19 ต.ค. 2021 เวลา 15:36 • คริปโทเคอร์เรนซี
4 วิธีป้องกันตัวง่าย ๆ จากมิจฉาชีพออนไลน์
มิจฉาชีพในโลกออนไลน์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ สแกมเมอร์ (Scammer) เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการลงทุน คริปโทเคอร์เรนซีก็เช่นกัน เราอาจพบเห็นข่าวของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้และสูญเสียทรัพย์สินกันไปนับไม่ถ้วน
ดังนั้น การเรียนรู้วิธีหลีกเลี่ยงและระวังตัวจากมิจฉาชีพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนทุกคนควรรู้ไว้ เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อ และยังสามารถช่วยกันระวังภัยให้กับเพื่อน ๆ นักลงทุนได้อีกด้วย
ในบทความนี้ เราได้รวมวิธีป้องกันตัวจากมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ที่ทุกคนสามารถทำตามกันได้ง่าย ๆ ดังนี้
1.ระวังเว็บไซต์ปลอม
หนึ่งในวิธีที่มิจฉาชีพนิยมใช้บนโลกออนไลน์ก็คือการสร้างเว็บไซต์ปลอม โดยมักจะสร้างให้คล้ายคลึงกับของจริง แต่สิ่งที่ไม่สามารถเลียนแบบได้ก็คือ URL เราจึงสามารถสังเกต URL เพื่อแยกแยะเว็บไซต์ที่น่าสงสัยได้ โดยมีวิธีสังเกต คือ
1
A.เว็บไซต์ที่เข้ารหัสข้อมูลอย่างถูกต้อง มักจะขึ้นต้นด้วย https หรือมีเครื่องหมายแม่กุญแจที่ช่อง URL ส่วนเว็บไซต์ที่ต้องระวังมักจะเป็น http (ไม่มี s) และเบราวเซอร์จะแจ้งเตือนว่าเว็บไซต์นี้อาจไม่ปลอดภัย (Not secure)
B.บางครั้ง มิจฉาชีพอาจใช้ชื่อเว็บไซต์ที่คล้ายกับของจริง แต่แอบเปลี่ยนอักษรบางตัวให้คล้ายกับอีกอักษรหนึ่ง เช่น ใช้ [1] แทน [i] ของ bitkub กลายเป็น www.b1tkub.com หรือ ใช้ [0] แทน [o] เป็นต้น
C.ใช้เครื่องมือช่วยตรวจสอบเว็บไซต์ เช่น Google Transparency Report หรือ Sitechecker
2.สังเกตุเพจปลอม
บนโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook ผู้ให้บริการทั้งรายเล็กรายใหญ่สามารถสร้างเพจเพื่อให้ลูกค้าติดตามข่าวสาร ประกาศ และกิจกรรมต่าง ๆ ได้ แต่นี่ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้หาเหยื่ออีกเช่นกัน
สิ่งที่พบเห็นได้บ่อยก็คือ “เพจปลอม” ซึ่งมิจฉาชีพจะสร้างเพจที่มีหน้าตาและชื่อคล้ายกับเพจจริง แต่เรามีวิธีสังเกตเพจปลอมง่าย ๆ 2 วิธี ดังนี้
A.สังเกตเครื่องหมาย Official
โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือ Line จะมอบตราสัญลักษณ์ให้กับเพจที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้องและปลอดภัย เช่น
-Facebook เป็นเครื่องหมายถูกสีน้ำเงิน หรือเรียกว่า Verified Badge
-Line เป็นเครื่องหมายสีเขียว หรือเรียกว่า Official Badge
B.สังเกตยอด Like หรือ Follower
เพจทางการที่เปิดมานานและเชื่อถือได้มักจะมียอด Like (ถูกใจ) และ Follower (ผู้ติดตาม) ค่อนข้างเยอะ ในขณะที่เพจปลอม มักจะมียอดเหล่านี้ค่อนข้างน้อย ส่วนมากไม่เกินหลักพัน จึงเป็นอีกจุดที่ใช้สังเกตได้นั่นเอง
1
3.ไม่สนใจข้อความแจกเหรียญ
คราวนี้มิจฉาชีพมาจะในรูปแบบของข้อความ ทั้งตามคอมเมนต์ ข้อความส่วนตัว อีเมล SMS ตลอดจนการโทรศัพท์ ซึ่งจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน เช่น “แจก ETH 5 เหรียญ แต่ต้องโอนมาให้เราตามที่อยู่นี้ก่อน 2 เหรียญ” หรือ “คุณคือผู้โชคดีได้รับ 1 BTC โปรดเข้าลิงก์และยืนยันตัวตน” เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงมิจฉาชีพแบบ Ponzi Scheme ที่เป็นกลโกงรูปแบบหนึ่ง โดยจะหว่านล้อมเหยื่อด้วยข้อความหรือคำสัญญาที่สวยหรู แต่มีเงื่อนไขคือผู้ลงทุนต้องชวนผู้อื่นเข้ามาลงทุนเพิ่มถึงจะได้ผลตอบแทน เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง มิจฉาชีพก็จะปิดตัวและเชิดเงินของนักลงทุนหนีไปโดยไม่มีการแจ้งเตือนใด ๆ
ทั้งนี้ หากเผลอเข้าลิงก์ที่แนบมาพร้อมกับข้อความประเภทนี้ ลิงก์มักจะพาเหยื่อเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมตามข้อ 1 และหลอกให้เหยื่อกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อบัญชี รหัสผ่าน อีเมล ฯลฯ เพื่อเอาข้อมูลเหล่านี้ไปใช้อย่างไม่เหมาะสมต่อไป
วิธีสังเกตคือ หากเป็นการแจกเหรียญ (Airdrop) หรือรางวัลต่าง ๆ ทางผู้ให้บริการที่ถูกกฏหมายจะมีการประกาศชื่อผู้โชคดีบนเว็บไซต์หรือเพจอย่างเป็นทางการเสมอ
4.อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้ใคร
ข้อนี้สามารถใช้ร่วมกับทุกข้อที่กล่าวมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อมูลส่วนของผู้ใช้ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทร รหัสผ่าน วันเกิด อีเมล รวมถึง Private Key สำหรับผู้ที่ใช้ Wallet ส่วนตัว ทั้งหมดนี้ไม่ควรเปิดเผยให้ใครทราบ โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จัก
หากมีความจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลจริง ๆ โปรดระลึกไว้เสมอว่าผู้ให้บริการจะไม่สอบถามรหัสผ่านหรือ Private Key ไม่ว่ากรณีใด ๆ หากถูกสอบถามข้อมูลเหล่านี้ ให้สงสัยว่าเป็นมิจฉาชีพเสมอ
นอกจากการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวแล้ว เรายังสามารถเสริมความปลอดภัยให้กับบัญชีของตัวเองได้ ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้
1.ตั้งรหัสผ่าน โดยมีตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้งตัวเล็กและใหญ่ (a,A) ตัวเลข (1,2,3) และ อักขระพิเศษ (@,$,%) ผสมกัน รวมถึงตั้งรหัสให้มีความยาวมากกว่า 12 ตัวขึ้นไป
2.เปลี่ยนรหัสผ่านสำคัญอย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน หรือเมื่อสงสัยว่ารหัสผ่านเดิมไม่ปลอดภัย
1
3.เปิดฟังก์ชัน SMS OTP เนื่องจากเป็นฟังก์ชันที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัยที่สุดฟังก์ชันหนึ่งในปัจจุบัน หรือถ้าจะยกระดับความปลอดภัยขั้นสูงสุด ก็สามารถเปิดฟังก์ชัน 2FA ร่วมได้อีกขั้น
สรุป
ท้ายที่สุดนี้ วิธีป้องกันมิจฉาชีพที่ดีที่สุดก็คือ “การมีสติ” ไม่หลงเชื่อข้อความที่น่าดึงดูดโดยไม่ไตร่ตรองความเป็นจริงให้ดีเสียก่อน และหมั่นสังเกตสิ่งที่อาจเป็นสัญญาณของมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็นชื่อเว็บไซต์ จำนวนผู้ติดตาม และการให้สัญญาที่เกินจริง เป็นต้น
อ้างอิง Avast, kaspersky
ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีอย่างปลอดภัยและถูกต้องตามกฏหมาย เริ่มต้นเพียง 10 บาท! กับ Bitkub กระดานซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของไทย ได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
*การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนลงทุน*
โฆษณา