31 ต.ค. 2021 เวลา 02:30 • หนังสือ
สวัสดีค่ะนักอ่านทุกท่านและเด็กน้อยทุกคนที่หลงรักช็อกโกแลต👦🏻🍫❤️✨
ในโพสนี้ลี่ก็มาพร้อมกับรีวิวหนังสือเล่มสุดท้ายจากห้องชวนอ่านค่ะ ซึ่งบอกก่อนว่าเป็นเล่มสุดท้ายแต่ไม่ใช่เล่มท้ายสุดสำหรับรีวิวหนังสือของโรอัลด์ ดาห์ลแต่จะเป็นเพราะอะไร และมีอะไรที่น่าติดตามต่อเชิญทุกท่านไปอ่านรีวิวพร้อมกันเลยค่ะ
Lin Review : เล่มที่ 18
หนังสือ : โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ / Charlie and the Chocolate Factory
ชื่อผู้เขียน : โรอัลด์ ดาห์ล
ชื่อผู้แปล : สาลินี คำฉันท์
บรรณาธิการต้นฉบับแปล : พิชชา ถาวรรัตน์ / เพ็ญศรี ทองใหญ่ ณ อยุธยา / บุรพัทธ์ เทวานิมิต
สำนักพิมพ์ : ผีเสื้อ
ประเภทหนังสือ : วรรณกรรเยาวชน
จำนวนหน้า : 256 หน้า
ราคาปก : 239 บาท
🍫ความรู้สึกก่อนอ่าน :
โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์เป็นหนังในหนังสือที่ลี่อดทนรอที่จะอ่านไม่ไหว เพราะลี่เป็นแฟนภาพยนตร์ของเรื่อง Charlie and the Chocolate Factory เวอร์ชั่นปี ค.ศ.2005 ค่ะ เรียกได้ว่าโตมากับเรื่องนี้ วรรณกรมเรื่อง โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1964 ซึ่งหากนับมาถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 57 ปีแล้ว แต่วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ยังคงความสนุกสนานและจินตนาการที่จับใจผู้อ่านได้เป็นอย่างดี
🍫เนื้อเรื่องโดยรวม :
โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์หรือ Charlie and the Chocolate Factory เป็นเรื่องราวการผจญภัยในโรงงานช็อกโกแลตของ ชาร์ลี บั๊คเก็ต เด็กน้อยที่แสนยากจน ท้องของเขาว่างเปล่าอยู่เสมอแต่หัวใจกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักของพ่อ แม่ ปู่โจ ย่าโจเซฟีน ตาจอร์จ และยายจอร์จีน่า ทุกคนในครอบครัวสอนให้ชาร์ลีเป็นเด็กดี มีน้ำใจและมีมารยาท ที่สำคัญเหนืออื่นในปู่โจสอนให้เขามีความหวังและความฝันอยู่เสมอ
จนกระทั่งคุณวิลลี่ วองก้า เจ้าของโรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ เปิดให้เด็กผู้โชคดีจำนวน 5 คนผู้มีตั๋วทองที่มีเพียง 5 ใบในโลกเข้าชมโรงงานของเขา ชาร์ลีคือผู้โชคดีคนสุดท้าย เด็กที่ร่ำรวยและนิสัยเสียอย่างออสกั๊สตั๊ส กลู้ป, ไม้ค์ ทีวี, เวรูก้า ซ้อลท์และไวโอเล็ต โบรีการ์ด ต่างทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ตั๋วทองนี้มา แต่กลับไม่เห็นคุณค่าของมัน และด้วยนิสัยเสีย ๆ ของพวกเขาก็ทำให้เด็กเหล่านี้สูญหายไประหว่างทางจนเหลือเพียงชาร์ลี บั๊คเก็ตเด็กชายที่คู่ควรที่สุดแต่เพียงผู้เดียว
🍫ความรู้สึกหลังอ่าน :
หลังอ่านสิ่งแรกที่ปรากฎขึ้นในหัวคือ “ไปหาช็อกโกแลตแท่งมากินแล้วเปิด Charlie and the Chocolate Factory ดูอีกทีกันเถอะ” ลี่จำได้ว่าหลังจากอ่านให้ทุกท่านฟังแล้วอ่านจบหลังจากนั้นลี่ทำดังที่กล่าวไปเลยค่ะ นี่คือพลังแห่งตัวอักษรอย่างแท้จริงที่ขับเคลื่อนให้เด็กกลัวโควิดคนหนึ่งออกจากบ้าน (พร้อมอุปกรณ์ป้องกัน) แล้วพุ่งไปร้านสะดวกซื้อ
เมื่อพูดถึงพลังของภาษาและตัวอักษรต้องขอขอบคุณผู้แปลและสำนักพิมพ์ผีเสื้ออีกเป็นครั้งที่ n (ไม่สามารถนับได้แล้ว) ที่เลือกสรรคำที่สละสลวยมาร้อยเรียงกันเป็นหนังสือเล่มนี้ในฉบับภาษาไทยที่อ่านเพลิน ทั้งยังแต่งและเรียบเรียงคำกลอนแบบที่ไม่มีใครอยากอ่านข้าม ด้วยความไพเราะ ตลก สะใจ และสนุกขึ้นมาให้เราได้อ่านกันในส่วนที่เป็นเพลงของอูมปา-ลูมป้าส์ (ตรงนี้คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญยิ่ง ที่ไม่ควรพลาดฉบับหนังสือ)
ลี่รู้สึกว่า วรรณกรรมเยาวชนเรื่องโรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์เล่มนี้ ตอนอ่านให้ความรู้สึกแตกต่างจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่องอื่น ๆ ของโรอัลด์ ดาห์ลเล็กน้อย สิ่งที่ทำให้รู้แตกต่างคือลักษณะนิสัยของ ชาร์ลี ตัวละครเอกที่เรียบร้อยค่ะ ซึ่งเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นที่เด็ก ๆ ค่อนข้างแสบหรือเก่งกาจพอสมควรแล้ว ชาร์ลีเลยให้ความรู้สึกที่เย็นใจและน่าสงสารมากกว่าเรื่องไหน ๆ แต่ความพิเศษก็อยู่ตรงนี้เช่นกัน ความน่ารักและเสน่ห์ที่ทำให้คนอ่านหลงรักและสงสารโดยไม่รู้ตัวนี้ ช่วยขับลักษณะนิสัยของตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องให้โดดเด่นได้เป็นอย่างดี
และการขับตัวละครอื่นให้โดดเด่นนี้เองที่ทำให้เราจะเห็นสารที่ผู้เขียนต้องการสื่อออกมาได้ชัดเจนมาก เกี่ยวกับปัญหาการเลี้ยงดูและผลกระทบจากสื่อชนิดใหม่ในช่วงปลายปี 1900 ซึ่งเป็นยุคที่มีสื่อเช่น ทีวี มีการคิดค้นหมากฝรั่ง ปัญหาการเลี้ยงเด็กอย่างผิดวิธีที่ตามใจและละเลยสุขภาพของเด็ก ๆ อย่างไม่น่าให้อภัย ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ผู้เขียนถ่ายทอดผ่านตัวละครที่เด่นไม่แพ้ชาร์ลีอย่างออสกั๊สตั๊ส ไม้ค์ เวรูก้าและไวโอเล็ตได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังทำให้เด็ก ๆ เห็นถึงจุดจบของพฤติกรรมเหล่านั้นในแบบที่ใครอ่านก็ลืมไม่ลงกันเลยทีเดียว
สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ประเด็นการเลี้ยงดูคือ การเล่นกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในตัวของเด็ก ๆ ค่ะ ในตอนต้นของเรื่องที่ชาร์ลีพบเงินห้าสิบเพนนีและนำมันไปซื้อช็อกโกแลต แล้วซื้ออีกจนพบตั๋วทอง หรือตอนที่มีคนมาเสนอเงินให้ชาร์ลีแลกกับตั๋วทองก็ทำให้ผู้อ่านต้องกลับมาชั่งใจ เหมือนกับว่าเราคือชาร์ลีเสียเอง ซึ่งตอนนี้ทำให้เรากลับมาคิดว่า หากเปรียบกับชีวิตของเราแล้ว บางสิ่งบางอย่างไม่สามารถแลกมาด้วยเงินได้ เรื่องนี้เตือนใจเด็ก ๆ และตัวของเราเองได้ดียิ่ง ว่าอย่าให้เงินมาซื้อความฝัน ความหวัง โชคชะตาและความหลงใหลไปจากเรา เพราะบางสิ่งนั้นไม่อาจประเมินค่าได้ด้วยเงินทอง
และเมื่อกลับมาทบทวนว่าเหตุใดชาร์ลีจึงรอดพ้นจากอุปสรรคต่าง ๆ ตั้งแต่พบตั๋วทองจนได้เป็นเด็กคนสุดท้ายในที่สุด ส่วนนี้ลี่คิดว่า ต้องกลับมาพิจารณาการเลี้ยงดูที่แม้จะอดยากแต่ได้รับความรักและการหล่อเลี้ยงความฝันที่ไม่เคยขาดของชาร์ลี และที่สำคัญคือผู้ใหญ่ดี ๆ ในเรื่องตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงเจ้าของร้านช็อกโกแลต ที่รักษาความดีในตนเองจนส่งต่อมันไปถึงเด็ก ๆ รุ่นต่อไปได้นั่นเองค่ะ
สุดท้ายนี้นอกจากประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนในเรื่องแล้ว สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องอีกอย่างหนึ่งคือ พลังแห่งจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดผ่านคุณวิลลี่ วองก้า ตัวละครอย่างคุณวองก้าทำให้เด็ก ๆ รู้ว่าคนธรรมดาสามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ได้หากเขามีจินตนาการและความพยายามที่มากพอ และที่สำคัญที่สุดคือ จงมีความฝันและความหวัง อยู่เสมอเพราะหากคุณรักษาสิ่งสำคัญนี้ไว้ในหัวใจ สักวันคุณอาจได้พบกับตั๋วทองในช็อกโกแลตแท่งโปรดอย่างชาร์ลีบ้างก็ได้…
🍫หนังสือเล่มนี้เหมาะกับ :
เด็กอายุตั้งแต่ 7-14 ปีสำหรับเรื่องนี้อาจจะเด็กกว่านั้นหากน้องสามารถอ่านได้ เพราะเนื้อหาไม่รุนแรง ออกไปทางขบขัน แต่ทั้งนี้เด็กเล็กควรได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครองด้วยค่ะ และนอกจากเด็ก ๆ แล้วเรื่องนี้เหมาะกับแฟนภาพยนตร์เรื่อง Charlie and the Chocolate Factory อย่างมาก ดูหนังแล้วไม่ควรพลาดรายละเอียดที่หนังไม่ได้ใส่ลงไป และสุดท้ายเรื่องนี้เหมาะสำหรับทุกคนที่หลงรักช็อกโกแลต
🍫Quote ที่ประทับใจ :
“สิ่งที่หลานควรจำไว้ก็คือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หลานก็ยังมีช็อกโกแลตหนึ่งแท่ง”
— โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์, โรอัลห์ ดาห์ล, หน้า 56
“ว่าเธอคือผู้ทำผิด-ท่านคิดถาม
เพียงฅนเดียว หรือที่ควร ถูกประณาม
เธอทำผิด เพราะทุกยาม ถูกตามใจ”
— โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์, โรอัลห์ ดาห์ล, หน้า 185
“ เราจะพูด ให้ดังดัง และช้าช้า
ให้รู้ว่า เด็กของเรา เค้าทำเป็น
เขาชำนาญ ในการ อ่านหนังสือ
หนังสือคือ สื่อใกล้ตัว ที่เขาเห็น
อ่านและอ่าน เขาสนุก ทุกเช้าเย็น
อ่านเล่นเล่น อ่านจริงจริง เขายิ่งรู้
อ่านมากเข้า เขาเรียนรู้ ชูความคิด
ครึ่งชีวิต ของเค้าถือ หนังสืออยู่
ชั้นเด็กเล็ก ห้องอนุบาล เคยอ่านดู
เป็นเพื่อนนอน นอนคู่ อยู่ข้างเตียง”
— โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์, โรอัลห์ ดาห์ล, หน้า 217-218
🍫ระดับความชอบ : 9/10
🍫หนังสือที่น่าอ่านเพิ่ม :
หากอ่านโรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์แล้ว เล่มที่ควรอ่านและไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ “ลิฟต์มหัศจรรย์” เขียนโดยโรอัลห์ ดาห์ลนั่นเองค่ะ
สำหรับใครที่เพิ่งทราบหรือยังไม่ได้ลองอ่านก็อย่าลืมตามหา “ลิฟต์มหัศจรรย์” มาอ่านเพื่อสานฝันวัยเด็กกันต่อนะคะ และหากท่านใดอยากรู้จักหนังสือเล่มนี้มากขึ้นอีกสักหน่อยก็สามารถอ่านรีวิวเรื่องลิฟต์มหัศจรรย์ได้ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้เลยค่ะ
Lin Review เล่มที่ 19 ลิฟต์มหัศจรรย์ ::: https://www.facebook.com/1494750637405221/posts/2972289092984694/?d=n
สุดท้ายนี้ขอให้ทุก ๆ คนมีความสุขกับการอ่าน และพบเจอหนังสือที่เป็นเนื้อคู่ของเรานะคะ หากนักอ่านท่านใดสนใจอ่านรีวิวหนังสือเล่มต่อไป สามารถติดตามเพจ Linderelly ได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ในโพสหน้าค่ะ😊🏠🌷💕
#LinReview #รีวิวหนังสือ #LovetoReadme
#โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ #สำนักพิมพ์ผีเสื้อ #ByLinderelly

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา