16 ต.ค. 2021 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
มองย้อนประวัติศาสตร์อินเดีย: การกลับมาของอินเดียในฐานะผู้เล่นคนสำคัญของเศรษฐกิจโลก
มองย้อนประวัติศาสตร์อินเดีย: การกลับมาของอินเดียในฐานะผู้เล่นคนสำคัญของเศรษฐกิจโลก
📌 จากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอดีต...สู่อาณานิคมของอังกฤษ​
“อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอดีต โดยมีสัดส่วนเศรษฐกิจคิดเป็นราว 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก” ข้อความดังกล่าวไม่ใช่การกล่าวเกินความจริงแม้แต่น้อย
1
เพราะนับตั้งแต่ในอดีตมา อินเดียถือว่าเป็นประเทศที่มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอย่างมาก ด้วยความที่มีเส้นทางการค้าหลากหลายเส้นทางพาดผ่าน จึงทำให้เศรษฐกิจอินเดียเจริญเติบโตได้ดีอย่างยิ่ง โดยมีสัดส่วนของเศรษฐกิจอินเดียต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็นเฉลี่ยราวๆ 20-30% ตลอดช่วงระยะเวลาในประวัติศาสตร์
สัดส่วน GDP อินเดียต่อเศรษฐกิจโลก เฉลี่ยราวๆ 20-30% ตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์
ช่วงเวลาที่อินเดียมีความรุ่งเรืองและเฟื่องฟูมากที่สุดก็ คือ ในช่วงการปกครองของราชวงศ์โมกุล ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 1526 ถึง 1857 โดยในยุคดังกล่าว อินเดียแทบจะกลายเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าของโลกเลยก็ว่าได้ มีอุตสาหกรรมสำคัญที่นับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมแห่งยุคนั้นอย่างเช่น การทอผ้า การต่อเรือ และเหล็ก
1
อินเดียในสมัยราชวงศ์โมกุล (1526 - 1857) ช่วงอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าเจริญถึงขีดสุด
แต่แล้วความรุ่งเรืองของอินเดียก็ถึงจุดจบลง พร้อมกันกับความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโมกุล เมื่อช่วงหลัง รัฐบาลของราชวงศ์โมกุลบริหารราชการแผ่นดินได้ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้คนล้วนไม่พึงพอใจอย่างมาก คนแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย หมดความเชื่อมั่นในรัฐบาลอีกต่อไป จนทำให้จักรวรรดิอังกฤษฉวยชิงโอกาสดังกล่าวเข้ามายึดอินเดียเป็นอาณานิคมของตัวเองได้สำเร็จ
ผลที่ตามมา คือ อาณาจักรอินเดียที่เคยยิ่งใหญ่ ได้กลายสภาพไปเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก นโยบายเศรษฐกิจที่แต่เดิมเคยช่วยส่งเสริมในการพัฒนาศักยภาพประเทศ ก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นนโยบาย Exploitation ที่กดขี่ขูดรีด มุ่งหวังเพื่อดึงทรัพยากรอินเดียเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของจักรวรรดิอังกฤษเอง
ในปี 1947 อินเดียภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ มีสัดส่วน GDP เพียง 2% ของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น
การปกครองของอังกฤษเพียงร้อยกว่าปีได้แปลงสภาพอินเดียจากประเทศที่มีสัดส่วนเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกไปเป็นประเทศที่มีสัดส่วนเศรษฐกิจเพียงแค่ประมาณ 2% ของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น ในปี 1947
1
ทั้งนี้ อินเดียก็ได้ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษได้สำเร็จ โดยการประท้วงอย่างสันติอหิงสาของมหาตมะ คานธี ในปี 1947
📌 เมื่อความเจ็บปวดได้สร้างแผลเป็นที่พาอินเดียไปสู่เส้นทางที่ผิดพลาดหลังอิสรภาพ
เส้นทางที่อินเดียได้เลือกเดินในช่วงหลังประกาศอิสรภาพนั้นยังเป็นเส้นทางที่ไม่ใช่ โดยได้นำพาอินเดียตกเข้าไปอยู่ในกับดักของการไม่พัฒนาอยู่นานนับหลายปี คุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ดีขึ้น อัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจก็ต่ำจนถึงกับมีการขนานนามกันว่าเป็น Hindu rate of growth ที่เศรษฐกิจโตอยู่เพียงแค่ราว 2 – 3% เท่านั้น ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเติบโตเป็นหลักสิบเปอร์เซ็นต์
ผลของนโยบายทีผิดพลาดเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่ช่วงที่อินเดียยังไม่ได้ประกาศอิสรภาพ เมื่อเหล่าบรรดานักธุรกิจ ผู้นำและปัญญาชนต่างๆ ได้ถกเถียงว่าอินเดียหลังจากนี้ ควรมีการพัฒนาไปในเส้นทางไหน (หลายคนที่ได้เผยแพร่ความคิดเหล่านี้ออกมาก็ถูกจับกุมโดยรัฐบาลอาณานิคมในขณะนั้น) โดยเส้นทางที่บรรดาผู้นำเหล่านั้นเห็นตรงกันคือการแปลงสภาพประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิต (Industrialization) ผ่านการใช้นโยบายทดแทนการนำเข้า (Import Substitution) และการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง
เหล่าผู้นำของอินเดียได้แรงบันดาลใจสำคัญอย่างมากจากสหภาพโซเวียดที่ได้ใช้นโยบายดังกล่าวในการแปลงสภาพจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมได้โดยสมบูรณ์
นอกจากนี้ เหล่าผู้นำอินเดียยังเชื่ออีกว่าการค้าระหว่างประเทศและตลาดเสรีเป็นเส้นทางที่ไม่ควรเดินไปอย่างยิ่ง สาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้บรรดาประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูง และทำให้การค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศอยู่ในช่วงตกต่ำอย่างมาก จนทำให้บรรดาผู้นำเหล่านี้หมดความศรัทธาว่าการค้าระหว่างประเทศจะใช้เป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าผู้นำเหล่านี้ยังคงเจ็บและจำฝังใจว่านโยบายการค้าระหว่างประเทศและตลาดเสรีเป็นนโยบายที่รัฐบาลอาณานิคมอังกฤษใช้ในการกดขี่ขูดรีดจนทำให้อินเดียสิ้นเนื้อประดาตัวในช่วงที่ผ่านมา
📌 จากนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด...สู่วิกฤติครั้งสำคัญที่บังคับให้อินเดียต้อง “เปลี่ยน”
แนวคิดดังกล่าวที่บรรดาเหล่าผู้นำของอินเดียในยุคนั้น ก็ได้กลายมาเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นจริงหลังจากที่อินเดียได้ประกาศอิสรภาพ เมื่อหนึ่งในผู้นำเหล่านั้น Jawaharlal Nehru ได้ก้าวขึ้นไปเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย โดยได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจรวมศูนย์ มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ล้อไปกับแผนห้าปีของสหภาพโซเวียด
Jawaharlal Nehru นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ในปี 1964
จนกระทั่ง ในช่วงหลัง ถึงกับมีการเรียกนโยบายดังกล่าวในเชิงลบว่า License Raj อีกด้วย เพื่อล้อกับตอนที่อินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษซึ่งมีชื่อว่า British Raj แต่ในครั้งนี้ อินเดียกลับถูกปกครองโดยกฎหมายกฎระเบียบที่มีอยู่มากจนเกินไปนั่นเอง
ภาพการ์ตูนล้อเลียน License Raj - Toppr
ทั้งนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีฉบับแรกของอินเดียได้มุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งด้วยการที่ในช่วงนั้น ฟ้าฝนลมเป็นใจ สภาพอากาศเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกประสบความสำเร็จ และนำมาสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2 ที่ตั้งเป้าหมายไว้สูงกว่าเดิม ที่มุ่งเน้นความสำคัญไปที่การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักแทน และสนับสนุนการนำเข้าเฉพาะสินค้าทุนเท่านั้น เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ นโยบายดังกล่าวได้นำพาอินเดียเข้าสู่วิกฤติค่าเงินในปี 1957
ในช่วงต่อมา อินเดียก็ยังพยายามในการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ทางอินเดียได้เริ่มปลดล็อคภาคเศรษฐกิจบางส่วนให้เสรียิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการเพิ่มการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนทำให้งบประมาณขาดดุลอย่างมาก มีการกู้ยืมเงินจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ
การขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องนี้เอง ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำพาอินเดียเข้าสู่วิกฤติดุลการชำระเงิน (Balance of Payment Crisis) ในปี 1991 เมื่ออินเดียไม่มีทุนสำรองระหว่างประเทศเหลืออยู่แล้ว จนต้องลดค่าเงิน และขอรับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศอย่างเช่น IMF
📌 จากก้าวแรกที่ผิดพลาด สู่ก้าวที่ใช่ของอินเดีย
วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ได้นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านให้รัฐบาลใหม่นำโดยนายกรัฐมนตรี Narasimha Rao และรัฐมนตรีคลัง Manmohan Singh เข้ามาบริหารประเทศแทน โดยได้เลือกเส้นทางใหม่ที่กลายมาเป็นเส้นทางที่ใช่ที่ทำให้อินเดียฟื้นตัวจากวิกฤติและกลับมาเจริญเติบโตได้ดีอย่างมาก จนชะล้างคำกล่าวดั้งเดิมที่ว่า Hindu rate of growth ได้โดยสมบูรณ์
Manmohan Singh รัฐมนตรีคลังผู้เข้ามาปฏิรูปเศรษฐกิจอินเดีย
รัฐบาลใหม่ได้ยกเครื่องปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่ และพลิกเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์มาเป็นระบบทุนนิยมตลาด สาเหตุหนึ่งก็เพราะเงื่อนไขการรับความช่วยเหลือจาก IMF นั้นจะต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไปด้วย แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะอินเดียเองก็ได้เห็นความสำเร็จของประเทศจีน ที่เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศเข้าสู่ทุนนิยมจนสำเร็จ
ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลใหม่ได้ดำเนินการก็คือการปลดล็อคการกำกับเศรษฐกิจที่เข้มงวดให้เสรีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยกเลิกนโยบาย License Raj ซึ่งเป็นโซ่ตรวนชิ้นสำคัญที่ทำให้การจะเปิดธุรกิจในอินเดียเป็นไปยากมาก จะเหลือไว้ก็แต่เพียงบางอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศเท่านั้น รวมทั้งมีการยกเลิกข้อกำหนดเดิมที่ว่าบริษัทที่มีขนาดทรัพย์สินใหญ่เกินไปจนต้องถูกกำกับดูแลโดยภาครัฐ
ขณะเดียวกันก็มีการปลดล็อคการลงทุนต่างประเทศ แปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อจัดการกับการผูกขาดโดยภาครัฐ และนำเงินที่ระดมได้มาปลดหนี้ มีการปรับกฎเกณฑ์ของธนาคาร เพื่อให้มีความทันสมัย และเหมาะสมกับระบบตลาดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีการเปิดเสรีอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ยังได้มีการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ​ลดอัตราภาษีนำเข้า และยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าออกไป เพื่อเตรียมพร้อมให้การค้าระหว่างประเทศมาเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศดังเช่นหลายๆ ประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงแรกนั้น นโยบายปฏิรูปเหล่านี้นั้นได้รับแรงต่อต้านพอสมควร โดยถูกกล่าวหาจากนักการเมืองของฝ่ายตรงข้ามว่าเปรียบเสมือนเป็นใบสั่งจาก IMF อีกทั้ง คนจำนวนไม่น้อยก็ไม่คุ้นชินและภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับนโยบายตลาดเสรี เนื่องจากคุ้นชินกับนโยบายเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์มาทั้งชีวิต
แต่แล้ว เมื่อนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเหล่านี้เริ่มออกดอกออกผล ก็แทบไม่มีใครกังขาถึงเส้นทางใหม่ที่อินเดียได้เลือกอีกต่อไป การปลดล็อคข้อจำกัดดังกล่าว ได้ทำให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตได้ดีอย่างมาก มีแรงเกื้อหนุนที่สำคัญจากการลงทุนต่างประเทศ และการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งระบบตลาดที่นำเข้ามาใช้ก็ช่วยหล่อลื่นเศรษฐกิจให้เดินไปได้ดี
ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี การลงทุนต่างประเทศได้เพิ่มจากเพียงแค่ 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 1991 มาเป็น 5,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 1995 นอกจากนี้ ในช่วงสงครามการค้าระหว่างจีน - สหรัฐฯ ที่ผ่านมา อินเดียก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้จำนวนมาก ไม่แพ้ประเทศอย่างเวียดนามเลย
ขณะเดียวกัน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ได้เพิ่มจากเพียง 2 – 4% ในช่วงก่อนหน้า มาเป็นราว 7 – 8% และหลังจากนั้น อินเดียก็ยังคงเร่งปรับตัว สานต่อการปฏิรูปในด้านต่างๆ ตลอดจนถึงเสริมสร้างทุนมนุษย์ พัฒนาแรงงานจำนวนมหาศาลของตัวเองให้มีคุณภาพ เพื่อให้พร้อมรับเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างแท้จริง
ในวันนี้ อินเดียได้รื้อฟื้นตัวเองจากประเทศที่เคยตกระกำลำบาก มาเป็นผู้เล่นคนสำคัญของเศรษฐกิจโลกได้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับศักยภาพที่ยังคงเติบโตไปได้อีกไกล อีกทั้งยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและแซงหน้าจีนภายในไม่กี่ปีต่อจากนี้อีกด้วย
ปี 2021 ล่าสุด 7-Eleven เข้าไปเปิดสาขาแรก ในอินเดีย ณ กรุงมุมไบ
จึงกล่าวได้ว่าอินเดียเป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ที่เพรียบพร้อมไปด้วยโอกาสมากมายที่พร้อมให้เราเข้าไปหยิบฉวยและคว้ามาเป็นของเรา ดังเช่นล่าสุดที่ 7-Eleven ก็ได้เข้าไปเปิดสาขาแรกในกรุงมุมไบ เป็นต้น
#ประวัติศาสตร์อินเดีย #เศรษฐกิจอินเดีย #อินเดีย
#Bnomics #All_about_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
refreqid=excelsior%3Acd0165744f2b4e76a1d03b460005bfd1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา