5 ต.ค. 2021 เวลา 00:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“เศรษฐกิจไทย” ยังคงเปราะบางเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกล่าสุด
“เศรษฐกิจไทย” ยังคงเปราะบาง
📌 เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม
การบริโภคภาคเอกชนในเดือนสิงหาคมลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้น
📌 ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI)
ลดลง 9.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และลดลง 2.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการที่ 29 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสีแดงเข้มยังคงมีการล็อกดาวน์อยู่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 39.6 ในเดือนสิงหาคม จาก 40.9 ในเดือนก่อนหน้าซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี
📌 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII)
เดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 9.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปัญหา Supply Disruption เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ อุตสาหกรรม
📌 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ
ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่าผู้ประกอบการมีมุมมองเกี่ยวกับภาวะธุรกิจในปัจจุบันอย่างไร ลดลงเหลือ 40.0 ในเดือนสิงหาคมจาก 41.4 ในเดือนก่อนหน้า
จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่รายวัน
📌มาตรการล็อกดาวน์
สร้างความเสียหายเพิ่มเติมให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ตกต่ำอยู่แล้ว ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพียง 15,015 คนในเดือนสิงหาคมลดลงจาก 18,056 คน ในเดือนก่อนหน้า
ตัวเลขนี้ถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดมาก โดยก่อนการระบาดปกติจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 3 ล้านคนต่อเดือน ทางเราได้ปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่
คาดการณ์ไว้สำหรับปี 2564 นี้จากเดิม 100,000 คนกลายเป็น 150,000 คน
เนื่องจากรัฐบาลไทยได้เริ่มมีแผนการลดระยะเวลากักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยให้เหลือเพียง 7 – 10 วัน จากเดิม 14 วัน
📌ค่าเงินบาท
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อและการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในเดือนสิงหาคม ค่าเงินบาทอ่อนค่าโดยเฉลี่ย 1.5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม แต่แข็งตัวขึ้น 0.6% ในเดือนกันยายน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินได้ภายหลังรัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดทางสังคม
📌ดุลบัญชีเดินสะพัด
นอกจากนี้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม สูงกว่าที่คาดไว้จากการสำรวจของ Bloomberg ที่ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทางเรามองว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังคงขาดดุลต่อเนื่องจนกว่าภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ
มองไปในระยะข้างหน้า เราคาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีกเป็น 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีท่าทีเชิงนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่น
📌 ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน:
คณะกรรมการฯ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 11 ก่อนหน้านี้เรามองว่าการที่คณะกรรมการฯ 2 คนโหวตให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 0.25% ในการประชุมรอบเดือนสิงหาคม เป็นการส่งสัญญาณว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตามการตัดสินคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ที่ 0.5% จนกว่าวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งเรามองว่าน่าจะใช้เวลาอีกนาน โดยอย่างเร็วที่สุดก็อาจจะเป็นช่วงปี 2565
ธปท. คงประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2564 ไว้ที่ 0.7% แต่ปรับเพิ่มประมาณการปี 2565 จาก 3.7% เป็น 3.9% ซึ่งยังคงมากกว่าที่ทางเราคาดการณ์ไว้ที่ 0% ในปีนี้ แต่น้อยกว่าที่มองไว้ที่ 5% ในปี 2565 ซึ่งสาเหตุหลักที่ธปท. มีการปรับประมาณการเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นและการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ที่เร็วกว่าที่คาดไว้
ปัจจุบันประชากรไทยประมาณ 48.7% ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว เพิ่มขึ้นจากเพียงประมาณ 20% ในเดือนที่แล้ว นอกจากนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็มีแนวโน้มที่จะลดลง
โดยมีผู้ป่วยรายวันประมาณ 10,000 ราย น้อยกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดือนสิงหาคม ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้ประกาศแผนการที่จะลดระยะเวลาการกักตัวนักท่องเที่ยว ลดระยะเวลาการเคอร์ฟิวในตอนกลางคืน และเริ่มอนุญาตให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้กลับมาดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น
การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน
📌 การสนับสนุนทางการคลัง
ในแง่ของการสนับสนุนทางการคลัง ในที่สุดรัฐบาลไทยก็ได้มีการปรับเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% เพื่อให้รัฐสามารถกู้ยืมได้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่เราคาดไว้ก่อนหน้านี้
จากข้อมูลล่าสุด หนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ที่ 9.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 57% ของ GDP ในเดือนสิงหาคม หากมองไปข้างหน้า ตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 60% ในอีกไม่ช้า
📌 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI):
ด้วยดัชนี PMI ประจำเดือนกันยายนที่ 48.9 ภาคการผลิตในประเทศไทยยังคงหดตัวต่อเนื่อง ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 48.3 ในเดือนสิงหาคมแต่ยังคงต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นจุดแบ่งระหว่างการเติบโตและการหดตัว
เมื่อพิจารณาทั้งภูมิภาคอาเซียน PMI อยู่ที่ระดับ 50 ในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้นจาก 44.5 ในเดือนสิงหาคม บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวที่มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลงในหลายประเทศทำให้มีการผ่อนคลายข้อจำกัดในการล็อกดาวน์ที่เคยส่งผลกระทบต่อการผลิตในโรงงานหลายแห่ง
ในระยะถัดไปเรายังคงต้องจับตามองปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน เช่น ค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น การปิดท่าเรือ และภัยธรรมชาติ ซึ่งอาจขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้นี้ได้
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
UTCC, BOT, Macrobond
University of Oxford, Macrobond
Refinitiv, calculated by Bank of Thailand
IHS Markit, Macrobond

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา