12 ต.ค. 2021 เวลา 00:07 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19
4
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยปรับดีขึ้นเป็น 41.4 ในเดือนกันยายน หลังจากที่ลดลงไปต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 39.6 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ โดยรวมก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 35.5 จาก 33.8 ในเดือนที่แล้ว โดยสาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมา ซึ่งทำให้ธุรกิจและบริการต่างๆ กลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง
9
ในตอนนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 10,000 รายต่อวัน จากที่ก่อนหน้านี้พุ่งสูงกว่า 20,000 ราย นอกจากนี้ยังมีการแจกจ่ายวัคซีนทั้งสิ้นประมาณ 58.5 ล้านโดสทั่วประเทศ ครอบคลุม 51% ของประชากร และมีผู้ที่รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วมากกว่า 33%
1
ในระยะข้างหน้า แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลง อัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการดำเนินการตามโครงการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว คาดว่าจะช่วยให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตามปัจจัยลบอย่างเช่น ปัญหาน้ำท่วม ราคาน้ำมันที่พุ่งสูง และความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปเนื่องจากเป็นปัจจัยที่อาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจชะลอลงได้
ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประเทศไทย
📌 ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน
ในขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและฤดูหนาวใกล้เข้ามา ราคาพลังงานก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นมากกว่า 250% ตั้งแต่เดือนมกราคม 2021
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมาได้กระตุ้นความต้องการพลังงาน ปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติเหลวรุนแรงขึ้นจากความต้องการก๊าซจากเอเชีย สหราชอาณาจักร ยุโรป และสหรัฐฯ เป็นผลให้บริษัทผลิตพลังงานบางแห่งจำเป็นต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตจากก๊าซธรรมชาติเป็นน้ำมันและถ่านหิน ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สถานีบริการน้ำมันในสหราชอาณาจักรกว่า 130 แห่ง ขาดแคลนน้ำมันสำหรับจำหน่ายให้แก่ประชาชน
ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าใช้ในโรงงานในจีนอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ราคาถ่านหินเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี ที่ 154.2 ดอลลาร์ต่อตัน
การระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและภัยธรรมชาติได้สร้างความเสียหายให้กับการผลิตพลังงาน Supply ของประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่ม OPEC ในปี 2021 ลดลง 0.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากพายุเฮอริเคนไอดาส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ขณะที่ผลผลิตน้ำมันในบราซิลและประเทศนอกกลุ่ม OPEC อื่นๆ ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายการผลิตที่ -0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
1
ความแตกต่างของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล
ในทางกลับกัน OPEC และ OPEC+ ต่างก็ระมัดระวังในการเพิ่มการผลิตน้ำมันเพราะกลัวว่าราคาจะตกต่ำ จึงตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงก่อนหน้านี้โดยคงการผลิตที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้นมากกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ Bank of America คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์อาจแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายในสิ้นปีนี้
2
อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าสูงขึ้นและจะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวนมากที่ยังคงได้รับผลกระทบจาก COVID-19
1
📌 การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จะเพิ่มปัญหาเงินเฟ้อ
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ความไม่สมดุลในการกระจายตู้คอนเทนเนอร์ได้ทวีความรุนแรงขึ้น ธุรกิจในประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของเอเชียกำลังประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการส่งออกสินค้า ในขณะที่ตู้คอนเทนเนอร์เปล่ายังคงตกค้างอยู่ที่ท่าเรือในสหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลีย
นอกเหนือจาก Demand ที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแล้ว ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจาก การขาดแคลนแรงงาน ข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ และการขาดการประสานงานที่ดีทั่วทั้งอุตสาหกรรมการขนส่ง ทำให้สถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์แย่ลงไปอีก
แม้ว่าตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จากเซี่ยงไฮ้ไปนิวยอร์กในสัปดาห์นี้จะมีราคาอยู่ที่ 10,129 ดอลลาร์ ลดลง 2.2% จากสัปดาห์ก่อน แต่ก็ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ 2,672 ดอลลาร์
1
ราคาตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จากเซี่ยงไฮ้ไปนิวยอร์ก (USD)
เนื่องจากการขาดแคลนถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ประกอบกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้เกิดไฟฟ้าดับในจีน ศูนย์กลางการผลิตทางอุตสาหกรรมต้องปิดชั่วคราวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้ผลผลิตทางอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกลดลง ราคาตู้คอนเทนเนอร์จึงลดลงตาม
1
อย่างไรก็ตาม ราคาตู้คอนเทนเนอร์ที่ลดลงส่งผลให้ผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯ และยุโรป ดำเนินการขนส่งมากขึ้น ทำให้ราคาสูงขึ้นอีกครั้ง นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมกล่าวว่าการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของการนำเข้า-ส่งออกและจะคงดำเนินต่อไปในปีหน้า
ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้นทุนการค้าที่สูงขึ้นและการกักตุนสินค้าสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่จะมาถึง
ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ
#ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค #ขาดแคลนพลังงาน #เงินเฟ้อ
#Bnomics #GlobalEconomicUpdate #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ปรียา ชัชอานนท์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา