26 ต.ค. 2021 เวลา 10:35 • ยานยนต์
สถานีชาร์จรถไฟฟ้า ชาร์จช้า ชาร์จเร็ว ทำความเข้าใจก่อนใช้งาน
หลักใหญ่ใจความในการเลือกซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็คือ แบตเตอรี่มีระยะทำการไกล วิ่งยาวได้เกินสี่ร้อยกิโลเมตร มีราคาที่สมเหตุผล และมีสถานีชาร์จไฟที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกวันนี้รถไฟฟ้าบางรุ่นมีระยะทำการต่อการชาร์จไฟเต็มแบตฯ กว่า 500 กิโลเมตร แต่อัตราภาษีที่ยังสูงอยู่สำหรับรถไฟฟ้านำเข้าประสิทธิภาพดี ทำให้ยากต่อการเป็นเจ้าของ
ประเด็นสำคัญที่รัฐจะต้องเร่งลงมือทำหากอยากให้รถไฟฟ้ากลายเป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยม และเข้ามาแทนที่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน นอกจากจะต้องลดทอนอัตราภาษีลงมาแล้ว ควรออกกฎหมายให้ปั๊ม หรือสถานีบริการใหญ่ๆ ตามหัวเมืองทั่วทุกจังหวัด จะต้องมีสเตชั่นชาร์จไฟสำหรับรถไฟฟ้าอย่างน้อยสองหัว ทั้งหัวชาร์จแบบอัดประจุช้าด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Slow Charge) ที่ชาร์จไฟแบบอัดประจุปกติด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Normal Charge) และการชาร์จเร็วด้วยการอัดประจุแบบเร็ว (Fast Charge) ทั้ง AC Fast Charge และ DC Fast Charge เพื่อครอบคลุมการใช้งาน กว่าที่สถานีชาร์จไฟจะมีให้อย่างแพร่หลายทั่วประเทศ คงต้องใช้เวลากันพอสมควร เนื่องจากรถไฟฟ้าในไทยยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จากการขาดปัจจัยหลักๆ ดังกล่าว
1
การประจุแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันใช้ได้กับทั้งระบบไฟฟ้ากระแสตรงและกระแสสลับ โดยทั่วไประบบประจุเร็ว (quick charge) จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที และในระบบประจุแบบธรรมดา ใช้เวลาประมาณ 5-8 ชม.
ดังนั้นปัจจัยที่สำคัญคือโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้าในประเทศ ต้องมีไฟฟ้าเพียงพอให้สามารถรองรับการประจุแบตเตอรี่ให้กับยานยนต์ในจำนวนมาก การเตรียมไฟฟ้าเพื่อรองรับการขยายตัวการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องวางแผนพิจารณาเป็นอันดับต้นๆ ส่วนระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบส่งจ่าย ระบบจำหน่าย สามารถพัฒนาไปพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ อย่างไรก็ตามโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart grid) จะสามารถช่วยจัดการและบริหารความต้องการของไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1
ปัจจุบัน รูปเเบบการใช้งานสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
1. การอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สาย
2. สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่
3. การอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย
แต่ละรูปแบบมีรายละเอียด ดังนี้
1) การอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สาย
การอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สายเป็นรูปแบบการอัดประจุหลักที่ทุกประเทศทั่วโลกเลือกใช้ เนื่องด้วยมีความคุ้มค่าในการลงทุน มีประสิทธิภาพสูง และสามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการจัดการพลังงานได้
มีการจำแนกการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สายตามระดับกำลังไฟฟ้าที่ใช้ได้เป็น 3 แบบ ดังนี้
1.1) การอัดประจุแบบช้าด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Slow Charge)
เป็นการอัดประจุระดับ 1 (Level 1)
เป็นรูปแบบการอัดประจุที่พื้นฐานที่สุดและถูกใช้มากที่สุดทั่วโลก แต่ไม่เหมาะกับการใช้งานในลักษณะของสถานีบริการเฉพาะ หรือสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากใช้เวลาในการอัดประจุที่นาน
1.2) การอัดประจุแบบปกติด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Normal Charge)
เป็นการอัดประจุระดับ 2 (Level 2) สามารถอัดประจุด้วยกำลังไฟฟ้าสูงสุด 22 กิโลวัตต์ เหมาะสำหรับการอัดประจุในพื้นที่กึ่งสาธารณะที่ผู้ใช้ไม่รีบร้อนมาก หรือต้องจอดรถไว้เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น ลานจอดรถ และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ทั้งนี้การอัดประจุในรูปแบบนี้สามารถดำเนินการได้ที่บ้านเช่นเดียวกัน
1
1.3) การอัดประจุแบบเร็ว (Fast Charge)
การอัดประจุแบบเร็วนั้น มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ
การอัดประจุแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Fast Charge)
การอัดประจุแบบเร็วด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Fast Charge)
ทั้งสองรูปแบบสามารถทำการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าจนถึงระดับ 80% ภายในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม เครื่องอัดประจุแบบเร็วมีความต้องการพลังไฟฟ้าที่สูง มีราคาที่แพงกว่ามากอย่างมีนัยสำคัญ ในด้านการติดตั้งและด้านปฏิบัติการจึงถูกใช้ในสถานีอัดประจุที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และผู้ใช้บริการเหล่านั้นต้องการความรวดเร็ว
2) สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Stations, BSS)
เป็นสถานีอัดประจุแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้าประเภทหนึ่งที่ดำเนินการโดยอัดประจุแบตเตอรี่ไว้ล่วงหน้าเพื่อรอการสับเปลี่ยนกับแบตเตอรี่ที่มีค่าสถานะของประจุที่ต่ำกว่า การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่เป็นวิธีการถ่านโอนพลังงานไฟฟ้าที่รวดเร็วกว่ามากแม้เทียบกับการอัดประจุแบบเร็วก็ตาม โดยทั่วไปการเปลี่ยนแบตเตอรี่ของยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กนั้นง่ายกว่ามากเมื่อเทียบกับยานยนต์ไฟฟ้าทั่วไป ผู้ขับขี่สามารถดำเนินการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ด้วยตนเองได้ ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กที่นิยมใช้วิธีนี้คือ รถสองล้อไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
3) การอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย
การถ่ายโอนพลังงานเข้าสู่แบตเตอรี่ในรูปแบบไร้สายจะทำให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอัดประจุแบบไร้สายในขณะที่ยานยนต์จอดอยู่กับที่ หรือจะเป็นการอัดประจุแบบไร้สายในขณะที่ยานยนต์กำลังเคลื่อนที่อยู่ก็ตาม ในอนาคตการชาร์จแบบเคลื่อนที่จะได้รับความสะดวกสบายมากกว่า หากเส้นทางที่จะเดินทางไปสามารถวิ่งในเลนที่ชาร์จไฟให้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ การเดินทางไกลด้วยรถไฟฟ้าจะไม่กลายเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากอีกต่อไป การอัดประจุรถไฟฟ้าแบบไร้สาย ในประเทศไทย ยังคงเป็นแค่การทดลองและพัฒนาระบบเพื่อนำมาติดตั้งและใช้งานต่อไปในวันข้างหน้า.
ข้อมูลจาก สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
โฆษณา