6 ม.ค. 2022 เวลา 04:00 • การตลาด
8 กลยุทธ์ "การตลาด" โปรโมชั่นไหนบ้าง ทำนักช้อปเผลอละลายทรัพย์ไม่รู้ตัว?
นอกจาก “การตลาด” ที่จัด “โปรโมชั่น” พ่วงวันเลขสวยอย่าง 9.9 หรือ 10.10 แล้ว กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าด้วย “เบอร์สวย สีมงคล ความเชื่อ” และ “กล่องสุ่ม” ก็สามารถดึงเงินจากกระเป๋านักช้อปได้เสมอ รู้ทันการตลาดยุคใหม่ที่อาจทำให้คุณเผลอละลายทรัพย์ไปแบบไม่รู้ตัว
8 กลยุทธ์ "การตลาด" โปรโมชั่นไหนบ้าง ทำนักช้อปเผลอละลายทรัพย์ไม่รู้ตัว?
แม้การระบาดของ "โควิด-19" จะทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องเจ็บหนัก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้คนไทยหยุดช้อปปิ้งแต่อย่างใด เพราะหากมองในตลาด "อีคอมเมิร์ซ" กลับพบว่าคนไทยช้อปปิ้ง (ออนไลน์) หนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ แถมมีกลยุทธ์ "การตลาด" ใหม่ๆ ดึงเงินจากกระเป๋านักช้อปได้เสมอ
1
บางคนบอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าแม่ขาช้อปที่เสพติดการช้อปปิ้งขนาดนั้น แต่ในบางเดือนกลับเผลอสั่งซื้อสินค้าเป็นสิบๆ รายการ นั่นอาจเป็นเพราะว่าคุณติดกับดักของกลยุทธ์การตลาดในยุคนี้ที่ดึงดูดใจผู้ซื้อได้เก่งฉกาจ จนยากที่จะปฏิเสธได้
2
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้ทัน 8 กลยุทธ์การตลาดยุคใหม่ ที่เมื่อเห็นทีไรนักช้อปเป็นต้องพร้อมยอมจ่ายได้ทุกที
1. โปรวันเลขสวย เลขวันตรงกับเลขเดือน
ทุกวันนี้แพลตฟอร์ม E-Marketplace เจ้าใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ลาซาด้า, ช้อปปี้, อาลีเอ็กเพรสซ์, พาวเวอร์บาย และอื่นๆ ขยันทำโปรโมชั่นสนับสนุนการขายเป็นประจำทุกเดือน อย่างที่คนไทยคุ้นเคยกันกับโปรโมชั่น “เลขวันที่ ตรงกับ เลขเดือน” เช่น 7.7, 8.8, 9.9, 10.10
โดยโปรโมชั่นรูปแบบนี้มักจะมาในทำนอง ลดราคาแบบจัดหนัก หรือแจกโค้ดส่งฟรี แต่มีข้อจำกัดตรงที่ โปรโมชั่นวันเลขสวยนี้จะหมดอายุก่อนเข้าเที่ยงคืนวันถัดไปเท่านั้น และบางร้านก็มีการจำกัดสิทธิ์ด้วย เช่น
- ลูกค้า 999 คนแรก ของโปรโมชั่น 9.9 เท่านั้นที่จะได้ซื้อสินค้า 9 อย่างในราคา 919 บาท
- โปรโมชั่น 11.11 สามารถทำสปาได้ 11 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น
2. สายมู เบอร์มงคล สีมงคลตามความเชื่อ
การตลาดสายมูเป็นอีกสิ่งหนึ่งกลยุทธ์ที่สามารถดึงดูดใจนักช้อปชาวไทยมาได้ 3-4 ปีแล้ว สังเกตได้จากรูปแบบที่พ่วงความเชื่อส่วนบุคคลเข้าไปด้วย เช่น เลขเสริมดวง เบอร์โทรศัพท์เสริมทรัพย์ โชคลาค เสริมดวงหน้าที่การงาน สีเสื้อมงคล กำไลหินเรียกทรัพย์ เครื่องรางขอพร เป็นต้น
โดยการตลาดทำนองนี้มักจะเฟ้นหาความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่ศรัทธาในเรื่องความเชื่อ พร้อมผูกเรื่องราว อุปสรรค ปัญหาชีวิตที่เป็นเรื่องพื้นฐาน เชื่อมโยงกับคุณค่าความเชื่อที่ทำให้เป็นจริง และปิดการขายในคีย์แมสเสจด้วยการ แนะนำว่ามีอิทธิพลต่อผู้สวมใส่ แต่ไม่ฮาร์ดเซลมากไปจนรู้สึกว่าเกินจริงหรือหลอกลวง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกคล้อยตามจนอยากลอง
3. ของแถมมูลค่าสูง
ในช่วงนี้ที่โรคโควิด-19 ระบาด ทางการไทยมีการประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ร้านเสริมความงามและสปาต่างๆ ต้องปิดตัว และเป็นหมวดธุรกิจที่ขายออนไลน์ไม่ได้ ต่อมาเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น มีมาตรการ "คลายล็อกดาวน์" และกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง ธุรกิจกลุ่มนี้จึงงัดกลยุทธ์ ซื้อคอร์สแล้วให้ของแถมมูลค่าสูงฟรี! เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าอยากเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ร้านเลเซอร์ความงาม เปิดให้ซื้อคอร์ส "เลเซอร์กำจัดขน" จำนวน 8 ครั้ง แถมฟรีบัตรนวดตัว 1 ครั้ง เป็นต้น
4. จ่ายเงินสดได้ราคาถูกกว่าผ่อนจ่าย
กลยุทธ์เสนอให้ลูกค้าจ่ายเงินก้อนใหญ่ทีเดียว แล้วสามารถซื้อสินค้า/บริการได้ราคาถูกกว่าซื้อแบบผ่อนจ่าย ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการตลาดที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ประกอบการธุรกิจด้านความงาม เช่น คลินิกเสริมความงาม คลินิกทรีตเมนต์ ร้านเสริมความงามอื่นๆ
ตัวอย่างการตลาดส่งเสริมการขาย เช่น คอร์สเลเซอร์ขน 4,999 บาท สามารถทำเลเซอร์ได้ไม่อั้น ไม่จำกัดครั้ง ในเวลา 1 ปี พิเศษ! หากเลือกจ่ายเงินสดเต็มจำนวน จะลดราคาอีก 1,000 บาท ซึ่งการตัดราคาลง ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าได้ของราคาที่ถูกกว่าปกติ
5. จับมือกับแบรนด์อื่น (Co-Branding)
ปัจจุบันแบรนด์เสื้อผ้าหรือแบรนด์การค้าต่างๆ เริ่มหมดมุกกับการออกคอลเล็กชั่นใหม่ๆ ดังนั้นจึงต้องใช้กลยุทธ์การจับมือร่วมกิจกรรมการขายกับแบรนด์อื่นๆ ที่น่าสนใจและเป็นกระแสในขณะนั้น ซึ่งกลยุทธ์การตลาดรูปแบบนี้มักจะประสบความสำเร็จได้ง่าย เพราะผู้บริโภคจะรู้สึกประทับใจ ถ้าไปจับมือกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว
ยกตัวอย่างเช่น กาแฟสตาร์บัคส์ ปกติจะมีการออกคอลเล็กชั่นใหม่ในทุกๆ เทศกาลใหญ่ เช่น ฮาโลวีน คริสต์มาส แต่ทุกวันนี้ก็มีการคอลแล็บร่วมกับแบรนด์อื่นบ้าง เช่น Starbucks x FILA ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องแต่งกายกีฬา หรืออย่างการคอลแล็บที่เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด คือ Starbucks x Blackpink ซึ่งทำให้สินค้าถูกจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว เพราะวงแบล็คพิงค์เป็นจุดขายที่ได้รับความสนใจมากอยู่แล้ว ทำให้สินค้าขาดตลาดในเวลาอันสั้น
หรือถ้าเป็นการคอลแล็บระดับโลก แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นก็จะคอลแล็บกันเองอยู่บ่อยๆ เช่น Gucci x Doraemon, Fendi X Versace หรือ Louis Vuitton x Supreme เป็นต้น
6. กล่องสุ่ม
เทรนด์กล่องสุ่มก็เป็น "การตลาด" ที่ได้รับความนิยมในช่วงนี้เช่นกัน ความน่าตื่นเต้นมักจะอยู่ที่ ผู้ซื้อได้ลุ้นว่าของในกล่องจะมีสินค้าอะไรบ้าง? บางคนยอมซื้อด้วยความหวังว่าจะเจอ "แรร์ไอเท็ม" ซึ่งแพงกว่าราคาที่จ่ายไป
โดยมากมักเจอในร้านขายของเสริมสวย เครื่องสำอาง เช่น CLINIQUE, PANPURI หรือแพลตฟอร์มการค้าใหญ่ๆ อย่างลาซาด้าและช็อปปี้ก็มีเช่นกัน
7. ชิ้นแรกราคาเต็ม ชิ้นต่อไป 1 บาท
ชิ้นแรกจ่ายราคาเต็ม ชิ้นถัดไปจ่ายในราคา 1 บาทเท่านั้น สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การค้าที่เจอในร้านขายสินค้าความงามซึ่งมักได้ใจสาวๆ ที่ชื่นชอบในการจับจ่าย คล้ายกับการตลาดแบบซื้อ 1 แถม 1 ซึ่ก็ได้ใจผู้บริโภคไม่แพ้กัน
8. ผลิตขนม-สินค้า ตามกระแสโซเชียล
ปิดท้ายด้วยเทรนด์การทำสินค้าหรือขนมในรูปแปลกๆ และติดกระแสในสังคมออนไลน์ได้ เช่น ขนมอาลัวรูปพระ, ขนมเปี๊ยะลาวา, วุ้นรูปหมา, เค้กไข่ปลอดโควิด หรือชฎาลิซ่า เป็นต้น โดยสิ่งเหล่านี้มักได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักและชื่นชอบในไอเดียสร้างสรรค์ แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร
โฆษณา