29 ต.ค. 2021 เวลา 11:30 • หนังสือ
📚 รีวิวหนังสือ AI 2041 ที่เขียนโดย Kai -Fu Lee ผู้เขียนหนังสือ AI Superpowers (ตอนที่ 1) 📚
1
อีก 20 ปี AI จะพัฒนาไปไกลแค่ไหนและมีผลกับชีวิตมนุษย์เราอย่างไร? ⚡️
📌 “AI 2041” Ten Visions for Our Future เป็นหนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งออกเลยสด ๆ ร้อน ๆ ของผู้เขียนหนังสือชื่อดังเรื่อง “AI Superpowers” อย่าง Kai-Fu Lee ซึ่งคราวนี้เค้าเขียนร่วมกับ Chen Qiufan อดีตเพื่อนร่วมงานเก่าที่ Google ซึ่งปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ (science fiction) ที่กวาดรางวัลมาแล้วนับไม่ถ้วน ที่เค้าชวนมาทำ “collaboration” ร่วมกันใน project ของหนังสือเล่มนี้
1
💡 โดยหนังสือเล่มนี้การเล่าเรื่องจะต่างจากหนังสือเล่มอื่น ๆ ครับ ซึ่งเนื้อหาจะประกอบด้วย 10 บทยาว ๆ เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องแบบนิยายวิทยาศาสตร์ให้เราจินตนาการไปถึงโลกของเราในอีก 20 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร โดยในส่วนนี้จะเขียนโดย Chen Qiufan และในตอนท้ายของแต่ละบทนั้น Kai-Fu Lee จะมาอธิบายในเรื่องของเทคโนโลยีที่ใช้ในแต่ละเรื่อง เช่น Deep Learning คืออะไร, Computer Vision คืออะไร VR, AR หรือ MR คืออะไรและนำไปใช้อย่างไร ตลอดจนในอนาคตเมื่อเรามี AI เต็มไปหมดแล้ว AI จะช่วยทำให้มนุษย์มีความสุขจริง ๆ ได้รึเปล่า ?
2
และสุดท้ายเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งที่ AI นั้นเข้ามาทำงานต่าง ๆ แทนมนุษย์ ประกอบกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและใช้กันอย่างแพร่หลายจนทำให้ต้นทุนของการผลิตสิ่งของต่าง ๆ ถูกลงจนทุกคนแทบจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ นั้น ทรัพยากรต่าง ๆ ก็จะมีเหลือเฟือและครอบคลุมในทุกภาคส่วนจนเข้าถึงยุคใหม่ที่เค้าเรียกว่า “age of plenitude” นั้นเป็นไปได้แค่ไหน?
3
ถึงจุดนั้นเมื่อมนุษย์เรามีทุกอย่างแล้ว เรายังจำเป็นต้องทำงานเพื่อหาเงินมั้ย? แล้วเงินจะยังมีความสำคัญกับมนุษย์อีกหรือไม่ หรือสิ่งที่สำคัญอาจจะเป็นความต้องการเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่รักของคนอื่นแทน...🤔
4
ส่วนตัวผมมองว่าสำหรับคนที่ไม่ค่อยชอบอ่านนิยายสักเท่าไหร่ ถ้าจะข้ามไปอ่านเนื้อหาในตอนท้ายของแต่ละบทที่ Kai-Fu Lee เขียนไว้ก็จะได้เนื้อหาหลักเหมือน ๆ กันครับ แต่การอ่านทั้งหมดน่าจะช่วยทำให้เราเห็นการนำไปใช้จริงในชีวิตประจำวันที่เนื้อหาส่วนนิยายนั้นเล่าเรื่องและพรรณนาไว้ได้ดีจนเห็นภาพเลยทีเดียว บางบทก็อ่านสนุกน่าติดตาม แต่บางบทแอบยาวไปหน่อยเหมือนกันครับ
ในบทแรกของหนังสือก็จะเล่าเรื่องของ deep learning ที่เป็นรากฐานสำคัญของความก้าวหน้าของ AI เป็นอย่างแรกก่อนเลยครับ ⏩⏩⏩
……………..
“Deep Learning” 🤖
🏃🏻‍♂️ ขอเล่าย้อนกลับไปถึงหนังสือ เรื่อง AI Superpowers นิดนึง โดยในหนังสือเล่มนั้นได้บอกไว้ว่าโดยพื้นฐานของระบบ AI นั้นมีอยู่ 2 แบบคือแบบ “Rule based approach” ซึ่งเป็นแบบรับคำสั่งง่าย ๆ เหมือนว่าถ้าเป็นอย่างนั้นให้ทำอย่างนี้
อีกแบบคือ “Neutral networks approach” ซึ่งจะถูกสร้างให้คล้าย ๆ กับสมองมนุษย์ โดยมีการใส่ข้อมูลเข้าไปเรื่อย ๆ ให้มันจดจำรูปแบบต่าง ๆ ที่เราใส่ไปจนกระทั่งมันเรียนรู้และสามารถให้คำตอบเราหรือตัดสินใจได้เอง ซึ่งหลักการนี้มีชื่อเรียกว่า “Deep learning” นั่นเองครับ
1
ตัวอย่างของ deep learning ก็เช่น การที่เราจะให้ AI รับรู้ว่ารูปที่เห็นคือรูปแมว เราก็ต้องใส่ข้อมูลรูปแมวจำนวนมากเข้าไปให้ AI แล้วบอกว่านี่คือแมว แล้วก็ใส่รูปที่ไม่ใช่แมวจำนวนมากเข้าไปแล้วบอกว่านี่ไม่ใช่แมว แล้ว AI มันก็จะเรียนรู้ด้วยตัวมันเองโดยการหาตัวแปรของรูปที่ใช่กับไม่ใช่แมวเอง ซึ่งเราจำเป็นต้องใส่ข้อมูลจำนวนมหาศาลเข้าไปเพื่อให้ deep learning มีประสิทธิภาพและความแม่นยำที่สูง
Deep learning นี่จริง ๆ เกิดขึ้นมานานมากแล้วนะครับ ประมาณ 50 ปีมาแล้วได้ แต่กว่าที่มันจะสามารถเอามาใช้งานได้จริง นอกจากความต้องการข้อมูลมหาศาลแล้วก็ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ “computing power” ซึ่งก็คือความสามารถในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่ต้องสูงมากเพราะต้องประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก
ซึ่งตัว computing power ก็เพิ่งมาพัฒนาแบบก้าวกระโดดในช่วงหลัง ๆ นี่เองครับ เค้าบอกว่าโทรศัพท์มือถือ smartphone ที่เราใช้กันทุกวันนี้มีความสามารถในการประมวลผลมากกว่าคอมพิวเตอร์ที่องค์การนาซาใช้ส่งนีล อาร์มสตรองไปสำรวจดวงจันทร์เมื่อปี 1969 เป็นล้าน ๆ เท่าเลยครับ !! 😱
4
💡 ในปัจจุบันเราก็เห็นการนำเอา deep learning มาใช้มากเลยทีเดียวในธุรกิจพวก Internet company อย่างพวก Facebook, Google, Amazon นอกจากนี้อีกหนึ่งธุรกิจที่ deep learning เอามามีผลอย่างมาก ก็คือพวกธุรกิจการเงิน การลงทุน ธนาคารและธุรกิจประกันภัยครับ ยกตัวอย่างเรื่องการลงทุน ตอนนี้มีการลงทุนแบบใช้ AI เข้าช่วยจัดพอร์ตแบบพวก Robo advisor เยอะมาก ๆ ครับ แล้วผลตอบแทนก็ดีด้วยซิ 📈
1
ข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ที่บริษัทเหล่านี้ได้ไปจากการที่เราเข้าไปใช้งาน application ต่าง ๆ นอกจากจะเอาไปใช้ในการนำเสนอโฆษณาที่ตรงกับสิ่งที่เราสนใจ หรือทำการตลาดต่าง ๆ แล้วก็ยังสามารถเอาไปใช้ประเมินเรื่องอื่นได้อีกมาก เช่น เรื่องของการซื้อขายประกันชีวิต ที่เมื่อบริษัทมีข้อมูลการใช้จ่ายต่าง ๆ ของเราจากมือถือแล้ว ก็จะสามารถเอาไปวิเคราะห์ความเสี่ยงของการใช้ชีวิตของเราได้ เช่น เราซื้ออาหารที่ดีรับประทานรึเปล่า เราใช้จ่ายในการสมัครเข้าฟิตเนสออกกำลังกายหรือใช้จ่ายไปกับเรื่องของบุหรี่ แอลกอฮอล์
ซึ่งเรื่องที่หนังสือเล่าไว้ในบทแรกนั้น (ส่วนนิยาย) ก็เป็นเรื่องในปี 2041 ของครอบครัวเด็กผู้หญิงคนหนึ่งในมุมไบ ประเทศอินเดีย ที่ใช้บริการประกันของบริษัทที่ใช้ AI ซึ่งดูแลครอบคลุมทุกอย่าง ทำให้ AI มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับครอบครัวและเด็กผู้หญิงแทบจะทุกสิ่ง จนสามารถให้คำแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าได้ รวมถึงการลงทุนและการใช้ชีวิตอีกด้วย
วันหนึ่งมีเหตุการณ์ที่เด็กผู้หญิงไปชอบพอกับเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งที่เป็นคนที่วรรณะต่ำกว่า ที่เค้าเรียกว่า Dalit (เท่าที่ลองค้น ๆ ดู Dalit เป็นเหมือนชนชั้นที่แยกออกมาจากวรรณะปกติและถูกมองว่าเป็นอวรรณะ) AI จึงพยายามปิดกั้นการติดต่อระหว่างสองคน เพื่อต้องการลดความเสี่ยงของการดำเนินชีวิตของเด็กผู้หญิงที่มีสิทธิทำให้ค่า premium ของประกันนั้นสูงขึ้นได้ !!
ถามว่าทำไม AI จึงทำเช่นนั้นครับ?
เพราะว่า AI ของบริษัทประกันนั้นได้ถูกตั้งโปรแกรมไว้เพื่อเป้าหมายเดียวคือ ลดค่า premium ลง ซึ่งค่า premium ตัวนี้ก็จะขึ้นอยู่กับสุขภาพ การใช้ชีวิตที่ดีมั้ย เมื่อตัว AI เจอว่าการพบและติดต่อกันของเด็กสองคนจะทำให้ชีวิตเด็กผู้หญิงคนนั้นแย่ลงและมีผลให้ premium สูงขึ้นมันเลยพยายามปิดกั้นการติดต่อกันครับ
🔴 Kai-Fu Lee ได้วิเคราะห์ข้อเสียข้อนี้ไว้ว่าจากตัวอย่างของเรื่องนี้คือการที่ AI จะถูกโปรแกรมไว้เพื่อเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์กับบริษัทเจ้าของ AI นั้น เช่น เพื่อให้ยอดคนเข้ามาใช้งานมากที่สุด มีโฆษณาเข้ามากที่สุดหรือสร้างรายได้ให้มากที่สุด โดยไม่ได้คำนึงถึงสวัสดิภาพหรือความเป็นอยู่และความสุขของมนุษย์ผู้ใช้งานเลย ซึ่งผู้เขียนบอกว่าในอนาคตคงจะต้องมีการทำโปรแกรมที่มันซับซ้อนขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่รวมถึงการมีความสุขของมนุษย์เข้าไปด้วย มากกว่าที่จะมุ่งทำเพื่อเป้าหมายด้านธุรกิจเพียงอย่างเดียว
แต่ถามว่าบริษัทต่าง ๆ จะยอมทำเพื่อลดผลกำไรของตัวเองลงรึเปล่า ก็น่าคิดนะครับ...🤔
Kai-Fu Lee ได้แนะนำไว้ว่าสุดท้ายรัฐบาลจะต้องเข้ามามีบทบาทและออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมเรื่องนี้ อีกอย่างที่อาจจะมองโลกในแง่ดีหน่อยคือการสนับสนุนให้แต่ละบริษัททำเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR และอีกทางที่เป็นไปได้คือ การที่จะต้องมี third parties มาตรวจสอบบริษัทเหลานี้ครับทั้งในเชิงของผลประกอบการ และการดำเนินการที่เหมาะสมและมีจริยธรรม
🔴 ข้อเสียที่สำคัญอีกข้อของการใช้ AI ที่เมื่อมันมีประสิทธิภาพมาก ๆ มันจะรู้จักตัวเราดีกว่าที่เรารู้จักตัวเองเสียอีก ! คือรู้หมดว่าเราชอบซื้ออะไร ชอบดูอะไร มันก็จะเสนอแต่สิ่งเหล่านั้นมาให้เรา ทำให้เราใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้เยอะเกินไป ซึ่งเค้ามองว่ามันจะเกิดผลเสียต่อมนุษย์เราได้ จนกลายเป็นว่าเรากลายเป็นเหยื่อที่ไม่รู้ตัวของการโฆษณาของพวก Internet company พวกนี้ และการที่เรามองเห็นแต่สิ่งที่เราชอบหรือเห็นด้วย ทำให้การมองโลกเราแคบลง เกิดการบิดเบือนความจริงของสังคม ระยะยาวจะส่งผลลบต่อจิตใจของคนเรา การมีความสุขและอาจรวมไปถึงสุขภาพของเราได้ด้วย
🔴 อีกหนึ่งข้อเสียหลักของการนำเอา AI มาใช้แบบครบวงจรก็คือเรื่องของการมีอคติและความเสมอภาคครับ
อย่างเช่นในตัวอย่างของเรื่องของเด็กผู้หญิงที่ได้เล่าไว้ในบทนี้ เมื่อ AI ตรวจพบเจอสถานะของเด็กผู้ชายชาวอินเดียที่มีวรรณะที่ต่ำกว่า ทำให้โดนกีดกัน และหากเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเรื่องที่คอขาดบาดตายมากกว่านี้ เช่น การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่จะไม่ให้สิทธิคนที่มีลักษณะดังนี้ เรื่องของการคัดคนเข้าทำงานที่อาจจะทำให้เกิดการอคติ หรือเรื่องของกระบวนการตัดสินทางยุติธรรม ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ๆ ซึ่งคงจะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ (Audit) ในเรื่องเหล่านี้ในอนาคต
🔴 ข้อสุดท้ายที่เป็นข้อเสียของการใช้ AI ก็คือ การอธิบายหรือให้เหตุผลว่าทำไมถึงตัดสินใจเช่นนั้น ซึ่ง AI นั้นตัดสินใจด้วยข้อมูลจำนวนมากในตัวมันและความซับซ้อนของสมการและตัวแปรที่ระบบนั้นสร้างขึ้นมา ทำให้ยากที่จะอธิบายให้มนุษย์ปกติเข้าใจได้ (ลองนึกภาพ AI อธิบายการตัดสินใจให้เราฟังด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ยาว ๆ ที่มีตัวแปรเป็นร้อย ๆ หรือพัน ๆ ตัว)
1
แต่หากเราใช้มนุษย์ตัดสินใจเรายังสามารถอธิบายได้ว่าเราตัดสินใจแบบนี้ด้วยเหตุผลอะไร ตามหลักการอะไร ฉะนั้นเค้าจึงบอกว่ายังจำเป็นต้องมีการศึกษาอีกมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าจะทำยังไงให้ AI ตัดสินใจได้โปร่งใสมากขึ้น สามารถตีความการตัดสินใจออกมาให้มนุษย์เข้าใจได้
1
📍 สุดท้ายแล้วในบทแรกนี้ Kai-Fu Lee ได้สรุปไว้ว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทุกอย่างก็มีข้อเสียทั้งนั้น แต่ถ้าเรามองจากในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเวลาผ่านไปและเราใช้สิ่งเหล่านั้นไปเรื่อย ๆ มนุษย์เราก็เรียนรู้ และปรับปรุงพัฒนาจนมันดีขึ้นเรื่อย ๆ ไปเองครับ
1
……………..
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับแค่บทแรกของหนังสือ AI 2041 ที่อ่านแล้วน่าตื่นตาตื่นใจทีเดียวครับ สำหรับใครที่ชอบเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของอนาคตหรือชอบดูหนังแนว sci-fi น่าจะชอบนะครับ 😁
⏭ สำหรับตอนต่อไปผมจะมาเล่าบทต่อไปให้ฟังในเรื่องของ "Computer Vision" ว่าเมื่อคอมพิวเตอร์หรือ AI สามารถมองเห็นภาพได้เหมือนมนุษย์แล้ว เราจะเอามาใช้มันทำอะไรได้บ้างครับ...To be Continued…
#AI2041 #BookReview #รีวิวหนังสือ #สิงห์นักอ่าน
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกหนึ่งช่องทางใน facebook : สิงห์นักอ่าน
โฆษณา