Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
15 ต.ค. 2021 เวลา 02:02 • กีฬา
ไขคำตอบจากวิทยาศาสตร์ : ประตูในนัดชิงฯฟุตบอลโลก 1966 ของ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ ข้ามเส้นไปหรือยัง ? | Main Stand
"ผมบอกทุกคนในวงการฟุตบอลเสมอว่าบอลข้ามเส้นไปเป็นเมตร" เซอร์ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ กล่าว
30 กรกฎาคม 1966 สิงโตคำราม ทีมชาติอังกฤษ สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์โลกครั้งแรกและครั้งเดียวในบ้านตัวเอง หลังเอาชนะ เยอรมันตะวันตก ในช่วงต่อเวลาพิเศษไปอย่างสุดมัน 4-2 จากการซัดแฮตทริกของ เจฟฟ์ เฮิร์สต์
อย่างไรก็ดีประตูที่สองที่อดีตกองหน้า เวสต์แฮม ทำได้นั้น เต็มไปด้วยข้อกังขา เมื่อจังหวะที่เขายิงไปเช็ดคาน บอลกระดอนลงบนพื้นอย่างรวดเร็ว จนแทบมองไม่ทันว่ามันข้ามเส้นไปหรือยัง แต่ผู้ช่วยผู้ตัดสินก็ให้ลูกนี้เป็นประตู
นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็ผ่านมากว่า 70 ปีแล้วที่ผู้คนยังถกเถียงกัน และนี่คือการพยายามหาคำตอบในเรื่องนี้
แชมป์โลกสมัยแรกและสมัยเดียว
อังกฤษ มักจะถูกยกย่องในฐานะต้นตำรับของฟุตบอลสมัยใหม่ เนื่องจากพวกเขาคือชาติแรกของโลกที่ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นในปี 1863 แถมยังเป็นชาติแรกที่มีลีกฟุตบอลอาชีพถือกำเนิดขึ้นในปี 1888
อย่างไรก็ดี หากพูดถึงความสำเร็จ เรียกได้ว่าอาจห่างไกลกับคำนี้อยู่พอสมควร เมื่อในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 พวกเขาไม่เคยแม้แต่เข้าชิงชนะเลิศการแข่งขันระดับโลกอย่าง ฟุตบอลโลก ขณะที่เหรียญทอง 3 ครั้งในโอลิมปิกปี 1900, 1908 และ 1912 ก็เป็นในนามของทีมสหราชอาณาจักร ซึ่งมี สกอตแลนด์, เวลส์, ไอร์แลนด์ และ ไอร์แลนด์เหนือ เป็นส่วนหนึ่งด้วย (ก่อนที่ไอร์แลนด์ กับ ไอร์แลนด์เหนือ จะแยกตัวออกไปในปี 1924)
จนกระทั่งในปี 1966 อังกฤษก็มามีความหวัง เมื่อพวกเขาได้รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก ทำให้พลพรรคสิงโตคำรามหมายมั่นปั้นมือกับทัวร์นาเมนต์นี้เป็นพิเศษ และหวังจะได้ชูถ้วย จูลส์ ริเมต์ ต่อหน้าแฟนบอลของตัวเอง
และดูเหมือนการได้เล่นในบ้านจะทำให้อังกฤษทำผลงานได้ดีเป็นพิเศษ พวกเขาคว้าแชมป์กลุ่มในรอบแรก โดยไม่เสียแม้แต่ประตูเดียว ก่อนจะปราบทั้ง อาร์เจนตินา และ โปรตุเกส จนผ่านเข้าชิงชนะเลิศได้สำเร็จ
ทว่าคู่ต่อกรในนัดชิงฯ ของพวกเขาก็ไม่ธรรมดา นั่นก็คือเยอรมันตะวันตก เจ้าของแชมป์โลกปี 1954 และอันดับ 4 ฟุตบอลโลกที่สวีเดนในอีก 4 ปีต่อมา แถมเกมรุกของพวกเขาก็ดุดัน เมื่อซัดไปถึง 13 ประตูจาก 5 นัดก่อนนัดชิงชนะเลิศ
อย่างไรก็ดีอังกฤษไม่ได้เกรงกลัวอยู่แล้ว แม้พวกเขาจะถูกนำไปก่อนจากลูกยิงของ เฮอร์มุต เฮลเลอร์ ตั้งแต่นาทีที่ 12 แต่ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ ก็มาตีเสมอได้อย่างทันควันในนาทีที่ 18 จนกระทั่งนาทีที่ 78 มาร์ติน ปีเตอร์ส ปีกซ้ายของทีมก็มายิงให้เจ้าภาพเป็นฝ่ายขึ้นนำในนาทีที่ 78
แต่ทัพอินทรีเหล็กก็ไม่ยอมแพ้ พวกเขามาตามตีเสมอก่อนหมดเวลาเพียงแค่นาทีเดียวจาก โวล์ฟกัง เวเบอร์ แนวรับของทีมที่ซ้ำลูกขลุกขลิกหน้าปากประตูเข้าไป และทำให้ต้องต่อเวลาพิเศษออกไปอีก 30 นาที
ช่วงต่อเวลาพิเศษ กลายเป็นอังกฤษที่ทำได้ดีกว่า เมื่อมาได้เพิ่มอีกสองประตูในนาทีที่ 101 และ 120 เอาชนะไปได้ด้วยสกอร์ 4-2 และทำให้พวกเขาคว้าแชมป์โลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
มันน่าจะเป็นการปิดฉากที่สมบูรณ์แบบกับการได้ชูถ้วยแชมป์โลกต่อหน้าเพื่อนร่วมชาติ หากแต่ 1 ใน 2 ประตูของเฮิร์สต์นั้นเต็มไปด้วยความกังขา
เข้าไปหรือยัง ?
ประตูดังกล่าวเกิดขึ้นในนาทีที่ 101 จากจังหวะที่ เฮิร์สต์ ได้บอลจาก อลัน บอล ก่อนที่เขาจะเกี่ยวกลับมาแล้วยิงยัดไปที่เสาแรก บอลเช็ดคานแล้วกระดอนลงพื้นในสภาพก้ำกึ่ง แต่เป็นผู้เล่นอังกฤษที่แสดงความดีใจและบอกว่าลูกนี้เป็นประตู
youtube.com
England v West Germany: 1966 World Cup Final | British Pathé
Team England plays on to victory against West Germany in this classic World Cup final from 1966 with many amazing moments including Geoff Hurst becoming the ...
ตามกฎของฟีฟ่าระบุไว้ว่าการให้ประตู ลูกบอลต้องข้ามเส้นเข้าไปทั้งใบ ในตอนแรก ก็อดฟรี เดียนส์ท กรรมการชาวสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้ให้ลูกนี้เป็นประตู เพราะเขามองไม่เห็น แต่หลังจากปรึกษากับ ตอริค บาห์รามอฟ ผู้ตัดสินสัญชาติโซเวียตที่อยู่ใกล้กับเหตุการณ์ที่สุด ก็ให้ลูกนี้เป็นประตูออกนำ 3-2 ของอังกฤษ
แน่นอนว่าผู้เล่นอังกฤษและแฟนบอลอังกฤษ มองว่าลูกนี้ต้องเป็นประตูอย่างแน่นอน รวมไปถึงเฮิร์สต์ผู้ยิงประตูนั้น ที่แม้ว่าเขายอมรับว่าไม่ได้เห็นเหตุการณ์อย่างชัดเจน แต่เขาก็ "เชื่อ" ว่าบอลได้ข้ามเส้นไปแล้ว
"ผมบอกทุกคนในวงการฟุตบอลเสมอว่าบอลข้ามเส้นไปเป็นเมตร" เซอร์ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ กล่าวกับ
FIFA.com
"ผมยิงบอลแบบหมุนตัวยิงแล้วก็ล้มลง ดังนั้นผมจึงมีมุมมองที่แย่มาก และลูกบอลก็เด้งอยู่ข้างหลัง (ฮานส์) ทิลคอฟสกี (ผู้รักษาประตูเยอรมัน) ดังนั้นผมจึงไม่เห็นมัน แต่ผมเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าบอลข้ามเส้นไปแล้ว และความเชื่อนั้นก็ค่อนข้างชัดสำหรับผม"
1
"ผมไปฉลองกับ โรเจอร์ ฮันต์ เขาวิ่งไปฉลองทันทีที่เขาเห็นด้วยตาตัวเองว่าบอลเข้าไป เขาตะโกนว่า มันเป็นประตู และผมก็คิดแบบนั้น"
เช่นกันกับ คีธ วัลดรอน ที่เป็น 1 ใน 8 ของลูกเสือที่นั่งอยู่หลังประตู หลังเขาไปรับจ๊อบเป็นคนช่วยเอาม้วนฟิล์มที่ถ่ายเสร็จแล้วของช่างภาพไปส่งที่ห้องนักข่าวในสนาม เขาบอกว่าดูเหมือนว่าบอลจะเข้าไปแล้ว
"ผมอยู่ในมุมที่ดีที่สุดสำหรับประตูของ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ จากมุมที่ผมเห็น มันดูเข้าไปแล้ว แต่ก็ไม่แน่ใจหรอก เพราะหลังจากนั้นเราก็ต่างกระโดดฉลองด้วยความดีใจ" วัลดรอน ที่ตอนนี้อายุ 71 ปีกล่าวกับ The Mirror
"ผมมั่นใจว่ามันเป็นประตู และโชคดีที่ผู้กำกับเส้นชาวรัสเซียช่วยเรา"
อย่างไรก็ดีมันตรงกันข้ามกับสิ่งที่นักเตะเยอรมันบอก อูเว่ เซเลอร์ กัปตันเยอรมันตะวันตกในเกมนั้นยืนยันว่าเขาเห็นอย่างชัดเจนว่าบอลไม่ได้ข้ามเส้นเข้าไปแม้แต่น้อย
"ผมยืนอยู่ที่หน้ากรอบประตูและเห็นอย่างชัดเจนว่าบอลยังไม่ได้ข้ามเส้น" เซเลอร์ กล่าวกับ i24 News
"เราทุกคนต่างโกลาหล ไม่มีใครรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นต่อไป ไม่มีใคร (ในทีมเยอรมันตะวันตก) เข้าใจว่าทำไมถึงได้ประตู"
ขณะที่ โวล์ฟกัง เวเบอร์ กองหลังของทีมอินทรีเหล็กในเกมนั้น ซึ่งน่าจะเป็นคนที่อยู่ใกล้เหตุการณ์มากที่สุด เมื่อเป็นคนเคลียร์บอลที่กระดอนออกมาข้ามคานออกหลังไป ก็บอกว่าลูกนั้นมันไม่ควรเป็นประตูอย่างแน่นอน และโกรธมากที่เหล่านักเตะอังกฤษแสดงความดีใจ
"ผมบอกเขาว่า 'หยุดเดี๋ยวนี้ นายกำลังทำอะไร' ผมเห็นชัดเจนว่าบอลยังไม่ได้เข้าไป" เวเบอร์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาพยายามบอกให้ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน เอาแขนลงกับ Der Tagesspiegel
"ชัดเจนว่าพวกอังกฤษถูกสอนว่าให้ยกแขนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อโน้มน้าวผู้ตัดสิน"
แน่นอนว่าด้วยความที่ต่างฝ่ายต่างคิดและมองคนละมุม จึงทำให้ประตูนี้ถูกถกเถียงกันมาตลอด แล้วความจริงเป็นเช่นไร ?
วิทยาศาสตร์ไขคำตอบ
"ผมยังคงมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์จนถึงวันนี้ว่ามันไม่เป็นประตู" ฮานส์ ทิลคอฟสกี ผู้รักษาประตูเยอรมันตะวันตกบอกกับ
FIFA.com
"ผมมองผ่านไหล่ซ้าย และเห็นได้ชัดเจนว่าบอลไม่ได้อยู่หลังเส้น มันกระดอนอยู่บนเส้น"
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประตูของ เจฟฟ์ เฮิร์สต์ กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันเสมอ และทำให้ยอดดาวยิงทีมชาติอังกฤษต้องเจอกับสองคำถามอย่าง "มันเป็นประตูหรือไม่ ?" และ "มันข้ามเส้นไปหรือยัง?" มาตลอดชีวิต
ประตูดังกล่าวยังทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดว่าผู้กำกับเส้นสัญชาติโซเวียตต้องการจะล้างแค้นเยอรมัน หลังทีมชาติโซเวียตตกรอบรองชนะเลิศด้วยน้ำมือของทัพอินทรีเหล็ก ทว่าทฤษฎีนี้ต้องตกไป เพราะที่จริง บาห์รามอฟ เป็นชาวอาเซอร์ไบจาน ซึ่งตอนนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต
1
ทำให้ผู้คนต่างพยายามหาคำตอบในเรื่องนี้มาตลอดเพื่อยุติข้อขัดแย้งนี้ และในปี 1996 ก็ดูเหมือนจะมีความหวัง เมื่อ เอียน รีด และ แอนดรู ซิสเลอร์แมน นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด อาสาที่จะมาไขคำตอบนี้
พวกเขาใช้วิธีนำวิดีโอฟุตเทจจากสองมุมในเฟรมเดียวกันมาเทียบกัน โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า Projective Geometry เพื่อจำลองภาพของกรอบ 6 หลาในมุมสูง จากนั้นพวกเขาใช้วิธีพล็อตจุด เพื่อแสดงการเคลื่อนที่ของบอล รวมไปถึงจุดที่บอลตกลงบนพื้น
"หลังจากแปลงฟุตเทจเป็นดิจิตอล เราได้ใช้เทคนิค Projective Geometry กับสองภาพนี้ เพื่อสร้างภาพในกรอบ 6 หลาจากมุมสูง ซึ่งเราได้พล็อตจุดที่บอลตกถึงพื้นในแนวดิ่ง" ดร.รีด แห่งภาควิศวกรรมศาสตร์ อธิบาย
"เราใช้เสาประตูเพื่อคาดคะเนจุดที่หายไปในเส้นตั้ง โดยเส้นตั้งจะลากผ่านบอล ทำให้เห็นจุดที่มีโอกาสเกิดขึ้นจากมุมสูง"
"ภาพจากสองมุมจะทำให้เกิดเส้นสองเส้นลากตัดผ่านกัน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น"
อย่างไรก็ดี เนื่องจากในฟุตเทจ มีบางมุมที่บอลถูกบดบังโดยเสาหรือผู้รักษาประตู พวกเขาจึงได้เผื่อความผิดพลาด เช่นการเกิด Motion Blur (กล้องขยับ แล้วภาพไม่ชัด) หรือมุมมองที่อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง
1
"มีสามเฟรมสำคัญที่ไม่สามารถคำนวณตำแหน่งได้ เพราะลูกบอลถูกผู้รักษาประตูบังถึง 3/4 แต่ในอีกด้านหนึ่ง สามารถเห็นตำแหน่งของบอลชัดเจน ทำให้รู้ตำแหน่งของบอลก่อนที่มันจะหายไปแล้วโผล่กลับมาอีกครั้ง" ดร.รีด ธิบายต่อ
"แม้ว่าบอลจะถูกบัง แต่มันก็อยู่ในขอบเขตเล็ก ๆ ที่จำกัด ที่ทำให้สามารถทดสอบได้"
1
และจากการทดลองซ้ำ ๆ หลายต่อหลายครั้งของพวกเขาก็ได้ข้อสรุปว่า ลูกขึ้นนำของอังกฤษในช่วงต่อเวลาพิเศษในวันนั้น ยังไม่ได้ข้ามเส้นเข้าไปเต็มใบ
"ผลของการวิคราะห์นี้สรุปได้ว่าบอลตกลงบนเส้น และเมื่อพิจารณาถึงความเออเรอร์ที่เลวร้ายที่สุด บอลก็ยังห่างจากการเป็นประตูถึง 3 นิ้ว" ดร.รีด สรุปงานวิจัย
แม้ว่าในปี 2016 Sky Sports สถานีโทรทัศน์ชื่อดังของอังกฤษ จะพยายามพิสูจน์เรื่องนี้อีกครั้ง ด้วยการใช้เทคโนโลยี Virtual Reality ของ EA Sports จำลองเหตุการณ์ขึ้นมา แต่วิดีโอที่พวกเขาแสดงก็ถูกโต้แย้งว่ามีมุมมองที่ดูหลอกตา
youtube.com
Goal Line Technology now used in the 1966 World Cup Final
Goal Line Technology made by Sky.
เนื่องจากในเหตุการณ์จริงที่พวกเขาอ้างอิงมา เป็นจังหวะที่บอลกระดอนพื้นแล้วลอยอยู่บนอากาศ แต่ในแบบจำลองของ EA Sports บอลกลับอยู่บนพื้น จึงทำให้ความน่าเชื่อถือของข้อพิสูจน์นี้ลดน้อยลงไป
ฟุตบอลกับเทคโนโลยี
อันที่จริงหลังจากประตูของ เฮิร์สต์ ก็ยังมีประตูที่เต็มไปด้วยความกังขา หรือจังหวะที่ควรได้ประตูแต่กลับไม่ได้เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นประตูของ หลุยส์ การ์เซีย ในเกมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบรองชนะเลิศ ที่ ลิเวอร์พูล พบกับ เชลซี เมื่อปี 2005 หรือลูกยิงของ เปโดร เมนเดส แข้ง ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ในเกมพรีเมียร์ลีก นัดที่พบกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อปี 2005
แต่ถึงอย่างนั้นฟีฟ่าก็ยังยืนกรานว่าจะไม่ยอมให้เอาเทคโนโลยีมาใช้ในการตัดสินฟุตบอล จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์หนึ่งในฟุตบอลโลก 2010 ที่เป็นการพบกันระหว่างคู่กรณีเก่าอย่าง อังกฤษ และ เยอรมัน
เกมนั้นเยอรมันเป็นฝ่ายออกนำไปก่อน 2-0 ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรกจาก มิโรสลาฟ โคลเซ่ และ ลูคัส โพดอลสกี แต่อังกฤษก็มายิงตีตื้นได้จาก แมตธิว อัพสัน ในนาทีที่ 37
จากนั้นอังกฤษมีโอกาสตีเสมอ จากลูกยิงของ แฟรงค์ แลมพาร์ด ที่ยิงเช็ดคานผ่านมือ มานูเอล นอยเออร์ ตกลงข้ามเส้นประตูอย่างชัดเจน แตโชคร้ายที่ผู้ตัดสินในเกมนั้นไม่เห็นและให้เล่นต่อไป จนสุดท้ายอังกฤษกลายเป็นฝ่ายพ่ายไปอย่างยับเยิน 4-1
1
เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นครึกโครม และเรียกร้องให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการตัดสิน เพื่อลดความผิดพลาดเสียที แต่ฟีฟ่าก็ยังดื้อดึง และใช้ผู้ตัดสินที่ 5 อยู่หลังประตูแทน
แต่สุดท้ายเหตุการณ์ซ้ำรอยในยูโร 2012 ระหว่าง อังกฤษ และ ยูเครน ที่ลูกยิงของ มาร์โก เดวิช ข้ามเส้นไปแล้ว แต่ผู้ตัดสินมองไม่ทัน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ ฟีฟ่า ตัดสินใจใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า "โกลไลน์" อย่างจริงจัง และใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้
จริงอยู่ที่การใช้เทคโนโลยีเข้ามาตัดสิน จะทำให้ฟุตบอลขาดความต่อเนื่อง หรือขาดเสน่ห์อย่างที่แฟนบอลคลาสสิกมอง แถมข้อผิดพลาดก็ยังมีให้เห็นอยู่ (ยกตัวอย่างเช่น VAR ในพรีเมียร์ลีก) แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ฟุตบอลพัฒนาต่อไปได้ในทางที่ดีขึ้น
เพราะฟุตบอลเป็นแบบนี้มาตลอด มันถูกปรับ เปลี่ยนแปลง และแก้ไข มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และความไม่สมบูรณ์แบบนี้ก็ทำให้มันเป็นฟุตบอลอย่างในปัจจุบัน
"ฟุตบอลทุกวันนี้กลายเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ ดังนั้นมันจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการที่แน่นอนเพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนั้น" เซเลอร์ กล่าวกับ i24News
"แน่นอนว่ามันมีความผิดพลาดอยู่เสมอ แต่นั่นก็คือส่วนหนึ่งของฟุตบอล"
แหล่งอ้างอิง
https://www.i24news.tv/en/news/sport/121362-160730-germans-still-disputing-england-1966-world-cup-final-goal
https://www.handelsblatt.com/english/soccer-history-the-goal-that-never-was/23536768.html?ticket=ST-218243-HtsVhSmfSsHnoZndj4QA-ap3
https://www.robots.ox.ac.uk/~ian/wc66.html
https://www.skysports.com/football/news/12016/10119554/geoff-hursts-crucial-second-goal-in-the-world-cup-final-of-1966-should-not-have-been-awarded
https://www.fifa.com/tournaments/mens/worldcup/1966england/news/the-debate-goes-on-2813334
https://www.chinadailyhk.com/articles/17/97/177/1528617869029.html
https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/ex-boy-scout-reveals-role-23683397
งานวิจัย Goal-direct Video Metrology
2 บันทึก
12
2
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย