20 ต.ค. 2021 เวลา 03:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไม “การออมเงิน” ถึงเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คน
คนส่วนมากต่างรู้ดีว่าการออมเงินสำหรับไว้ใช้ในตอนเกษียณอายุมีความสำคัญ อย่างไรก็ดี ในการปฏิบัติในโลกแห่งความเป็นจริง การออมเงินให้เพียงพอในสำหรับการเกษียณอายุกลับทำได้ยากกว่าที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักคิดมาก
ในบทความนี้ เราจึงจะนำทุกท่านไปดูกันว่า เหตุใดการออมเงิน เพื่อใช้ตอนเกษียณถึงทำได้ยากนัก? และปัจจุบันแนวทางใดที่ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้คนออมเงินได้ดีขึ้นบ้าง
📌 การออมเงินที่ดูแสนจะง่ายดายตามแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
ตามทฤษฎีของแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแล้ว ผู้คนล้วนมีความรู้และความสามารถในการจัดการกับการออมเงินของตัวเองได้อย่างเหมาะสม มีการเก็บเงินตอนวัยทำงานเพื่อนำไปใช้ตอนเกษียณอย่างเพียงพอ โดยงานศึกษาสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อแนวคิดลักษณะนี้ คือ งานของ Franco Modigliani ที่ได้สร้างแบบจำลอง Life-Cycle Theory เพื่อใช้อธิบายการออมเงินของคนไว้ จนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1985
อย่างไรก็ดี แม้แบบจำลองข้างต้นจะมีส่วนสำคัญในการปูพื้นฐานวิธีการศึกษาเกี่ยวกับการออมเงินของผู้คนเพื่อใช้ในตอนเกษียณ แต่สิ่งหนึ่งที่เศรษฐศาสตร์ยุคหลังให้การยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ แท้จริงแล้วผู้คนส่วนมากไม่ได้มีเหตุมีผลและความสามารถมากพอที่จะออมเงินอย่างเพียงพอในชีวิตเกษียณได้อย่างที่ Modigliani เคยคิด
📌 อคติจากการยึดติดกับปัจจุบันและความเฉื่อยชาของผู้คน
ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนยังออมไม่พอเกิดจาก อคติจากการยึดติดกับปัจจุบัน (Present bias) และความเฉื่อยชาของผู้คนในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ (Status quo bias)
อคติจากการยึดติดกับปัจจุบัน (Present bias) คือ อคติที่อธิบายว่าผู้คนมักจะให้คุณค่ากับความสุขในปัจจุบันมากกว่าความสุขที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จนทำให้ตัดสินใจที่นำเงินหรือเวลาที่มีอยู่มาใช้หาความสุขในปัจจุบันเลยไม่รอให้เกิดผลงอกเงยในอนาคต ตัวอย่างที่มักจะถูกยกมาอธิบายอคตินี้ คือ การที่คนที่กำลังลดน้ำหนักเลือกที่จะยอมแพ้และกลับมากินขนมหวานก่อนจะผอมเพราะต้องใช้เวลาอีกนาน หรือการที่เด็กนักเรียนไม่ยอมอ่านหนังสือเพื่อที่จะสอบในอนาคตเพราะความสุขจากการเล่นเกมตอนนี้เลยมันสูงกว่า
1
ส่วนอคติของความเฉื่อยชาไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือ การที่ผู้คนมักจะชื่นชอบให้สิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างที่มันเคยเป็นมาตลอด ซึ่งมักจะส่งผลในเวลาตัดสินใจสิ่งสำคัญ ทำให้คนเรามักจะเลือกตัวเลือกที่เหมือนเดิมเสมอ หรือแม้แต่สิ่งเล็กๆ บางสิ่ง อย่างการสั่งกับข้าว คนเราก็มักจะเลือกสั่งเมนูเดิมซ้ำๆ ซึ่งอคตินี้เป็นเหมือนระบบในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งที่เราไม่เคยเจอนั่นเอง
ในเรื่องของการออมเงิน อคติ 2 ข้อข้างต้นก็มีส่วนสำคัญเช่นกันในการทำให้คนตัดสินใจออมเงินไม่พอ อย่างอคติการยึดติดในปัจจุบันทำให้ผู้คนเลือกที่จะนำเงินมาหาความสุขตอนนี้เลยแทนที่จะเก็บไว้ใช้ตอนเกษียณ ส่วนอคติจากความเฉื่อยชาก็ทำให้ถ้าไม่มีทางเลือกของการออมที่เข้าถึงง่ายขึ้นมาให้ ผู้คนก็เลือกที่จะไม่ออมและก็ปล่อยให้มันเป็นแบบนั้นต่อไป
โดยมีงานศึกษาหนึ่งที่เคยทำการสำรวจลูกจ้าง พบว่า 68 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกแผนบำนาญบอกว่า สัดส่วนการออมของพวกเขาต่ำเกินไป นอกจากนี้ยังเคยมีการสำรวจสิทธิประโยชน์ทางการออมเงินบางส่วนของประเทศอังกฤษที่ลูกจ้างเพียงแค่ยื่นสมัครสมาชิก นายจ้างก็จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนโดยที่ลูกจ้างไม่ต้องจ่ายสักแดงเดียว แต่ผลกลับออกมาว่ามีลูกจ้างถึงครึ่งนึง (49 เปอร์เซ็นต์) ที่ไม่ได้เข้าร่วมใช้สิทธินี้ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะชี้ให้เห็นว่าคนเราออมเงินน้อยไป
📌 แนวทางสะกิดให้คนออมเพิ่มขึ้น
มีสองแนวทางหลักที่เราจะเล่าในส่วนนี้ นั่นคือ การสมัครเข้าแผนบำนาญอัตโนมัติและโครงการพรุ่งนี้ฉันจะออมเงินมากขึ้น (Save More Tomorrow Plan)
การสมัครเข้าแผนอัตโนมัติ คือ การที่ภาครัฐหรือบริษัทสร้างทางเลือกเริ่มต้นให้ทุกคนต้องเข้าร่วมกองทุนบำนาญไว้ก่อน และหากลูกจ้างคนใดไม่ประสงค์ที่จะเข้าร่วม ต้องแจ้งยกเลิกเอง แนวทางแรกนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากความเฉื่อยชาของผู้คนที่มักจะไม่ค่อยเปลี่ยนสิ่งต่างๆ อย่างที่เราบอก แต่แทนที่ทางเลือกตั้งต้นจะเป็นการไม่เข้าร่วม เราก็สร้างทางเลือกเริ่มต้นให้คนต้องเข้าร่วมแทน
โดยจากการศึกษาของ Madrian และ Shea พบว่าการใช้ทางใช้แนวทางสมัครเข้าแผนอัตโนมัติแบบนี้ ช่วยให้สัดส่วนลูกจ้างที่เข้ากองทุนบำนาญหลังจากทำงาน 3 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 20 เปอร์เซ็นต์เป็น 90 เปอร์เซ็นต์เลย
ส่วนแนวทางที่สอง โครงการพรุ่งนี้ฉันจะออมมากขึ้น เป็นแนวคิดที่บอกว่าแม้คนเราจะออมเงินแล้ว ก็มักจะออมเงินในสัดส่วนที่น้อยเกินไป แต่การที่จะบอกให้พวกเขาเพิ่มการออมในวันนี้เลยก็เป็นการแนะนำที่ลูกจ้างทำตามได้ยาก พวกเขาก็เลยออกแบบวิธีการที่ให้ลูกจ้างทำสัญญาว่าจะออมเงินเพิ่มขึ้น เมื่อเงินเดือนเพิ่มขึ้นในอนาคตแทน ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เมื่อค่าเฉลี่ยการออมในระยะยาวของลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการสูงกว่าลูกจ้างทั่วไปจริงๆ
และเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่แนวทางทั้งสองข้อข้างต้นถูกนำมาใช้ในการออกแบบสร้างกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติของไทย ที่ได้รับการอนุมัติหลักการผ่านคณะรัฐมนตรีไปแล้ว อย่างไรก็ดี ปัญหาการออมเงินไม่เพียงพออาจจะยังไม่ได้จบอยู่เพียงเท่านี้
📌 แรงงานนอกระบบออมเงินที่ไหน?
เนื้อหาที่เรากล่าวไปข้างต้นจะใช้ได้อย่างดีกับประเทศที่มีข้อมูลและประชากรส่วนใหญ่อยู่ในระบบ แต่ทว่า ในหลายประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย มีแรงงานจำนวนมากที่ทำงานอยู่นอกระบบ ดังนั้น จำเป็นต้องมีแนวทางในการช่วยให้คนเหล่านี้สามารถออมเพิ่มขึ้นได้อย่างเหมาะสมเช่นกัน
หนึ่งในการศึกษาสำคัญ เกิดขึ้นที่ประเทศอัฟกานิสถาน ที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ได้อย่างเหมาะ โดยในการศึกษานี้ได้ออกแบบระบบการออมเงินแบบเข้าร่วมอัตโนมัติแต่ทำผ่าน “Mobile Money” หรือการใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ ด้วยแนวคิดที่ว่าโทรศัพท์มือถือคือ เครื่องมือที่คนส่วนใหญ่มีอยู่ แม้จะไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินกับธนาคารได้ ผู้คนก็ยังมีมือถือของตัวเอง
การศึกษาให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจมาก เมื่อลูกจ้างกลุ่มที่ถูกสุ่มให้ต้องออมเงินอัตโนมัติผ่าน Mobile Money มีอัตราการเข้าร่วมมากกว่ากลุ่มที่ต้องออมอย่างสมัครใจมากถึง 40% ซึ่งผลลัพธ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงบริการทางการเงินกับแรงงานที่อยู่นอกระบบ รวมถึงการสะกิดให้เขาออมผ่านการตั้งค่าเริ่มต้นให้
ซึ่งนี่อาจจะเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับประเทศที่มีลักษณะใกล้เคียงกันซึ่งรวมถึงไทย ที่มีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ให้ออกแบบโครงสร้างและการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับประชาชน เพื่อให้พวกเขาสามารถออมเงินและพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นเมื่อถึงยามเกษียณ เป็นการลดภาระของภาครัฐ และเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว
เรื่องจริงไม่ใช่เลยเพราะคนมี Present Bias
แนวทางใดที่ช่วยได้บ้าง
#การออมเงิน #วัยเกษียณ
#Bnomics #Economic_outside_the_Box #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนกานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
หนังสือ Nudge by Richard Thaler and Cass Sunstein

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา