28 ต.ค. 2021 เวลา 05:07 • ประวัติศาสตร์
*** คดีดรายฟุส: เคสทมิฬพลิกโลก ***
"คดีดรายฟุส" เป็นเรื่องที่เกิดในฝรั่งเศส แต่โด่งดังไปทั่วโลกยุคปลายศตวรรษที่ 19 มันเป็นคดีอื้อฉาวที่เกี่ยวพันกับการโกหก, การใส่ร้ายป้ายสี, การเหยียดเชื้อชาติ, และความดำมืดของระบบราชการ
...แต่ถึงที่สุดแล้วมันคือการวัดว่า คนเราจะสามารถยืนหยัดยึดถือความถูกต้องได้เพียงใด เมื่อต้องเผชิญกับเงื่อนไขอันยากลำบาก
คดีนี้ถูกตีความไปอย่างหลากหลาย และมีอิทธิพลต่อฝรั่งเศสและชาวโลกเป็นอันมาก ถึงกับทำให้ศาสนจักรเสื่อมอำนาจลง ทำให้การเมืองการปกครองของฝรั่งเศสยุคนั้นต้องเปลี่ยนแปลง และถึงกับมีส่วนในการทำให้เกิดรัฐที่เรียกว่า “อิสราเอล”
เรื่องราวของคดีนั้นจะเป็นอย่างไร มารับชมเรื่องราวโดยอ่านคำบรรยายประกอบภาพไปเรื่อยๆ กันเลยครับ
อนึ่งบทความนี้เป็นงานของคุณอั้น จากเพจ Someone in History : ใครสักคนในประวัติศาสตร์ ที่ทำรายการเรื่องเดียวกันกับผมใน The Wild Chronicles Clubhouse เมื่อเขียนออกมาแล้วจึงขอมาลงเพจ The Wild Chronicles ด้วยครับ
*** ปูมหลังฝรั่งเศสปลายศตวรรษที่ 19 ***
ช่วงที่เกิดคดีดรายฟุสในฝรั่งเศสนั้นเป็นช่วงยุคปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งในสมัยนั้นมีเค้าลางจะเกิดความวุ่นวายภายในประเทศ
ตอนนั้นประเทศฝรั่งเศสถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ได้แก่
1. ฝ่ายขวาที่นำโดยกองทัพและศาสนจักร ที่มีความคิดไปในทางชาตินิยมเกลียดชังชาวยิว
2. ฝ่ายซ้ายหรือพวกลิเบอรัล นำโดยปัญญาชนและนักคิดนักเขียน ที่เน้นสู้เพื่อความเท่าเทียมกันตามแบบสังคมนิยม
ภาพแนบ: สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย ปี 1870 ที่ทำให้ฝรั่งเศสเสียดินแดน
ในยุคนั้นฝรั่งเศสเพิ่งพ่ายสงครามต่อเยอรมันย่อยยับ ทำให้ต้องสูญเสียแคว้น อัลซาส-โลแร็งน์ แทบทั้งหมด
ความพ่ายแพ้นี้ทำให้กองทัพฝรั่งเศสมีเจตนารมณ์ที่จะฟื้นฟูเกียรติภูมิจากความอับอาย จึงเชิดชูลัทธิชาตินิยม มุ่งเน้นการรักษาอธิปไตย และตั้งตนเป็นองครักษ์ระบอบประชาธิปไตย
ขณะเดียวกันทางฝ่ายซ้ายเองก็มองว่าประเทศถูกครอบงำด้วยเผด็จการทหาร และศาสนจักรมากเกินไป รัฐบาลไม่อาจปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการกดขี่ข่มเหงประชาชนก็มีมากจนเกินทน ทำให้เกิดบรรยากาศอึมครึม...
ภาพแนบ: ร้อยเอกอัลเฟร็ด ดรายฟุส
...การแตกหักของเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหันมาใช้กำลังปะทะอีกฝั่งก่อน แต่กลับเป็นการพิจารณาคดีความผิดฐาน"ทรยศต่อชาติ"ของ “ร้อยเอกอัลเฟร็ด ดรายฟุส” ที่จุดชนวนกระแสสังคมอย่างกว้างขวาง
ภาพแนบ: โบสถ์ในเมืองมุลฮูส บ้านเกิดของดรายฟุส
*** ประวัติของดรายฟุส ***
ก่อนที่เราจะไปดูเรื่องราวของคดี เรามาทำความรู้จักบุคคลต้นตอของเรื่องกันก่อนครับ
นายอัลเฟร็ด ดรายฟุสคนนี้ เป็นบุตรชายของนักธุรกิจสิ่งทอชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิว เขาเกิดที่แคว้นอัลซาส (ซึ่งฝรั่งเศสเสียให้เยอรมันไป)
แม้ในยุคดังกล่าวจะมีแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันแล้ว แต่การรังเกียจยิวที่ฝังลึกในอารยธรรมฝรั่งก็ยากจะจางหาย
...ทั้งๆ ที่เป็นแบบนั้น ครอบครัวของดรายฟุสก็รักชาติฝรั่งเศสมาก เห็นได้จากที่พวกเขายอมย้ายภูมิลำเนาไปปารีส เพื่อรักษาสัญชาติฝรั่งเศส ภายหลังแคว้นอัลซาสโดนยึด
ภาพแนบ: École Polytechnique ในปัจจุบัน
เมื่ออายุ 18 ปี ดรายฟุสก็เข้าเรียนที่โรงเรียนทหารโปลีเทคนิค หรือ École Polytechnique (อารมณ์คล้ายๆ โรงเรียนช่างฝีมือทหารบ้านเรา แต่จบมาแล้วจะได้ยศร้อยตรีและรับราชการในเหล่าเทคนิค)
หลังเรียนจบดรายฟุสเข้ารับราชการในเหล่าทหารปืนใหญ่ จนกระทั่งมียศเป็นผู้กองหรือกัปปิตัน จากนั้นก็เข้าเรียนที่โรงเรียนเสนาธิการ โดยสอบได้ลำดับที่ 9 ในชั้นเรียนทั้งที่ในตอนนั้นโดนอาจารย์ผู้บรรยายกดคะแนนด้วยความอคติเรื่องเชื้อชาติเพราะเขามีเชื้อสายเป็นชาวยิว
...แม้กองทัพในสมัยนั้นจะเปิดกว้างโดยมีนายทหารเชื้อสายยิวถึง 300 นาย และนายพลจำนวน 10 นาย แต่อคติเรื่องเชื้อชาตินั้นยังคงฝังรากลึกอยู่ในมโนทัศน์ของชาวฝรั่งเศสเป็นบางส่วน
ระหว่างดรายฟุสรับราชการที่หน่วย วันหนึ่งก็มีเรื่องราวใหญ่โตเกิดขึ้น นั่นคือการพบเศษจดหมายปรากฏอยู่ในสถานทูตเยอรมัน จดหมายนั้นบรรยายความลับทางทหารของฝรั่งเศสในการจัดสร้างอาวุธ ตลอดจนอธิบายตำแหน่งที่ตั้งต่างๆ ของหน่วยทหารในฝรั่งเศส บ่งชี้ว่าจะต้องมีหนอนบ่อนไส้ลักลอบนำเอาข้อมูลนี้ไปให้แก่ศัตรู
...ตอนนั้นเบาะแสที่หน่วยข่าวกรองรวบรวมได้ชี้ไปยังดรายฟุส ซึ่งคาดว่าเขาน่าจะเป็นผู้ขายความลับแก่เยอรมัน...
ภาพแนบ: ดูปาตี เดอ แคลม
*** เรื่องของคดี ***
ผู้ที่ได้รับมอบภารกิจในการสอบสวนเศษจดหมายนี้ คือ “ผู้พันอาร์มานด์ ดูปาตี เดอ แคลม” เพราะเขาเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์ลายมือ เขาทำการพิสูจน์ลายมือได้ผู้ต้องสงสัยราว 6 นาย ก่อนที่เขาและนายทหารระดับสูงจะตัดรายชื่อจนเจาะจงเหลือเพียงนายทหารชาวยิว หรือผู้กองดรายฟุสนั่นเอง
ดังนี้เดอ แคลมจึงจัดฉากเพื่อพิสูจน์ความผิดโดยแสร้งเป็นเรียกตัวให้ผู้กองดรายฟุสให้มาเขียนข้อความแบบเดียวกับที่มีในเศษจดหมายสำคัญ
ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ว่าดรายฟุสลายมือเหมือนที่ปรากฏในเศษจดหมาย จึงใช้มันเป็นหลักฐานกล่าวหาดรายฟุส
ศาลทหารฝรั่งเศสดำเนินการไต่สวนดรายฟุสอย่างรวดเร็วก่อนจะตัดสินว่าเขาเป็นผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกตลอดชีวิต และมีพิธีถอดยศของเขา ณ ลานทหาร ต่อหน้าบรรดาทหารและมวลชนนับหมื่น!
บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธแค้นและชิงชัง มวลชนต่างโห่ร้องตระโกนด้วยความโกรธ “ฆ่ามันซะ!! ไอ้ยิวทรยศ!!” ซ้ำไปซ้ำมา ดรายฟุสถูกขานชื่อให้ออกมายืน เขาก้าวเข้ามาข้างหน้าพร้อมกับรายงานตัว “กระผม ร้อยเอกอัลเฟร็ด ดรายฟุส ผู้บังคับกองร้อยทหารปืนใหญ่”
จากนั้นนายทหารผู้กระทำพิธีก็เริ่มกระบวนการถอดยศ เขาหยิบหมวกทหารออก ถอดกระดานบ่า ดึงกระดุมนายทหารออกโยนทิ้งลงพื้น ถอดแถบกางเกงนายทหารออก ซ้ำร้ายดึงกระบี่นายทหารแล้วหักด้วยเข่าต่อหน้าต่อตาดรายฟุสที่บัดนั้นกลายเป็นกำลังพลที่ยศต่ำที่สุดในกองทัพไปแล้ว
...เป็นสิ่งที่ทำให้เขาเจ็บปวด ถึงกับต้องร่ำไห้ออกมา ราวกับว่าตนนั้นตายทั้งเป็น...
ภาพแนบ: ดรายฟุสบนเกาะปีศาจ
จากนั้นดรายฟุสถูกส่งตัวไปขังที่เกาะปีศาจในเฟรนช์กีอานาตอนต้นปี 1895 เกาะปีศาจนี้หากใครเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับคุกนรกที่เกาะตะรุเตาของบ้านเราลักษณะของเกาะนี้จะใกล้เคียงกันครับ...
เกาะแห่งนี้สงวนไว้สำหรับผู้ที่มีโทษร้ายแรง และนักโทษการเมือง เนื่องจากเกาะนั้นอยู่ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่ ด้วยระยะทางหลายไมล์ ล้อมรอบด้วยน้ำทะเลที่มีฉลามว่ายเวียนอยู่รอบๆ อีกทั้งเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บของดินแดนแถบเขตร้อน ไม่ว่าจะเป็นไข้มาลาเรียหรือท้องร่วง ทำให้นักโทษกว่าร้อยละ 75 ของนักโทษที่เคยถูกส่งตัวมายังเกาะนี้ทยอยตายไป
ภาพแนบ: พันโทมารี จอร์จ ปิกการ์
...เวลาก็ผ่านไปจนวันหนึ่งในเดือนสิงหา ปี 1896
“พันโทมารี-จอร์จ ปิกการ์” ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองทหารในขณะนั้นได้ค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญว่าแท้จริงแล้วดรายฟุสน่าจะเป็นแพะ!
ปิกการ์เริ่มสืบหาความจริงด้วยตัวเองเพื่อหาคนผิดและแก้ต่างให้กับดรายฟุสให้หลุดพ้นข้อหาที่เขาไม่ได้ทำ
ภาพแนบ: นักเรียนโรงเรียนนายร้อยแซงซีร์
***ประวัติของปิกการ์ ***
ก่อนจะมาต่อกันในเรื่องราวของคดี ผมขอเล่าประวัติของตัวเอกของเรื่องอีกคนที่มีความสำคัญมาก เพราะหากไม่ได้เขา ดรายฟุสก็คงต้องตกเป็นแพะรับบาปไปอีกนานแสนนาน
เขาคนนั้นมีชื่อว่า “มารี-จอร์จ ปิกการ์” เกิดที่สตาร์สบูกในแคว้นอัลซาส แคว้นเดียวกับดรายฟุสนั่นเอง
พออายุได้ 18 ปิกการ์ก็ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยแซงซีร์ (École spéciale militaire de Saint-Cyr
) ที่ถือว่าเป็นโรงเรียนนายร้อยอับดับหนึ่งของประเทศ พอจบมาก็มาเป็นผู้หมวดเหล่าทหารราบ จากนั้นจึงได้ไปรบที่อินโดจีนไต่เต้าจนเติบโตในกองทัพมาตามลำดับ
เขาเคยเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยการทัพและเคยสอนหนังสือดรายฟุส ...ซึ่งจริงๆ ปิกการ์ก็เหมือนชาวฝรั่งเศสฝ่ายขวาทั่วๆ ไป ที่ไม่ได้มีความชื่นชอบชาวยิวสักเท่าไหร่ตามลัทธิชาตินิยมที่กำลังแพร่หลายในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่า ครั้งหนึ่งดรายฟุสได้คะแนนในวิชาที่ปิกการ์สอนน้อย เขาจึงเข้าไปถามว่าที่เขาได้คะแนนน้อยเพราะเขาเป็นคนยิวใช่ไหม เนื่องจากเขาเคยได้รับการปฏิบัติอย่างนี้มาแล้ว แต่ทว่าปิกการ์ตอบตามตรงกับเขาว่า...
“จริงอยู่ที่ไม่ได้ชื่นชอบชาวยิวสักเท่าไหร่ แต่ยังมีคุณธรรม การที่ดรายฟุสจะได้คะแนนเท่าไหร่นั้น ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติเลย"
ปิกการ์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีดรายฟุสในฐานะผู้ทำรายงานการพิจารณาคดีเพื่อเสนอให้ รมต.กระทรวงสงคราม และผบ.ทบ. ซึ่งต่อมาหลังจากจบการพิจารณาเขาก็มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ได้เลื่อนยศเป็นพันโทในวัยเพียง 41 ปี ถือว่าเป็นผู้พันเร็วที่สุดในสมัยนั้น โดยเขาได้รับแต่งตั้งในตำแหน่ง ผอ.หน่วยข่าวกรองทหาร เนื่องจากผอ.คนเก่าป่วยไม่สามารถปฏิบัติงานได้
....ตอนไปรับตำแหน่ง ปิกการ์ก็ได้ไปเยี่ยมอดีต ผอ. ซึ่งเขาก็ได้รับมอบเอกสารสำคัญที่ทำให้รู้ความจริงว่าดรายฟุสนั้นน่าจะไม่ใช่คนผิด...
*** การค้นพบความจริงของปิกการ์ ***
ปิกการ์พบว่ามีเอกสารความลับทางทหารถูกส่งไปให้ทูตทหารเยอรมันประจำฝรั่งเศสอีกหลายฉบับภายหลังจากที่ดรายฟุสอยู่ในคุก ...นั่นหมายความว่าคนที่ขายความลับนั้นอาจเป็นคนอื่น! (เอกสารเหล่านี้ได้รับมาจากแหล่งข่าวในสถานทูตเยอรมันที่ลักลอบนำออกมาให้)
ปิกการ์พบว่าลายมือในเอกสารลับนั้นแท้จริงไม่เหมือนของดรายฟุส เพียงแต่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านลายมือที่มาเป็นพยานนั้นให้ความเห็นว่า “อาจไม่เหมือนทีเดียวแต่สามารถจงใจเขียนให้เป็นลักษณะนี้ได้เพื่อลวงคนอื่น”
ภาพแนบ: เฟอร์ดินองด์ เอสเตอร์ฮาซี
สุดท้ายผลกลับสรุปว่า ว่าลายมือในจดหมายนั้นเหมือนเป๊ะๆ กับลายมือของทหารอีกคนที่ชื่อ “พันตรี เฟอร์ดินองด์ เอสเตอร์ฮาซี” ที่มีความสนิทสนมกับผู้ช่วยทูตทหารเยอรมันต่างหาก
แล้วดรายฟุสถูกลงโทษได้อย่างไร?
การที่ดรายฟุสนั้นถูกลงโทษแทนที่จะเป็นเอสเตอร์ฮาซีนั้น เกิดมาจากกระบวนการที่ไม่ชอบมาพากล และจากการที่พยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความเท็จ ที่อาศัยเพียงเพราะความคล้ายคลึงแทนที่จะพิสูจน์ให้แน่ชัดตามหลักการ ซึ่งการกระทำนี้มาการกระทำร่วมกันเป็นขบวนการที่ต้องการแพะหรือตัวร้ายสักคนหนึ่งที่เกิดมาจากความอคติทางเชื้อชาติล้วนๆ
ภาพแนบ: อูแบร์ต-โจเซฟ อองรี
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ปิกการ์แน่ใจว่ามีการให้สร้างหลักฐานเท็จ ครั้นแล้วจึงได้เดินทางไปรายงานแก่ผู้บังคับบัญชา แต่บรรดาผู้บังคับบัญชาก็บอกให้เขาปิดเรื่องนี้เป็นความลับเพราะหากรื้อคดีนี้ขึ้นมาอาจกระเทือนถึงภาพลักษณ์กองทัพฝรั่งเศสที่ตอนนั้นกำลังเปราะบางเพราะเพิ่งแพ้สงคราม
ปิกการ์ยังคงมุ่งมั่นสืบสวนต่อเพราะเขายึดมั่นในหลักการว่าคนไม่ผิดจะต้องไม่ถูกลงโทษ แม้ผู้นั้นจะเป็นชาวยิวที่เขาไม่ได้ชื่นชอบก็ตาม
...ความมุ่งมั่นนั้นทำให้เขาถูกกดดันทั้งจากผู้บังคับบัญชา และทหารผู้ใต้บังคับบัญชาหรือพันตรีอูแบร์ต-โจเซฟ อองรีที่แอบทำลายหลักฐานที่เขาค้นพบด้วย
ปิกการ์ถูกกลั่นแกล้งสารพัดจนในที่สุดต้องโดนเด้งออกไปประจำที่หน่วยที่ห่างไกลในแอฟริกา ต่อมายังมีการพยายามย้ายเขาไป “พื้นที่สีแดง” อย่างทริโปลี เพื่อเตรียมทำสงครามครอบครองพื้นที่ (เนื่องจากที่ผ่านมาได้ทำการยึดตูนีเซียได้สำเร็จแล้ว กองทัพจึงมีแนวความคิดที่จะขยายดินแดนอาณานิคม)
ถึงตอนนี้ปิกการ์เหมือนหมาจนตรอกแล้ว ...ต้องเลือกว่าจะตายหรือจะกัดกลับ ปิกการ์เลือกหนทางที่สอง เขาจึงเดินทางกลับมายังฝรั่งเศสในปี 1899 เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการกล่าวหาดรายฟุสให้กับบรรดาแนวร่วมเพื่อต่อสู้กับระบบที่ไม่เป็นธรรม
ภาพแนบ: เอมีล โซลา
*** การต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ***
เมื่อปิกการ์ตัดสินใจแล้วว่าตนจะต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เขาจึงเปิดเผยเรื่องราวนี้แก่คนหลายคนที่คิดว่าช่วยเขาได้มีที่สำคัญ เช่น
1. เอมีล โซลา นักเขียนชื่อดังผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศ
2. จอร์จ เคลมองโซ่ ว่าที่นายกฯของฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าของ นสพ. โลฮอร์ (L'Aurore) ที่เป็นสื่อของฝ่ายซ้าย
ภาพแนบ: หน้าหนังสือพิมพ์โลฮอร์
เมื่อโซลาได้รับข้อมูลจากปิกการ์แล้ว เขาจึงเขียนบทความขึ้นมาชิ้นหนึ่งเป็นลักษณะจดหมายเปิดผนึกถึงปธน.ของฝรั่งเศส ชื่อบทความว่า "ฌากคูส์...!" (J'Accuse...!) ที่แปลว่า “ฉันขอกล่าวหา”
เนื้อหามีลักษณะกล่าวโทษพาดพิงการพิจารณาคดีดรายฟุสว่าเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม ไม่วาจะเป็นเรื่องการพิจารณาคดี การสอบสวน การทำพยานหลักฐานเท็จ รวมไปถึงเรื่องการเหยียดเชื้อชาติที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ดรายฟุสถูกกล่าวหา
ในตอนท้ายบทความ โซล่า เขียนทำนองว่าขอกล่าวหาผู้สมรู้ร่วมคิด อันได้แก่...
1. นายทหารระดับสูงที่ปกปิดเอกสารลับที่แสดงว่าดรายฟุสไม่ผิด
2. ผบ.ทบ.ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมเพราะเรื่องเชื้อชาติ
3. บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านลายมือที่วิเคราะห์อย่างมีอคติ
4. ศาลทหารชั้นต้นในข้อหาละเมิดกฎหมายโดยการตัดสินลงโทษดรายฟุสบนพื้นฐานของเอกสารที่ต้องถูกเก็บเป็นความลับ และ
5. ศาลทหารกลางในข้อหาก่ออาชญากรรมทางศาลที่มีการพิจารณาโดยไม่เปิดเผยจนทำให้เอสเตอร์ฮาซีต้องพ้นผิด
ภาพแนบ: ออกุส เชอเรอร์-เคสต์แนร์
เมื่อบทความดังกล่าวถูกตีพิมพ์ก็เป็นที่ฮือฮาของสาธารณชนยิ่ง ทำให้ “ออกุส เชอเรอร์-เคสต์แนร์” รองประธานสภาฝรั่งเศสเวลานั้นสนใจและสั่งให้มีการรื้อฟื้นคดี
แต่ก่อนจะมีการรื้อฟื้นคดี โซล่าก็ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและศาลสั่งให้จำคุก 1 ปี ทั้งยังสั่งถอนรางวัลเกียรติยศ แต่โซล่าชิงลี้ภัยไปอังกฤษ ส่วนผู้พันปิกการ์นั้นถูกไล่ออกจากราชการ และถูกจำคุกฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงในการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา
...กระทั่งรองประธานสภาเคสต์แนร์ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งไปด้วย เรียกว่าโดนเด้งกันหมด
ภาพแนบ: กระท่อมดรายฟุสที่เกาะปีศาจ
*** อิสรภาพของดรายฟุส ***
ถึงปี 1899 คดีของดรายฟุสก็ถูกนำขึ้นมาพิจารณาขึ้นใหม่ แต่สุดท้ายศาลก็ยังตัดสินว่าผู้กองดรายฟุสมีความผิด แต่มีเหตุลดโทษให้เหลือจำคุก 10 ปี แล้วท่านประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะอภัยโทษให้
สรุปคือผู้มีอำนาจเอาหลักฐานมาเรียงกันแล้วพบว่าดรายฟุสน่าจะบริสุทธิ์ แต่ถ้าหากดรายฟุสเป็นผู้บริสุทธิ์จริง จะทำให้กองทัพอับอายเพราะตัดสินผิด ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจึงพยายามเกลี้ยกล่อมให้ดรายฟุสยอมรับผิดเสีย จะลงโทษให้เบาๆ แต่ดรายฟุสก็ปฏิเสธโดยกล่าวว่า “แม้รัฐจะมอบอิสรภาพให้ผม แต่อิสรภาพนั้นก็ไม่มีความหมายหากผมไม่ได้กอบกู้เกียรติยศกลับคืน”
อย่างไรก็ตามญาติของดรายฟุสได้มาเกลี้ยกล่อม จนเขาจะจำใจยอมรับข้อเสนอเพราะถ้าหากยังดื้อดึงขัดขืนยืนยันว่าจะต่อสู้ก็จะต้องกลับไปถูกขังต่อที่เกาะปีศาจ
ภาพแนบ: อองรี
สำหรับปิกการ์และคนอื่นๆ ภายหลังก็ได้รับนิรโทษกรรม นอกจากนั้นยังมีการจับกุมพันตรีอองรีผู้ใต้บังคับบัญชาของปิกการ์ ที่เป็นผู้ทำลายหลักฐานและรายงานเรื่องการสืบสวนจนทำให้เขาถูกย้าย
ชะรอยอองรียังมีมโนธรรมบ้าง จึงสารภาพในเรื่องที่ตนป้ายความผิดให้ดรายฟุสและปกปิดความผิดให้เอสเตอฮาชี่ ทั้งนี้เพราะเขาสนิทสนมกับเอสเตอฮาซี (เคยทำงานร่วมกันที่หน่วยข่าวกรองทหารมาก่อน) เลยต้องหาแพะมาบูชายัญแทน
ภาพแนบ: ชาวยิว
อองรีเลือกคนยิวมาเป็นตัวร้ายที่เหมาะสมของละครเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยชาวยิวเพียงนายเดียวจากผู้ต้องสงสัย 6 นาย และผู้พิสูจน์ลายมือผู้เชี่ยวชาญก็พยายามบิดผลการพิสูจน์ให้กลายเป็นดรายฟุสให้ได้โดยไม่ใช้ความระมัดระวังดูให้ถี่ถ้วนตามจรรยาบรรณ
อันที่จริงถ้าไม่นับว่าอองรีที่เป็นผู้ช่วยเหลือเอสเตอร์ฮาซีจริงๆ แล้ว คนอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในขบวนการป้ายสีดรายฟุสนั้นแม้ไม่ได้มีเจตนาจะช่วยเหลือเอสเตอร์ฮาซี หากแต่ตอนนั้นปักใจเชื่อไปแล้วเพราะอคติทางเชื้อชาติ
ถึงต่อมาแม้หลายคนจะรู้สึกแปลกๆ แต่คิดว่าหากเปลี่ยนใจในภายหลัง กองทัพคงจะถูกหัวเราะเยาะจนเป็นที่ขายหน้า (หลังจากความอับอายที่รบแพ้เยอรมันจนต้องเสียดินแดนไปแล้วเมื่อไม่นาน ทำให้กองทัพฝรั่งเศสมีความเปราะบาง ไม่อาจทนเสื่อมเสียเกียรติอีก)
หากเลือกระหว่างความโชคร้ายของยิวคนหนึ่ง กับเกียรติภูมิกองทัพ อย่างหลังดูเหมือนจะสำคัญกว่ามาก ทั้งหมดจึงร่วมกันปิดบังความจริง อย่างไรก็ตามก็มีการกดดันจนเอสเตอร์ฮาซีต้องลาออกไป
จากนั้นอองรีก็ฆ่าตัวตายในคุกเพื่อหนีความผิด ส่วนตัวการอย่างเอสเตอฮาชี่ก็ได้หลบหนีไปยังอังกฤษ ต่อมาเขาสารภาพว่าตนเป็นสายลับให้เยอรมันจริง ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าการจับตัวดรายฟุสเป็นการจับแพะ
...เรื่องที่น่าตกใจของคดีนี้คือ มันเริ่มจากการทำผิดของคนตัวเล็กๆ ก่อน แต่ความผิดนั้นถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะทุกคนต้องปกปิดความผิดขององค์กรและตนเอง มิให้เสียหน้า
...จนในที่สุดแม้กระทั่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสซึ่งอยู่ระดับสูงสุดก็ยังถูกความชั่วร้ายกลืนกิน...
ภาพแนบ: จอร์จ เคลมองโซ
*** ชีวิตหลังอิสรภาพของดรายฟุส และบั้นปลายชีวิตของปิกการ์ ***
เมื่อดรายฟุสได้รับอภัยโทษแต่เขาก็ยังต้องรับโทษกักขังในบ้าน (house-arrest) เรื่อยมา (เพราะประธานาธิบดีหน้าบาง ไม่อาจให้มีภาพว่ากองทัพตัดสินผิดได้)
จนมาถึงปี 1906 “จอร์จ เคลมองโซ” ได้ชนะเลือกตั้งและก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้เขามีอำนาจสั่งการให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นอีกครั้งเพื่อความเป็นธรรม
ความผิดทั้งหมดของดรายฟุสจึงถูกล้าง เขากลายเป็นผู้บริสุทธิ์และได้รับการแต่งตั้งกลับรับราชการทหารในยศพันตรี ส่วนปิกการ์เองก็ได้รับเลื่อนยศเป็นพลจัตวาและได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม
นอกจากนั้นดรายฟุสก็ยังได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติต่อหน้าบรรดานายทหารแบบเดียวกับตอนที่ตนถูกปลดยศเมื่อราวสิบกว่าปีที่แล้ว
สำหรับปิกการ์นั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจนถึงปี 1909 เมื่อคณะรัฐบาลของเคลมองโซจบลง เขาก็กลับไปรับราชการทหารจนได้ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาค ก่อนที่จะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุตกม้าในปี 1914
ภาพแนบ: ดรายฟุสและครอบครัว
ดรายฟุสนั้นเมื่อรับราชการไปสักพักเขาก็ลาออกมาเป็นกองหนุน แต่วิบากกรรมก็ยังไม่จบเพราะเขานั้นโดนลอบยิงโดยนักข่าวฝ่ายขวา เดชะบุญยังรอดมาได้ ทำให้เขาต้องรักษาตัวและอยู่อย่างเงียบๆ
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ระเบิดขึ้นเขาก็ขอกลับเข้ารับราชการร่วมรบในแนวหน้ากับปิแอร์ลูกชายของเขาโดยอยู่ในหน่วยปืนใหญ่ ก่อนที่จะเกษียณด้วยยศพันโท ซึ่งดรายฟุสก็ใช้ชีวิตอย่างสงบเรื่อยมาจนเสียชีวิตในปี 1935 ด้วยวัยย่าง 76 ปี
เรื่องของคดีดรายฟุสที่เกิดขึ้นนี้ นับเป็นแรงกระตุ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ส่งผลต่อการเมืองของฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเปลี่ยนขั้วอำนาจที่โอนถ่ายมาจากกลุ่มฝ่ายขวาหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม มาเป็นฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดสังคมนิยมที่ทำให้กลุ่มทหารเริ่มเสื่อมอำนาจลง รวมไปถึงกลุ่มศาสนจักรที่ต้องถูกแยกออกจากการเมืองเนื่องจากในช่วงนั้นเอง (ศาสนจักรที่มีบทบาทอย่างมากในฝรั่งเศสก็เป็นตัวหลักในการชี้นำความเห็นของประชาชนให้ร่วมกันเกลียดชังชาวยิว)
จนเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลชุดใหม่จึงมีการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่โดยกลายเป็นห้ามศาสนจักรมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ให้ยุ่งเฉพาะเรื่องการศาสนาเท่านั้น อิทธิพลของฝ่ายขวาในช่วงเวลาดังกล่าวก็เริ่มเสื่อมไป
ภาพแนบ: ธีโอดอร์ เฮิร์ซล์
มีชาวยิวเยอรมันชื่อ “ธีโอดอร์ เฮิร์ซล์” อ้างว่าเขาเคยเชื่อว่าความเกลียดชังชาวยิวนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ แต่ความไม่เป็นธรรมที่เกิดในคดีดรายฟุสทำให้เขาหมดหวัง จึงเลิกความคิดจะสนับสนุนให้ชาวยิวอยู่ร่วมกับคนชาติอื่นๆ แล้วหันไปสร้าง “ขบวนการไซออนนิสต์” ซึ่งมีจุดประสงค์สร้างรัฐของชาวยิวเองขึ้น
ภาพแนบ: ชาวปาเลสไตน์ประท้วง
ต่อมาขบวนการไซออนนิสต์นี้ได้สร้างประเทศอิสราเอลสำเร็จ แต่สร้างอยู่บนแดนปาเลสไตน์ที่มีชาวอาหรับอยู่มาก่อน ทำให้เกิดปัญหาเชื้อชาติอีกแบบหนึ่งเรื้อรังมาจนปัจจุบัน
...หลักฐานภายหลังบอกว่าเฮิร์ซล์อสน่าจะได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งรัฐยิวจากเรื่องอื่น แต่เขาอ้างคดีดรายฟุส เพราะเป็นคดีดัง ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชาวยิวที่อินกับคดีนี้เป็นอันมาก
*** บทสรุป ***
แนวคิดที่เหยียดเชื้อชาติเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมตลอด แม้สังคมจะพัฒนาไปเพียงไหน
อย่างไรก็ตามถึงสิ่งนี้จะฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรม แต่โลกก็ยังมีคนอย่างผู้พันปิกการ์ ที่มองข้ามผ่านเรื่องอคติด้านเชื้อชาติแล้วต่อสู้กับระบบที่ไม่ยุติธรรมอย่างกล้าหาญจนตัวเองต้องเดือดร้อน ทั้งเรายังต้องยกย่องบรรดาแนวร่วมของเขา ไม่ว่าจะเป็นโซล่า หรือตัวรองประธานสภาถึงแม้คนหลังนี้ไม่ได้มีชีวิตจนได้เห็นอิสรภาพของดรายฟุสก็ตาม
คดีดรายฟุสสะท้อนให้เห็นความชั่วร้ายของระบบราชการ แสดงให้เห็นการที่ผู้มีอำนาจยินดีกดขี่คนบริสุทธิ์ต่อเพื่อความมั่นคงของระบบ แม้จะทราบดีว่าไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันเราก็เห็นคนมากมายเป็นธุระเอาชีวิตตนเข้าเสี่ยงเพื่อเรียกร้องสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “ความเป็นธรรม” ให้แก่คนหนึ่งคน
....เรื่องก็มีเท่านี้...
สวัสดีครับ
::: อ้างอิง :::
- Dreyfus Affair guides (ดอท) loc (ดอท) gov/chronicling-america-dreyfus-affair
- What was the Dreyfus affair? history (ดอต) com/news/what-was-the-dreyfus-affair
- The Dreyfus Affair: Voices of Honor usna (ดอต) edu/Ethics/_files/documents/Dreyfusprogram.pdf
สามารถติดตามบทความอื่นๆ ของคุณอั้น ได้ทางเพจ "Someone in History : ใครสักคนในประวัติศาสตร์" ตามลิงก์ด้านล่างนี้นะครับ
ท่านที่สนใจอ่านเรื่องราวแปลกๆ จากรอบโลกสามารถสมัครเข้ากลุ่ม illumicorgi
อนึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่ม exclusive ผมจะใช้ลงบทความพิเศษ ซึ่งมีเนื้อหาเจาะลึกกว่าที่ลงในเพจ The Wild Chronicles และบทความส่วนใหญ่ในกลุ่มจะเกี่ยวกับธีมของหนังสือที่ผมกำลังเขียน
ผู้ที่ต้องการสมัครเข้ากลุ่มให้ทำดังนี้เลยนะครับ
(1) กดสมัคร Line OA ของ The Wild Chronicles มาทาง link นี้ https://lin.ee/fNEO1jr
(2) กด add เป็นเพื่อน
(3) กด chat
(4) จากนั้น พิมพ์ชื่อที่ท่านใช้ใน Facebook มาทางช่องแชทของ Line OA เพื่อให้ทีมงานบ่งชี้ได้ว่าบัญชีของท่านสมัครมาแล้ว
(5) จากนั้นจะมีแอดมินมาคุยกับท่าน ให้แจ้งประเภทสมาชิกที่ท่านต้องการสมัคร แอดมินจะส่ง link เพื่อชำระค่าสมาชิก และแนะนำวิธีการเข้ากลุ่มต่อไป
::: ::: :::
สนใจอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตาม เพจ The Wild Chronicles ได้เลยนะครับ https://facebook.com/pongsorn.bhumiwat
โฆษณา