7 พ.ย. 2021 เวลา 03:23 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กิจวัตรการออม ลำดับที่ 3
วิธีการทำแผนที่ขุมทรัพย์การเงินส่วนบุคคล
ทุกคนคงเคยมีประสบการณ์ดูภาพยนตร์แนวตามล่าสมบัติบ้างไม่มากก็น้อย สิ่งหนึ่งที่จะขาดไปไม่ได้ที่ตัวละครเอกต้องมีก่อนออกเดินทาง คือ แผนที่ขุมทรัพย์ ซึ่งเป็นแผนที่ที่พาตัวละครเอก ไปสู่ขุมทรัพย์ที่นำสู่การผจญภัยที่น่าสนใจและมักค้นพบขุมทรัพย์ในที่สุด
ขอขอบคุณภาพจาก http://7meditation.blogspot.com/2011/02/blog-post_4723.html?m=1
ชีวิตจริงหากตัวเราเองต้องการค้นพบขุมทรัพย์ที่เป็นของเรา ก็ต้องการแผนที่เช่นกัน ซึ่งแตกต่างที่แผนที่นี้เราไม่ได้ค้นพบโดยบังเอิญหรือโชคชะตาฟ้าลิขิต แต่เราจำเป็นต้องศึกษา เรียนรู้และวาดแผนที่ขุมทรัพย์ขึ้นมา การจะได้มาซึ่งแผนที่และขุมทรัพย์มีมากมาย ซึ่งแต่ละคนก็มีอีกหลายวิธีการ ในความมากมายหลากหลายนี้ การได้มาซึ่งแบบแผนการเดินทางของแผนที่ก็ไม่ซำ้เส้นทางกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องทำเหมือนๆ กัน ก่อนการวาดแผนที่ขุมทรัพย์ของตนเอง ก็คือ การเขียนบัญชีรายรับ-รายจ่าย
หลายต่อหลายคนอ่านถึงตรงนี้บ้างก็อ่านต่อ บ้างก็บอกว่าเอาอีกแล้ว เรื่องเดิมๆ ขอให้อ่านอีกนิด ถ้าหากคุณรู้สึกว่าบัญชีรายรับ-รายจ่ายไม่ใช่เรื่องสำคัญ ดิฉันขอให้ทดลองบันทึกสัก 1-3 เดือนอย่างจริงจัง ทุกบาททุกสลึงที่คุณรับเข้ามาหรือจ่ายออกไป คุณจะเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วคุณจะสามารถวาดแผนที่ขุมทรัพย์ใหม่ที่แตกต่างและน่าสนใจกว่าเดิม นำพาไปสู่ขุมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมด้วยระยะเวลาการเดินทางที่สั้นลง
ขอสรุปตรงนี้เป็นเบื้องต้นก่อนว่า แผนที่ขุมทรัพย์ของแต่ละบุคคลจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ บุคคลนั้นได้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนเท่านั้น
บัญชีรายรับ-รายจ่ายที่ถูกต้องและครบถ้วน ประกอบด้วย การบันทึกรายการรายรับที่ถูกต้อง และการบันทึกรายจ่ายที่ถูกต้องนั่นเอง หมายถึงการบันทึกทุกรายละเอียดอย่างครบถ้วนและสม่ำเสมอทุกวัน
การบันทึกรายรับ-รายจ่ายให้ถูกต้องและครบถ้วน ดิฉันลองมาหลายวิธีตั้งแต่เด็กจนโต ต้ังแต่เขียนในเศษกระดาษ เขียนในเล่ม บันทึกในคอมพิวเตอร์ มาประสบความสำเร็จมากๆ คือ การบันทึกในโปรแกรม Note ในโทรศัพท์มือถือ ด้วยการจ่ายปุ๊บ บันทึกปั๊บ เรียกได้ว่า บันทึกก่อนที่ใบเสร็จจะออกจากเครื่อง ก่อนที่พนักงานจะทอนเงิน หรือคืนบัตรเครดิต เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ บางทีแค่เดินพ้นประตูร้านก็ลืมแล้ว ไม่ต้องห่วงว่ากลับมานึกที่บ้านต่อซึ่งหลายคนนึกได้ก็ไม่ครบรายการ หรือยอดที่ถูกต้องครบถ้วนว่าใช้จ่ายอะไรไปบ้าง
การบันทึกรายรับ-รายจ่ายสามารถเริ่มต้นได้โดยตั้งหัวข้อรายการประจำที่ตนเองจ่ายรอไว้บันทึก เช่น ค่าอาหาร ค่าซุปเปอร์มาร์เก็ต ค่าเดินทาง ค่าของใช้ลูก ค่าหนังสือ เป็นต้น หากมีรายการพิเศษที่นานๆ ทีจะได้มีโอกาสจ่ายก็บันทึกว่าอื่นๆ โดยระบุชนิดของสินค้าหรือบริการที่จ่ายด้วย เมื่อทำอย่างนี้ครบทุกเดือนในวันที่1 ของเดือนถัดไป ดิฉันก็จะใช้เวลาเพียง 5-10 นาที ทำรายการสรุปไว้ในโปรแกรม Excel อีกครั้งหนึ่ง เพื่อดูภาพรวมว่าแต่ละรายการมียอดรวมใช้จ่ายเท่าไร นี่คือข้อแนะนำที่ผ่านการเรียนรู้ของดิฉันเอง ดิฉันค้นพบว่าเป็นวิธีที่ทำให้เรามีข้อมูลต่อการออกแบบแผนที่ขุมทรัพย์ได้ถูกต้องที่สุด และใช้เวลาน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ลองทำดูนะคะแล้วมาคอมเม้นท์แลกเปลี่ยนกันคะ ว่าวิธีการนี้คุณทำแล้วชอบไหม ยากง่ายอย่างไร
ตัวอย่างการบันทึกรายจ่ายของออม กิจวัตร
การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพียงเดือนเดียวคุณก็จะได้ข้อมูลบางส่วนที่สามารถเริ่มออกแบบแผนที่ แต่หากทำต่อเนื่องสัก 3-6 เดือน แผนที่คุณก็จะสามารถบอกทิศทางที่ตั้งขุมทรัพย์ของคุณได้แม่นยำขึ้น หากแรงลมเปลี่ยนทิศ ขุมทรัพย์ถูกเคลื่อนย้าย การมีบัญชีรายรับ-รายจ่าย ยังเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าลมแรงนั้นได้เปลี่ยนไปในทิศทางใด และต้องปรับการวาดในแผนที่อย่างไร
ขอให้ทุกท่านสนุกกับการทดลองการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายนะคะ
ออม กิจวัตร
โฆษณา