19 ต.ค. 2021 เวลา 13:40 • ปรัชญา
"ฌาน 4 เครื่องอยู่ผาสุก
บาทฐานที่สำคัญของการเข้าถึงธรรมในเวลาไม่นาน"
1
"...​ เรือนที่ยังมุงบังไม่ดี
เวลาฝนตกย่อมรั่วได้ฉันใด
บ้านช่องที่เรือนยังมุงบังไม่ดี
เวลาฝนตก ฝนสาด ก็รั่วเข้ามาได้ฉันใด
การฝึกฝนอบรมตนเอง
ที่ยังไม่มั่นคงพอ
ย่อมถูกราคะ โทสะ เสียดแทงได้ฉันนั้น
พอมาอยู่ในเพศบรรพชิตแล้ว
กำลังแค่ฐานกาย ฐานเวทนา
ยังไม่มีกำลังที่ทรงพอที่จะหลุดจากตรงนี้
หลุดได้ แต่ว่า
ยังถูกราคะ โทสะ เสียดแทงได้อยู่นั่นเอง
เรื่องกามวิตกต่าง ๆ
บางทีมันก็ผุดขึ้นมา
การที่เราจะอยู่ในเพศบรรพชิตได้อย่างผาสุก
ก็คือการปฏิบัติที่จนสามรถเข้าถึงกำลังสติที่ทรงตัว
โดยเฉพาะเมื่อเราผ่านชั้นเวทนาไปแล้ว
เข้าถึงฐานจิต
มีความโล่ง เบา สบาย ประณีต
อาการที่จิตหิวอารมณ์มันระงับไปแล้ว
มันอิ่มแล้ว มันชุ่มไปด้วยปีติและสุขนี่ มันอิ่มแล้ว
"มีความเบิกบานในธรรม"
เราจะเริ่มอยู่ได้อย่างผาสุก
ในการประพฤติพรหมจรรย์
ตรงชั้นเวทนา มันยังใกล้ชิดกับฐานกาย
ยังใกล้ชิดกับโลกอยู่ มันหลุดออกมาได้ง่าย
แต่พอเข้าถึงฐานจิต เข้าถึงความโล่งเบานี่
เริ่มแยกเข้าไปในชั้นสภาวะที่ลึกซึ้งขึ้นไป
วางกายแล้ว
มันจะรู้สึกว่า "โอโห กายเบาจิตเบา"
พออยู่กับความโล่งเบาได้ดี
โอโห ปฏิบัติไปไม่ปวดไม่เมื่อยแล้ว
ปฏิบัติได้ทั้งวัน
ไม่อยากจะไปยุ่งอะไรกับสิ่งวุ่นวายแล้ว
ตรงกันข้ามแล้ว
ฝึกใหม่ ๆ จิตยังหิวอารมณ์ ยังดิ้น
คอยนึกถึงเรื่องกามคุณอามรณ์ในโลกอยู่
พอขัดเกลาอารมณ์หยาบ ๆ ออกไปได้เท่านั้นแหละ
เข้าถึงความสงบวิเวกภายใน
จิตมีความละเอียด
ตรงข้ามเลย ไม่อยากไปยุ่งโลกภายนอกแล้ว
มันวุ่นวาย
อยากจะอยู่กับการบำเพ็ญสมณธรรม
นี่คือ ชีวิตที่ประเสริฐที่สุดแล้ว
มีความสุขมากนั่นเอง
ยิ่งอยู่กับความโล่งเบาไปเรื่อย ๆ
ถึงจุดหนึ่ง ความสุขตรงนี้จางคลายไป
เข้าถึง อุเบกขา ความสงบตั้งมั่นอยู่ภายใน
ได้สัมผัสความสุข ความสงบ อันเกิดจากวิเวก
ได้ลิ้มรส "รสแห่งความสงบวิเวก"
มันดื่มด่ำ มีแต่ความสงบสุข
พอจิตถึงตรงนี้ปุ๊บนี่ไม่หิวอารมณ์แล้ว
ไม่มีความกระวนกระวายใด ๆ ในโลกแล้ว
มีตรงกันข้ามเลย
ไม่อยากจะไปยุ่ง ไปสัมผัสโลกอีกแล้ว
เข็ดแล้วนะ โลกมันวุ่นวาย
มันเต็มไปด้วยความเร่าร้อน
เต็มไปด้วยความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน
ความสงบภายใน
มีแต่ความวิเวิกสงบระงับ
เข้าซึ้งในที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า
"สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี"
คำว่า ความสงบ คำเดียว
ลึกซึ้งโดยลำดับลำดามากเลย
ใครเข้าถึงความสงบระดับไหน
ก็จะเข้าใจในระดับนั้น
ความลาด ลุ่ม ลึก ของธรรมะอันบริสุทธิ์
ความสงบวิเวก
พระผู้มีพระภาคเจ้าอุปมา
ประดุจความลาด ลุ่ม ลึก ในห้วงน้ำมหาสมุทร
ถ้าเราไปที่ริมชายทะเล
ทะเลก็จะค่อย ๆ ลาดไป
พอถึงจุดหนึ่งมันจะลุ่ม
แล้วก็ลึกลงไปโดยลำดับลำดา
การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน
เมื่อเราฝึกปฏิบัติ
จนสามารถขัดเกลาอารมณ์หยาบ ๆ ออกไปได้
สงัดจากกามและอกุศลธรรมได้แล้ว
พ้นออกไปจากสิ่งที่เสียดแทงต่าง ๆ
เข้าถึงความสงบวิเวกภายใน
เมื่ออยู่กับความสงบไปเรื่อย ๆ
มันจะดื่มด่ำ
แล้วก็จะหยั่งสู่ความสงบที่ลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไป
มิติภายในกับมิติภายนอกจะมีความต่างกัน
ยิ่งเข้าถึงความสงบระดับฌาน 4 ขึ้นไป
เราจะพบว่า
โห เมื่ออยู่กับความสงบเนี่ยมันดีจริงเลย
เรารู้สึกว่าเราก็อยู่ไม่นานนะ
แต่พอถอนจากสมาธิออกมา
ทำไมเวลาผ่านไปนานมาก
เพราะว่ามิติภายในกับมิติภายนอก
เรื่องของกาลเวลามันต่างกัน
ยิ่งเข้าถึงสมาธิระดับสูง
เวลาจะผ่านไปเร็วมากเลย
บางทีเราอยู่ข้างใน
เรารู้สึกเหมือนเราอยู่ไม่นาน
แต่ออกมา อ้าว ผ่านไป 3 - 4 ชั่วโมงแล้ว
พอเราฝึกถึงจุดนี้ ทรงฌาน 4 ได้
เวลาจะผ่านไปเร็วมากเลย
พอถึงตรงนี้แหละ
เราจะปฏิบัติอยู่กับฌานสมาบัติแบบนั้น
ทั้งวัน หลายวัน เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน
ก็อยู่ได้สบาย ๆ
มันถึงจุด มันจะเป็นแบบนั้นนั่นเอง
ด้วยกำลังของสมาธิ
พระพุทธเจ้าทรงเน้นตรงนี้แหละ
ฌานที่ 4 เป็นบาทฐานของภิกษุทั้งหลาย
ที่จะทำให้เป็นผู้อยู่อย่างผาสุกในทิฏธรรม
แล้วก็เป็นบาทฐานที่จะยกจิต
ขึ้นสู่วิปัสสนา
วิปัสสนาญานที่มีฌาน 4 เป็นบาทฐาน
ก็จะมีความแก่กล้า
สามารถแทงตลอดอริยสัจ ๔ ได้
ในเวลาไม่นานนั่นเอง ...​ "
.
ธรรมบรรยาย โดย
พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา