2 พ.ย. 2021 เวลา 01:30 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ของผู้หญิงที่กว่าจะได้เลือกตั้ง ต้องสู้ข้ามศตวรรษ!
ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นระบอบที่ "เลวน้อยที่สุด" ในระบอบการปกครองทั้งหลาย ถือกำเนิดและมีพัฒนาการบนโลกนี้มาเป็นหลักพันปี ตั้งแต่ยุคนครรัฐกรีก มีการต่อสู้ของคนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะได้สิทธิ์ในการเลือกตั้งกำหนดโชคชะตาของตัวเองมาตลอด
แต่เชื่อไหมว่า ในบรรดามนุษย์ทั้งหลายบนโลกนี้ มนุษย์ผู้หญิงคือกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้ง เรื่องที่จะเล่านี้เป็นความรู้เบื้องต้นมาก ๆ แต่จะให้เล่าถึงการเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงในทุกประเทศทั่วโลกก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เราจึงจะเน้นหนักไปที่ประวัติศาสตร์ของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุด
ในโลกทุนนิยมที่เราอยู่กันนี้ ไม่น่าเชื่อว่าในยุโรปและสหรัฐอเมริกาผู้หญิงผิวขาวที่มีฐานะดี และเรียกว่ารวยนั้น จะได้รับสิทธิทางการเมืองน้อยกว่าและช้ากว่าผู้ชายผิวดำที่เคยเป็นทาสมาก่อนเสียอีก และสิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิงมีการต่อสู้มาอย่างยาวนานและเพิ่งจะเริ่มทำสำเร็จในช่วงทศวรรษที่ 1920 เท่านั้นเอง
ที่ว่าสำเร็จนี่ ก็คือ สำหรับผู้หญิงผิวขาวอันนี้ต้องดอกจันไว้ก่อน ซึ่งเมื่อปี 2020 ก็เพิ่งจะครบ 100 ปี ที่ผู้หญิงได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา ส่วนผู้หญิงอังกฤษนั้นได้รับสิทธิในการเลือกตั้งในปี 1918 ก็คือเพียง 2 ปี ก่อนสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคม ส่วนฝรั่งเศสยิ่งแล้วใหญ่ กว่าผู้หญิงจะมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม ก็หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นู่นเลย
แต่ประเทศแรก ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ก็เป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษในอีกซีกโลก ก็คือนิวซีแลนด์ที่ผ่านร่างกฎหมายให้ผู้หญิง มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี ค.ศ.1893 ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ไม่ใช่ว่าจะได้มาง่าย ๆ เลย สำหรับผู้หญิง ไม่น่าเชื่อเลยว่า สิ่งที่รู้สึกเหมือนเป็นอะไรที่แสนธรรมดา เป็นเรื่องสามัญของโลก เรื่องง่ายๆ อย่างการมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมืองอย่างเท่าเทียมนี้ เป็นเป้าหมายที่ต้องผ่านการต่อสู้ อันแลกมาด้วยความเจ็บปวด ทั้งร่างกายและจิตใจ การถูกซ้อมทรมานและการถูกสังคมประณาม การเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์และในบางกรณีต้องเอาชีวิตเข้าแลกด้วย การต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการเลือกตั้งของผู้หญิง
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ขอเริ่มเล่าจากคุณ Lydia Becker และคุณ Elizabeth Cady Stanton ผู้หญิงสองคนนี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้หญิงสองคนแรก ที่เริ่มต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในการเลือกตั้งในประเทศของตัวเอง ลิเดีย เบคเกอร์ เป็นชาวเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1827 - 1890 ส่วนคุณ เอลิซาเบธ เคดี้ สแตนตัน เป็นชาวนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1815 - 1902 โดยผู้หญิงอังกฤษได้รับสิทธิ์เลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 1918 หรือ 28 ปี หลังจากที่ ลิเดีย เบคเกอร์ เสียชีวิต
ถ้าเรานับว่า ลิเดียเป็นคนแรกที่เริ่มเรียกร้องสิทธิ์นี้ ในปี 1866 ก็หมายความว่า อังกฤษต้องให้ผู้หญิงต่อสู้ในเรื่องนี้ ยาวนานถึง 52 ปี และสิทธิ์ที่ว่านี่ก็คือ ให้ผู้หญิงวัย 30 และกว่าที่ผู้หญิงจะได้สิทธิ์เลือกตั้งในวัย 21 ปี เท่ากับผู้ชาย ก็ปาเข้าไปในปี 1928 ซึ่งก็คือ 62 ปีที่ต้องต่อสู้ ส่วนในสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงได้สิทธิ์เลือกตั้งในปี 1920 แต่การรณรงค์ของ เอลิซาเบธ สแตนตัน และ ซูซาน บี แอนโธนี่ เริ่มในปี 1842 ก็เท่ากับว่า ผู้หญิงอเมริกันต่อสู้เพื่อให้ได้มา ซึ่งสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ยาวนานถึง 78 ปี
สำหรับเอลิซาเบธ สแตนตัน, ลิเดีย เบคเกอร์, ซูซาน บี แอนโธนี่ และ ผู้หญิงหลาย ๆ คนในขบวนการนี้ การเป็นผู้มาก่อนกาลมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ และสำหรับพวกเธอมันมาในรูปแบบของการอยู่ไม่ทันได้เห็น เป้าหมายที่ตัวเองต่อสู้นั้นบรรลุผล เรามาย้อนเวลากัน
สถานะของผู้หญิงอังกฤษและอเมริกันในศตวรรษที่ 1900 ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก การเรียกร้องสิทธิ์ในการเลือกตั้งของผู้หญิงนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต่อต้านอย่างหนัก ทั้งนี้ก็เพราะผู้หญิงในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 19 จะเรียกว่าถูกจัดอยู่ในจำพวกเดียวกันกับเด็กก็ว่าได้ ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่เลย คือไม่สามารถถือครองทรัพย์สินได้ ทรัพย์สินและสิทธิ์ต่าง ๆ เป็นสิทธิ์ขาดของสามี ผู้หญิงไม่สามารถทำสัญญาทางกฎหมายได้ อำนาจตัดสินใจทางกฎหมายทั้งหมดเป็นสิทธิ์ของสามี
สังคมโดยทั่วไปยอมรับว่า ผู้หญิงมีสติปัญญาต่ำกว่าผู้ชาย ไม่สามารถใช้เหตุผลได้ คือใช้เป็นแต่อารมณ์นั่นแหละ หน้าที่และพื้นที่ของผู้หญิงโดยเฉพาะถ้าเป็นผู้หญิงชนชั้นกลางถึงชั้นสูง จะถูกจำกัดอยู่แค่ในบ้านและเป็นส่วนต่อขยายของสามีเท่านั้น ส่วนผู้หญิงชนชั้นแรงงาน แม้จะไม่ถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่แต่ในบ้าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีชะตากรรมดีกว่าผู้หญิงชั้นสูง เพราะยากจนจึงจำเป็นต้องทำงานนอกบ้าน แต่ก็จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชายและถูกเอารัดเอาเปรียบมากกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่แน่นอน การต่อสู้เพื่อสิทธิ์และความเท่าเทียมนี้ เริ่มจากผู้หญิงชนชั้นกลางที่มีฐานะค่อนข้างดีก่อน เพราะอย่างน้อยเธอเหล่านั้นก็ไม่ต้องปากกัดตีนถีบ คิดแต่เรื่องหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวแบบผู้หญิงในชนชั้นแรงงาน การต่อสู้จึงเริ่มต้นจากการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ที่จะถือครองทรัพย์สิน สิทธิ์ที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย สิทธิ์ที่จะประกอบอาชีพต่าง ๆ และแน่นอนสิทธิ์ในการเลือกตั้ง ซึ่งศตวรรษที่ 19 ก็คือช่วงเวลาที่การต่อสู้เหล่านี้เป็นไปอย่างเข้มข้น
ในสมัยของลิเดีย เบคเกอร์ และ เอลิซาเบธ สแตนตันนั้น สังคมเกือบทั้งหมด ถ้าไม่ต่อต้านการให้สิทธิ์ผู้หญิงอย่างหัวเด็ดตีนขาด ก็ไม่เห็นว่าผู้หญิงจำเป็นจะต้องมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง ผู้หญิงจะอยากเลือกตั้งไปทำไม บัตรเลือกตั้งไม่ได้ทำให้บ้านสะอาดขึ้นมีโปสเตอร์ในอเมริกาที่เขียนแบบนั้นจริง ๆ
ผู้หญิงมีหน้าที่อยู่ในบ้าน บทบาทของผู้หญิงที่ถูกต้องก็คือเป็นนางฟ้าในครอบครัวเป็นแม่และเมียที่แสนดี เป็นผู้มีศีลธรรมสูงกว่าผู้ชายทั้งหลาย และด้วยความดีของผู้หญิงนี้เอง จะทำให้ผู้ชายเต็มใจจะรักและมอบสิ่งที่ดีที่สุดที่เธอต้องการ พูดง่าย ๆ ก็คือ อำนาจของผู้หญิง มีบ่อเกิดมาจากความดี ความประเสริฐ ต้องได้รับการปกป้องและทะนุถนอมจากผู้ชาย ผู้หญิงต้องไม่เรียกร้อง เพราะอำนาจของผู้หญิงมาจากความประเสริฐจนผู้ชายยอมทุกอย่าง การเรียกร้องสิทธิ์หรือความเท่าเทียมจะทำให้ความเป็นผู้หญิงลดลง เธอจะกลายเป็นผู้หญิงที่ไม่มีค่า ไม่มีราคา ไม่มีเสน่ห์ ไม่ควรได้รับการให้เกียรติจากผู้ชายและสังคมโดยรวม นี่แหละ! คือความเชื่อที่ฝังอยู่ในลมหายใจและดีเอ็นเอของสังคมตะวันตกในศตวรรษที่ 19 ซึ่งดูเหมือนชีวิตนางเอกละครทีวีตอนเย็นอยู่เหมือนกัน
ลิเดีย เบคเกอร์ เป็นผู้หญิงคนแรก ที่เริ่มออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง โดยได้ออกเดินทางปาฐกถาไปทั่วอังกฤษเพื่อรณรงค์ให้เด็กผู้หญิงได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับเด็กผู้ชาย
ซูซาน บี แอนโธนี สาวอเมริกัน ตอนเริ่มต้นเธอเป็นนักกิจกรรมต่อต้านการมีทาสในสหรัฐอเมริกา เธอมีอาชีพเป็นครู วันหนึ่งเธอได้รู้ความจริงว่าครูผู้หญิงได้รับเงินเดือนน้อยกว่าครูผู้ชายถึง 4 เท่าหลังจากนั้นเธอก็เลยกลายเป็นนักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีไปอีก และการที่ผู้หญิงจะได้กำหนดโชคชะตาและการยืนได้ด้วยตัวเองในสังคมนั้น หนทางเดียวก็คือผู้หญิงจะต้องมีสิทธิ์ในการเลือกตัวแทนเข้าไปออกและบังคับใช้กฎหมายที่จะให้สิ่งเหล่านี้กับพวกเธอ
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ลิเดีย เบคเกอร์ ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ พยายามโน้มน้าวให้สังคมเห็นว่า ผู้หญิงไม่ได้มีสติปัญญาด้อยไปกว่าผู้ชาย ผู้หญิงสามารถเรียนและประสบความสำเร็จในวิชาวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งการได้โอกาสในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ จะสามารถต่อยอดให้ผู้หญิงได้เข้าสู่วิชาชีพต่าง ๆ ได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และสารพัดนักต่าง ๆ ที่มีแต่ผู้ชายเป็นอยู่ในขณะนั้น
ความคิดแนวนี้ ค่อนข้างเป็นที่รังเกียจของคนเป็นจำนวนมาก เพราะในสมัยนั้นความเชื่อก็คือผู้หญิงมีสมองที่เล็กกว่าผู้ชาย การเรียนหนังสือมากเกินความจำเป็น จะทำให้ผู้หญิงป่วย เวลาหนังสือพิมพ์ไปถามความเห็นจากแพทย์ หรือ นักวิทยาศาสตร์ หรือ นักวิชาการ ที่เป็นที่ยอมรับของสังคม คนพวกนี้ก็เป็นผู้ชายทั้งนั้น และต่างก็ให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน คือ คอนเฟิร์มความเชื่อของสังคมที่ว่า ผู้หญิงสมองเล็กกว่าผู้ชาย ไม่ควรเรียนหนังสือมาก มันไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ควรทำงาน คือหมายความว่าเรื่องการเรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรมก็ไม่ควรเกิดขึ้นอยู่แล้ว ผู้หญิงควรธำรงบทบาทความเป็นแม่ เป็นเมีย เพียงเท่านั้น เนื่องจากเป็นกฎของธรรมชาติและการสืบทอดเผ่าพันธุ์มนุษย์ ประมาณว่า เรียนหนังสือเยอะจะป่วยตายกันหมด เดี๋ยวมนุษยชาติจะสูญพันธุ์
นอกจากนี้ สื่อยังโจมตีผู้หญิงกลุ่มนี้อย่างหนัก ทั้งเขียนบทบรรณาธิการที่ดูถูกดูแคลน เขียนการ์ตูนล้อเลียน และบางทีก็เป็น Hate Speech กันไปเลย หลัก ๆ ก็จะวนเวียนอยู่กับข้อถกเถียงที่ยกมาย้ำซ้ำ ๆ ไม่กี่เรื่อง ซึ่งก็คือ การโฆษณาชวนเชื่อว่าถ้าผู้หญิงได้สิทธิ์ต่าง ๆ ผู้ชายจะต้องเสียสิทธิ์ของตัวเอง มีการชวนเชื่อว่าผู้หญิงที่ต้องการสิทธิ์ในการเลือกตั้งนั้น แท้จริงแล้วลึก ๆ คืออยากเป็นผู้ชาย อีกหลายแนวทางการชวนเชื่อ ก็บอกว่าผู้หญิงที่อยากได้สิทธิ์เลือกตั้งนั้น มีแต่ผู้หญิงแร้งทึ้ง ขึ้นคาน หาสามีไม่ได้ และต้องการสิทธิ์เลือกตั้ง เพื่อจะได้โหวตบังคับให้ผู้ชายมาแต่งงานด้วย
งานโฆษณาบางชิ้นถึงกับบอกตรง ๆ ว่า อย่าแต่งงานกับผู้หญิงที่อยากเลือกตั้งเป็นอันขาด เพราะเธอจะเป็นภรรยาที่ข่มเหงสามี ละทิ้งงานบ้าน ไม่เลี้ยงลูก เอาแต่จะออกไปประท้วงอย่างเดียว การพยายามฉายภาพเช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่มีเหตุมีผลเอาซะเลย แต่จะบอกให้ว่าเหตุผลที่แท้จริงมีอยู่ แต่ไม่ได้ถูกเอามาพูด เพราะมันจริงและมันทุเรศเกินไป
นั่นก็คือ การที่จะให้สิทธิ์ผู้หญิงเลือกตั้ง และลงสมัครรับเลือกตั้งได้นั้น มันคือการขยายสถานะทางความเป็นบุคคลทางกฎหมาย แปลว่า ผู้หญิงจะมีสถานะเท่าเทียมกับผู้ชายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเท่าเทียมนี้ หมายความว่าผู้หญิงจะมีสิทธิ์ในการรับมรดก ในสังคมสมัยนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกสาวของมหาเศรษฐีหรือเจ้านายใหญ่โตขนาดไหน ถ้าคุณแต่งงาน ทรัพย์สินและการตัดสินใจทั้งหมด จะกลายเป็นของสามีในทันทีโดยอัตโนมัติ เรียกว่า ความเป็นคนถูกลดทอนลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ
และนอกจากนี้ ลูกสาวจะมีสิทธิ์ในการรับมรดกเท่ากับลูกชาย ซึ่งทำให้ลูกชายจำนวนมาก รู้สึกไม่มั่นคงอย่างหนัก และอีกข้อหนึ่งที่สร้างความสั่นกระเทือนอย่างมาก ก็คือ การที่ผู้หญิงจะมีสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้ชายก็หมายความว่าเธอจะต้องมีสิทธิ์ในการหย่าด้วย ซึ่งมันจะสะเทือนสังคมชายเป็นใหญ่อย่างรุนแรงมาก เพราะมันคือการบอกว่า ผู้หญิงหรือภรรยาไม่ใช่ทรัพย์ของสามีอีกต่อไปมันพูดออกมาดัง ๆ ไม่ได้ไง มันดูไม่เป็นสุภาพบุรุษ มันดูหิวเงิน มันดูไม่น่ารัก
แต่ก็นั่นล่ะ ความจริงมันอุบาทว์เกินไป ก็ต้องสร้างเหตุผลบ้า ๆ บอ ๆ ดราม่าขึ้นมาไว้เขียนพาดหัวหนังสือพิมพ์ นักรบรุ่นถัดมาที่รับไม้ต่อจากเหล่าคุณแม่ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็นำการต่อสู้เพื่อให้ได้ออกเสียงเลือกตั้ง ไปอีกขั้นหนึ่งเลย ในกลุ่มนี้ คนที่ดังมาก ๆ ทางฝั่งอังกฤษก็ได้แก่ เอมมาลีน แพงค์เฮิร์สท, มิลลิเซนท์ ฟอว์เซ็ตต์ และ เอมิลี เดวิสัน ส่วนทางฝั่งอเมริกาก็คือ อลิส พอล และ ลูซี่ เบิร์นส ในการต่อสู้ระลอกที่ 2 นี้ ต้องบอกว่า สร้างความช็อกให้พวกเรา ตอนที่ทำข้อมูลกันมาก ๆ เลย คือมันโหดกว่าที่คิดมาก ไม่น่าเชื่อว่าสังคมจะทำกับสมาชิกหญิงของตัวเองได้รุนแรงและเลวร้ายขนาดนี้
นักต่อสู้เพื่อสิทธิ์การเลือกตั้งของผู้หญิงอังกฤษในยุคนี้ แบ่งออกเป็นสองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกก็คือกลุ่มรณรงค์ด้วยการผลักดันกฎหมาย การล็อบบี้ และการทำกิจกรรมต่าง ๆ กลุ่มนี้มีชื่อเล่นว่าพวก Suffragist นำโดย มิลลิเซนต์ ฟอว์เซ็ตต์ เธอคนนี้มาจากครอบครัวที่พ่อแม่ให้อิสระทางความคิดสูง ให้อ่านหนังสือมาก และให้เรียนหนังสือมากเท่าที่ลูกต้องการ พี่สาวของ มิลลิเซนต์ ก็คือ อลิซาเบธ แกเร็ตต์ เป็นแพทย์หญิงคนแรกของอังกฤษ ในยุคที่ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าโรงเรียนแพทย์
มิลลิเซนต์แต่งงานกับเฮนรี่ ฟอว์เซ็ตต์ ซึ่งเป็นนักการเมืองฝั่งเสรีนิยม และต่อมา มิลลิเซนต์ ก็เป็นนักการเมืองหญิงคนแรกของอังกฤษ ที่มีอนุสาวรีย์เป็นเกียรติอยู่ในรัฐสภา แนวทางการต่อสู้ของมิลลิเซนต์ ฟอว์เซ็ต เป็นแนวทางที่ใช้การเมือง การเผยแพร่ความรู้และการพยายามโน้มน้าวผู้มีอำนาจเธอไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง หรือการสร้างความปั่นป่วนในสังคม
ซึ่งตรงกันข้ามกับผู้หญิงนักต่อสู้อีกกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดย เอมมาลีน แพงค์เฮิร์สท์ เธอเป็นหญิงสาวจากตระกูลนักกิจกรรม ใกล้เมืองแมนเชสเตอร์ คุณพ่อ เป็นสายปฏิรูปปีกแรงงาน เมืองแมนเชสเตอร์เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์แรงงานอันยาวนานและเข้มข้น เพราะเป็นเมืองอุตสาหกรรมแรก ๆ ของอังกฤษ มีการต่อสู้กับชนชั้นนายทุน เพื่อค่าจ้างที่เป็นธรรม และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาจนเป็นแรงบันดาลใจให้ขบวนการแรงงานทั่วโลก
ส่วนแม่ของเอมมาลีนเป็นชาว Isle of Man เขตปกครองตนเองทางตอนเหนือของเกาะอังกฤษ และเป็นรัฐสภาแห่งแรกของโลกที่ให้สิทธิ์ผู้หญิงที่มีทรัพย์สิน เลือกตั้งได้ในปี 1881
เอมมาลีนนั้น เข้าสู่วงการการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิ์ในการเลือกตั้งของผู้หญิง ตั้งแต่เธออายุได้เพียง 15 ปี เมื่อเธอได้ไปฟังปาฐกถาของลิเดีย เบคเกอร์ เอมมาลีน แพงเฮิรส์ท เป็นที่รู้จักมากที่สุดในฐานะของหัวหน้ากลุ่ม Suffragette ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิ์ด้วยวิธีที่ค่อนข้างรุนแรง ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Militant ภาษาไทย แปลว่า เป็นวิธีแข็งข้อ
ซึ่งในสังคมอังกฤษ ยังคงถกเถียงกันอยู่ ว่าเป็นวิธีที่ได้ผลจริงหรือไม่ และที่แน่ ๆ มีคนเกลียดพวก Suffragette เยอะมาก มีการประณามกันอย่างรุนแรงในสื่อ สังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะถ้าคุณเป็นสังคมที่ ความเป็นผู้หญิง แปลว่า ความอ่อนหวาน อ่อนโยน สุภาพ สงบปากสงบคำ ใช้ความดีและความเป็นนางฟ้า เอาชนะทุกอย่างล่ะก็ ผู้หญิงที่กล้าออกมายืนในแถวหน้าแล้วแหกปากเรียกร้อง ความเท่าเทียม สิทธิ อยากได้นั่นอยากได้นี่ ก็คงเป็นผู้หญิงที่สังคมชายเป็นใหญ่ไม่พิสมัยสักเท่าไหร่
แม้แต่ชื่อกลุ่ม Suffragette ก็เป็นคำดูแคลนที่นักหนังสือพิมพ์ชาย ตั้งให้กับผู้หญิงกลุ่มนี้ แต่ถามว่าพวกเธอแคร์ไหม ? คำตอบคือ ไม่ ! พวกเธอก็เอาชื่อนี้มาใช้อย่างภาคภูมิใจซะเลย ที่ว่ากลุ่ม Suffragette ประท้วงรัฐบาลด้วยวิธีการรุนแรงนั้น จะว่าไปก็ต้องอมยิ้ม เพราะความรุนแรงที่ว่านี้ ประกอบไปด้วยการเอาหินขว้างกระจกให้แตกและการเผาตู้ไปรษณีย์ซะเป็นส่วนใหญ่
ในปี 1910 กลุ่ม Suffragette ถูกนักการเมือง ก็คือ นายกรัฐมนตรี Herbert Henry Asquith ที่สัญญาไว้ว่า ถ้าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสตรี ตัวเองจะยอมเสนอกฎหมายให้ผู้หญิงบางส่วน ได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้งเพื่อแสดงความจริงใจ กลุ่ม Suffragette ได้ระงับการประท้วงรัฐบาลด้วยวิธีการเผานั่นเผานี่และก็ทุ่มสรรพกำลังหาเสียงให้นาย Asquith และเมื่อ Asquith ได้รับเลือกตั้ง กฎหมายฉบับดังกล่าวก็ผ่านสภาไปได้ 2 วาระ เหลืออีกเพียงวาระเดียว Asquith ดันไปมีปัญหากับสภาขุนนางเกี่ยวกับกฎหมายงบประมาณ แทนที่จะประนีประนอม นาย Asquith เลือกที่จะยุบสภาและประกาศเลือกตั้งใหม่ กฎหมายฉบับดังกล่าวที่ผ่านมาแล้วถึง 2 วาระ ก็เป็นอันตกไปและต้องกลับไปเริ่มพิจารณากันใหม่
กลุ่ม Suffragette โกรธแค้นมาก! มองว่านี่คือการหักหลังอย่างหน้าด้านสุด ๆ พฤศจิกายน 1910 กลุ่ม Suffragette 300 คน เดินเท้าไปที่รัฐสภาเพื่อประท้วง และถูกตำรวจปราบปรามด้วยความรุนแรง และมีการล่วงละเมิดทางเพศอย่างไม่แคร์ไม่สนโลกใด ๆ อีกด้วย นอกจากตำรวจแล้วก็ยังมีผู้ชายอีกจำนวนมากมาร่วมด้วยช่วยยำ
วันนั้น มีผู้หญิงกลุ่ม Suffragette ถูกจับกุมถึง 115 คน แม้ว่าจะได้รับการปล่อยตัวในวันต่อมา การเรียกร้องให้มีการสอบสวนการกระทำของตำรวจ ในเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว ก็ได้รับการปฏิเสธ โดยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอังกฤษในเวลานั้น ก็คือ วินสตัน เชอร์ชิลล์
หลังจากเหตุการณ์นั้นที่เรียกกันว่า Black Friday กลุ่ม Suffragette ก็กลับไปใช้วิธีการเรียกร้องแบบแข็งข้อเหมือนเดิม เอมมาลีน แพงค์เฮิร์สท เอง ก็ถูกจับเข้าคุกจนเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในคุกนั้น พอได้มารู้ความจริงแล้วก็ช็อก Suffragette ที่โดนจับเข้าคุก มักจะทำการประท้วงต่อโดยการอดอาหาร
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
การตอบโต้ของฝ่ายรัฐก็คือการบังคับป้อนอาหาร เขาเรียกว่า Force-Feeding โดยการเอาอุปกรณ์ คล้ายกับคีม ถ่างปากของนักโทษเอาไว้ แล้วก็เอาหลอดยางยาว ๆ เสียบผ่านคอหรือรูจมูก ลงไปที่กระเพาะอาหาร แล้วก็เอาอาหารเหลว ๆ จำพวกไข่ดิบ นม หรือว่าเหล้า กรอกลงไปผ่านกรวยที่ต่อเข้ากับหลอดยาง การทำแบบนี้ อันตรายมาก เพราะนอกจากปอดอาจจะบาดเจ็บ ถ้าเกิดทิ่มลงไปไม่ตรงหลอดอาหารแล้ว ยังมีผลร้ายกับระบบการย่อยอาหาร และก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายด้วย เพราะมีการทำถึงวันละ 3 เวลา
ในบันทึกของเอมมาลีน แพรงค์เฮิร์สท บอกว่า เสียงกรีดร้องของผู้หญิง ถูกตบตีในห้องขังนั้น หลอกหลอนเธออยู่ตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในคุกหรือนอกคุก บางคนถูกทำร้ายจนเสื้อผ้าขาดหลุดลุ่ย ต้องใช้ผ้าห่มที่มีผืนเดียว คลุมร่างตัวเองไว้ แมรี่ เจนน้องสาวของเอมมาลีนซึ่งอยู่ในขบวนการและถูกจับกุมหลายครั้ง ถูกตัดสินจำคุก 1 เดือน และเสียชีวิตที่บ้าน หลังจากได้รับการปล่อยตัวเพียง 2 วัน
ตามลำดับของพัฒนาการทางการเมือง สังคม ทุกยุคที่ผู้ถูกกดขี่จำนวนหนึ่ง จะลุกขึ้นมาปกป้องระบบที่กดขี่ตัวเองอยู่อย่างแข็งขัน ในกระบวนการเรียกร้อง Women's Suffrage ก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่ต่อต้านการให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่ผู้หญิงอย่างยิ่งใหญ่ ก็คือผู้หญิงด้วยกันนี่แหละ โดยมีการก่อตั้งสมาคมต่อต้านการให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่ผู้หญิงขึ้น อย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีการล่ารายชื่อผู้ที่คัดค้านกฎหมายดังกล่าวได้เป็นหลักหมื่นคน มีการเดินสายปาฐกถาต่อต้านสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิง โดยผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงหลายคน
เกอร์ทรูด เบล นักเขียนและนักโบราณคดีชื่อดัง กล่าวว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และกำลังสมองเพียงพอที่จะตัดสินใจเรื่องการเมืองได้ ส่วน ไวโอเล็ต มาร์กแฮม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงนักปฏิรูปแห่งยุค ยังออกมาประกาศว่า ผู้หญิงไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชาย เพียงแต่ทั้งสองเพศ มีความสามารถและศักยภาพในคนละเรื่อง ผู้หญิงไม่มีศักยภาพทางการเข้าใจการเมือง ดังนั้นจึงไม่ควรได้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง ซึ่งก็เหมือนเดิมในทุกยุคเช่นกัน ความชอบบังคับคนอื่น ก็คุณไม่อยากเลือกตั้งก็ไม่ต้องไปเลือกสิ !! แล้วคนที่เขาอยากเลือก ก็ให้สิทธิ์เขาเลือกไป ! ทำไมตัวเองไม่อยากเลือกแล้ว ต้องไปบังคับคนอื่นไม่ให้ได้เลือกเหมือนกันล่ะ
แต่เรื่องตลกที่ตลกไม่ออกเกี่ยวกับคุณไวโอเล็ต มาร์กแฮม นั่นก็คือ พอผู้หญิงได้รับสิทธิ์เลือกตั้ง และลงสมัครรับเลือกตั้งได้ในปี 1918 เจ๊คนนี้นี่แหละ ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเฉยเลย แล้วก็ได้รับเลือกตั้งด้วย อ้าว !?
เราจะพูดถึงขบวนการ Suffragette ในอังกฤษ โดยไม่พูดถึงผู้หญิงคนนี้ ก็ไม่ได้ นั่นก็คือ เอมิลี เดวิสัน ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นคนที่สละชีวิตเพื่อขับเคลื่อนขบวนการ เอมิลีเป็นหนึ่งในหัวหอกของขบวนการแข็งข้อต่อรัฐบาลของกลุ่ม Suffragette หลังจากที่เธอถูกจับเข้าคุกถึง 9 ครั้ง และถูกทารุณกรรมในคุกอย่างต่อเนื่อง สุขภาพของเธอก็แย่ลง พร้อมกับที่ไม่สามารถทำงานได้ เพราะมีประวัติอาชญากรติดคุกถึง 9 ครั้ง เหตุการณ์แบล็กฟรายเดย์ที่กลุ่ม Suffragette ถูกนายกรัฐมนตรี Asquith หักหลัง และถูกตำรวจและกลุ่มนักเลงรุมทำร้าย ทำให้เอมิลีรู้สึกว่าเธอและผู้หญิงทั้งหลายที่ต่อสู้ เคียงข้างกันมานั้น ถูกเมินเฉยและด้อยค่ามากเกินไปแล้ว
ในวันที่ 4 มิถุนายน 1913 เอมิลีไปที่งานอีเวนต์แข่งม้าที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษ ซึ่งพระเจ้าจอร์จที่ 5 และพระราชินีแมรี่ เสด็จพระราชดำเนินและทรงส่งม้าเข้าแข่งขันด้วย ในโค้งสุดท้ายของการแข่งขัน เอมิลี เดวิสัน ลอดรั้วกั้นและเดินออกไปในลู่ที่ม้ากำลังวิ่ง เธอหลบม้าตัวอื่น ๆ แล้วไปยืนขวางม้าชื่อ Anmer ซึ่งเป็นม้าของพระเจ้าจอร์จที่ 5
ทฤษฎีว่าทำไมเธอถึงทำเช่นนั้น ก็มีมากมาย เพราะเธอไม่ได้ทิ้งข้อความชี้แจงเอาไว้ แต่สารคดีล่าสุดของรายการ Timeline ของประเทศอังกฤษ สรุปว่า เธอต้องการที่จะนำธงสีขาวม่วงเขียว ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์ของขบวนการ Suffragette ไปคล้องที่ม้าของพระเจ้าจอร์จ เพราะ Anmer นี่นะ เป็นม้าที่ทุกคนจับตามองมากที่สุด มีกล้องถ่ายภาพข่าวถ่ายอยู่มากที่สุด และจะเป็นการสร้างกระแสให้กับการเรียกร้องของผู้หญิง อย่างที่ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยง เมินเฉย หรือมึนใส่ได้อย่างแน่นอน
เพียงแต่เอมิลี อาจจะไม่ทราบว่าม้าแข่งที่กำลังวิ่งนั้น มีอัตราความเร็วสูงเกินกว่าที่เธอคาดคิด ทำให้ม้าชนเธอล้มลง ม้าก็ล้มด้วย จ๊อกกี้ก็ตกจากม้า เกิดความชุลมุนวุ่นวาย ม้าและจ๊อกกี้ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่เอมิลีนั้น กะโหลกส่วนล่างร้าว บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในอีก 4 วันต่อมา ระหว่างที่เธออยู่ในโรงพยาบาล ก็มีคนเขียนจดหมายมาด่าทอรุนแรงมากมาย ส่วนใหญ่สาปแช่งให้เธอตาย ๆ ไปซะ และบอกว่าผู้หญิงอย่างเธอต้องอยู่ในโรงพยาบาลบ้าเท่านั้น
ส่วนองค์กร Suffragette ก็ได้จัดพิธีศพให้เธออย่างยิ่งใหญ่ และยกย่องให้เธอเป็นมรณะสักขีแห่งการต่อสู้ แต่ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ก็คือ มีประชาชนออกมาร่วมขบวนงานศพมากถึง 5 หมื่นคน ทั้ง ๆ ที่สมาชิกขององค์กร Suffragette มีเพียง 2,000 คนเท่านั้น แสดงให้เห็นว่ากระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงกำลังจะมาถึง
ในสหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกัน หญิงอเมริกันที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ์ที่จะได้เลือกตั้งในระดับชาตินั้น ก็ถูกต่อต้านมากมาย ไม่ต่างกับในอังกฤษเลย ในช่วงที่ Suffragette ปฎิบัติการในอังกฤษ ที่อเมริกาก็มี The Silent Sentinels ซึ่งก็คือกลุ่มผู้หญิงที่ออกมายืนถือป้ายประท้วงเงียบ ๆ วันละ 8 ชั่วโมง ในสภาพอากาศที่หนาวเหน็บหน้าทำเนียบขาวทุกวัน เพื่อทวงถามสิทธิ์จากประธานาธิบดี Woodrow Wilson มองจากสายตาของคนรุ่นเรา การประท้วงแบบนี้โคตรสุภาพเลย ไม่ทำอะไรเลย ยืนถือป้ายเงียบ ๆ
แต่ในสมัย 1900 ต้น ๆ นี่ โอ้โห !! พวกไร้มารยาท !! มายืนถือป้ายรบกวนท่านประธานาธิบดีได้ยังไงเนี่ย นี่มันเป็นการคุกคามชัด ๆ ยิ่งตอนที่ผู้แทนรัฐบาลรัสเซีย เข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐ แล้วกลุ่ม Silent Sentinels ขึ้นป้ายว่า สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย เพราะผู้หญิง 20 ล้านคน ไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง แทบจะโดนรุมประชาฑัณฑ์ คนอเมริกันโกรธมากบอกว่านี่คือการเข้าข้างศัตรู มันเป็นการขายชาติ เป็นการทำให้ประธานาธิบดีต้องอับอายอย่างไม่น่าให้อภัย
คือมันไม่จริงตรงไหน ผู้หญิง 20 ล้านคนไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งจริง ๆ และประธานาธิบดีของประเทศที่เคลมตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย ก็ควรจะอาย แต่ก็นั่นแหละ คนเราเวลาโดนจี้ใจดำ ก็มักจะโมโหจัดแบบนี้แหละ คุณผู้หญิงที่เป็นคนริ่เริ่มการประท้วงแบบ Silent Sentinels นี่ ชื่อว่าคุณอลิซ พอล ซึ่งแกดูงานมาจากที่อังกฤษ แล้วก็กลับมาผลักดันที่บ้านเกิด เช่นเดียวกันกับ เอมมาลีน แพงค์เฮิร์สท และ เอมิลี เดวิสัน
อลิซ พอลก็เป็นที่เกลียดชังของทั้งผู้หญิงและผู้ชายมากมาย ถูกตีตราว่าเป็นผู้หญิงก้าวร้าว ไม่มีมารยาท ไม่รักชาติ ! สารพัดจะถูกด่านั่นแหละ ตัวเธอเองก็ถูกจับเข้าคุกเช่นกัน และแน่นอน มีการอดอาหารประท้วง และเธอก็ถูกบังคับป้อนอาหารและสุดท้ายก็ถูกนำตัวไปขังไว้ที่วอร์ดจิตเวช เรื่องหาว่าคนที่เรียกร้องอะไรไม่ถูกใจเป็นบ้านี่ มีทำกันทุกสังคมเพราะมันง่ายที่สุดแล้วล่ะ
นอกจากอลิซ พอล แล้วก็มี ลูซี่ เบิร์นส์ สาวบรุกลิน ซึ่งถูกจับเข้า ๆ ออก ๆ คุก โดนตำรวจทำร้าย โดนรุมประชาทัณฑ์อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ผู้หญิงอเมริกันต่อสู้ยาวนานถึง 78 ปี กว่าจะประสบความสำเร็จ
ความสำเร็จนี้มาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องจากผู้ชายต้องไปรบหมด ผู้หญิงจึงเข้ามาทำหน้าที่แทนหลาย ๆ อย่าง ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้าน ทำงานโรงงาน ส่วนลูกและผัวก็ถูกส่งไปแนวหน้า ทำให้การไม่ยอมให้สิทธิ์ผู้หญิงทางการเมือง เริ่มจะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป อังกฤษให้สิทธิ์ผู้หญิงวัย 30 ให้เลือกตั้งได้ในปี 1918 52 ปี หลังจากลิเดีย เบคเกอร์เริ่มต้น และในปี 1928 ผู้หญิงอังกฤษวัย 21 ปีทุกคน ได้รับสิทธิ์เลือกตั้ง เช่นเดียวกันกับผู้ชาย ส่วนสหรัฐอเมริกา ปี 1920 ผู้หญิงผิวขาวได้รับสิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดี ส่วนผู้หญิงผิวดำน่ะเหรอครับ นู่นเลยครับ อีก 40 ปีเลยทีเดียว
สำหรับในส่วนของประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ์อย่างโลกตะวันตก แต่แนวคิดเรื่องสิทธิ์ในการเลือกตั้งที่เท่าเทียม ที่กำลังเป็นกติกาสากลของโลกในยุคนั้น เป็นสิ่งที่คณะราษฎรยอมรับและให้ความสำคัญมาก จนต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่หลวงประดิษฐมนูธรรม จบกฎหมายจากฝรั่งเศส ยังไม่เอาแนวทางการเลือกตั้งของฝรั่งเศส ที่ยุคนั้นยังจำกัดสิทธิ์ผู้หญิงในการเลือกตั้งมาเขียนในรัฐธรรมนูญเลย
เมื่อคณะราษฎรได้ก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองประเทศสยาม(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2475 ในอีก 3 วันต่อมา เนื้อความในธรรมนูญการปกครองฉบับดังกล่าว ได้รับรองการมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของราษฎรเอาไว้อย่างชัดเจน ตามมาตรา 14 ความว่าราษฎรไม่ว่าเพศใด เมื่อมีคุณสมบัติดั่งต่อไปนี้ ย่อมมีสิทธิออกเสียงลงมติ เลือกผู้แทนหมู่บ้านได้ แม้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จะเป็นได้แค่ฉบับชั่วคราว แต่หลักการดังกล่าวยังไม่หายไปไหนในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 และกฎหมายลูกก็ยังยืนยันหลักการ ทำให้สยามหรือประเทศไทยในปัจจุบัน กลายเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของเอเชีย ที่ทั้งชายและหญิงมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมกัน
ดังนั้น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของสยาม ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 จึงเป็นการเลือกตั้งที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างร่วมกันทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางของประเทศด้วยกันอย่างเท่าเทียม
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย 0193426433

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา