9 ต.ค. 2021 เวลา 13:20 • ประวัติศาสตร์
มองย้อนประวัติศาสตร์ไต้หวัน: เส้นทางของเกาะเล็กๆ สู่ 1 ในเสือ 4 ตัวของเอเชีย
3
มองย้อนประวัติศาสตร์ไต้หวัน: เส้นทางของเกาะเล็กๆ สู่ 1 ในเสือ 4 ตัวของเอเชีย
ไต้หวันเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ อยู่ห่างจากชายฝั่งของมณฑลฝู่เจี้ยนของจีนแผ่นดินใหญ่เป็นระยะทางราว 200 กิโลเมตร โดยเรียกกันว่าช่องแคบไต้หวัน โดยประวัติศาสตร์ของไต้หวันสามารถย้อนรอยกลับไปได้หลายหมื่นปี ซึ่งเต็มไปด้วยการก่อกำเนิดของวัฒนธรรมโดยบรรดาคนอพยพที่แตกต่างกันไป ทั้งมาจากพื้นที่ที่แตกต่างกัน และในช่วงเวลาที่ต่างกัน
2
เกาะไต้หวัน ตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ ห่างจากชายฝั่งจีนประมาณ 200 km. - Wikipedia
อย่างเช่นในช่วงยุคหิน ระดับน้ำทะเลอยู่ต่ำกว่าในปัจจุบันถึง 140 เมตร ทำให้พื้นที่บริเวณช่องแคบไต้หวันที่เป็นพื้นที่น้ำตื้นอยู่แล้ว กลายเป็นดั่งสะพานบก (Land bridge) ที่เชื่อมให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นของเหล่าสัตว์และมนุษย์ยุคหินจากแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชียมายังเกาะไต้หวัน เกิดเป็นวัฒนธรรมที่เรียกกันว่า Changbin Culture
หรือในช่วงราวสามพันปีก่อนคริสตกาล ก็ได้ถือกำเนิดวัฒนธรรมต้าเผิงเค็ง (Dapenkeng) ขึ้นโดยเหล่าชาว Austronesian ที่ได้อพยพผ่านช่องแคบไต้หวันเข้ามา ตั้งรกรากจนเกิดเป็นวัฒนธรรมขึ้น ซึ่งภายหลัง ผู้อพยพเหล่านี้ก็ได้ลงหลักปักฐานจนได้พัฒนามาเป็นหนึ่งในชนพื้นเมืองไต้หวัน (Taiwanese Aborigines) ดังที่เราเห็นในปัจจุบัน
1
ชนพื้นเมืองไต้หวัน (Taiwanese Aborigines)
ทั้งนี้ ในช่วงแรก เกาะไต้หวันไม่ได้รับความสนใจมากนัก โดยมีการประเมินกันว่าเกาะไต้หวันนั้นถูกค้นพบโดยกองเรือสำรวจของจีนในช่วงยุคสามก๊ก (Three Kingdoms) หรือประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 3 จนภายหลังนำมาสู่การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างจีนกับไต้หวัน รวมถึงการอพยพย้ายถิ่นฐานประปรายของชาวจีนฮั่นตามฤดูกาล แต่ก็ไม่ได้มีความพยายามในการดำเนินนโยบายเพื่อครอบครองเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร หรือการอพยพอย่างจริงจัง
1
จนกระทั่งในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่บริษัทอินเดียตะวันออกของดัชต์ได้เดินทางเข้ามาในเอเชียตะวันออกด้วยความมุ่งหวังว่าต้องการให้จีนทำการค้ากับตัวเองให้ได้ เพื่อแทนที่โปรตุเกส ซึ่งตั้งฐานการค้าอยู่ที่มาเก๊าและทำการค้ากับจีนมายาวนาน โดยกลุ่มนี้ได้เข้าปล้นสะดมบรรดาเรือขนส่งสินค้าของจีน โจมตีฐานการค้าของโปรตุเกสบนเกาะมาเก๊า รวมถึงพยายามตั้งฐานการค้าของตัวเองที่เกาะฮ่องกง
1
แต่แล้ว ความพยายามทั้งหลายเหล่านี้ก็ล้วนล้มเหลวทั้งสิ้น จนทำให้กองเรือของดัชต์ต้องถอยร่นไปตั้งหลักที่เมือง Magong บริเวณหมู่เกาะเผิงหู และได้สร้างป้อมปราการขึ้นมาด้วยความมุ่งหวังว่าจะให้เกาะดังกล่าวเป็นฐานการค้าของดัชต์ โดยพยายามบีบบังคับให้จีนเปิดท่าเรือที่เมืองฝู่เจี้ยนเพื่อทำการค้ากับตนเอง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
1
ทั้งนี้ จีนยังได้ตอบกลับมาอีกด้วยว่าพื้นที่บริเวณหมู่เกาะเผิงหูนั้นเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน เพราะฉะนั้น ขอให้ดัชต์ออกจากพื้นที่ดังกล่าวทันที และจีนจะยอมทำการค้ากับดัชต์ หากดัชต์ยอมไปตั้งฐานการค้าที่เกาะไต้หวันแทน (จะเห็นได้ว่าไต้หวันในอดีตแทบไม่ได้สำคัญกับจีนเลย) แต่แน่นอนว่าดัชต์ก็ไม่ยอม สุดท้ายนำไปสู่สงครามระหว่างจีนกับดัชต์ขึ้นในปี 1622–1624 ซึ่งผลก็คือ ดัชต์พ่ายแพ้สงครามและต้องถอยร่นไปยังเกาะ Formosa (Beautiful Island) ตามภาษาโปรตุเกส หรือ เกาะไต้หวันในที่สุด
3
📌 จากเกาะที่ไม่มีใครเหลียวแล สู่อาณานิคมของดัชต์
ในช่วงแรก การเข้ามาของดัชต์นั้นก็ได้รับการต่อต้านอย่างมากโดยชนพื้นเมืองของไต้หวัน มีเจ้าหน้าที่และทหารของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัชต์ที่เสียชีวิตไปจำนวนมาก นำไปสู่การปะทะกัน ตลอดไปจนถึงการกวาดล้างชาวพื้นเมือง จนในที่สุด ก็สามารถควบคุมชาวพื้นเมืองได้อยู่หมัด เมื่อกองทหารของดัชต์จัดการกับกลุ่มชนพื้นเมืองที่ใหญ่สุดในขณะนั้นได้ ทำให้ชนพื้นเมืองอื่นๆ ต้องยอมศิโรราบต่อการปกครองของดัชต์ไปตามๆ กัน
4
ทั้งนี้ ความมุ่งหวังของดัชต์ช่วงแรกก็คือการตั้งฐานการค้าเพื่อทำการค้าขายกับเอเชียนั่นแหละ แต่แล้ว บริษัทอินเดียตะวันออกของดัชต์ก็มองเห็นโอกาสทางการค้าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมายจากการตั้งอาณานิคม เนื่องจากบนเกาะไต้หวัน มีกวางเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ดัชต์แปรรูปเป็นเครื่องนุ่งห่ม เพื่อส่งไปขายให้กับญี่ปุ่นได้ เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำชุดซามูไร ในขณะเดียวกัน ส่วนที่เหลือของกวางก็สามารถนำไปขายให้กับจีนได้ ส่งผลให้ดัชต์ทำความตกลงกับกลุ่มชนพื้นเมืองไต้หวันว่าให้ชนพื้นเมืองเหล่านั้นล่ากวางเพื่อนำมาขายให้กับดัชต์นั่นเอง
3
นอกจากนี้ บนเกาะไต้หวันยังมีอ้อยเป็นจำนวนมาก แต่มีเพียงชาวจีนเท่านั้นที่รู้กรรมวิธีการแปรรูปอ้อยเป็นน้ำตาล ส่งผลให้รัฐบาลอาณานิคมดัชต์พยายามชักชวนชาวจีนให้จำนวนมากให้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาในไต้หวัน โดยน้ำตาลที่ผลิตได้ในไต้หวันนั้นมีคุณภาพสูง และขายได้กำไรดีอย่างมาก
ผลที่เกิดขึ้น คือ ไต้หวันได้กลายมาเป็นอาณานิคมที่สามารถทำกำไรได้เยอะสุดเป็นอันดับสองของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัชต์ แต่แล้ว ยุคสมัยของดัชต์ในการปกครองไต้หวันก็สิ้นสุดลงในช่วงทศวรรษ 1660 เมื่อเกิดการเปลี่ยนแผ่นดินขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ราชวงศ์ชิงขึ้นมามีอำนาจแทนราชวงศ์หมิง และทำให้คนจำนวนมากที่ยังภักดีต่อราชวงศ์หมิง นำโดย Koxinga หนีมาที่เกาะไต้หวัน และได้ขับไล่ชาวดัชต์ออกไป เพื่อใช้ไต้หวันเป็นฐานทัพในการต่อสู้กับราชวงศ์ชิง
ทั้งนี้ Koxinga ได้ก่อตั้งอาณาจักรตงหนิง (Kingdom of Tungning) ขึ้นมาพร้อมกับราชวงศ์ Koxinga เป็นประมุข แต่หลังปกครองได้เพียงแค่ราวหนึ่งปี ก็เสียชีวิตลงด้วยโรคมาลาเรีย ทำให้เจิ้งจิง (Zheng Jing) ลูกชายคนโตขึ้นมามีอำนาจแทน โดยในระหว่างช่วงที่เจิ้งจิงมีขึ้นมาอำนาจ ก็ได้พยายามดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อให้ไต้หวันเปลี่ยนสภาพจากเมืองอาณานิคมของดัชต์มาเป็นเมืองของจีนให้ได้ มีการปิดโรงเรียนสอนหนังสือของดัชต์และโบสถ์คริสเตียนไปเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ก็ประกาศใช้นโยบายการจัดสรรที่ดินเพื่อดึงดูดชาวจีนที่อยู่ตามชายฝั่งของแผ่นดินใหญ่ให้อพยพมายังไต้หวันอีกด้วย
3
การปกครองของเจิ้งจิ้ง เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จพอสมควร มีการค้าขายกับต่างชาติ และต่อกรภัยรุกรานจากจีนได้ จนทำให้อาณาจักรตงหนิงของเขาสามารถอยู่รอดได้ แต่แล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้น เมื่อเจิ้งจิงเสียชีวิตลง ทำให้ราชวงศ์ชิงใช้โอกาสดังกล่าวในการเข้าบุกโจมตีเพื่อยึดไต้หวันกลับคืนเป็นดินแดนของจีนได้สำเร็จ
📌 จากอาณานิคมของดัชต์สู่การผนวกไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนอันยิ่งใหญ่
ทั้งนี้ ในช่วงแรกภายหลังจากที่เข้ายึดครองไต้หวันได้สำเร็จ จีนเองก็ได้รวมไต้หวันเป็นเพียงแค่หนึ่งเขตของมณฑลฝู่เจี้ยนเท่านั้น โดยไม่ได้มองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตัวเองด้วยซ้ำ หากแต่เป็นเพียงดินแดนต่างถิ่น และมีความประสงค์ที่จะขายไต้หวันให้กับทางดัชต์อีกด้วยซ้ำ ขณะที่ชาวไต้หวันเองก็มองว่าจีนแผ่นดินใหญ่ว่าเป็นเพียงผู้ปกครองอาณานิคมต่างชาติ ไม่ต่างอะไรจากดัชต์เลย ส่งผลให้มีกบฎเกิดขึ้นมากมาย จนเกิดเป็นคำกล่าวขานที่ว่า “เกิดการลุกฮือทุกสามปี เกิดกบฏทุกห้าปี”
3
ในแง่ของนโยบายที่ทางจีนได้มีการดำเนินการนั้นก็ไม่ได้เน้นไปที่การพัฒนาสักเท่าไหร่ หากแต่เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาต่างๆ ในขณะนั้น เช่น การจำกัดการอพยพย้ายถิ่นฐานจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะไต้หวัน เพื่อควบคุมอัตราการขยายตัวของประชากร การจัดสรรขอบเขตพื้นที่ของชาวจีนฮั่นและพื้นที่ตามหุบเขาของชนพื้นเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งสองฝ่ายปะทะกัน รวมไปถึงการกำหนดอัตราภาษีกับประชากรบนเกาะ
1
แต่แล้ว จุดยืนของจีนต่อไต้หวันก็เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเกิดสงครามระหว่างจีนกับฝรั่งเศสขึ้นในปี 1884 เนื่องจากฝรั่งเศสต้องการเข้าไปตั้งอาณานิคมในเวียดนามเหนือ ซึ่งมีจีนคุ้มครองอยู่ในขณะนั้น โดยสงครามครั้งนั้นได้ชี้ให้เห็นว่าเกาะไต้หวันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างมาก ส่งผลให้หลังจากนั้น จีนก็ได้ยกระดับให้เกาะไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งแยกตัวออกมาเลย รวมทั้งแต่งตั้งผู้ว่าการมณฑล ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาไต้หวันอย่างมาก เช่น การวางระบบไฟฟ้า การสร้างระบบขนส่งทางราง รวมทั้งมีการจัดตั้งระบบป้องกันภัยที่ค่อนข้างทันสมัยอย่างมาก จนกล่าวได้ว่า ทำให้พลิกไต้หวันจากดินแดนที่เคยถูกจักรพรรดิตีตราว่าเป็นดินแดนต่างถิ่น มาเป็นมณฑลที่เจริญที่สุดแห่งหนึ่งของจีนเลยก็ว่าได้
2
📌 เกาะไต้หวัน: อาณานิคมแห่งแรกของจักรวรรดิญี่ปุ่น
2
แต่แล้ว การปฏิรูปและพัฒนาไต้หวันก็ดำเนินต่อไปได้ไม่นานนัก เมื่อเกิดสงครามระหว่างจีนและญี่ปุ่นขึ้น โดยผลคือ จีนเป็นผู้พ่ายแพ้สงคราม ทำให้จีนต้องลงนามในสัญญายกเกาะไต้หวัน และหมู่เกาะเผิงหูให้ญี่ปุ่นไป ซึ่งญี่ปุ่นเองก็ได้หมายตาที่จะเข้ายึดครองเกาะไต้หวันมายาวนานแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จเสียที
ทั้งนี้ เกาะไต้หวันได้กลายมาเป็นอาณานิคมแห่งแรกของญี่ปุ่นและเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างมากในการเสริมสร้างเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเอง อีกทั้งเพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารในการแผ่ขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นเหนือประเทศเอเชียอื่นๆ อีกด้วย โดยนโยบายต่างๆ ที่ญี่ปุ่นได้ดำเนินการบนอาณานิคมไต้หวันก็จะเป็นลักษณะคล้ายกับอาณานิคมอื่นๆ ทั่วไปของชาติตะวันตกก็คือ เน้นไปที่การกดขี่ขูดรีด (Exploitation) เพื่อนำผลประโยชน์สูงสุดมาให้กับญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยนโยบายสำคัญในยุคนั้นมีชื่อว่า “Industry for Japan, Agriculture for Taiwan”
2
ขณะเดียวกัน นโยบายด้านอื่นๆ อย่างเช่น ในด้านการศึกษา ก็มีการจัดสรรให้เฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่เพียงเท่านั้น โดยที่การศึกษาในขั้นสูงถูกสงวนไว้ให้กับประชาชนชาวญี่ปุ่น
3
ในช่วงต่อมา ราวทศวรรษ 1920 ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ลดการขูดรีด แต่เป็นการสร้างสำนึกร่วมกันให้ชาวไต้หวันคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ชาวไต้หวันอย่างแท้จริง รวมถึงมีการให้รางวัลตอบแทนคนที่พูดภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย
1
ภาพวาดทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังเข้าเมืองไทเปในปี 1895 หลังจากจีนลงนามยกไต้หวันให้
การปกครองของญี่ปุ่นเหนือเกาะไต้หวันสิ้นสุดลงในปี 1945 เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไข และทำให้สาธารณรัฐจีนสามารถทวงคืนไต้หวันกลับคืนมาได้ในที่สุด โดยนายพลเจียง ไคเช็กได้ส่งเฉิงอี้เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของไต้หวัน ตัวแทนของสาธารณรัฐจีน และรับหนังสือยอมจำนนจากผู้ว่าการอาณานิคมของญี่ปุ่น ในวันที่ 24 ตุลาคม 1945 ซึ่งวันดังกล่าวต่อมาได้ถูกเรียกขานกันว่าเป็นวันคืนสู่ประเทศจีน (Retrocession Day)
2
วันคืนสู่ประเทศจีน (Retrocession Day)
📌 จากดินแดนอาณานิคมของญี่ปุ่น หวนคืนสู่อิสรภาพอีกครั้ง
แต่แล้ว ก็เกิดจุดหักเหสำคัญขึ้น เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในจีนขึ้นระหว่างพรรคก๊กมิ๋นตั๋งของเจียงไคเช็ก ซึ่งเป็นรัฐบาลของสาธารณรัฐจีนในขณะนั้นกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมา เจ๋อตุง โดยผลที่เกิดขึ้น คือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถคว้าชัยชนะได้สำเร็จ และก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China) ขึ้นมาในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 ในขณะที่เจียงไคเช็กและพรรคก๊กมินตั๋งก็ต้องถอยร่นมาปักหลังที่เกาะไต้หวันแทน และทำให้เกาะไต้หวันยังเป็นพื้นที่การปกครองเดียวที่ยังเหลืออยู่ของสาธารณรัฐจีน (Republic of China)
รัฐบาลของเจียงไคเช็กได้ตั้งหมุดหมายสำคัญคือจะต้องทวงคืนการปกครองจีนแผ่นดินใหญ่กลับมาให้ได้ โดยไต้หวันได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากบรรดาประเทศฟากฝั่งทุนนิยมทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกา เนื่องจากต้องการต่อกรกับภัยคอมมิวนิสต์จากจีน อย่างไรก็ตาม การปกครองของเจียงไคเช็กในช่วงเวลาดังกล่าว มีความเป็นเผด็จการอย่างมาก มีการประกาศกฎอัยการศึก และปิดกั้นการแสดงออก เนื่องจากประเทศอยู่ระหว่างสงคราม จึงไม่ต้องการให้เกิดการแตกแยกขึ้น
1
ในมิติด้านเศรษฐกิจเอง ในช่วงเวลาดังกล่าว ไต้หวันก็ได้เดินตามรอยโมเดลของประเทศญี่ปุ่นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม โดยเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบตลาดเสรี มีการปฏิรูปที่ดิน เพื่อจัดสรรที่ดินที่แต่เดิมเคยเป็นของบรรดานายทุน ให้ไปถึงเกษตรอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ก็รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ เพื่อนำมาสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการโทรคมนาคม ด้านการศึกษา เป็นต้น รวมทั้งมีการเปิดเสรีด้านการค้า การลงทุน ทำให้ธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หันมาตั้งโรงงานที่ไต้หวัน อีกด้วย
1
จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งสำหรับไต้หวันในช่วงปี 1971 เมื่อมติสหประชาชาติหันไปให้การรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนของเหมา เจ๋อตุง ว่าเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมอย่างแท้จริงของประเทศจีน และขับไล่สาธารณรัฐจีนของเจียงไคเช็กออกจากการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ด้วยความที่ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มมีประเทศเกิดใหม่จำนวนที่ให้การสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ
1
ขณะที่ตัวเกาะไต้หวันเอง ก็มีความคลุมเครือด้านกฎหมายเช่นเดียวกัน เพราะว่าจริงอยู่ที่ผู้ว่าการอาณานิคมของญี่ปุ่นจะได้ลงนามยอมจำนนต่อตัวแทนของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง แต่การสละอำนาจอธิปไตยของเกาะไต้หวันของญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ในสนธิสัญญา San Francisco ในปี 1951 โดยที่ไม่ได้มีการระบุไว้ด้วยซ้ำว่าสละให้กับใคร ทำให้เกิดเป็นข้อพิพาทกันว่าต่างฝ่ายต่างก็ถืออ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครอง
4
ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เพียงไม่กี่ปี เจียงไคเช็กก็ได้เสียชีวิตลงในปี 1976 และทำให้รัฐบาลใหม่นำโดย Yen Chia-kan และ Chiang Ching-kuo ลูกชายของเจียงไคเช็ก ขึ้นมามีอำนาจแทน โดยได้ผันเปลี่ยนนโยบายใหม่ มีการปฏิรูปเข้าหาประชาธิปไตย ลดการปิดกั้นการแสดงออกลง ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก หลังจากนั้น ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแนวคิดขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ว่าจะทวงคืนจีนแผ่นดินใหญ่ มาเป็นการรักษาไต้หวันในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมโลก
4
ขณะเดียวกัน ก็ได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ที่สำคัญ ที่นำพาไต้หวันก้าวไปเป็นหนึ่งในเสือสี่ตัวของเอเชียได้สำเร็จ โดยได้เปิดเสรีระบบเศรษฐกิจเข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์ เปิดเสรีทางการเงิน ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี รวมทั้งยกเลิกบรรดาภาษีนำเข้าต่างๆ
3
นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีชั้นสูง อย่างเช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิป และส่วนประกอบอื่นๆ มีการจัดตั้ง Hsinchu Science-based Industrial Park ขึ้น จนทำให้สินค้าเทคโนโลยีสัญชาติไต้หวันเหล่านี้ได้เข้าไปครองส่วนแบ่งตลาดอย่างรวดเร็ว กลายเป็นผู้ผลิตคนสำคัญของโลก และส่งผลให้การส่งออกของไต้หวันเจริญเติบโตได้ดีอย่างมาก ทำให้ไต้หวันก้าวมาเป็นประเทศเอเชียที่พัฒนาเศรษฐกิจได้ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่ง จนเติ้ง เสี่ยวผิง ต้องหยิบไปใช้เป็นโมเดลในการสร้างเมืองเชินเจิ้นในนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศอีกด้วย
2
Hsinchu Science-based Industrial Park
ความสำเร็จทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ไต้หวันก้าวมาเป็น 1 ในเสือ 4 ตัวของเอเชีย คู่ไปกับเกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ได้ในที่สุด ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
#ประวัติศาสตร์ไต้หวัน #ไต้หวัน
#Bnomics #All_about_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา