25 ต.ค. 2021 เวลา 11:20 • ปรัชญา
"ติดสุขในสมาธิ แท้จริงคือสิ่งใดกันแน่ ?
ทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
สุขที่ควรเสพคือการเข้าถึงสมาธิ"
"... พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
ความสุขนั้น มีทั้งความสุขที่ควรกลัว
กับความสุขที่ควรเสพ
ความสุขที่ควรกลัว นั้นคืออะไร
ก็คือความสุขจากกามคุณอารมณ์นั่นเอง
การเสพรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่าง ๆ
ที่น่าใคร่น่าปรารถนา อารมณ์ต่าง ๆ ในโลก
เป็นสิ่งที่ควรกลัว
เพราะว่ามันคือบ่วง ที่ไว้ดักจับสัตว์
ให้หลงติดอยู่ในวังวนแห่งวัฏสงสารเรื่อยไป
เป็นสิ่งที่จะดึงเราจมสู่อบายภูมิ
ให้เสวยความเผ็ดร้อน ทุกข์ทรมาน
อย่างยาวนานนั่นเองนะ
เมื่อใดที่เราติดกับดักตรงนี้
จิตเราจะอ่อนแอ ขาดกำลัง ขาดปัญญา
ก็จะหลงทำผิดพลาดได้ง่าย
เรียกว่า ตกเป็นทาส
ของกิเลส ตัณหา อุปาทานนั่นเองนะ
เปรียบเหมือน นายพรานที่เขาจะดักจับสัตว์
เขาก็เอาเหยื่อมาล่อ
อย่างถ้าเราจะไปตกปลา เราก็ต้องมีเหยื่อไปล่อปลา
ปลามันหลงฮุบ มันก็ถูกจับไป
ไปจะฆ่าไปแกงยังไงก็ได้
ตกเป็นทาสเขาแล้วนี่
หรือว่า นายพรานที่เข้าป่า
เขาจะดักจับสัตว์ป่า เขาก็เอาเหยื่อไปล่อ
พอหลงฮุบเข้า ก็ตกเป็นทาสเขา
ฉันใด กามคุณอารมณ์ต่าง ๆ ในโลก
มันคือบ่วงที่ไว้ดักจับสัตว์นั่นเอง
อันนี้ควรกลัวให้มาก
มันมีสุขน้อย แต่ว่ามันแฝงไปด้วยความทุกข์
ความเร่าร้อนมากนั่นเอง ควรกลัว
เวลาที่เราต้องส้องเสพอารมณ์ทางโลก
ให้พิจารณา พระองค์ถึงสอนการพิจารณา
ปัจจัย 4 ทุกครั้งที่เสพ พิจารณาให้มาก
จะได้ไม่ติดข้องอยู่นั่นเอง
เพราะว่ามันแฝงไปด้วยยาพิษนั่นเอง
ส่วนความสุขที่ควรเสพ นั้นคืออะไร ?
ก็คือความที่สงัดจากกาม และอกุศลธรรม
เข้าถึงสมาธินั่นเองนะ
ความสุขจากสมาธินี่
พระองค์ตรัสว่า มันคือรสแห่งความวิเวก
มันคือสิ่งที่สงัด พ้นออกไปจากกามคุณอารมณ์
ควรส้องเสพ ควรทำให้มาก เจริญให้มาก
เพราะงั้น คำที่เราเคยได้ยินกันมา
ติดสุขในสมาธิ
แท้จริงแล้วมันคือสิ่งใดกันแน่
เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
สุขจากการเข้าถึงสมาธินี้
ควรส้องเสพ ควรทำให้มาก เจริญให้มาก
เพราะว่า สุขจากสมาธิ
ที่เกิดจากการที่เราเดินตามมรรควิธีที่ถูกต้อง
ที่เรียกว่าสมาธิอันเป็นอริยมรรคนั่นเอง
อริยมรรคมีองค์ 8 ควรทำให้มาก เจริญให้มาก
ถ้าเราเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง
จนเกิดสัมมาสมาธิ อันเป็นอริยมรรค
สิ่งนี้จะไม่มีคำว่า 'ติด'
มันมีแต่คำว่าหลุดออก คลายออก นั่นเอง
เมื่อสิ่งนี้เริ่มถูกต้องปุ๊บ
จะเกิดกระบวนการหลุดออกคลายออก
จะไม่มีคำว่า ติด
เช่น เมื่อเราเจริญสติปัฏฐาน
จนสติตั้งมั่น สงัดจากกามและอกุศลธรรม
อารมณ์หยาบ ๆ มันก็หลุดออกไปโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
นิวรณ์ ๕ ประการ เครื่องกั้นจิต
เครื่องห่อหุ้มจิตทั้งหลายทั้งปวง
ก็หลุดออกไปโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
ก็จะเข้าถึงระดับปฐมฌาน
เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา
เมื่อเข้าถึง แล้วฝึกไปจนดำรงอยู่
กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้ดี
ถึงจุดหนึ่ง วิตกวิจาร
มันจะหลุดออกไปเองโดยธรรมชาติอยู่แล้ว
เมื่อวิตกวิจารหลุดออกไป
ก็จะเข้าถึงทุติยฌาน
มีความผ่องใสภายใน ธรรมอันเอกปรากฏขึ้น
ชุ่มไปด้วยปีติ และสุข
เอิบอาบซาบซ่านทั่วทั้งกาย
เมื่อเข้าถึงสภาวะผ่องใสภายใน
ก็ให้แช่อยู่กับความผ่องใสภายในไปเรื่อย ๆ
ไม่ต้องกลัวคำว่ามันติดสุข ติดอะไรหรอก
จนมันเต็มจริง ๆ
มันเข้าไปถึงสภาวะที่มันแช่อยู่กับชุ่มฉ่ำ
แล้วมันเต็มจริง ๆ
ปีติก็จะจางคลายไปโดยธรรมชาติ
มันจะเกิดกระบวนการหลุดออก
แล้วก็เข้าถึงสุขที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เข้าถึง ตติยฌาน มีสุขด้วยนามกาย
เป็นฌานที่พระอริยเจ้าสรรเสริญว่า
เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะนั่นเอง
เมื่อเข้าถึงความโล่ง โปร่งเบาสบาย
แช่ให้ชุ่มฉ่ำกับความโล่ง โปร่งเบาสบาย
ไปเรื่อย ๆ จนมันเต็มกำลัง
สุขมันเต็มกำลัง มันเอ่อล้นออกมาเต็ม ๆ
ถึงจุดหนึ่ง สุขก็จะจางคลายไป
มันจะเกิดการจางคลายไปโดยธรรมชาติเลย
ก็จะเข้าถึงอุเบกขา
ความสงบตั้งมั่น ความนิ่งเฉยอยู่ข้างใน
จิตมีความตั้งมั่นตื่นรู้ขึ้นมา
เมื่อดำรงอยู่กับอุเบกขา มีความตั้งมั่น ตื่นรู้
รู้จิตที่ตั้งมั่นไปเรื่อย ๆ
พอกำลังมันเต็ม มาถึงจุดหนึ่ง
มันจะเกิดสภาวะผลิบาน
ที่เรียกว่า รู้ ตื่น แล้วก็เบิกบานออกมานั่นเอง
เหมือนเราบ่มต้นไม้
มันต้องสุกเต็มที่โดยธรรมชาติ
มันถึงจะไปต่อสเต็ปต่อไปได้
ทีนี้ถ้าเราปฏิบัติ พอได้สัมผัสหน่อยปุ๊บ
เราเกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
ว่ากลัวติดสุขในสมาธิปุ๊บ
เราถอนมา มันยังบ่มไม่ได้ที่เลย
แล้วมันจะไปต่อสเต็ปที่มันลึกซึ้งต่อไป
ได้อย่างไร ?
อันนี้คือความคิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง
ให้เรากลับมาหาแนวทางที่ถูกต้อง
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวางไว้นั่นเอง
สุขที่ควรเสพ ควรทำให้มาก เจริญให้มาก
ให้แช่ชุ่มอยู่กับสภาวธรรมที่ถูกต้องนะ
ถ้าเราเดินสมาธิที่ไม่ถูกต้อง
ที่เรียกว่า มิจฉาสมาธิ
มันจะไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว
อันนั้นแหละมันจะเป็นไปเพื่อการยึดติด
ที่เรียกว่า กลัวติดสุขในสมาธิ
หรือ สมาธิหัวตอนั้น
เพราะว่าเดินไปในสมาธิที่มันเป็นมิจฉาสมาธินั่นเอง
มันขาดสัมปชัญญะ มันขาดความตื่นรู้นั่นเอง
อย่างนั้นน่ะ แช่ไป มันก็อยู่แค่นั้นเอง
เป็นหินทับหญ้าไป
แต่ในทางกลับกัน
ถ้าเราเดินตั้งแต่แรกที่ถูกต้อง
เหมือนเราเดินทางถูก ตรงทางตรงธรรม
อยู่กับสภาวะไปเรื่อย ๆ
มันจะเป็นไปเพื่อการหลุดออกคลายออก
1
เพราะฉะนั้น สมาธิที่ถูกต้องอันเป็นอริยะ
คำว่า "อริยะ" คือมันห่างไกลจากกิเลสนั่นเอง
มันจะเป็นไปเพื่อการหลุดออก คลายออก
มันไม่ได้เป็นไปเพื่อการยึดมั่นถือมั่น
ถ้าเราฝึก แล้วรู้สึกว่ามันเป็นไปเพื่อการยึดมั่นถือมั่น
ให้ตั้งหลักพิจารณาว่า
เรายังเดินในเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่ ?
ถ้าฝึกไป แล้วกิเลส มานะ
ตัวตนมันมากขึ้น มันพองโต
ให้พิจารณาว่าเรายังเดินอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องหรือไม่ ?
เพราะว่าถ้าเราเดินในทางที่ถูกต้อง
มันจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลา
เพื่อการลดละ สละวาง
กิเลสมันจะค่อย ๆ แฟบลง แฟบลง
อัตตาตัวตนมันต้องค่อย ๆ แฟบลง แฟบลง
จนมันจางคลายหายไป
คืนสู่ความเป็นธรรมชาตินั่นเอง
เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุด
คือเดินในวิธีที่ถูกต้อง แล้วก็เดินไป
มีความเพียรฝึกฝนเป็นประจำสม่ำเสมอนั่นเองนะ
ทีนี้ เมื่อเราเดินตามมรรควิธีที่ถูกต้อง
ถึงจุดหนึ่งกำลังเราเริ่มดี
เราจะเริ่มเข้าถึงสภาวธรรมได้โดยลำดับนั่นเอง
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
แม้พระองค์เองก็เป็นพี่เลี้ยงแก่ภิกษุสาวกทั้งหลาย
ชั่วกาลที่จำเป็นเท่านั้น
เราเริ่มเข้ามาใหม่
เป็นธรรมดาที่ต้องมีครูบาอาจารย์
คอยประคับประคอง
แต่พอถึงจุดหนึ่ง เราเริ่มยั้งตัวได้
มันเป็นธรรมดาที่เราจะค่อย ๆ เดินได้
ด้วยตัวเองอยู่แล้ว
ครูบาอาจารย์ก็เป็นเพียง
ผู้ประคับประคองเท่านั้นเอง
เราก็สามารถฝึกปฏิบัติได้ทั้งในช่วงที่ลงสอนปกติ
ส่วนในระหว่างวัน เราก็สามารถพัฒนา
การฝึกปฏิบัติ ด้วยตัวเราเองได้
ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไปนั่นเอง
ถามว่ามันเป็นธรรมดาน่ะ
การที่ฝึกตามที่ลงสอนเป็นประจำ
การนำสภาวะในแต่ละระดับ
มันก็จะเป็นเรื่องของสิ่งที่มีสัญญาอยู่ในใจ
มันจะคอยผุดขึ้นมา
อ้าว เบานะ ซ่านนะ ก็เป็นธรรมดา
ก็ไม่ต้องเป็นอะไรกับอะไรหรอก
ก็แค่รู้สภาวะที่เกิดขึ้น
สิ่งที่ผุด มันก็คือจิตตสังขารนั่นเอง
มันจะมีหรือไม่มีก็ตาม
มันก็เป็นเรื่องของจิตตสังขารเท่านั้น
ให้เราอยู่กับสภาวธรรม
ฝึกปฏิบัติไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
เราสามารถเลือกทำได้
ทั้งการฝึกตามคลิปที่เดินสอนการปฏิบัติ
หรือบางครั้งเรารู้สึกว่ากำลังเราเริ่มดีแล้ว
เราจะฝึกเดินสภาวะด้วยตัวเอง
เราก็สามารถทำได้ทั้งนั้น
แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญ
ก็คือ ยกที่ฝึกปฏิบัติรวมเช้าค่ำ
อันนี้ควรพร้อมเพรียงกัน
เพราะว่า มันเป็นช่วงเวลา
ที่เราจะได้ ...​ สามัคคีคือพลัง
ส่วนในระหว่างวัน
เราก็ตามอัธยาศัยนั่นเอง
ขึ้นอยู่กับกำลังสติ กำลังสมาธิ กำลังปัญญาของเรา
ค่อย ๆ เรียนรู้ฝึกปฏิบัติไปนั่นเองนะ ... "
.
ธรรมบรรยาย โดย
พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา