2 พ.ย. 2021 เวลา 03:03 • ประวัติศาสตร์
เอฟ-๕ ฟรีดอม ไฟเตอร์ ในกองทัพอากาศฟิลิปปินส์
เอฟ-๕เอ ฟรีดอม ไฟเตอร์ ของ ทอ.ฟิลลิปินส์
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการจัดหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ จำนวน ๒ ฝูงบิน เพื่อมาทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ นอร์ธ อเมริกัน เอฟ-๘๖เอฟ เซเบอร์ และนอร์ธ อเมริกัน เอฟ-๘๖ดี เซเบอร์ ที่ใช้งานอยู่ โดยสหรัฐฯ ได้เสนอเครื่องบินขับไล่แบบ นอร์ธรอป เอฟ-๕ ฟรีดอม ไฟเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์น้ำหนักเบาความเร็วเหนือเสียง ที่สหรัฐฯ พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องบินขับไล่มาตรฐานสำหรับกองทัพอากาศในกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การนาโต้และซีโต้ ตลอดจนประเทศในโลกเสรีอื่นๆ เพื่อใช้งานแทนเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๘๔ ธันเดอร์เจ็ต / ธันเดอร์สตรีค และเอฟ-๘๖ เซเบอร์ แต่ทางฟิลิปปินส์ต้องการเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๑๐๔ สตาร์ไฟเตอร์ ซึ่งมองว่ามีสมรรถนะสูงกว่า แต่คำร้องขอนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากทางสหรัฐฯ และยังคงตกลงจะส่ง เอฟ-๕ ฟรีดอม ไฟเตอร์ ให้กับฟิลิปปินส์ตามเดิม
เอฟ-๕เอ ฟรีดอม ไฟเตอร์ ขณะบินลาดตระเวนรักษาเขต
วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๔๐๘ แผนการส่งมอบ เอฟ-๕เอ/บี ฟรีดอมไฟเตอร์ จำนวน ๒ ฝูงบิน ให้กับกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ตามข้อตกลงช่วยเหลือทางทหารของรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกกำหนดขึ้น โดยเครื่องบินชุดแรกจำนวน ๙ เครื่อง เป็นเครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดี่ยวแบบ เอฟ-๕เอ จำนวน ๗ เครื่อง และเครื่องบินฝึกขับไล่สองที่นั่งแบบ เอฟ-๕บี จำนวน ๒ เครื่อง เดินทางถึงฟิลิปปินส์ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๐๘ ทั้งหมดถูกบรรจุเข้าประจำการใน ฝูงบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่ ๖ “คอบร้า” สังกัดกองบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่ ๕ ฐานทัพอากาศบาซา ทางเหนือของกรุงมะนิลา มีภารกิจหลักในการป้องกันภัยทางอากาศเหนือหมู่เกาะลูซอนและวิสายาส์ โดยโอน เอฟ-๘๖เอฟ เซเบอร์ ที่ใช้อยู่เดิมไปให้ฝูงบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่ ๗ และ ๙ ซึ่งทั้งสองฝูงนี้มี เอฟ-๘๖เอฟ เป็นเครื่องบินประจำฝูงอยู่ก่อนแล้ว โดยทั้งสองฝูงบินนี้ใช้งาน เอฟ-๘๖เอฟ จนปลดประจำการในปี ๒๕๒๒
ต่อมาสหรัฐฯ ได้ลดความช่วยเหลือทางทหารต่อฟิลิปปินส์ลง ทำให้การส่งมอบ เอฟ-๕ หยุดชะงักลงชั่วขณะหนึ่ง ก่อนจะทยอยส่งมอบ เอฟ-๕เอ จำนวน ๑๒ เครื่อง และเอฟ-๕บี จำนวน ๑ เครื่อง ให้อีกในระหว่างปี ๒๕๐๙ – ๒๕๑๐ รวมแล้วกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ได้รับมอบ เอฟ-๕ ฟรีดอมไฟเตอร์ เพียง ๑ ฝูงบินเท่านั้น รวมทั้งสิ้น ๒๒ เครื่อง แบ่งเป็น รุ่น เอ จำนวน ๑๙ เครื่อง และรุ่น บี จำนวน ๓ เครื่อง
เอฟ-๕บี ฟรีดอม ไฟเตอร์
เมื่อเริ่มเข้าประจำการ ภารกิจโดยทั่วไปของ เอฟ-๕เอ ของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์คือการบินลาดตระเวนจากฐานบินแม็กทัน (Mactan Airbase) บนเกาะเซบูไปถึงสุดเขตแดนใกล้รัฐซาบาร์ บนเกาะบอร์เนียวของประเทศมาเลเซีย เป็นการบินลาดตระเวนรักษาเขตระยะไกล โดยพื้นที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่เหนือทะเลซูลู ในแต่ละครั้งจะใช้ เอฟ-๕เอ จำนวน ๒ เครื่อง แต่ละเครื่องติดถังน้ำมันอะไหล่เต็มอัตรา ที่ใต้ปีกข้างละถัง ที่ใต้ลำตัวอีกหนึ่งถังและที่ปลายปีกอีกข้างละถัง ติดอาวุธเฉพาะปืนใหญ่อากาศประจำเครื่องขนาด ๒๐ มม. จำนวน ๒ กระบอก พร้อมบรรจุกระสุนเต็มอัตรากระบอกละ ๒๘๐ นัด
ในปี ๒๕๑๔ – ๒๕๑๖ เอฟ-๕ ฟรีดอมไฟเตอร์ ได้ร่วมกับเครื่องบินโจมตีใบพัดแบบ นอร์ท อเมริกัน ที-๒๘ดี โทรจัน และ เอฟ-๘๖เอฟ เซเบอร์ ปฏิบัติการโจมตีที่มั่นของกองโจรมุสลิมแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ บนหมู่เกาะลูซอน และหมู่เกาะวิสายาร์ การปฏิบัติการสำคัญในช่วงนี้เป็นการรบในบริเวณภูเขาซิบารู บนเกาะซูลู ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๕ และต่อมาในปลายปี ๒๕๑๖ เอฟ-๕เอ/บี ฟรีดอมไฟเตอร์ ร่วมกับ เอฟ-๘๖เอฟ เซเบอร์ และที-๓๓เอ ชู้ตติ้งสตาร์ โจมตีที่มั่นของกองโจรมุสลิมด้วยการยิงกราดด้วยปืนกล จรวด และลูกระเบิด บริเวณเมืองซัมโบอังกา เมืองริมทะเลบนเกาะมินดาเนา สามารถทำลายเรือ คลังกระสุนและคลังเชื้อเพลิง ของฝ่ายกองโจรได้อย่างราบคาบ
เอฟ-๕เอ ก่อนออกปฏิบัติการโจมตีเป้าหมาย
หลังจากปี ๒๕๑๖ รัฐบาลฟิลิปปินส์กับกองโจรกลุ่มต่างๆ ได้มีการเจรจากันหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังคงต้องเปิดปฏิบัติทางทหารอีกหลายครั้งในการปรามปรามกองโจรกลุ่มต่างๆ ซึ่ง เครื่องบินขับไล่ เอฟ-๕เอ/บี จากฝูงบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่ ๖ กับเครื่องบินรบแบบต่างๆ ของกองทัพฟิลิปปินส์ ได้เข้าร่วมการปฏิบัติการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนภารกิจอื่นๆ ของ เอฟ-๕ คือ การปกป้องผลประโยชน์ของฟิลิปปินส์ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ หรือที่ฟิลิปปินส์เรียกว่า หมู่เกาะ "กาปูลูอันงัง กาลายาอัน" (Kapuluan Ng Kalayaan) ร่วมกับเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๘๖เอฟ เซเบอร์ จากฐานทัพอากาศอันโตนิโอ บาทิสต้า เมืองปวยร์โต ปรินเซซา บนเกาะปาลาวัน
ในปี ๒๕๑๙ ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ร้องขอผ่านโครงการช่วยเหลือทางทหารในการจัดหา เครื่องบินขับไล่แบบ นอร์ธรอป เอฟ-๕อี ไทเกอร์ จำนวน ๑๑ เครื่อง มาทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-๘๖เอฟ เซเบอร์ ที่ล้าสมัย ซึ่งไม่ได้รับการตอบรับจากทางสหรัฐฯ แต่ด้วยความจำเป็นในการจัดหาเครื่องบินรบ ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องหันไปจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ วอช์ท เอฟ-๘เอช ครูเซเดอร์ จำนวน ๓๕ เครื่องในปี ๒๕๒๐ ซึ่งทั้งหมดเป็นเครื่องบินขับไล่ที่เคยใช้งานในกองทัพเรือสหรัฐมาก่อน โดยนำมาปรับปรุงก่อนนำเข้าประจำการ ๒๕ เครื่อง และอีก ๑๐ เครื่องถอดแยกไว้เป็นอะไหล่ อย่างไรก็ดีในปลายปี ๒๕๒๐ เอฟ-๕เอ ที่เหลืออยู่ ๑๓ เครื่อง และเอฟ-๕บี อีก ๓ เครื่อง ยังคงปฏิบัติการเคียงคู่กับ เอฟ-๘เอช ครูเซเดอร์ แต่ภารกิจหลักของฝูงบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่ ๖ เปลี่ยนไปเป็นการโจมตีสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดิน ในการปราบปรามกลุ่มกองโจรมุสลิมแบ่งแยกดินแดนแทน
ต่อมาในปี ๒๕๓๑ กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ได้ปลดประจำการ เอฟ-๘เอช ครูเซเดอร์ หลังจากเข้าประจำการได้ ๑๑ ปี ทำให้ เอฟ-๕เอ/บี กลายเป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบเดียวของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ที่ยังใช้งานอยู่ ซึ่งมีเหลือรุ่น เอ อยู่ ๙ เครื่อง รุ่น บี อีก ๒ เครื่อง
เมื่อประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส ถูกประชาชนขับไล่ออกนอกประเทศ ในปี ๒๕๒๙ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในฟิลิปปินส์ครั้งใหญ่ สิ่งที่ตามมาคือ เกิดการปฏิวัติ/รัฐประหารของกองทัพขึ้นอีกหลายครั้ง มีการปะทะกันเองระหว่างทหารในกองทัพของฟิลิปปินส์ที่อยู่กันละฝ่าย รุนแรงถึงขั้นเอาเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดใส่กัน โดยเฉพาะในปี ๒๕๓๒ ฝ่ายรัฐบาล สูญเสียเอฟ-๕เอ พร้อมนักบิน นาวาอากาศตรี ดานิโล อาเตียนซา จากอุบัติเหตุขณะดำลงใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของฝ่ายกบฏ ณ ฐานบินแซงเลย์ พอยท์ เนื่องจากปัญหาความล้าความล้าของโครงสร้างอากาศยาน ปัญหาทางการเมืองและปัญหาทางเศรษฐกิจในฟิลิปปินส์ ส่งผลให้การพัฒนากองทัพเป็นไปอย่างยากลำบาก อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ทรุดโทรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัญหาในการซ่อมบำรุง และขาดแคลนอะไหล่ ฝูงบินขับไล่ เอฟ-๕ ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เช่นเดียวกัน
หลังปี ๒๕๓๒ เอฟ-๕เอ/บี ของฟิลิปปินส์เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับความล้าของโครงสร้าง ไม่สามารถทำการบินในท่าบินที่มีแรงจี สูงๆ ได้ ประกอบกับการขาดแคลนอะไหล่ ต้องเอาชิ้นส่วนจากเครื่องอื่นที่ยังพอใช้ได้ มาใช้กับอีกเครื่องหนึ่งที่มีพร้อมบินมากกว่า การซ่อมแบบนี้เรียกกันว่า “การซ่อมแบบกินตัว” ทำให้ฝูงบิน เอฟ-๕ ของฟิลิปปินส์มีปัญหาในเรื่องความพร้อมรบ จนต้องแก้ปัญหาด้วยการเจรจากับมิตรประเทศที่มี เอฟ-๕เอ/บี ใช้งาน เพื่อขอซื้อเครื่องบินที่เกินความต้องการซึ่งถูกเก็บสำรองไว้ในคลัง เพื่อนำมาปรับปรุงและนำมาใช้งาน เริ่มจากในปี ๒๕๓๒ ได้จัดหา เอฟ-๕เอ ๑ เครื่อง และ เอฟ-๕บี ๑ เครื่อง จาก ทอ.ไต้หวัน ตามด้วยในปี ๒๕๓๖ มีการแลก เอฟ-๕เอ ๑ เครื่อง ของไต้หวัน กับเครื่องบินขับไล่แบบ พี-๕๑ดี ของ ทอ.ฟิลิปปินส์ ที่ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศในกรุงมะนิลา
ต่อมาในปี ๒๕๓๘ รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เจรจาจัดหา เอฟ-๕เอ ที่ปลดประจำการแล้วจาก ทอ.เกาหลีใต้ โดยได้รับมา ๓ เครื่อง ในปลายปี ๒๕๓๘ และอีก ๕ เครื่องในปี ๒๕๔๑ นอกจากนี้ในปี ๒๕๔๐ ยังได้ เอฟ-๕เอ มาจากบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ อีก ๒ เครื่อง โดยทั้งสองเครื่องนี้เคยประจำการใน ทอ.จอร์แดน สรุปว่า ในช่วงระหว่างปี ๒๕๓๒ – ๒๕๔๐ ทอ.ฟิลิปปินส์ ได้รับ เอฟ-๕เอ มือสองมาใช้งาน ๑๒ เครื่อง กับ เอฟ-๕บี อีก ๑ เครื่อง นอกจากนี้ยังมี เอฟ-๕เอ จากไต้หวันอีก ๒ เครื่องที่นำมาถอดชิ้นส่วนไว้เป็นอะไหล่
1
กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ใช้งาน เอฟ-๕เอ/บี อยู่จนถึงปี ๒๕๔๖ และยุติการใช้งานหลังจากสูญเสีย เอฟ-๕เอ หมายเลข ๖๗-๒๑๑๗๖ พร้อมนักบินเนื่องจากเครื่องยนต์ขัดข้อง ในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕
เอฟ-๕เอ ที่ถูกทำสีใหม่สำหรับพิธีปลดประจำการในปี พ.ศ. ๒๕๔๘
กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ มีพิธีปลดประจำการ เอฟ-๕เอ/บี อย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ฐานทัพอากาศบาซา
โฆษณา