25 ต.ค. 2021 เวลา 00:16 • ปรัชญา
ธรรมะคืออะไร? ตามความหมายของพระพุทธทาส
จะเริ่มศึกษาธรรม ก็ควรรู้เรื่องพื้นฐานอย่างความหมายของคำว่า “ธรรมะ” ให้ถ่องแท้เสียก่อน
1
เชื่อว่าพอหลายคนเห็นชื่อหัวข้อคงเกิดคำตอบที่แตกต่างหลากหลายขึ้นในใจตามการเรียนรู้และประสบการณ์ของตัวเอง
ทีนี้เราลองมาดูว่าธรรมะในความหมายของท่านพุทธทาสบัญญัติไว้ว่ายังไงบ้าง
ท่านได้กล่าวไว้ว่า
"ธรรมะ คือการกระทำที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของคนนั้นๆ"
เรามาดูความหมายกันไปทีละประโยค
- ธรรมะคือการกระทำที่ “ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน”
แล้วแบบไหนหล่ะที่เรียกว่าความถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์? แต่ละคนคงมีมาตรวัดความถูกต้องที่แตกต่างกันไป และถ้าจะหยิบยกประเด็นนี้มาพูดโดยไร้หลักแหล่งก็คงเถียงกันไปไม่จบไม่สิ้น
ท่านพุทธทาสจึงได้ให้ความหมายหรือตัววัดเอาไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้ทุกคนเข้าใจคำว่า “ถูกต้อง” ได้ตรงกัน นั่นคือ สิ่งที่ปฏิบัติแล้วเกิดประโยชน์กับตัวเอง และคนอื่นๆรอบตัว โดยต้อง..
ถูกต้องกับตัวเรา คือทำอะไรแล้วเรามีความสุข พึงพอใจ สบายใจ
ถูกต้องกับผู้อื่น คือเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น จนเพื่อนมนุษย์ก็พลอยสุขใจไปด้วย
พูดง่ายๆคือ เราควรมีสันติสุขและเพื่อนรอบตัวมีสันติภาพ นั่นเอง
และสาเหตุที่ท่านกล่าวว่า ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์'ของตน' นั่นก็เพราะว่า หากเราไปดันทุรังทำให้ถูกต้องตามเรื่องอื่นภายนอก ก็คงจะป่วยกายป่วยใจไปเปล่าๆ เอาแค่ถูกต้องโดยวัดจากความเป็นมนุษย์เฉพาะของบุคคลนั้นๆ ก็เพียงพอแล้ว
ทีนี้จะเช็คว่าเราใช้ชีวิตมาอย่างถูกต้องหรือมีธรรมะหรือยัง ก็ลองย้อนคิดดูง่ายๆ ว่า เราร้องไห้น้ำตาเช็ดหัวเข่าบ่อยๆไหม? ทำความเดือดร้อนให้พ่อแม่ ให้คนรอบข้างอยู่เรื่อยๆหรือเปล่า? ถ้าเป็นแบบนั้น ก็เรียกว่ายังไม่ถูกต้อง
ประโยคถัดมา
- ถูกต้องทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของคนนั้นๆ
คำว่า ‘วิวัฒนาการ’ ของคนเรานั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดช่วงชีวิต อาจกล่าวได้ว่า เกิดตั้งแต่ออกมาจากท้องแม่ พัฒนาไปเป็นวัยเด็ก (ปฐมวัย) ผู้ใหญ่ (มัชฌิมวัย) ผู้สูงวัย (ปัจฉิมวัย) จนกระทั่งเดินทางไปสู่ความตายในที่สุด
ในแต่ละช่วงชีวิตนี้ควรปฏิบัติทั้งทางกาย วาจา ใจให้มีความถูกต้องอยู่เสมอ นั่นคือเราได้เดินในเส้นทางธรรมะแล้ว
แล้วเราจะเริ่มเข้าสู่การมีธรรมะได้อย่างไร?
ท่านพุทธทาสได้ให้คำแนะนำไว้ 5 ขั้นตอนดังนี้
1. รู้จักตัวเอง (Self-knowledge)
คือรู้ว่าตัวเองเป็นสิ่งใด โดยคำตอบก็คือ ‘เราเป็นมนุษย์’ นั่นเอง
ในภาษาละตินมนุษย์แปลว่า ‘ผู้มีปัญญา’ ส่วนในภาษาไทยก็มีกลอนอธิบายถึงมนุษย์ไว้ว่า ‘เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง’ ดังนั้นหากวิเคราะห์แล้วว่าเราเป็นมนุษย์ ก็ควรปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับความเป็นมนุษย์ โดยการมีสัมมาทิฐิ (รู้เห็นในทางที่ถูกที่ควร) ดำเนินชีวิตด้วยสติและปัญญา เป็นต้น
2. เชื่อตัวเอง (Self-confident)
เชื่อตัวเองในที่นี้ต้องเชื่อในทางที่ถูกที่ควรด้วยปัญญา เชื่อสมกับที่เป็นมนุษย์ คือเชื่อเรื่องกรรม ผลแห่งกรรม เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า ตลอดจนมีความศรัทธาในตัวเอง เชื่อว่าตัวเราเองเป็นมนุษย์แน่ ดังนั้นจึงต้องทำตัวให้สมกับเป็นมนุษย์ เชื่อว่าจะทำสิ่งที่มนุษย์ทำได้ ไม่มัวขี้เกียจ ขี้ขลาด เหลวไหล หรือโลเล
3. บังคับตัวเอง (Self-control)
ขั้นต่อมาต้องรู้จักบังคับตัวเองให้ลงมือทำ ไม่ใช่แค่เชื่ออย่างเดียว แม้แต่คำสอนของพระพุทธเจ้ายังมีเรื่องของการบังคับตัวเอง นั่นคือบังคับกิเลส หากเราไม่บังคับตัวเอง ก็จะนำไปสู่ทางที่ต่ำและเกิดความเดือดร้อนได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น การบังคับตัวเองต้องเกิดความเจ็บปวดขึ้นเป็นธรรมดา เราต้องอาศัยขันติหรือความอดทนอดกลั้นมาช่วย เช่น อยากออกไปเที่ยว อยากสูบบุหรี่ อยากเล่นการพนัน เกียจคร้านทำการงาน สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการบังคับ ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีทางหลุดออกมาได้ ดังนั้นหากเรายึดถือหลักว่าเราเป็นมนุษย์ เราเชื่ออย่างมนุษย์ ก็ต้องทำได้แบบมนุษย์ แม้จะยากก็ต้องทำ ไม่ท้อถอย
4. พอใจตัวเอง (Self-contentment)
เกิดความพอใจ ชอบใจในการเป็นมนุษย์ ให้ลองทบทวนดูว่าเราพอใจตัวเองไหม มีอะไรดีให้พอใจหรือยัง ทั้งนี้ทั้งนั้น เราอาจจะรักตัวเองมากทั้งๆที่ไม่มีอะไรดีก็เป็นไปได้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องของกิเลส ต้องพิจารณาให้ดี
เราจะพอใจในตัวเองได้ก็ต่อเมื่อบังคับตัวเองให้ชำระสิ่งสกปรกเศร้าหมองออกไปได้หมดแล้ว ไม่มีข้อตำหนิติเตียนต่อตัวเอง ก็จะนำพาไปสู่ความสุข โดยถ้าจะกล่าวแบบกำปั้นทุบดิน ความสุขก็คือความพอใจ แม้บางคนมีเงินมากก็ยังไม่พอใจ มีบ้านหลังใหญ่โต หากไม่พอใจก็ขาดความสุข กล่าวคือความสุขเกิดจากความพอใจในตัวเอง ความพอใจนั้นบันดาลให้เกิดความสุขโดยอัตโนมัติ ดังนั้นจงทำอะไรให้เราพอใจตัวเองให้ได้
5. นับถือตัวเอง (Self-Respect)
หากเรารู้สึกว่าสามารถจะยกมือไหว้ตัวเองได้ หรือรู้สึกว่าเรานั้นดีจนกระทั่งไหว้ตัวเองได้ นั่นคือเราเกิดความนับถือตัวเองขึ้นแล้ว และแน่นอนว่าเราได้มีธรรมะในใจเกิดขึ้นแล้วเช่นกัน
 
ทุกคนลองเช็คดูว่าตอนนี้เราผ่านไปถึงข้อไหนแล้ว และค่อยๆฝึกฝนเพื่อพัฒนาตัวเองไปสู่จุดที่ดียิ่งขึ้น
ลองคิดดูว่าทุกวันนี้เราถูกสอนผ่านระบบการศึกษาให้เรียนรู้สาระในตำรา เรียนวิชาอาชีพ แต่น้อยมากที่เราจะได้เรียนเรื่องการเป็นมนุษย์ ซึ่งท่านพุทธทาสได้พูดไว้ว่าการศึกษาแบบนี้นั้นยังไม่สมบูรณ์ ราวกับหมาหางด้วนหรือเจดีย์ที่มียอดด้วน
ดังนั้น ไหนๆเราก็เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที ก็ควรทำให้ได้สมกับความเป็นมนุษย์ ตามหลักการ 5 ข้อที่ได้กล่าวมาซึ่งจะทำให้เรานั้นมีธรรมะ และเมื่อมีธรรมะก็หมดปัญหา เพราะเราจะมีความสุขเกิดขึ้นในใจและขึ้นชื่อได้ว่าเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์แล้วนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา