19 ต.ค. 2021 เวลา 08:01 • ไลฟ์สไตล์
เมื่อผมได้กลับมามีคำนำหน้าว่า "นายช่าง" อีกครั้ง
วันนี้ได้มีเพื่อนสมัยเรียน ทักมาในเฟสบุ๊คส่วนตัว เรียกผมว่า นายช่างใหญ่ พร้อมถามไถ่สารทุกข์สุขดิบว่า เป็นอย่างไรบ้าง หลังจากไม่ได้พบพานกันนาน ว่าแล้วลองมานั่งนึกดู หลังจากเรียนจบจำได้ว่า แทบไม่เคยพบเจอเพื่อนคนนี้เลย เหมือนแต่ละคนแยกย้ายไปทำงานของตัวเอง ใจก็พาลนึกไปว่าตอนได้รับคำนำหน้าว่านายช่างนี่ก็นานมากแล้ว
ผมเองตะลอนไปทั่วสารทิศ ทั้งไทยและเทศ ส่วนเพื่อนคนนั้น ได้แต่งงานและไปร่วมสร้างธุรกิจกับแฟนหนุ่ม และย้ายไปตั้งรกรากทางภาคใต้ ล่าสุดนี่น่าจะอยู่ภูเก็ตมาสักพักใหญ่แล้ว ช่วงผมแต่งงานใหม่ๆ เคยแวะไปหาเพื่อนที่ภูเก็ต และนัดเจอเพื่อนคนนี้เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เจอกัน
เมื่อเริ่มทำงานตั้งแต่เรียนจบ บริษัทแรกที่เข้าทำงานเป็นบริษัท Consultant ที่รับออกแบบถนน ตอนแรกก็ไม่รู้จักบริษัทนี้มาก่อน แต่เพื่อนที่เคยทำงานที่นั่น ชักชวน หลังจากเห็นผมเดินเตร็ดเตร่ แถวหอพักที่เช่าไว้ตั้งแต่ตอนเรียน
ผมจบก่อนช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งนิดหน่อย สมัยนั้นประเทศกำลังเติบโต งานวิศวกรรมค่อนข้างหาง่าย แถมค่าตอบแทนถือว่าดีมาก ถ้าเทียบกับสมัยนี้ เพราะเคยลองถามน้องใหม่ที่เข้างาน ทราบว่า ราคาค่าตัว พอๆ กับสมัยผมเริ่มทำงาน แต่เวลามันผ่านไปกว่ายี่สิบปีแล้ว สมัยนั้นทองยังราวๆ 5-6 พันบาทเลย ตอนนี้ราวๆ สามหมื่นแล้ว
บริษัทแรกที่ทำนี่ผมตระเวนไปทั่ว แล้วแต่จะมีงานที่จังหวัดไหน ส่วนใหญ่เป็นภาคอีสาน มีภาคเหนือ ภาคกลางบ้าง 6-7 เดือนที่ทำงาน ผมแทบไม่ได้อยู่เป็นหลักแหล่ง จำได้ว่า อยู่นานที่สุดที่ อ. สุวรรณภูมิ จ. ร้อยเอ็ด
พอได้รับการติดต่อจากเพื่อนอีกคนที่ทำงานที่ภาคใต้ บอกว่ามาอยู่ด้วยกันไหม เพราะเป็นไซต์งาน ไม่ต้องย้ายบ่อย อย่างน้อยเป็นหลักสองสามปี ก็ตอบตกลง พร้อมลาออกจากที่เดิมเรียบร้อย
บริษัทที่สองนี่แหละ ที่คำนำหน้าผมถูกเรียกว่า นายช่าง แต่จริงๆ แล้วจะเรียกสั้นๆ ว่า "ช่าง" มากกว่า เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงนายช่างแหละครับ
ครั้งแรกหลังจากสัมภาษณ์ เจ้านายผมถามว่า ยูเคยไปปัตตานีไหม ผมก็ตอบไปว่าไม่เคยครับ รู้แต่อยู่ภาคใต้ แต่สมัยนั้นปัญหาภาคใต้ยังไม่รุนแรงนัก
กล่าวโดยสรุปเลยก็คือผมได้ไปทำงานที่ปัตตานี โดยมีกระดาษแผ่นน้อย เขียนเบอร์โทรนายช่าง ผจก. โครงการไว้ กับคำบอกของเจ้านายว่า ยูไปหานายช่างเขาที่ปัตตานีนะ นี่เบอร์โทร ไปถึงแล้วโทรไปหาเขา แล้วจะได้ไปอยู่ที่ไซต์
อ้าว ชิบหอยแล้ว ผมจะไปปัตตานียังไง (วะ) เนี่ย ผมได้แต่อุทานในใจ พอลองสอบถามเพื่อนฝูงดู ซึ่งผมมีเพื่อนที่รู้จักกันเป็นคนสามจังหวัดชายแดนพอสมควร แต่ไม่รู้อย่างไร มีคำแนะนำหนึ่งที่ผมว่า ใช่แน่
หมอนั่น (เพื่อนผม) บอกว่า คุณ(ขอเปลี่ยนสรรพนามเพื่อไม่ให้หยาบคายนิด) ไปรถไฟ แล้วไปลงที่ยะลา
ก่อนที่เพื่อนผมจะว่าต่อ ผมก็อดคันปากถามไม่ได้ว่า ไปทำแก้วไรครับเพื่อน
คำตอบมาบอกว่า ใจเย็นสิ ไอ้ผีเสื้อ (ผมเปลี่ยนเอง เพราะเขาให้ทางเลือกมาว่าจะเลือกเป็นอะไรไม่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นน้องชายจรเข้อย่างเดียว)
คุณไปลงที่ยะลา เพราะจะมีแท็กซี่ไปที่ปัตตานีไง ไอ้สมองยุง
ในใจผมเริ่มคิดเลยว่า เฮ้ย มีแท็กซี่ด้วยวุ้ย งั้นเอาตามนี้เลยไม่ต้องไปถามใครให้วุ่นวาย แค่ไปนั่งรถไฟที่หัวลำโพง ไปลงยะลา ต่อแท็กซี่ ถึงปัตตานีก็โทรหา ผจก. โครงการ ง่ายดายยิ่งกว่าปอกกล้วย ระดับคนจบวิศวะอย่างเราแค่นี้ซำบายมาก
ในความเป็นจริงมันแทบเรียกได้ว่าต่างกับจินตนาการที่ผมวาดไว้อย่างสิ้นเชิง อย่างแรกคือ ผมไม่เห็นแท็กซี่อย่างที่เพื่อนที่แสนดีพรรณาไว้ สุดท้าย ต้องเดินไปลองถามคนแถวนั้น ซึ่งชี้มือมาทางรถเบนซ์รุ่นโบราณ ซึ่งตามสายตาที่ผมวาดไปตามมือที่ชี้ อายุอานาม คงจะพอๆกับผมซึ่งเพิ่งจบใหม่ แต่ผมอายุ 21 ยังเรียกได้ว่า หนุ่มแน่น ^_^
แต่แท็กซี่นั้นคงพอจินตนาการสภาพได้
และที่สำคัญครับทั่นผู้ชม ต้องให้ผู้โดยสารครบ 7 คนไม่รวมพลขับรถถึงจะออก ถ้าสมัยนี้ผมคงไปไม่รอด อาศัยว่าตอนนั้นยังเพรียวลมพอสมควร กับความสูง 175 ซม. หนัก ราว 63 กก. เอาเป็นว่าผมมาถึงที่หมายตามที่เจ้านายแจ้งไว้ที่ กทม. ว่าให้ไปสวนสมเด็จ เดาได้ไม่ยากเลยว่าผมเป็นผู้โดยสารคนสุดท้าย
คนขับก็ส่งสำเนียงภาคกลางปนทองแดงนิดๆ ยาวีหน่อยๆ ว่า แน่ใจหรือหนุ่มว่าที่นี่จริง เพราะไม่มีอะไรที่พอจะเรียกได้ว่าจะมีบ้านผู้คน
ผมก็เริ่มไม่มั่นใจมาก แต่บอกสารถีว่า พี่ครับ ไปส่งผมที่ตู้โทรศัพท์ละกัน ดีที่ยังไหวตัวแลกเหรียญมากำใหญ่ เพราะสมัยนั้นค่าโทรเข้าเบอร์มือถือ มหาโหดมาก นาทีละ 18 บาท เรียกได้ว่าโทรไปลุ้นไป เพราะตอนนั้นพี่แท็กซี่จากไปพร้อมรอยยิ้มเรียบร้อย
สุดท้ายปลายทางนายช่าง ผจก. ก็มารับผมได้ พร้อมเฉลยว่า เราจะไปนอนที่แคมป์ที่กำลังสร้าง และผมเป็นผู้โชคดีที่ได้อยู่ห้องใหญ่มากๆ เพราะเสร็จห้องที่สอง ห้อง ผจก. เสร็จห้องแรก
แต่ ตามแผนห้องนี้จะปูกระเบื้อง แต่ผมดันไปก่อนที่เขาจะปู เลยได้นอนพื้นที่ไม่ได้ขัดมัน กว่าจะได้เตียงมานอน ก็ร่วมสัปดาห์
หลังจากนั้นผมก็ได้ย้ายไปอีกหลายที่ทั้งไทยและเทศอย่างที่กล่าวไว้บ้างแล้ว แต่ไซต์นั้นสร้างความจดจำให้ผมได้มิรู้ลืม อาจเพราะถือเป็นที่แรกเลย ที่สอนผมหลายอย่าง ตั้งแต่พื้นฐานการอ่านแบบก่อสร้าง ซึ่งยอมรับว่าผมเรียกได้ว่าไม่รู้จริงๆ ว่ามันคืออะไร ดูแล้วจะทำอะไรได้
เพิ่งมาเห็นความสำคัญก็หลังจากนั้นพอสมควร ประสบการณ์กับการทำงานต่างถิ่นที่คุ้นเคย แต่สิ่งที่ได้มาแล้วทำให้ทำมาหากินได้จนปัจจุบัน คือการทำแบบด้วย AutoCAD ซึ่งตอนแรกยังเขียนแบบมืออยู่ ต้องเขียนลงกระดาษไข เพื่อนำไปทำแบบพิมพ์เขียว (Blue print)
ตอนแรกก็ยอมรับว่ามีปัญหาพอสมควร เพราะคอมพิวเตอร์กับผมก็ไม่ได้เป็นมิตรกันเท่าไหร่ ไหนจะ UX ของ AutoCAD เวอร์ชั่นสำหรับ DOS นี่ใช้งานไม่ได้ง่ายดายเท่าไหร่นัก บางหนยังคิดว่า ไปเขียนแบบแบบใช้โต๊ะเขียนแบบลงกระดาษไขยังง่ายกว่าอีก เพราะจะเขียนอะไรก็ออกเป็นแบบนั้นเลย
ซ้ำร้ายช่วงจะส่งงานทีต้องทำแบบส่งนี่ถือได้ว่าสาหัส เพราะต้องทำแบบประกอบการส่งงานหลายสิบแผ่น เรียกได้ว่าอดหลับอดนอนกันชินเลย
แต่สุดท้ายหลังจากผมผ่านช่วงสาหัสช่วงนั้นมาได้ ยังระลึกเสมอว่า ถ้าผมไม่ได้เริ่มทำงานที่ปัตตานี ป่านนี้ชีวิตจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะได้ความรู้อย่างมาก ซึ่งต่อมากลับกลายเป็นว่า ผมหลงรักไอ้เจ้าคอมพิวเตอร์นี่มาอย่างจัง และถือเป็นโชคดีของผมที่ได้ผ่านยุคที่ยังแมนนวลและแบบมีคอมพิวเตอร์มาช่วยทำงาน
อยากฝากถึงรุ่นน้องที่เพิ่งจบใหม่ๆ ว่าช่วงการเริ่มต้นทำงาน ให้พยายามเรียนรู้ให้มากๆ เพราะจริงๆ แล้วความรู้ที่เรียนมานี่แทบไม่ได้ใช้เลย เราต้องมาเรียนรู้เรื่องใหม่แทบตลอด และช่วงแรกคนยังไม่ได้คาดหวังว่าเราจะทำงานอะไรได้มากมาย สำหรับเด็กจบใหม่ ผิดพลาดเล็กน้อยยังพอให้อภัยได้
ฝากกดไลค์หรือติดตามเพื่อเป็นกำลังใจในเพจเฟสบุ๊คด้วยนะครับ ช่วงหนึ่งผมชอบอ้างตลอดว่าไม่มีเวลา เพราะเรียน ป.โทไปด้วย แถมเพิ่งได้ลูกชายตอนแก่ ตอนนี้เรียนจบแล้ว ประกอบกับตอนเรียน อาจารย์ที่สอนกึ่งบังคับให้ทำเพจในเฟสบุ๊คเพื่อสอนยิงแอดในเฟสบุ๊ค ทำไปทำมาดันมีคนมากดไลค์เกินร้อยแล้ว ทำให้ผมละอายว่าต้องมาอัพเดตบ้างแล้ว
โฆษณา