที่พักการใช้งานอย่างเต็มที่แล้ว มีการศึกษาพบว่า วิธีนี้ช่วยให้อาการปวดดีขึ้นมากกว่า 80% แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เส้นเอ็นฉีกขาด (Tendon Rupture), ไขมันใต้ผิวหนังบริเวณนั้นอาจฝ่อลีบ หรืออาจเกิดการติดเชื้อ หากเทคนิคการฉีดยาไม่ได้มาตรฐาน
การทำกายภาพบำบัด
การประคบเย็น โดยเฉพาะในช่วง 48 ชั่วโมงแรก จะลดอาการอักเสบลงได้มาก หากทำร่วมกับการพักการใช้งาน จะช่วยบรรเทาอาการได้ดียิ่งขึ้น
การรักษาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) จะทำให้เกิดความร้อนในเนื้อเยื่อส่วนลึก ช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมเซลล์ที่มีการบาดเจ็บ , กระตุ้นให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อทดแทน และทำให้เนื้อเยื่อที่หดเกร็ง เกิดการคลายตัว ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และสารต่าง ๆ ภายในกล้ามเนื้อได้อีกครั้ง
การนวดบำบัด เพื่อเป็นการยืดกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายการออกกำลังกาย มีทั้งการออกกำลังกายแบบคงค้าง (Static Stretching Exercise) และการออกกำลังกาย เพื่อเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้าม เนื้อ (Strengthening Exercise) เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง ในการรักษาโรคเอ็นข้อมืออักเสบเดอกาแวง
– Static Stretching Exercise คือการยืดกล้ามเนื้อค้าง เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น ตลอดช่วงความยาวของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ข้อต่อสามารถขยับได้เป็นปกติอีกครั้ง แนะนำให้ยืดข้อมือ และกล้ามเนื้อแขนค้างไว้ นานประมาณ 20-30 วินาที/รอบ อย่างน้อยวันละ 3 รอบ
– Strengthening Exercise เป็นการทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ ขณะทำกิจกรรม โดยใช้แรงต้านที่เหมาะสม ขึ้นอยู่ความทนของกล้ามเนื้อผู้ป่วยแต่ละคน ที่ทำให้ไม่รู้สึกล้าจนเกินไป แนะนำให้ทำ 10-15 ครั้ง/รอบ อย่างน้อยวันละ 3 รอบ
การรักษาเอ็นข้อมืออักเสบ แบบผ่าตัด (Surgical Treatment)
หากการรักษาแบบประคับประคองไม่ได้ผล อาจเพราะมีอาการเป็นเวลานาน ทำให้พังผืดรอบข้อมือ (Extensor Retinaculum) หนาตัวขึ้น จึงต้องผ่าตัดกรีดพังผืดออก เพื่อลดแรงกดทับที่กระทำกับเส้นเอ็น อาจทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ หลังผ่าตัดแล้วประมาณ 6 สัปดาห์
โรคเอ็นข้อมืออักเสบเดอกาแวง (De Quervain’s Tenosynovitis) เกิดจากการใช้งานมาก และใช้งานซ้ำในลักษณะเดิม หากหยุดพักการใช้งาน ประคบเย็น และอาจสวมที่ประคองมือช่วย ร่วมการรับประทานยากลุ่ม NSAIDs จะทำให้อาการหายได้ใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจต้องรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ เข้าในเส้นเอ็นข้อมือ หรือผ่าตัดพังพืดรอบข้อมือ ทำให้ต้องใช้เวลาพักรักษานานกว่าเดิม และรบกวนการใช้ชีวิตจำวันอย่างเป็นอย่างมาก สุดท้ายแล้วเมื่ออาการดีขึ้น ควรออกกำลังกายกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดอาการซ้ำขึ้นอีก
#สาระดีดี
📍📍📍📍📍📍📍📍📍📍📍📍
#7วิธีรักษาอาการเอ็นข้อมืออักเสบ
#โรคภัย #สุขภาพ #อาหาร #สาระดีดี
📌 ติดตาม Blackmores Thailand ได้ที่นี่
☑สั่งซื้อ : https://bit.ly/3cDo48d
ติดตามเรื่องราวสาระดีดีอีกได้ที่
เว็บไซต์ : http://saradede.net/
กดถูกใจ กดติตาม กดไลค์กดแชร์ หรือเมนท์ เป็นกำลังใจ
หากเนื้อหา บทความนี้ มีคุณค่าเป็นประโยชน์
ขอขอบพระคุณ ทุกๆๆท่านครับ
โฆษณา