5 พ.ย. 2021 เวลา 03:14 • ธุรกิจ
เป็นแค่ ‘ปั๊มน้ำมัน’ ทำไม! OR คิดการใหญ่ วางแผนยกระดับขึ้นเป็น ‘ห้างสรรพสินค้า’ มีตั้งแต่ร้านอาหารออร์แกนิก ฟิตเนส ไปจนถึงศูนย์ซ่อมรถ EV
1
OR บริษัทรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานและการค้าปลีก คาดว่าจะมีกำไรสุทธิเป็น 2 เท่าภายในปี 2568 จากการเปลี่ยนแค่เป็นธุรกิจปั๊มน้ำมัน มาเป็นธุรกิจร้านค้า ร้านกาแฟ ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ได้ผ่อนคลายจากการขับรถบนท้องถนน นอกจากนั้นยังเป็นสถานีสำหรับชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวกับสำนักข่าว Nikkei Asia ว่า “OR ได้ทำการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าคนขับและผู้โดยสารใช้เวลาประมาณ 4 นาทีในการเติมน้ำมัน แต่ยังใช้เวลาอีก 15-20 นาทีในส่วนอื่นๆ อย่างร้านค้า ร้านกาแฟ และห้องน้ำของสถานีอีกด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่เรามองเห็นโอกาสในการสร้างผลกำไร ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปในประเทศไทย”
1
นอกจากนั้นยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “เรากำลังทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยใช้งบประมาณจำนวน 7.46 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว และคาดว่าจะเปิดเผยแผนต่างๆ ในเร็วๆ นี้”
ในปี 2563 OR มีรายได้รวมถึง 4.28 แสนล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 8.8 พันล้านบาท หรือประมาณ 2% ของรายได้ อย่างไรก็ตาม ในปีอีก 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2568 คาดว่ากำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า คือเป็นประมาณ 1.6-2 หมื่นล้านบาท และในปัจจุบัน OR มีการตั้งสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจด้านสุขภาพและไลฟ์สไตล์ไว้ทั้งหมด 15% ของเงินลงทุนทั้งหมด
โดย OR จะเอาร้านค้าและบริการที่ผู้บริโภคมักไม่ค่อยพบในร้านสะดวกซื้อและร้านค้าริมถนน ที่ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ใกล้ๆ กับปั๊มน้ำมัน โดยร้านค้าที่ OR จะเอามาคือร้านอาหารอย่าง ผักออร์แกนิก อาหารเพื่อสุขภาพอื่นๆ รวมถึงร้านอาหารแบรนด์ดังๆ ที่ ขายสลัด แซนด์วิช ไก่ทอด และสเต๊ก เป็นต้น
OR จะลงทุนเพื่อสร้าง ‘ระบบนิเวศสำหรับการขับขี่รถ’ ที่ทั้งมีร้านซ่อมและดูแลรถยนต์ของ OR เองอย่าง Fix Auto ซึ่งในอนาคตจะมีบริการซ่อมรถยนต์ EV อีกด้วย นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะเพิ่มฟิตเนสขนาดเล็ก และบริการสันทนาการอื่นๆ ด้วย
1
“เราไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับเติมน้ำมันหรือชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่เรากำลังพยายามเป็นผู้ให้บริการที่ตอบสนองความต้องการทั้งหมดของผู้ขับขี่รถยนต์” จิราพรกล่าว
OR เป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดปั๊มน้ำมันมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 37% ตามมาด้วยอันดับ 2 คือ เอสโซ่ (ประเทศไทย) มีส่วนแบ่งตลาดที่ 10.7% และบางจาก คอร์ปอเรชั่น มีส่วนแบ่งตลาดที่ 10.1% (อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน) โดย OR กำลังตั้งใจที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดไว้ โดยค่อยๆ เปลี่ยนให้สถานีของ OR หลายพันแห่งกลายเป็นจุดรวมตัว ที่เชิญชวนให้คนขับและผู้โดยสารออกจากรถไปหาอะไรกิน ดื่ม หรือแม้แต่ซื้อของใช้อย่าง ยาหยอดตา และครีมกันแดด
OR ขยายสถานีโดยเน้นขยายไปตามทางหลวงต่างๆ ที่นำไปสู่สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในประเทศ และบริษัทจะพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาภายใน ด้วยศูนย์อาหารที่มีผู้เช่าหลากหลายประเภท ตั้งแต่ร้านติ่มซำไปจนถึงร้านชานมไข่มุกไต้หวัน นอกจากนั้นร้านค้าริมถนนก็จะมีการขายอาหารที่มีรสชาติท้องถิ่น โดย OR จะเช่าพื้นที่ให้กับวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก และเหล่าเกษตรกรให้มาเปิดร้าน
3
และเมื่อเร็วๆ นี้ OR ได้มีการจับมือ Flash Express สตาร์ทอัพด้านเดลิเวอรี และเป็นยูนิคอร์นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นก้าวแรกสู่การสร้างจุดรับ-ส่งในปั๊มน้ำมัน
นอกจากนั้นบริษัทกำลังดำเนินการในด้านอื่นๆ โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ได้เข้าซื้อหุ้น 25% ใน ISGC ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียมอย่าง Kouen ด้วยมูลค่า 192 ล้านบาท การลงทุนครั้งนี้เพื่อเป็นการกระจายประเภทของร้านอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้นในสถานี OR
และการที่ทางหลวงของประเทศไทยมีการสร้างและขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบการขับขี่ มีทางเลือกมากขึ้นในการใช้เวลาพักผ่อน และสามารถหยุดพัก หาอะไรกินในระหว่างขับรถ หรือในอนาคตอาจจะเข้ามาออกกำลังกาย และผ่อนคลายในฟิตเนสได้
การเปลี่ยนแปลงนี้ของ OR ถือเป็นการคิดการใหญ่ และมองว่าตัวเองกำลังจะแข่งขันกับบริษัทอย่าง ห้างสรรพสินค้า จากการเปลี่ยนปั๊มน้ำมันให้เป็นศูนย์การค้าที่เข้าถึงได้ง่าย โดย “ปั๊มน้ำมันมักจะอยู่ในทำเลที่ดี ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงร้านค้าของเราหลายพันแห่งได้ในระหว่างขับรถ และพวกเขายังสามารถซื้อของ และเข้าใช้บริการต่างๆ โดยที่ไม่ต้องไปถึงห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในย่านที่พลุกพล่านรถติดอีกด้วย” จิราพรกล่าว
1
“นี่คือสิ่งที่เราเห็นเป็นโอกาสใหม่ของเรา จากการพัฒนาธุรกิจที่นอกเหนือจากการจำหน่ายน้ำมัน” ซึ่งการดึงดูดลูกค้าที่ไม่ต้องการเข้าไปในย่านห้างสรรพสินค้าที่พลุกพล่าน OR จะมีทั้งร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า สมาร์ทโฟน แฟชั่น และสินค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ
นอกจากนั้น บริษัทยังได้ขยายสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทซีพี ออลล์ ที่ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในประเทศไทย โดยขยายไปอีก 10 ปี รวมถึงยังได้ร่วมมือกับบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม อย่างร้านกาแฟชื่อดัง Cafe Amazon ที่มีร้านค้าอยู่ทั่วประเทศอีกด้วย โดยปัจจุบัน Cafe Amazon มีอยู่ 3,492 สาขา ซึ่ง OR ตั้งเป้าจะขยายให้เป็น 5,200 สาขาในอีก 5 ปีข้างหน้า รวมถึงจะเพิ่มสาขาในต่างประเทศอีก 3 เท่า เป็น 1,000 สาขา ภายในปี 2568 อีกด้วย
จิราพรกล่าวว่า OR ตั้งใจที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และกำลังเจรจากับผู้ผลิตยา และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ เพื่อวางขายวิตามินและอาหารเสริม สกินแคร์ต่างๆ รวมถึงฟิตเนสขนาดเล็กในสถานีอีกด้วย
OR จะลงทุนประมาณ 22% เพื่อขยายสถานีไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะใน กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในขณะนี้ OR ดำเนินธุรกิจเชื้อเพลิงเครื่องบินอยู่ในประเทศกัมพูชา และธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศจีน รวมถึงมีร้าน Cafe Amazon และปั๊มนำมันในประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
1
และจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับปั๊มน้ำมัน และสถานที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยสัดส่วนเงินลงทุน 34% ของงบทั้งหมด “เราไม่ได้เพิกเฉยต่อแนวโน้ม EV ที่เข้ามา และเราเชื่อว่าอีกไม่นานประเทศไทยจะมีการใช้รถยนต์ EV ทั้งหมดอย่างแน่นอน”
จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ประเทศไทยในปี 2563 มีรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายไปแล้ว 1,056 คัน คิดเป็น 0.13% ของรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมด 792,146 คันในประเทศ ซึ่งเป้าหมายของรัฐบาลคือ การมีรถยนต์ไฟฟ้าให้ถึง 725,000 คัน บนท้องถนนภายในปี 2573 หรืออีกประมาณ 9 ปีข้างหน้า
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ฐานลูกค้าเดิมของ OR ก็ยังคงเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันอยู่ เป็นจำนวนมากกว่า 700,000 คันของประเทศ และรถจักรยานยนต์อีก 21.4 ล้านคัน
บริษัทวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนสถานีบริการน้ำมันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพราะคาดว่าความต้องการน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เพราะต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อย่างสถานีบริการน้ำมันที่สามารถแปลงเป็นสถานีสำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และบริการจัดส่งสินค้าที่เป็นพันธมิตรกับ Flash Express ได้
OR คาดว่าจะมีสถานีถึง 2,500 แห่งภายในปี 2568 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2,040 แห่งในปัจจุบัน และบริษัทยังมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 30 แห่ง แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 100 แห่งภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 300 แห่งภายในสิ้นปี 2565 ตามข้อมูลของบริษัท
เรื่อง: แท่ง แซ่ลิ้ม
อ้างอิง:
1
โฆษณา