18 ต.ค. 2021 เวลา 02:00 • สุขภาพ
ฟันของคุณ มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุมากน้อยแค่ไหน ??
ประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ
สิ่งที่จะได้จากบทความนี้
- ทำไมต้องประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ
- ความเสี่ยงของเราอยู่ในระดับไหน
- รู้ความเสี่ยงแล้ว เอาไปใช้ทำอะไร
เคยสงสัยกันไหมคะว่า ทำไมเราต้องประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ ??
การประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ ก็เหมือนกับการประเมินตัวเองในด้านอื่นๆ ของชีวิตนั่นแหละค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเงิน เราประเมินเพื่อรู้ว่าตัวเองอยู่ในจุดไหน เพื่อที่จะเดินทางตามเป้าหมายได้อย่างถูกจุด ในเรื่องของฟันก็เช่นกัน เมื่อเรารู้ว่า ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดฟันผุของเรามีอะไรบ้าง ความเสี่ยงของเราอยู่ระดับไหน เราจะเปลี่ยนตัวเองอย่างไร เพื่อให้เป็นคนที่มีสุขภาพช่องปากที่ดี รวมไปถึง ความถี่ในการพบหมอฟัน ก็สามารถวางแผนได้จากการประเมินความเสี่ยงนี่แหละค่ะ
แล้วความเสี่ยงของเราอยู่ในระดับไหน ??
อ้างอิงจากแบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ ปี 2561 โดยทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ฯ แบ่งการประเมินความเสี่ยงเป็น 2 กลุ่มช่วงอายุ คือน้อยกว่า 18 ปี และ 18 ปีขึ้นไป ในการประเมินจะแบ่งประเภทของความเสี่ยงเป็น 3 ส่วน คือ ภาวะสุขภาพ, การตรวจช่องปาก และปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันฟันผุ ตามรูปเลยค่ะ โดยพิจารณาจากส่วนที่ 1 และ 2 ก่อน หากมีข้อใดข้อหนึ่ง อยู่ในระดับสูงก็จะถือว่ามีความเสี่ยงฟันผุที่สูงทันที แล้วจึงพิจารณาในส่วนที่ 3 ต่อไป
แบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ สำหรับผู้ที่มีอายุ น้อยกว่า 18 ปี
แบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป
สิ่งที่จะต้องทำต่อไปเมื่อทราบความเสี่ยงของตัวเอง
แน่นอนว่า สิ่งนั้นคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การมีสุขภาพช่องปากที่ดี ไม่ว่าจะเป็น การเลือกทานอาหารว่างระหว่างมื้อ การแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง การใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ล้วนแล้วแต่ทำให้เรามีความเสี่ยงฟันผุที่ลดลง
นอกจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว การประเมินความเสี่ยงทำให้เราวางแผนความถี่ในการมาพบหมอฟันได้อีกด้วย เมื่อมีความเสี่ยงสูงควรมาพบหมอฟันทุก 3-6 เดือน เพื่อตรวจฟัน ป้องกันการเกิดฟันผุที่ลุกลาม และ 6–12 เดือน เมื่อเรามีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุต่ำ
หลักๆ ของการประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ ก็เพื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี และวางแผนการมาพบหมอฟันเพื่อติดตามอาการต่อไปค่ะ
แล้วเพื่อนๆ และหนูๆ มีความเสี่ยงฟันผุอยู่ในระดับไหนกันคะ ? แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป อยากรู้เรื่องอะไร คอมเม้นมาบอกกันได้นะคะ
ช่องทางการติดตาม
#dentfaah #หมอฟ้ายิงฟัน
โฆษณา