24 ต.ค. 2021 เวลา 13:41 • กีฬา
ตอนที่ 12 รองเท้าวิ่งแบบ Minimalist และ Maximalist running shoes
Minimalist และ Maximalist shoes
🟠 Minimalist shoes
🔹️ รองเท้า minimalist shoes คือรองเท้าที่ผลิตมาเพื่อให้ใส่แล้วรู้สึกเหมือนวิ่งเท้าเปล่ามากที่สุด
🔹️โดยทฤษฎี หรือความเชื่อนี้มาจาก หนังสือ Born to Run โดย Christopher McDougall และสนับสนุนแนวคิดนี้โดย Daniel Leiberman นักบรรพชีวินวิทยา (ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ จากหลักฐานในอดีต/ ฟอสซิล เป็นต้น) ว่าการวิ่งเท้าเปล่านั้น มนุษย์จะพยายามลดการบาดเจ็บบริเวณส้นเท้า โดยการเลื่อนจุดลงน้ำหนักมาทางด้านหน้าเท้ามากขึ้น เพื่อลดแรงกระแทกช่วง heel strike และทำให้การวิ่งสามารถดูดซับ และสะท้อนแรงกระแทกได้ดีขึ้น
Vibram five fingers: minimalist shoes
🔹️ อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยของ McCarthy C ในปี 2011 ก็พบว่า นักวิ่งที่เปลี่ยนมาใส่ Minimalist shoes แล้ว ยังมีถึง 35% ที่ยังคงวิ่งลงส้นเท้าอยู่เหมือนเดิม
🔹️ งานวิจัยของ Goss D ในปี 2012 พบว่า เมื่อใส่ minimalist shoes แล้วลงน้ำหนักที่ส้นเท้า จะเกิดแรงกระแทกมากกว่าปกติถึง 40% ในขณะที่การใส่รองเท้าที่มี midsole หนา 10 มม. ก็ไม่ได้ลดประสิทธิภาพในการวิ่งแต่อย่างใด
🔹️ งานวิจัยของ Ridge S ในปี 2013 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medicine and Science in Sports and Exercise พบว่ากลุ่มคนที่เปลี่ยนรองเท้าวิ่งมาเป็นแบบ minimalist shoes จะมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้มากกว่าปกติ อย่างมีนัยยะสำคัญ
🔹️ มีการศึกษาถึงผลทั้งระยะสั้น และระยะยาวของการใส่รองเท้า Minimalist shoes ในงานวิจัยของ Fuller J ในปี 2019 พบว่าเมื่อให้กลุ่มนักวิ่งทดลองค่อย ๆ เปลี่ยนมาใช้ minimalist shoes แบบเพิ่มขึ้นทุก ๆ สัปดาห์ พบว่า ที่สัปดาห์ที่ 6 นักวิ่งเหล่านี้จะมีการพัฒนาของ running economy และ performance ที่ดีขึ้นเล็กน้อย และเมื่อตามดูผลจนถึงสัปดาห์ที่ 20 ก็พบว่า ไม่มีผลใด ๆ เลยต่อ running performance, economy, ความยาวก้าว (stride length), cadence, มวลกระดูก (bone mineral density) และจุดลงน้ำหนัก (point of initial contact) และพบว่าจุดที่เป็นผลดีจากการใช้ minimalist shoes คือ กำลังในการถีบตัวของข้อเท้าดีขึ้น (ankle plantar flexor strength) ซึ่งก็สัมพันธ์กับงานวิจัยก่อนหน้านี้ ที่พบว่า การใช้รองเท้าชนิดนี้ จะทำให้ขนาดของกล้ามเนื้อในเท้า มีขนาดใหญ่ขึ้น
🔹️ สำหรับข้อสรุปของผู้เขียนบทนี้ แนะนำไว้ว่าเขาแนะนำการใส่ minimalist shoes สำหรับการเดินในชีวิตประจำวัน และการวิ่งช้า ๆ ในระยะทางสั้น ๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อฝ่าเท้า และกล้ามเนื้อน่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการการดูดซับ และสะท้อนแสงกระแทกให้ได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้การวิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ครับ
🟠 Maximalist running shoes
🔹️ หลังจากที่ minimalist shoes ได้รับความนิยมลดลง หลังจากที่พบว่ามีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่มากขึ้นแล้ว ก็มีการพัฒนารองเท้าแรกแบบที่เรียกว่า maximalist shoes ขึ้นมา โดยบริษัท Hoka one one ได้ออกรุ่นแรกมาคือ the Mafate ซึ่งมี midsole หนาถึง 37 มม.
Hoka One One: maximalist shoes
🔹️ ความหนาของพื้นรองเท้าที่วัดจากเท้าถึงพื้นถนน จะเรียกว่า "Stack height" โดยบอกเป็นตัวเลขสองตำแหน่ง เลขแรกหมายถึงความหนาที่ส้นเท้า เลขที่สอง หมายถึงความหนาที่หน้าเท้า (forefoot) เช่นรุ่น Hoka One One Bondi มี stack height 37/33 มม. เป็นต้น
🔹️ หลังจากที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ก็มีอีกหลายบริษัทผลิตรองเท้า maximalist shoes ออกมาอีกหลายยี่ห้อ เช่น Altra, Vasque, New Balance, Brooks และ Adidas เป็นต้น ซึ่งจะมีรายละเอียดการรูปทรง, Stack height, heel-to-toe drop ที่แตกต่างกัน
🔸️ ผลของการใส่ maximalist shoes
🔹️ ความเดิมที่เคยพูดถึงในตอนที่แล้ว คือหากใช้พื้นรองเท้าที่หนาเกินไป จะเกิดผลเสียคือ น้ำหนักที่มากขึ้น ต้องใช้พลังงานในการวิ่งมากขึ้น และยังทำให้เกิดแรงกระแทกสะท้อนที่มากขึ้นกว่าปกติ (จากการเสีย sensory feedback ที่ดี ตามที่อธิบายไว้ในตอนที่ 11 นะครับ)
🔹️ ในปี 2018 Pollard C ได้ทำงานวิจัย เปรียบเทียบ ground reaction force ที่เกิดขึ้นขณะวิ่ง ในกลุ่มที่ใส่ Hoka One One เทียบกับกลุ่มที่ใส่ traditional New Balance running shoes พบว่ากลุ่มที่ใส่ Hoka One One เกิด ground reaction force ที่มากกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ
🔹️ อีกงานวิจัยของ Hannigan J ในปี 2019 ศึกษาผลของการวิ่ง โดยใช้รองเท้า New Balance Boracay เหมือนกันทั้งหมด แตกต่างกันเฉพาะ Stack height ที่แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ maximalist shoes 33/29 มม., traditional shoes 22/18 มม. และ minimalist shoes 10/6 มม. พบว่ากลุ่มที่ใส่ maximalist shoes จะมีการล้มของเท้าเข้าด้านใน (pronation) มากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะช่วงถีบเท้าขึ้น (push-off) ส่งผลให้เสี่ยงต่อเกิดการบาดเจ็บมากขึ้น
🔹️ อย่างไรก็ตาม maximalist shoes ยังได้รับความนิยมมากอยู่ ทั้งในกลุ่มนักวิ่ง และกลุ่มคนที่ต้องยืน เดินมาก ๆ เช่น พยาบาล ซึ่งผู้เขียนบทนี้ก็ให้ความเห็นไว้ว่า ถึงแม้จะมีหลักฐานงานวิจัยว่าเพิ่มโอกาสการบาดเจ็บ แต่บางทีอาจจะมีการปรับท่าเดิน หรือวิ่งโดยอัตโนมัติหลังจากใส่ไปแล้วระยะหนึ่งก็ได้ ซึ่งน่าจะต้องติดตามดูผลการศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาวต่อไปครับ
🔹️ โดยสรุปนะครับ รองเท้าทั้ง minimalist และ maximalist shoes ต่างมีแนวคิดและจุดเด่นที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน โดยมีจุดประสงค์เดียวกันคือ เพิ่มประสิทธิภาพของการวิ่ง และลดอัตราการบาดเจ็บ แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่ส่งผลต่อจุดประสงค์ดังกล่าว เช่นลักษณะทางกายวิภาคของแต่ละคน ท่าวิ่ง ความฟิตและการฝึกซ้อม เป็นต้น ดังนั้นรองเท้าชนิดไหนที่จะเหมาะกับเราที่สุด อาจจะต้องใช้วิธีลองใช้ดูไปเลยครับ น่าจะดีสุด (เป็นข้ออ้างที่ดี สำหรับนักวิ่งที่อยากซื้อรองเท้าใหม่เรื่อย ๆ ด้วยครับ 🤣)
🏃‍♂️ ขอบคุณที่ให้ความสนใจ และขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการวิ่งนะครับ 🙂
โฆษณา