22 ต.ค. 2021 เวลา 13:20 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Supernova: มองการสมรสเท่าเทียมด้วยเลนส์ของเศรษฐศาสตร์
2
หนังดราม่าแบบเรียบง่ายแต่งดงาม ได้รับความชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม “Supernova กอดให้รักไม่เลือน” ถ่ายทอดช่วงเวลาสุดท้ายของทัสเกอร์ (แสดงโดย สแตนลีย์ ทุชชี) ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมและจะค่อยๆ สูญเสียความทรงจำไป เขาจึงออกเดินทางไปพร้อมกับ แซม (แสดงโดย โคลิน เฟิร์ธ) คู่ชีวิตที่อยู่ร่วมกันกว่า 20 ปี เพื่อเก็บเกี่ยวทุกความรู้สึก ก่อนที่ความทรงจำของเขาจะเลือนหายไปตลอดกาล
Supernova (2020)
คงเป็นโชคดีของทั้งทัสเกอร์และแซม ที่เขาอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้เพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้แล้ว เขาทั้งคู่จึงมีโอกาสได้ใช้ชีวิตแบบที่คู่รักทั่วไปพึงมี มีสิทธิตัดสินใจดำเนินการทางการแพทย์แทนได้ในวันที่อีกฝ่ายไม่รู้สึกตัวแล้ว ในขณะที่ในบางประเทศไม่สามารถทำเช่นนั้นได้
วันนี้ Bnomics จึงอยากจะมาเล่าเรื่องการสมรสเท่าเทียมผ่านมุมมองของเศรษฐศาสตร์ เผื่อว่าจะสามารถทำให้หลายๆ ท่านที่ยังไม่เห็นด้วย ได้เปิดใจกับกฎหมายนี้ และเปิดใจให้กับความแตกต่างหลากหลายของเพื่อนร่วมโลกของเรามากขึ้น
📌 ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว...คนเราแต่งงานไปเพื่ออะไร?
ถ้าอ้างอิงจากนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลอย่างคุณ Gary Becker ก็ต้องตอบว่าการแต่งงานเป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในครัวเรือนได้ เนื่องจากคู่สมรสสามารถนำเวลาและเงินมารวมกันแล้วแบ่งกำลังแรงงานของตนไปทำสิ่งที่ถนัดเพื่อเพิ่มผลผลิตสำหรับสมาชิกในครอบครัว เป็นหลักประกันในยามที่ทุพพลภาพหรือตกงาน มีคนที่คอยดูแลซึ่งกันและกัน และช่วยกันเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นมา ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพภายในครัวเรือน ตลอดจนประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจได้
3
📌 แต่แค่รักกันมันไม่พอ...กฎหมายต้องรับรู้ด้วย
2
ในอดีตก่อนที่จะมีการอนุญาตให้สมรสเท่าเทียม สำหรับคู่รักร่วมเพศ แม้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจากไป แต่กฎหมายไม่ได้รับรู้ถึงการสมรสของพวกเขาเหล่านั้น ไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินร่วมกัน รับมรดกของอีกฝ่าย รับบุตรบุญธรรมร่วมกัน หรือรับสวัสดิการของรัฐจากอีกฝ่ายได้อย่างที่คู่สมรสต่างเพศมีสิทธิโดยทั่วไปตามกฎหมาย
2
30 ประเทศที่มีกฎหมายรองรับการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน
ในสหรัฐฯ ก่อนที่จะมีการอนุญาตให้สมรสเท่าเทียมได้ทุกรัฐในปี 2015 คู่รักร่วมเพศกันเหล่านี้มักจะได้รับผลกระทบโดยตรงในเรื่องของสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของรัฐที่ไม่ได้ครอบคลุมถึงคู่สมรสของเขา อาทิ
1
1) ประกันชีวิต : ประกันของสุขภาพบริษัทส่วนใหญ่ที่ทำให้แก่ลูกจ้าง สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็จะครอบคลุมถึงแค่คู่สมรสของลูกจ้างที่เป็นคู่รักต่างเพศเท่านั้น ดังนั้นคู่รักร่วมเพศกันก็มี 2 ทางเลือกคือ ซื้อประกันของเอกชน หรือไม่ก็ไม่ทำประกันเลย แต่ด้วยความที่เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเองสูงถึงเกือบ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2009 (เทียบกับประกันที่นายจ้างทำให้ ลูกจ้างจะจ่ายสมทบแค่ 957 ดอลลาร์สหรัฐฯ) จึงทำให้คู่รักร่วมเพศกันมักไม่ค่อยมีประกันสุขภาพสักเท่าไหร่เมื่อเทียบกับคู่รักต่างเพศ
2) สวัสดิการรัฐ และการรับเงินบำนาญ : โดยปกติแล้วสวัสดิการรัฐมักจะให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ กับคู่สมรสเมื่อเกษียณอายุ ทุพพลภาพ เพื่อช่วยเหลือคู่สมรสในวัยชรา ซึ่งคู่รักร่วมเพศกลับไม่ได้สิทธิเหล่านี้แม้ว่าจะจ่ายเงินเข้าประกันสังคมในอัตราที่เท่ากันกับคู่รักต่างเพศ จากข้อมูลของสหรัฐฯ ในปี 2000 เกิน 1 ใน 4 ของคู่รักร่วมเพศทั้งหมด มีคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในภาวะทุพพลภาพ และประมาณ 7% มีคนใดคนหนึ่งอายุ 65 ปี หรือมากกว่านั้น พอการสมรสของคู่รักร่วมเพศไม่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย คู่รักร่วมเพศก็จะต้องมีภาระทางการเงินอย่างหนักทันทีเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกษียณหรือทุพพลภาพ และยิ่งแย่กว่าถ้าคู่สมรสที่รายได้สูงกว่าเสียชีวิตไปก่อน
3) สิทธิการเป็นพลเมือง : เมื่อ 20 กว่าปีก่อน มีคู่รักร่วมเพศในสหรัฐฯ ประมาณ 36,000 คน ที่ไม่ได้มีสถานะเป็น พลเมืองสหรัฐทั้งคู่ ซึ่งถ้าทั้งสองเป็นคู่รักต่างเพศ แค่เพียงจดทะเบียนสมรสก็ทำให้อีกฝ่ายเข้าเงื่อนไขได้รับสถานะพลเมืองของสหรัฐฯ แล้ว การที่คู่รักร่วมเพศไม่ได้รับสิทธินั้นก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจได้หลายทาง ยกตัวอย่างเช่น การที่ต้องกลับไปบ้านเกิดก่อนทำเรื่องขออยู่ต่อซึ่งเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานในระยะยาว ทำให้บางคู่ต้องตัดสินใจย้ายไปอยู่ประเทศที่ยอมรับการสมรสระหว่างเพศเดียวกันในที่สุด
📌 ครอบครัวหลากหลายทางเพศ...เมื่อคำว่าพ่อแม่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยเพศอีกต่อไป
1
หลังจากคำวินิจฉัยของศาลในคดี Obergefell v. Hodges ส่งผลให้การสมรสเพศเดียวกันชอบด้วยกฎหมายในทุกรัฐ ของสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2015 ประมาณกันว่ามีคู่รักร่วมเพศกว่า 300,000 คู่ได้เข้าพิธีแต่งงานกันตามกฎหมาย ซึ่งงานวิจัยจาก School of Law Williams Institute คาดว่างานแต่งงานของพวกเขาได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2020 กว่า 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รัฐบาลทั้งระดับรัฐและท้องถิ่นก็สามารถเก็บภาษีขายได้กว่า 244.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังไม่รวมว่าสามารถสร้างงานเพิ่มให้คนกว่า 45,000 งานในหนึ่งปี
1
แม้ว่าทัศนคติต่อสิทธิในการสมรสเพศเดียวกันจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่หลายๆ คนก็ยังคงกังวลถึงผลที่ตามมาของการสมรสเพศเดียวกันกับการเลี้ยงลูกโดย พ่อ-พ่อ หรือ แม่-แม่ เหล่านี้ ว่าอาจจะไม่ดีเท่าเด็กที่เติบโตมากับพ่อและแม่ และยังเกิดการแบ่งแยกครอบครัวหลากหลายทางเพศอยู่บ้าง
เครดิตภาพ : Studio Canal
อย่างไรก็ดี งานวิจัยหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ลงใน American Sociological Review ได้ใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่อนุญาติให้การสมรสเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมายได้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 มาเปรียบเทียบผลการเรียนของเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาโดยครอบครัวพ่อแม่ต่างเพศ กับครอบครัวหลากหลายทางเพศ
ผลของงานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยผู้ปกครองที่มีความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่เกิด กลับมีคะแนนสอบไล่ตอนเรียนจนชั้นประถมโดยเฉลี่ยสูงกว่าเด็กที่โตมากับครอบครัวพ่อแม่ต่างเพศ และยังมีโอกาสเรียนจบชั้นมัธยมปลายสูงกว่าถึง 5% แม้หลายคนอาจจะมองว่าส่วนใหญ่ครอบครัวหลากหลายทางเพศในกลุ่มตัวอย่างอาจจะได้เปรียบกว่าในเรื่องของการศึกษาและรายได้ รวมถึงคุณลักษณะบางอย่างที่นักวิจัยไม่ทราบได้ อย่างการย้ายถิ่นฐานของผู้ปกครอง หรือการวางแผนก่อนมีบุตร แต่เมื่อขจัดผลของปัจจัยเหล่านี้ออกไปแล้วก็พบว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงมาโดยครอบครัวหลากหลายทางเพศก็ยังมีผลการศึกษาอย่างน้อยที่สุดก็พอๆ กันกับเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวพ่อแม่ต่างเพศอยู่ดี
1
ดังนั้นการมีครอบครัว หรือการจะเป็นพ่อแม่คน คงไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดโดยกรอบของเพศอีกต่อไป ไม่ว่าเพศไหนก็สามารถมีครอบครัวที่ดี และเป็นพ่อแม่ที่ดีได้ ขอแค่มีความพร้อม ความรัก และความเข้าใจกัน
เครดิตภาพ : Studio Canal
จากการดูหนังเรื่อง Supernova หลายๆ ท่านคงรู้สึกข้ามเส้นแบ่งเพศของตัวละคร มองเห็นแต่เพียงความรักระหว่างคนสองคน ความอบอุ่นที่ครอบครัวมอบให้แก่พวกเขาเท่านั้น ในโลกปัจจุบันที่บางประเทศยังไม่ค่อยเปิดใจยอมรับการสมรสเท่าเทียม คู่รักร่วมเพศหลายคู่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก และสูญเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิตเพียงเพราะเพศสภาพของเขาไม่ได้เป็นไปตามกรอบที่สังคมกำหนด มันอาจถึงเวลาแล้วที่เราจะเปิดใจให้กว้าง ยอมรับทุกความหลากหลายทางเพศในโลกนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ต้องการความรักและการยอมรับ เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและช่วยพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นต่อไป
2
#Supernova #Colin_Firth #Stanley_Tucci
#Bnomics #Economics_Edutainment #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา