15 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Hometown Cha-Cha-Cha : สังคมสูงวัย กับรายจ่ายทันตกรรมที่สูงตาม
ซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้แห่งปีใกล้จะดำเนินมาถึงตอนจบแล้ว ทำเอาหลายๆ คนต่างก็ลุ้นไปตามๆ กันว่าปมต่างๆ จะคลี่คลายลงไปได้อย่างไร ดังนั้นวันนี้เราจะขอพาทุกท่านย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของเรื่องราว Feel Good ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเรื่อง และร้อยเรียงความสัมพันธ์ของทุกตัวละคร จนนำมาสู่บทสรุปในสัปดาห์นี้
Hometown Cha-Cha-Cha : สังคมสูงวัย กับรายจ่ายทันตกรรมที่สูงตาม
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากการที่ทันตแพทย์ยุนฮเยจิน (แสดงโดย ชินมินอา) ไม่พอใจที่ ผอ.คลินิกที่เธอทำงานอยู่บังคับให้เธอขูดรีดค่าทำฟันจากคนไข้ โดยการให้ทำรากฟันเทียมทั้งที่ยังไม่จำเป็น หรือเลือกวัสดุที่ไม่สามารถเบิกประกันได้ เมื่อเธอไม่ยอมทำตามจึงต้องออกจากงานมาและไปเปิดคลินิกที่หมู่บ้านกงจิน ชุมชนเล็กๆ ริมทะเลที่ทำให้เธอได้รู้จักกับหัวหน้าฮง (แสดงโดย คิมซอนโฮ) และพาเธอไปเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ในชีวิต ที่มากกว่าการเป็นทันตแพทย์ในเมืองหลวง
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะเล่าเรื่องการเกี่ยวกับทันตกรรมในเกาหลีใต้ และความท้าทายในเรื่องของสังคมสูงวัยที่กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องนี้
📌 ประกันสุขภาพแห่งชาติกับการทำฟันของคนเกาหลีใต้
ก่อนปี 2009 คนรายได้น้อยในเกาหลีใต้มักจะไม่ค่อยได้ไปพบทันตแพทย์ และหลีกเลี่ยงการเข้ารับหัตถการ เนื่องจากกังวลเรื่องค่ารักษาที่สูง ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทันตกรรมของคนในแต่ละระดับรายได้
หลังปี 2009 เป็นต้นมา ประกันสุขภาพแห่งชาติของเกาหลีใต้ ได้ครอบคลุมค่ารักษาทันตกรรมเพื่อหวังที่จะช่วยให้การเข้าถึงบริการทันตกรรมนั้นครอบคลุมไปทุกกลุ่มระดับรายได้มากยิ่งขึ้น โดยในช่วงแรกๆ ประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ครอบคลุมเพียงการรักษาแบบดั้งเดิม เช่น รักษารากฟัน การถอนฟัน และการรักษาโรคปริทันต์ ในขณะที่การทำรากฟันเทียม การจัดฟัน และการรักษาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันผุ อาทิ การเคลือบฟลูออไรด์ เคลือบหลุมร่องฟัน นั้นยังไม่ครอบคลุม
เครดิตภาพ : hancinema.net
ต่อมา จึงเริ่มมีการปฏิรูปในด้านของบริการทันตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงวัย ผ่านสวัสดิการรัฐที่ให้บริการใส่ฟันปลอมแก่คนที่อายุ 75 ปีขึ้นไป และนับตั้งแต่นั้น ก็มีนโยบายอีกมากมายที่ออกมา เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงบริการทันตกรรมที่ครอบคลุม
1
ผลที่ตามมา คือ จำนวนคนที่มาใช้บริการทันตกรรมเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่สัดส่วนของเงินที่ผู้สูงอายุที่ต้องจ่ายค่าทันตกรรมเองก็ลดลง
1
📌 สังคมสูงวัยกับปัญหาทันตกรรม...เรื่องเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้าม
จากรายงานประจำปีของเกาหลีใต้ระบุว่าโรคเหงือกอักเสบ ปริทันต์ และฟันผุ เป็นโรคทางทันตกรรมที่ถูกเบิกค่าใช้จ่ายกับ Health Insurance Corporation’s (NHIC) มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของเกาหลีใต้ ชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการทำทันตกรรมสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสำหรับกลุ่มผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วนของค่าใช้จ่ายทันตกรรมเพิ่มขึ้นจาก 31.6% ในปี 2011 ไปอยู่ที่เกือบ 40% ในปี 2017
ประกอบกับการคาดการณ์ว่าประชากรสูงวัยจะมีจำนวนมากเกิน 10 ล้านคนในปี 2025 และจะเพิ่มขึ้นเป็น เกือบ 20 ล้านคน ในปี 2067 ปรากฎการณ์สังคมสูงวัยนี้ได้นำมาซึ่งปัญหาอย่างหนึ่งให้รัฐต้องว่าแผน คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่จะสูงขึ้น และหนึ่งในค่าใช้จ่ายหลักก็ คือ ค่าใช้จ่ายด้านทันตกรรม ที่คิดเป็นกว่า 23 - 27% ของค่าใช้จ่ายที่ประกันสุขภาพแห่งชาติต้องจ่ายในแต่ละปี
1
ส่วนมากผู้สูงวัยเหล่านี้ ในอดีตมักไม่ได้รับการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากดีเท่าที่ควร เมื่ออายุมากขึ้นจึงมีโรคทางทันตกรรม เช่น ฟันหลุด โรคปริทันต์อักเสบ ฟันผุเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษา ซึ่งกลายเป็นปัญหาสำคัญในสังคมสูงวัยที่ทั่วโลกเผชิญ
เครดิตภาพ : hancinema.net
จากงานวิจัยของคุณ Listl และคณะ ประมาณกันว่าจะทั่วโลกจะต้องใช้เงินเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อที่จะให้ครอบคลุมต้นทุนค่ารักษาโรคในช่องปากต่างๆ ได้ ดังนั้นการที่รายจ่ายเพื่อรักษาโรคทางทันตกรรมเพิ่มขึ้นโดยที่อัตราการเกิดต่ำลง นั่นอาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อเสถียรภาพการคลังและเศรษฐกิจของประเทศได้
และการศึกษาของ Global Burden of Disease ก็ได้ยืนยันเช่นกันว่าลักษณะประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งการกลายเป็นสังคมสูงวัยและอัตราการเกิดที่ลดลง ทำให้มีคนที่เป็นโรคทางทันตกรรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งโรคปริทันต์เป็นโรคที่พบมากที่สุด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะป้องกันปัญหาในช่องปากตั้งแต่แรกเพื่อแก้ปัญหาด้านรายจ่ายทางทันตกรรมที่เพิ่มขึ้นในอนาคต นโยบายที่เกี่ยวกับการลงทุนด้านสุขภาพจึงให้ความสำคัญกับการทำให้คนสามารถเข้าถึงบริการทางทันตกรรมเพื่อป้องกันตั้งแต่ขั้นแรกๆ
📌 ส่งเสริมการแปรงฟันอย่างถูกวิธี...แก้ปัญหาแบบ Minimal แต่ผลลัพธ์ Maximum
ที่โรคปริทันต์นั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจก็เนื่องมาจากทำให้มีโอกาสที่จะเกิดโรคเกี่ยวกับโรคหลอดเลือด และหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น ซึ่งวิถีที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้นเหตุนั้นใช้ต้นทุนน้อยแต่สามารถลดความเสี่ยงและลดรายจ่ายทางด้านสุขภาพได้ นั่นคือ การแปรงฟันอย่างถูกวิธี
โดยปกติแล้วการแปรงฟัน 2 วันต่อครั้งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกแนะนำ แต่การแปรงฟันที่เกาหลีใต้แนะนำ คือแคมเปญการแปรงฟันแบบ 3-3-3 ที่หมายถึง แปรงฟัน 3 ครั้งต่อวัน, ภายใน 3 นาทีหลังมื้ออาหาร,และแปรงฟันครั้งละ 3 นาที เนื่องจากมีข้อมูลพบว่าช่วยลดโอกาสที่จะเกิดโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดที่กล่าวไปข้างต้นได้มากทีเดียว
จำนวนครั้งของการแปรงฟันโดยเฉลี่ยในเกาหลีใต้
รัฐบาลเกาหลีใต้และองค์การเอกชน จึงพยายามที่จะออกโปรเจคต่างๆ ที่จะช่วยป้องกันโรคในช่องปากตั้งแต่แรกๆ โดยให้ความสำคัญไปกับการส่งเสริมให้ผู้คนรู้จักวิธีการรักษาสุขภาพในช่องปากอย่างถูกต้องตั้งแต่ระดับประถมศึกษาผ่านการสอนของคุณครู ในขณะที่สำหรับผู้ใหญ่ที่เลยวัยเรียนไปแล้วก็จะรับรู้ข้อมูลผ่านทางสื่อต่างๆ แทน หากลองสังเกตดูดีๆ ซีรีส์เกาหลีเกือบทุกเรื่อง มักจะต้องมีฉากที่ตัวละครแปรงฟัน หรืออย่างในซีรีส์เรื่องนี้ก็พยายามสอดแทรกข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลรักษาฟันสำหรับคนสูงอายุ สร้างภาพจำที่ดีต่อการทำทันตกรรม และพยายามย้ำเรื่องการดื่มนมจะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้
เรื่องนี้จึงส่งผลให้พฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของคนเกาหลีใต้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป คนวัยเรียนหรือวัยทำงานที่ต้องออกจากบ้าน ก็นิยมพกชุดแปรงฟันไว้แปรงหลังรับประทานอาหาร จนกลายเป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นคนเกาหลีใต้แปรงฟันกันที่อ่างล้างมือในช่วงพักเที่ยง หรือถึงขนาดที่ร้านปิ้งย่างบางร้านก็มีแปรงสีฟันและน้ำยาบ้วนปากไว้ให้ฟรีอีกด้วย
ที่มา : Youtube
ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นว่า บางครั้งการแก้ปัญหาที่ใหญ่ๆ อาจเริ่มต้นการแก้ปัญหาที่จุดเริ่มต้นเพียงเล็กๆ ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณมากเลยก็ได้ สำหรับซีรีส์ Hometown Cha-Cha-Cha ที่ได้ถ่ายทอดชีวิตและประเด็นปัญหาของแต่ละครอบครัวตลอดจนสังคม เราจะเห็นถึงสัญลักษณ์บางอย่าง และสิ่งที่ถูกถ่ายทอดผ่านบทพูดของตัวละคร ซึ่งทำให้เราตระหนักว่าปัญหาต่างๆ ก็เหมือนกับฟันคุด หากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยไว้ก็มีแต่จะลุกลามทำให้ฟันอื่นเสียหาย แต่การตัดสินใจก้าวข้ามความกลัว ยอมเสียเวลาแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น ย่อมดีกว่าปล่อยให้ปัญหาบานปลายเกินกว่าจะแก้ไขแน่นอน
1
ในกรณีของสังคมสูงวัยก็เช่นกัน...หากเราไม่รีบวางแผนรับมือตั้งแต่ตอนนี้ ในอนาคตก็อาจจะเกิดปัญหาอีกมากมายให้ต้องแก้ไขก็เป็นได้
#Hometownchachacha #หัวหน้าฮง #ซีรี่ส์เกาหลี
#Bnomics #Economic_Edutainment #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
Shin, H.; Cho, H.-A;Kim, B.-R. Dental Expenditure by Household Income in Korea over the
Period 2008–2017: A Review of theNational Dental Insurance Reform.Int. J. Environ. Res. Public Health 2021,18, 3859.
Listl, S.; Galloway, J.; Mossey, P.A.; Marcenes, W. Global economic impact of dental diseases. J. Dental Res.
2015, 94, 1355–1361.
Kim, Y. R., & Kang, H. K. (2021). Trend Analysis of Average Frequency Using Toothbrushing per Day in South Korea: An Observational Study of the 2010 to 2018 KNHANES Data. International journal of environmental research and public health, 18(7), 3522. https://doi.org/10.3390/ijerph18073522
Song, In Seok & Kyungdo, Han & Choi, Yeon-Jo & Ryu, Jae-Jun & Park, Jun-Beom. (2016). Influence of oral health behavior and sociodemographic factors on remaining teeth in Korean adults: 2010–2012 Korea national health and nutrition examination survey. Medicine. 95. e5492. 10.1097/MD.0000000000005492.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา