15 ต.ค. 2021 เวลา 15:39 • ความคิดเห็น
ต้องทบทวนให้เข้าใจตรงกันก่อนกับคำว่าประชาธิปไตย
ที่จริงมันแปลตามตัวแบบตรงไปตรงมาเลยนะ..ประชาชน + อธิปไตย ..อธิปไตยคืออำนาจรัฐ ส่วนประชาชนคือผู้คนที่อยู่ในประเทศนั้นทุกคนที่มีสิทธิในฐานะพลเมือง(ไม่ใช่นักท่องเที่ยว ไม่ใช่ต่างด้าวที่เข้ามาอยู่แบบฉาบฉวย)
ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่เราไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย..อำนาจรัฐของเรามันไม่ได้มาจากประชาชนส่วนใหญ่ มันมาจากประชาชนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เขาเรียกกันง่าย ๆ รวม ๆ ว่า elite group หรือชนชั้นนำ ..ทุกอย่างมันจึงบิดเบือนอ้อมค้อมวุ่นวาย มาถามมาตีตวามกันแบบนี้
คือแค่รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่มันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยในความหมายของ..อำนาจรัฐมาจากประชาชนส่วนใหญ่อยู่แล้ว..
เมื่อเข้าใจตรงกันถึงคำว่าประชาธิปไตยถึงมาพูดถึงความเท่าเทียม
ในระบบประชาธิปไตยที่แท้จริงความเท่าเทียมจึงมาจากอำนาจของรัฐที่พยายามควบคุมไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมในทุก ๆ ด้านไม่ให้เกิดขึ้นในสังคม มันจึงเป็นความเท่าเทียมทางกฏหมาย ทางการศึกษา ทางสาธารณสุข การเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ในแผ่นดิน ฯลฯ
โดยธรรมชาติผู้คนมีความไม่เท่าเทียมกันโดยสภาพทางร่างกาย สติปัญญา สูงต่ำดำขาว การมาจากถิ่นที่อยู่ที่แตกต่างกัน ฐานะครอบครัวที่ต่างกัน..อำนาจรัฐจึงต้องมาจัดการตรงนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทุก ๆ ด้านลง ผู้ที่ด้อยกว่าจะต้องได้รับความช่วยเหลือ..ถ้าเราเล่นกีฬาบางประเภทเขาจะมีแต้มต่อให้ ถ้าใครเล่นกอล์ฟจะคุ้นเคยกับคำว่า Handicap แม้แต่จุดตั้งต้นตีลูกเขาก็จะมีจุดสำหรับ โปร. ผู้เล่นธรรมดาและจุดเริ่มตีสำหรับผู้หญิงที่ระยะสั้นกว่าตามลำดับ
ความเสมอภาคแบบนี้..ในระบบคอมมิวนิสต์เขาถือว่าเขาเคร่งครัดที่สุดแม้แต่ยศตำแหน่งก็ไม่มีทุกคนเสมอกันหมดโดยใช้คำว่าสหาย( Comrade )แทน การเข้าถึงทรัพยากรทุกอย่างในประเทศเขาก็ถือเคร่งครัดว่าต้องเท่าเทียมกันจึงไม่ให้ผู้คนมีทรัพย์สินที่เป็นส่วนตัว แน่นอนว่ามันผิดธรรมชาติของมนุษย์ที่มักจะแย่งชิงกันเอามาเป็นของตนเองให้มากที่สุด ในระยะเริ่มต้นเขาจึงอ้างว่ามันต้องเป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์ก่อนเพื่อจัดระเบียบให้เกิดความเสมอภาคตามอุดมการณ์ภายหลัง แต่สุดท้ายการที่จำกัดด้วยพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียวในประเทศที่เลือกความเสมอภาคแบบคอมมิวนิสต์จึงกลายเป็นประชาชาชนถูกปกครองด้วยอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใหม่คือพรรคคอมมิวนิสต์เพียงกลุ่มเดียว ความเสมอภาคเท่าเทียมของประชาชนจึงมีเพียงการอยู่ใต้อำนาจของผู้ปกครองกลุ่มเดียวแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ทางออกที่ดีที่สุดจึงเหลือเพียงการปกครองแบบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะมาช่วยความขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันนี้ แน่นอนว่ามันไม่มีความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์แต่เนื่องจากอำนาจรัฐมันมาจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ชนชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนร่ำรวย กลุ่มอาชีพที่ถืออาวุธเช่นทหารตำรวจ กลุ่มคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญพิเศษสูงกว่าคนทั่วไป ฯลฯ กลุ่มที่มีพลังสูงกว่าคนทั่วไปพวกนี้จะไม่สามารถรวบอำนาจรัฐไปไว้ในมือตนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ง่าย ๆ เลย เพราะทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งคนทั่วไปจะเลือกผู้ที่จะมามีอำนาจรัฐที่ดูแลผลประโยชน์ให้ตนสูงสุดเท่านั้น
ในระบบประชาธิปไตยอำนาจจึงถูกเกลี่ยไปอย่างหลากหลายเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนคนได้ง่าย ๆ ไม่ได้ผูกขาดโดยการเกิดเป็นคนร่ำรวยเป็นผู้ดี หรือชาติตระกูล ผู้ปกครองที่ไม่ดี ผู้ปกครองที่ใช้อำนาจรัฐที่ไม่ตอบสนองผลประโยชน์คนส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนได้ไม่ยาก ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง
นี่จึงเป็นความเท่าเทียมที่ดีที่สุดที่จะไปสร้างความเท่าเทียมทางกฏหมาย ทางเศรษฐกิจ สังคม ความเท่าเทียมทางการศึกษา ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยพวกนี้จึงสามารถออกกฏหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมได้ง่ายกว่าระบบเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการซึ่งตัวผู้ปกครองพวกนี้เขาจะรักษาผลประโยชน์พวกเขาเป็นสำคัญเสมอ เพราะตัวผู้ปกครองในระบบเผด็จการทุกคนคือผู้กุมอำนาจทางกฏหมาย เศรษฐกิจ สังคมไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ลองดูในความเป็นจริงในระบบเผด็จการกฏหมายที่ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเช่นเก็บภาษีที่ดินสำหรับคนที่ถือครองมาก ๆ หรือเก็บภาษีมรดกในอัตราที่ก้าวหน้าเช่นมูลค่าเกิน 100 ล้านเก็บไปเลย 80 % แบบนี้ทำได้หรือไม่ เอาภาษีที่เก็บแพง ๆ มาสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เรียนฟรีอย่างมีคุณภาพจนถึงระดับอนุปริญญา เพราะเมื่อคนมีการศึกษาเจาสามารถเลื่อนชั้นทางสังคมสร้างฐานะ หาทรัพย์สินได้ง่ายขึ้น..ทำได้หรือไม่ คำตอบก็รู้ ๆ กันอยู่
ระบบเผด็จการทุกชนิดมีแต่จะสร้างคนให้แตกต่างกันแบบสุดขั้ว แยกผู้ดี ไพร่ แยกเพศหญิงชาย แบ่งแยกคนโดยฐานะ อาชีพ เชื้อชาติ ฯลฯ มีการผูกขาดทางเศรษฐกิจในกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองชัดเจน
ประชาธิปไตยไม่ได้สร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันโดยตรงแต่เปิดโอกาสให้เกิดขึ้นได้ สร้างโอกาสให้ประชาชนต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเปลี่ยนสถานะเลื่อนชนชั้นได้เสมอ ในขณะที่ระบบอื่น ๆ โอกาสดังกล่าวแทบเป็นไปไม่ได้หรือยากกว่ามาก..ข้อเท็จจริงนี้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โฆษณา