28 ต.ค. 2021 เวลา 06:30 • สุขภาพ
ถึงคราว "นายจ้าง" ผวา ปรากฏการณ์ "ลาออก" ครั้งใหญ่ ที่ไทยไม่ควรเพิกเฉย
13
หลายๆ ครั้ง เรามักจะเอ่ยถึงวิกฤติที่น่ากังวลอันเกี่ยวเนื่องกับ "ลูกจ้าง" และ "แรงงาน" ทั้งหลาย โดยเฉพาะการขาดทักษะที่เหมาะสมกับ "ตำแหน่งงาน" ในอนาคต มาวันนี้... ถึงคราว "นายจ้าง" ต้องผวากันบ้างแล้ว กับปรากฏการณ์ใหม่ที่ค่อยๆ เริ่มต้นขึ้นแล้วบนผืนแผ่นดินมหาอำนาจตะวันตกอย่าง "อเมริกา" ที่แม้แต่ "ไทย" เองก็ไม่ควรเพิกเฉย
6
ปรากฏการณ์ที่ว่านั้น คือ ปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า The Great Resignation!!
2
The Great Resignation!!
2
The Great Resignation ค่อยๆ ปรากฏและเริ่มชัดขึ้นในห้วงวิกฤติโควิด-19 (COVID-19) นี้นี่เอง หลังจากที่หลายๆ คนต้องเผชิญกับความเครียดของการทำงาน รวมถึงการ Work from Home (WFH) อันยาวนานที่ทำให้หลายคนเริ่มคุ้นชินและรู้สึกว่าชีวิตการทำงานของพวกเขามีความยืดหยุ่นขึ้น
2
แต่แล้วเมื่อวิกฤติทางสาธารณสุขอันเลวร้ายมีแนวโน้มผ่อนคลาย บริษัทต่างๆ ก็เริ่มทยอยส่งอีเมลแจ้งเตือนเรียก "พนักงาน" กลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศเหมือนเช่นเดิม
1
และนั่นก็ได้กลายเป็น "จุดเปลี่ยน" เกิดการตั้งคำถามถึง "บทบาท" ในการทำงานที่เกี่ยวโยงกับชีวิตของตัวเอง จนไปกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจ "ลาออก" จากตำแหน่งงานหรืออาชีพที่เคยทำ... โดยพบเห็นได้ตั้งแต่พนักงานแนวหน้า ไปจนถึงระดับผู้บริหารอาวุโส
7
จากข้อมูลการวิจัยของไมโครซอฟท์ (Microsoft) พบว่า มากกว่า 40% ของกำลังแรงงานทั่วโลก กำลังพิจารณาลาออกจากงานภายในปีนี้ (2564)
2
ขณะที่ ผลสำรวจของ Gallup ก็พบว่า มากกว่า 48% ของแรงงานอเมริกัน กำลังค้นหางานหรือมองโอกาสใหม่ๆ อย่างกระตือรือร้น โดยพวกเขาไม่ได้พิจารณาแค่เพียงขอบข่ายอุตสาหกรรม, ตำแหน่ง หรือค่าแรง แต่ยังพิจารณาไปถึงการทำงานลักษณะ WFH ด้วย
3
ไม่เพียงเท่านั้น อีกผลสำรวจของ CNBC ร่วมกับ SurveyMonkey ก็ทำให้เห็นว่า การตัดสินใจออกจากงาน ไม่ใช่เพราะเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความต้องการในการมีส่วนร่วมและการพัฒนา หรือแม้กระทั่งการให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความครอบคลุม
4
โดยเกือบ 80% ของแรงงาน ต้องการทำงานให้กับบริษัทที่ให้คุณค่ากับความหลากหลาย, ความเสมอภาค และความครอบคลุม
3
แน่นอน หลายๆ คนคงสงสัยว่า การลาออกครั้งใหญ่นี้สำคัญอย่างไร?
ตามรายงานของ Gallup แสดงความกังวลว่า การสูญเสียลูกจ้างครั้งใหญ่ของบริษัทต่างๆ นี้ จะทำให้เกิดภาวะสิ้นหวังหรือท้อแท้ แถมยังมี "ราคาแพง" มากเสียด้วย นั่นคือ ต้นทุนการหาลูกจ้างทดแทนมีราคาเทียบเท่ากับเงินเดือนลูกจ้างถึง 2 เท่า!
โดยมุมมองของ แอรอน แมคอีวาน นักพฤติกรรมศาสตร์ ประจำบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยระดับโลก Gartner เปรียบปรากฏการณ์ลาออกครั้งใหญ่นี้ว่าเป็นการเคลื่อนย้ายทางปัญญาที่มีนัยสำคัญและรุนแรงมาก
อะไรคือ ตัวกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางปัญญา?
1
"พวกเขาเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่พนักงาน ลูกจ้าง หรือแรงงาน"
เมื่อพวกเขามีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ก็ทำให้การไตร่ตรองเทียบระหว่างงานและชีวิตของพวกเขามากขึ้นเช่นกัน จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า "เราได้อะไรกลับมาหลังจากยอมแลกการทำงานหนัก, อุทิศเวลา และความพยายามทั้งหมดไป?"
4
เดิมทีแล้ว บริษัทต่างๆ จะเสาะหาพนักงานที่มากประสบการณ์ แลกกับเงินเดือนที่ดี, ออฟฟิศอันยอดเยี่ยม และผลตอบแทนที่พวกเขาสามารถจัดให้ได้
3
แต่ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า ผลตอบแทนที่ว่านั้น อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการในมุมมองของลูกจ้างอีกต่อไป
2
อย่างประโยคด้านบนที่บอกไว้ว่า ลูกจ้างไม่ต้องการให้นายจ้างมองแค่ในฐานะแรงงานหรือพนักงานเท่านั้น พวกเขาต้องการให้มองในฐานะมนุษย์เชิงซ้อน ที่ดำรงอยู่ได้ด้วยคุณค่าและชีวิตที่สมบูรณ์ หมายความว่า พวกเขาสนใจในสิ่งที่นายจ้างจะทำให้พวกเขามีประสบการณ์ชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง
2
หนึ่งในกลุ่มตัวอย่างของแบบสอบถาม ให้ความเห็นว่า ในช่วงโควิด-19 มีบางอย่างกระตุ้นให้เกิดความเครียดในการทำงาน แล้วก็เริ่มทำให้เขาคิดถึงความปลอดภัย, สุขภาพ และครอบครัว ซึ่งเขาไม่อยากให้การทำงานเป็นแหล่งเพิ่มความเครียดอีก เขาต้องการค้นหางานที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินในการทำงาน
4
นอกจากนี้ จากการสำรวจหลายสำนักยังเห็นอีกว่า The Great Resignation อาจทำให้อาชีพต่างๆ มีการปรับลดไซส์ลง
1
ด้วยเหตุผลว่า พวกเขาเลือกที่จะหลบหลีกจากความทะเยอทะยาน ไปสู่การให้ความสำคัญในแง่มุมอื่นๆ ของชีวิตมากกว่า และยินดีหากอาชีพที่ทำอยู่จะถูกลดไซส์ ซึ่งเกี่ยวพันกับชั่วโมงการทำงานที่น้อยลง, ความรับผิดชอบน้อยลง และความเครียดน้อยลง
4
ข้อกังวลที่ "นายจ้าง" ต้องพึงนึก คือ อาชีพหรือตำแหน่งบางอย่าง มีความต้องการสูง ดังนั้น ลูกจ้างสามารถที่จะหาบริษัทหรือนายจ้างที่ทำให้เขาทำงานได้ง่ายกว่า หรือสนองต่อข้อเสนอที่พวกเขาต้องการได้
แล้ว "นายจ้าง" ทำอะไรได้บ้าง?
3
คำแนะนำโดย เกรซี่ แคนตาลูโป ผู้บริหารฝ่ายการตลาด (CMO) ประจำ Mentorcliq คือ
1) เมื่อลูกจ้างเริ่มตำแหน่งใหม่ ทางนายจ้างควรมีการแนะแนว ให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ จากลูกจ้างคนอื่นๆ และควรได้รับการพัฒนาด้านความเป็นผู้นำและการให้คำปรึกษา เพื่อที่จะลับทักษะให้คมมากขึ้น
2
2) นายจ้างควรให้ความยืดหยุ่นแก่ลูกจ้าง แม้ทำงานต่างสถานที่ ต่างเวลา ก็สามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนร่วมงานได้
2
3) สำคัญอย่างยิ่ง คือ ภายใต้พื้นฐานความหลากหลาย นายจ้างต้องทำให้ลูกจ้างรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและมีคุณค่าต่อองค์กร สร้างวัฒนธรรมที่ครอบคลุมภายในออฟฟิศ
14
4) นายจ้างควรสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในลักษณะบนลงล่าง การแถลงต่อสาธารณะและลงมือดำเนินการทันที ทั้งกรณีในองค์กรหรือนอกองค์กร ในหลากหลายประเด็น เช่น การเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ
2
5) ลูกจ้างควรได้รับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพ เมื่อต้องเริ่มตำแหน่งงานใหม่หรือบทบาทใหม่ ก็ควรรู้ถึงสิ่งที่เป็นไปได้ และเส้นทางที่สามารถไปต่อได้ นายจ้างไม่ควรทำให้รู้สึกว่า ลูกจ้างอยู่ในทางตัน หรือตำแหน่งงานที่ไม่มีความก้าวหน้าใดๆ อีกแล้ว
4
ขณะที่ ข้อกังวลและข้อเสนอแนะต่อไทยจากกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คือ
1
1) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานอาจส่งผลต่อความสามารถในการขยายตัวและต้นทุนการประกอบกิจการต่างๆ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
1
2) คาดการณ์ว่า แนวโน้มการเปลี่ยนงานจะเกิดขึ้นทั่วโลก มิได้เป็นแค่ในอเมริกา ผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมวางแผนรับมือกับกระแสที่เปลี่ยนแปลงเสียแต่เนิ่นๆ รวมถึงการให้ความสำคัญในการบริหารจัดการบุคลากร ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมองค์กรและโครงสร้างที่เปลี่ยนไป อาทิ การปรับชั่วโมงการทำงานให้มีความยืดหยุ่น การจัดสรรและมอบหมายงานที่เหมาะสมกับบุคลากร
อีกด้านหนึ่ง ไรอัน โรลันสกี ผู้บริหารสูงสุด LinkedIn มองว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเป็น The Great Reshuffle หรือปรากฏการณ์การปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานครั้งใหญ่มากกว่า โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z และมิลเลนเนียล
1
จากการสำรวจผ่านแพลตฟอร์ม LinkedIn พบว่า มีการเปลี่ยนงานเพิ่มขึ้น 54% เทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะ Gen Z เพิ่มขึ้นถึง 80% รองลงมาคือ มิลเลนเนียล 50%, Gen X เพิ่มขึ้น 31% และบูมเมอร์เพิ่มขึ้นเพียง 5%
1
ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่า ปัจจุบันจะยังไม่เห็นปรากฏการณ์ลาออกครั้งใหญ่ขยายวงกว้างในประเทศอื่นๆ มากนัก แต่นับเป็นสัญญาณสำคัญที่ถูกซุกซ่อนอยู่ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า หากพ้นปีนี้ (2564) ไป แล้วลูกจ้างไม่ได้รับโบนัสอย่างที่หวัง พลาดการโปรโมตอย่างที่ควรจะได้รับ ให้สมกับที่ทำงานหนักมาทั้งปี มีความเป็นไปได้ว่า ปีหน้า (2565) ปรากฏการณ์ The Great Resignation จะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่
2
ซึ่งหากใครที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์นี้...
1
คำแนะนำของนักพฤติกรรมศาสตร์ คือ เริ่มจากจุดเล็กๆ ก้าวแบบเด็กๆ เพื่อก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่คุณต้องการ แทนที่จะกระโดดก้าวใหญ่ไปในเส้นทางใหม่ทันที เช่นว่า การบิดงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน หรือความรับผิดชอบของคุณ ให้เหมาะสมกับชีวิตที่คุณต้องการมากกว่า รวมถึงเรียนรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พบผู้คนในแวดวงและเพิ่มพูนทักษะ.
2
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
โฆษณา