1 พ.ย. 2021 เวลา 00:30 • การศึกษา
[ตอนที่ 46] แนะนำ Duolingo โปรแกรมฝึกภาษาต่างประเทศฟรียอดนิยม
สำหรับเนื้อหาตอนที่ 1 ของซีรีส์ "แนะนำโปรแกรม/เว็บไซต์เรียนภาษาต่างประเทศ" จะเริ่มที่โปรแกรม Duolingo กับเจ้ามาสคอตนกฮูกเขียวครับ
หลายคนอาจจะเคยใช้โปรแกรมฝึกภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน หรือแบบเว็บไซต์ ซึ่งผมคิดว่าแนะนำโปรแกรม Duolingo ที่สำคัญคือโปรแกรมนี้ “ฟรี” ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และโปรแกรมนี้เป็นแอปพลิเคชันฝึกภาษาต่างประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกในปัจจุบันครับ
และเนื่องในโอกาสที่เจ้าของบล็อก "ปั่นนกเขียว" (คำพูดที่ส่วนตัวผมชอบใช้เวลาพูดถึงการฝึกภาษาในโปรแกรมนี้) ต่อเนื่องทุกวันครบ 1,000 วัน เลยมาเขียน Review ถึงครับ
ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น...เชิญอ่านกันได้เลยครับ
Logo และมาสคอตของโปรแกรม Duolingo
คลิปวีดีโอแนะนำโปรแกรม Duolingo [Credit : Duolingo]
**หมายเหตุ**
1) บทความนี้เป็น Customer Review (CR) ที่เจ้าของบล็อกไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว หรือได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากทางบริษัทเจ้าของโปรแกรม แต่เขียนในฐานะผู้ใช้งานโปรแกรม
2) ภาพประกอบที่ผู้เขียน Caption จากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน Duolingo เป็นภาพตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 (ปีที่เจ้าของบล็อกเริ่มใช้ Duolingo) จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ฟังก์ชันบางอย่างที่ปรากฏในภาพประกอบอาจไม่มีแล้วหรือเป็นส่วนที่อัปเดตใหม่
โปรแกรม Duolingo “ดิวโอลิงโก/ดูโอลิงโก” เริ่มเปิดใช้งานในปี ค.ศ.2012 เป็นโปรแกรมที่มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ใช้ฝึกภาษาต่างประเทศฟรี อย่างการเรียงคำในประโยค การแปลประโยคระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษาที่ 3 หรือการตอบคำถามระหว่างดำเนินเรื่องราวสถานการณ์ต่าง ๆ โดยมีรูปแบบของเกม อย่าง League ที่ให้เปรียบเทียบว่าเราจะเอาชนะผู้ใช้โปรแกรมคนอื่นบางส่วนจากทั่วโลกได้ไหม (ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้ใช้งานโปรแกรมนี้มากกว่า 500 ล้านคน) หรือนำเพชรที่ได้ระหว่างฝึกภาษามาแลกไอเทมได้
เว็บไซต์ Duolingo : https://www.duolingo.com
จุดเด่นอีกอย่างของโปรแกรมนี้คือ "การเน้นให้ฝึกภาษาต่อเนื่องทุกวัน" จึงส่งข้อความเตือนให้ผู้ใช้งานฝึกภาษาในโปรแกรมทุกวันตามไปด้วย และตรงนี้กลายเป็นมีมที่มาสคอตนกฮูกเขียว "ตามทวงทุกวัน" ในกลุ่มผู้เรียนภาษาต่างประเทศที่ใช้ Duolingo ที่แม้แต่บริษัทเจ้าของยังเคยเอามาเป็นมีมล้อตัวเอง อย่างใน April Fools' Day เมื่อปี ค.ศ.2019 (คลิปวีดีโอ : https://www.youtube.com/watch?v=8wc83qX6oNM)
ภาษาต่างประเทศที่เปิดให้ฝึกสำหรับผู้ใช้ภาษาอังกฤษ (เมื่อตั้งค่าว่าเป็นผู้ใช้ภาษาอังกฤษในโปรแกรม) จะมีทั้งหมด 37 ภาษา (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม ค.ศ.2021) ได้แก่...
หน้าจอเว็บไซต์ Duolingo เมื่อปี ค.ศ.2016 ที่ Duolingo เคยใช้ Landmark แต่ละประเทศสื่อถึงแต่ละภาษา
หน้าจอเว็บไซต์ Duolingo เมื่อปี ค.ศ.2021 แสดงคอร์สภาษาต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ไล่ตามลำดับความนิยมจากจำนวนผู้เรียน ตั้งแต่ภาษาสเปน (26.9 ล้านคน) ภาษาฝรั่งเศส (16.8 ล้านคน) ภาษาญี่ปุ่น (11.3 ล้านคน) ภาษาเยอรมัน (9.13 ล้านคน) หรือภาษาเกาหลี (7.92 ล้านคน)
1. ภาษาตะวันออก (9 ภาษา)
- เอเชียตะวันออก : ญี่ปุ่น เกาหลี จีนกลาง
- เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : เวียดนาม อินโดนีเซีย
- เอเชียใต้ : ฮินดี
- เอเชียตะวันตก : อาหรับ ตุรกี ฮีบรู
2. ภาษาตะวันตก (22 ภาษา)
- กลุ่มภาษาโรมานซ์ : สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี โปรตุเกส(ฝั่งบราซิล) ละติน โรมาเนีย
- กลุ่มภาษาเยอรมานิก : เยอรมัน ดัตช์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ยิดดิช
- กลุ่มภาษาสลาวิก : รัสเซีย โปแลนด์ เช็กเกีย ยูเครน
- กลุ่มภาษาเคลต์ : ไอร์แลนด์ เวลส์ แกลิกฝั่งสกอตแลนด์
- กลุ่มภาษาเฮลเลนิก : กรีก
- กลุ่มภาษาฟินโน-อูกริก : ฟินแลนด์ ฮังการี
3. ภาษาในภูมิภาคอื่น (3 ภาษา)
- ทวีปแอฟริกา ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ในทวีปอเมริกา และมหาสมุทรแปซิฟิก : สวาฮีลี นาวาโฮ ฮาวาย
4. ภาษาประดิษฐ์ (3 ภาษา)
- ภาษาเอสเปรันโต
- ภาษาเฉพาะในภาพยนตร์และนิยาย : วาลิเรียน (จากภาพยนตร์ Game of Thrones) คลิงงอน (จากภาพยนตร์ Star Trek)
หากตั้งค่าว่าเป็นผู้ใช้งานโปรแกรมด้วยภาษาไทย จะมีเพียงคอร์สภาษาอังกฤษสำหรับผู้ใช้ภาษาไทยเท่านั้น และคอร์สบางภาษาก็มีเฉพาะผู้ใช้เฉพาะภาษา เช่น คอร์สภาษากาตาลา (ภาษาที่ใช้ในบริเวณแคว้นกาตาลุญญาและบาเลนเซีย ทางตะวันออกของสเปน) จะมีเฉพาะผู้ใช้งาน Duolingo ในภาษาสเปนเท่านั้น
ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าว่าเป็นผู้ใช้ภาษาอื่น ๆ ได้ (I speak...) แต่ส่วนตัวผมแนะนำว่าถ้าอยากเรียนภาษาที่ 3 เรียนผ่านภาษาอังกฤษจะดีกว่า เพราะคอร์สที่เรียนผ่านภาษาไทยบน Duolingo มีคอร์สภาษาอังกฤษเพียงคอร์สเดียว
คอร์สภาษาแต่ละภาษาใน Duolingo จะมาจากการจัดทำทั้งการวางแผนลำดับเนื้อหา การอัดเสียงพูด หรือการแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยกลุ่มอาสาสมัครแต่ละภาษา อย่างคอร์สภาษาอังกฤษสำหรับคนไทยบน Duolingo ก็มาจากกลุ่มอาสาสมัครคนไทย
หน้าคอร์สเรียนภาษาสวีเดนบน Duolingo มีการแนะนำภาษา จำนวนผู้เรียนในปัจจุบัน และอาสาสมัครที่ร่วมจัดทำคอร์ส
ส่วนตัวผมเคยกรอกแบบฟอร์มสมัครเป็นอาสาสมัครร่วมทำคอร์สเรียนภาษาไทยสำหรับคนต่างชาติ (ผ่านภาษาอังกฤษ) ใน Duolingo ไป 2 ครั้งเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็ได้ “ความเงียบ” กลับมา
อีกทั้งการทำคอร์สภาษาบน Duolingo ต้องการทีมอาสาสมัครมามีส่วนร่วมด้วย เพราะต้องมีขั้นตอนหลายอย่างเช่น การอัดเสียงพูด การแปลภาษาอังกฤษ มันเกินศักยภาพที่จะทำได้ด้วยตัวคนเดียว ถ้าหาก Duolingo มีนโยบายจะเพิ่มคอร์สภาษาไทย และมีกลุ่มอาสาสมัครคนไทยมากพอ ผมก็สนใจจะกลับมาร่วมพัฒนาคอร์สภาษาไทยสำหรับคนต่างชาติบน Duolingo ครับ
เนื่องจากความแตกต่างระหว่างลักษณะของภาษา กลุ่มอาสาสมัครจัดทำคอร์ส และจำนวนผู้เรียนแต่ละภาษา คอร์สภาษาบน Duolingo จึงมีลักษณะแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น...
- ส่วนที่ฝึกแปลประโยคระหว่างภาษาที่ 3 กับภาษาอังกฤษในคอร์ส ส่วนใหญ่จะเป็นการคลิกกดกล่องคำไปเรียงเป็นประโยค และมีการพิมพ์ประโยคแปลเป็นบางส่วน ขณะที่บางคอร์ส (อย่างคอร์สภาษาฟินแลนด์) จะมีแต่การพิมพ์ประโยคแปลเท่านั้น ซึ่งต้องระวังเรื่องการพิมพ์ผิดมากกว่าเดิม สำหรับผมที่ใช้ Duolingo ฝึกหลายภาษา จึงรู้สึกว่าเหนื่อยกว่าการใช้ Duolingo วันอื่น ๆ ถ้าหากวันนั้นถึงคิวที่ผมต้องเจอคอร์สภาษาฟินแลนด์ในโปรแกรม
- ไวยากรณ์และโครงสร้างประโยคของภาษาส่วนหนึ่งที่ซับซ้อนกว่าภาษาอังกฤษ เช่น คอร์สภาษาดัตช์ ที่ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นอีกคอร์สที่รู้สึกเหนื่อยกว่าคอร์สภาษาอื่น ๆ ในช่วงกลางกับท้ายผังทักษะ (Skill tree) ของคอร์ส
ช่วงท้ายผังทักษะ (Skill tree) ของคอร์สเรียนภาษาญี่ปุ่นบนเว็บไซต์ Duolingo เมื่อปี ค.ศ.2018 ซึ่งหากผู้ใช้โปรแกรมสามารถจบ Skill tree ได้แล้ว จะมีสัญลักษณ์ถ้วยรางวัลรูปมาสคอตนกฮูกของ Duolingo โผล่มาด้านล่างปิดท้าย
- คอร์สภาษาที่มีผู้เรียนค่อนข้างมาก เช่น ภาษาญี่ปุ่น สเปน ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และโปรตุเกส จะมีส่วน “Stories” ที่ดำเนินเรื่องราวสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วให้แปลภาษาหรือตอบคำถามระหว่างการดำเนินเรื่อง
- กรณีภาษาที่มีระบบการเขียนที่ไม่ใช่อักษรโรมัน (อักษรแบบที่ภาษาอังกฤษใช้) ที่อักษรแต่ละตัวมีเสียงเฉพาะของอักษรตัวนั้น หรือใช้ประสมพยัญชนะต้น-สระ-ตัวสะกด คอร์สภาษานั้นจะมีส่วนที่ให้ผู้ใช้งานฝึกจำตัวอักษร เช่น อักษรฮิรางานะ-คาตากานะในภาษาญี่ปุ่น อักษรฮันกึลในภาษาเกาหลี อักษรซีริลลิกในภาษารัสเซีย และอักษรกรีกในภาษากรีก
ส่วนฝึกอักษรฮิรางานะ-คาตากานะของคอร์สภาษาญี่ปุ่นในโปรแกรม Duolingo แบบแอปพลิเคชัน ซึ่งให้เราใช้นิ้วลากไปบนหน้าจอเพื่อฝึกเขียนตัวอักษรไปด้วย
- สำหรับอักษรจีน (รวมถึงอักษรคันจิในภาษาญี่ปุ่น) เจ้าของบล็อกแนะนำให้ใช้หนังสือเรียนอักษรจีนหรืออักษรคันจิควบคู่ไปด้วย เพราะอักษรเหล่านี้ 1 ตัวสามารถมีความหมายมากกว่า 1 อย่าง และในหนังสือเหล่านี้มักบอกลำดับการขีดเส้นก่อนหลังด้วย
เนื้อหาใน Review ส่วนที่เป็นตัวหนังสือมีมากแล้ว มาดูรายละเอียดต่าง ๆ ในโปรแกรม Duolingo (ทั้งแบบแอปลิเคชันกับเว็บไซต์) ที่เจ้าของบล็อกเคยผ่านตากันครับ
หน้าจอแสดงคะแนน (XP) ที่ได้จากการฝึกภาษาต่าง ๆ ในโปรแกรม Duolingo แบบแอปพลิเคชัน ระหว่างปี ค.ศ.2018 (ภาพซ้าย) และ ค.ศ.2021 (ภาพขวา)
เนื้อหาเกี่ยวกับภาษาเวียดนาม ในบทเรียนคำบุรุษสรรพนามต่าง ๆ ในคอร์สภาษาเวียดนามบนโปรแกรม Duolingo
ประโยคที่เป็นโจทย์ให้ฝึกแปลภาษาในคอร์ส เนื้อหาจะค่อนข้างปกติ แต่ก็มีบางโจทย์ที่ให้ประโยคป่วน ๆ แนวความรักน้ำเน่าเข้ามาบ้าง  เช่น "เพื่อนที่ดีที่สุดของฉันแย่งแฟนฉันไป" (ภาษาสวีเดน) "ไฟในใจฉันร้อนรุ่มกว่าไฟในเตา" (ภาษาอินโดนีเซีย) หรือ "เธอยอมรับความรักอันลึกซึ้งของคุณ แต่เธอต้องการเป็นเพื่อนกับคุณเท่านั้น" (ภาษาเวียดนาม)
ตัวอย่างโจทย์ฝึกแปลประโยคแปลก ๆ เช่น "คุณคือม้าของฉัน" (ภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล) หรือ "แมวตัวนี้เป็นเจ้านายของฉัน ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงของฉัน" (ภาษาเยอรมัน)
อีกตัวอย่างโจทย์ฝึกแปลประโยคแปลก ๆ เช่น "คีย์บอร์ดทรงพลังกว่าดาบไลท์เซเบอร์" (ภาษานอร์เวย์) หรือ "ร่างกายของฉันมีน้ำอยู่เยอะ คุณอยากดื่มไหม?" (ภาษาเวียดนาม)
ควิซแบบมีบทสนทนาที่โผล่มาคั่นระหว่าง Skill Tree ในคอร์สภาษาสเปน (ภาพซ้าย) และโจทย์ให้ฝึกพูดประโยคภาษาฝรั่งเศส โดยสีแดงคือส่วนที่ออกเสียงผิด ส่วนสีเขียวคือส่วนที่ออกเสียงถูก (ภาพขวา)
ส่วน “Stories” ที่ดำเนินเรื่องราวสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วให้แปลภาษาหรือตอบคำถามระหว่างการดำเนินเรื่อง ภาพนี้จากส่วน Stories ของคอร์สภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล เมื่อต้นปี ค.ศ.2020
บทสนทนาในส่วน “Stories” แสดงว่า Daniel มีนัดเดตกับ Gabriela แต่ Daniel มาถึงที่นัดหมายพบกับ Jùlia แล้วเข้าใจผิดว่าเธอเป็น Gabriela สองคนนี้คุยกันไปมาก็ถูกคอกัน พอ Gabriela ตัวจริงมาถึง Daniel เลยทำตัวว่าตนไม่ใช่ Daniel เพราะชอบ Jùlia มากกว่า ภาพนี้จากส่วน Stories ของคอร์สภาษาโปรตุเกสฝั่งบราซิล เมื่อต้นปี ค.ศ.2020
รายชื่อคอร์สภาษาต่างประเทศที่มีส่วน Stories ในโปรแกรม Duolingo
ส่วน “Stories” ที่ดำเนินเรื่องราวสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วให้แปลภาษาหรือตอบคำถามระหว่างการดำเนินเรื่อง ในปัจจุบัน (ค.ศ.2021) ที่ทางโปรแกรมปรับให้มีเนื้อเรื่องที่มีตัวละครชุดเดียวกัน ทำนองเดียวกับแก้ว-กล้า มานี-มานะ-ปิติ-ชูใจในแบบเรียนภาษาไทยสำหรับนักเรียนสมัยก่อน
ตอน "The passport" ในส่วน Stories ของคอร์สภาษาญี่ปุ่น ที่มีบทสนทนาพร้อมเสียงพูด แล้วให้เลือกคำไปใส่ลงในประโยค
บทสนทนาในตอน "The passport" ในส่วน Stories ของคอร์สภาษาญี่ปุ่น จะเห็นว่าสามารถคลิกที่คำเพื่อดูเสียงอ่านกับความหมายของคำได้ แต่ส่วน Stories ของคอร์สภาษาญี่ปุ่นจะไม่ค่อยมีอักษรคันจิ
แบบฝึกจับคู่คำกับความหมาย ในตอน "The passport" ในส่วน Stories ของคอร์สภาษาญี่ปุ่น
ช่วงเดือนธันวาคม โปรแกรม Duolingo จะส่งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โปรแกรมในรอบปี อย่างจำนวนนาทีที่ใช้โปรแกรม จำนวนคำศัพท์ที่เรียนหรือผ่านตา คะแนนที่ได้ และคะแนนที่ได้ในรอบปีถือเป็นประชากรผู้ใช้โปรแกรมกลุ่มไหน (อย่างกรณีผมในภาพนี้ จะเป็นผู้ใช้ Duolingo ในกลุ่ม 1% บนสุดของพีระมิดประชากรที่ทำคะแนนในรอบปีมากที่สุด)
ตอนผม"ปั่นนกเขียว" (ใช้ Duolingo) ต่อเนื่องครบ 1,000 วัน ทางโปรแกรมได้แจ้งเตือนมาด้วย ส่วนในหน้าข้อมูลผู้ใช้ในแอปพลิเคชัน แสดงภาษาที่ลงเรียน (อย่างของผม ภาษาที่มีคะแนนมากสุด 4 อันดับแรกคือ ภาษาญี่ปุ่น สวีเดน เกาหลี และเวียดนาม) คะแนนที่ทำได้ในรอบสัปดาห์ จำนวนวันที่ใช้โปรแกรมต่อเนื่อง (Day Streak) คะแนนทั้งหมด และจำนวนคำที่ผ่านมาแล้ว
[สรุป]
1) โปรแกรม Duolingo ถือว่าเป็นโปรแกรมฟรีที่เหมาะสมต่อการเรียนภาษาที่ 3 หลายภาษา (หากเรียนผ่านภาษาอังกฤษ)
2) เนื้อหาในคอร์สเรียนค่อนข้างครบ 4 ทักษะ ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ("เขียน" ในที่นี้คือการเรียงลำดับคำหรือพิมพ์ประโยค)
3) เรื่องตัวอักษรที่ไม่ใช่อักษรโรมัน (แบบอักษรที่ใช้ในภาษาอังกฤษ) จะมีส่วนฝึกเขียนและจำอักษรแต่ละตัว ยกเว้นอักษรจีน (รวมถึงอักษรคันจิในภาษาญี่ปุ่น)
4) ความคิดเห็นของผมจากประสบการณ์การใช้ Duolingo ฝึกหลายภาษา
- ต้องใช้ตำราและสื่อเรียนภาษาอย่างอื่น หรือการลงเรียนคอร์สภาษาต่างประเทศอย่างจริงจังควบคู่ไปด้วย เพราะมีส่วนที่ไม่ได้เน้นมากในคอร์สของ Duolingo เช่น ไวยากรณ์ หรือวัฒนธรรมที่แฝงมากับภาษา
- รู้สึกว่าได้เห็นพวกคำศัพท์ภาษาต่าง ๆ ผ่านตาหรือทำความคุ้นเคยคำศัพท์ (เช่น เห็นคำแล้วพอรู้ว่าเป็นภาษาอะไร) มากกว่าที่จะได้พัฒนาทักษะการสื่อสารภาษา
- Duolingo ดูเป็นเกมที่เหมาะกับคนอยากเริ่มเรียนภาษา ทำความรู้จักว่าภาษานั้นเป็นอย่างไร และคนที่อยากทบทวนความรู้จากที่เคยเรียนในคอร์สภาษานั้นมาก่อนหน้านี้
เมื่ออ่านจนถึงตรงนี้แล้ว หวังว่า Duolingo อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้อ่านที่ต้องการฝึกหรือทำความคุ้นเคยกับภาษาที่ 3 ครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
โฆษณา