7 พ.ย. 2021 เวลา 08:09 • ข่าวรอบโลก
มติของอาเซียนที่ไม่เชิญให้พม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนสร้างความประหลาดใจให้กับหลายๆ คน ไม่เว้นแม้ผู้นำรัฐประหารพม่าเอง ที่พยายามถึงนาทีสุดท้ายให้อาเซียนเชิญตัวแทนจากรัฐบาลคณะรัฐประหารพม่าไปร่วมประชุมที่บรูไน ระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม แต่จนแล้วจนรอด ผู้นำอาเซียนส่วนใหญ่ยังเห็นว่ายังไม่ควรเชิญตัวแทนจากรัฐบาลพม่าไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอยู่ดี
1
มีคำถามว่าเหตุใดท่าทีของอาเซียนกับพม่าจึงดูค่อนข้างแข็งกร้าวกว่าที่เคยเป็นมา ต้องบอกว่าที่ผ่านมาผู้นำชาติส่วนใหญ่ในอาเซียนไม่ได้ชื่นชมชอบพม่า ตั้งแต่ในยุครัฐบาลพลเรือนของด่อ ออง ซาน ซูจี ที่ก็มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ อาเซียนอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่อย่างน้อยก็ยังเกรงใจรัฐบาลพลเรือนของพม่าอยู่บ้าง
3
การทูตในวันที่พม่าไร้เพื่อน โดย ลลิตา หาญวงษ์
เมื่อพม่ากลับเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารเต็มตัว อาเซียนพยายามเจรจากับพม่าเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองและความรุนแรง แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง หนำซ้ำพม่ายังพยายามประวิงเวลา จนอาเซียนมองว่าพม่าเสียมารยาททางการทูต จนนำไปสู่การบอยคอตไม่ให้พม่าเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน อีกหนึ่งคำอธิบายที่พอจะอธิบายท่าทีของอาเซียนได้คือในปัจจุบันในฝ่ายเสรี โดยเฉพาะในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือประเทศพัฒนาแล้วที่เรียกรวมๆ ว่าประเทศกลุ่มซีกโลกเหนือ (Global North) ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เรียกได้ว่าระเบียบโลกในทศวรรษ 2020 ถูกขับเคลื่อนด้วยประเด็นเหล่านี้
3
หรือพูดสั้นๆ คือโลกหมุนมาทางนี้ ดังนั้น ไม่ว่าผู้นำในอาเซียนจะเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อนหรือเปล่า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาเซียนจำเป็นต้องปรับตัว ไม่ใช่เพราะต้องตามโลกให้ทัน แต่เพื่อแสดงให้โลกภายนอกเห็นว่าอาเซียนมีศักยภาพเพียงพอ ในฐานะองค์กรระดับภูมิภาค และในฐานะที่อาเซียนก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกและระเบียบโลกใหม่นี้เช่นกัน
6
กล่าวได้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าปัจจุบันสวนทางกับระเบียบโลกใหม่ทั้งกะบิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิ่งแวดล้อม หรือรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีความโปร่งใส อาเซียนไม่สามารถมองพม่าจากภายนอกได้อีกต่อไปแล้ว แต่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงบ้าง เพราะตราบใดที่พม่ายังเป็นสมาชิกอาเซียน ความมั่นคงของพม่า ย่อมหมายถึงความมั่นคงของอาเซียนไม่ต่างกัน แต่สำหรับพม่าแล้ว คณะรัฐประหารพูดไว้ชัดเจนว่าพม่าควรเรียนรู้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปกับเพื่อนเพียงไม่กี่คน หมายความว่าพม่าไม่จำเป็นต้องตามกระแสของโลก และเลือกคบเพื่อนที่มี “ศีลเสมอกัน” โดยเฉพาะรัสเซีย จีน หรือแม้แต่ไทย ที่ผู้นำมีความคิดใกล้เคียงกับผู้นำพม่า อย่างน้อยผู้นำเหล่านี้ก็ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเหมือนกับผู้นำพม่า
4
อย่างไรก็ดี บรรดาเพื่อนที่พม่าไว้ใจต่างมีข้อสงสัยและไม่ค่อยวางใจพม่านัก เมื่อเกิดรัฐประหาร ท่าทีของจีนออกไปในเชิงสนับสนุนรัฐประหารอยู่บ้าง เพราะจีนเชื่อว่ากองทัพพม่ามีความเข้มแข็ง เมื่อนึกถึงเรื่องผลประโยชน์ การเลือกอยู่ข้างกองทัพ ซึ่งยังไงก็ถือไพ่เหนือกว่าพรรคเอ็นแอลดีหรือภาคประชาชน ย่อมเป็นการวางหมากการเมืองที่รัฐบาลปักกิ่งมองว่าเหมาะสม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปักกิ่งเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าควรสนับสนุนรัฐบาลคณะรัฐประหารต่อไปดีหรือไม่ แต่รัฐประหารครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา และความขัดแย้งในพม่าเริ่มบานปลายจนเกิดมีกองทัพประชาชน ในนาม PDF และรัฐบาลคู่ขนาน NUG ขึ้นมา ความไม่มั่นคงแผ่ไปทุกหย่อมหญ้า รวมทั้งตามแนวชายแดนพม่า-จีนด้วย จนทำให้จีนต้องกลับมาพิจารณาท่าทีต่อรัฐบาลพม่าชุดปัจจุบันอีกครั้ง
ประเด็นสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ การที่คณะรัฐประหารพม่าพยายามเข้าหารัสเซีย ไม่ว่าจะผ่านการซื้ออาวุธ หรือการไปเยือนรัสเซียบ่อยครั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศขนาดใหญ่อย่างรัสเซียก็ยังเข้าข้างพม่า ทำให้จีนรู้สึกอึดอัดเป็นอย่างยิ่ง จีนรู้ดีว่าพม่าพยายามใช้รัสเซียเป็นตัวต่อรองกัตน และกองทัพพม่าอยากให้จีนเข้ามาตนมากขึ้น เพราะจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลเอ็นแอลดีมากกว่ากองทัพ จนถึงปัจจุบัน จีนก็ยังคำนวณอยู่ว่าควรจะเข้าหาคณะรัฐประหารพม่ามากขึ้นดีหรือไม่ และจะเข้าหาในลักษณะใด ในเดือนสิงหาคม นายซุน กั๋วเสียง (Sun Guoxiang) ทูตพิเศษกิจการเอเชียของจีน เดินทางไปเนปยีด่อถึง 1 สัปดาห์เต็ม และพยายามที่จะเข้าพบด่อ ออง ซาน ซูจีให้ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ
2
แม้พรรคเอ็นแอลดีจะไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้ว แต่จีนยังมีทีท่าสนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี และด่อ ออง ซาน ซูจีอย่างเปิดเผย เมื่อมีข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งพม่ากำลังเสนอให้ยุบพรรคเอ็นแอลดี จีนออกแถลงการณ์ตอบรับจดหมายของพรรคเอ็นแอลดีที่ส่งไปแสดงความยินดีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนครบ 100 ปี และยังเชิญตัวแทนจากพรรคเอ็นแอลดีเข้าร่วมการประชุมที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเชิญตัวแทนพรรคการเมืองจากหลายประเทศเข้าไปพูดคุยด้วย
1
อีกปรากฏการณ์หนึ่ง ที่สร้างความประหลาดใจให้กับชาวโลก คือจีนยอมเจรจากับสหรัฐอเมริกา และยอมให้ จ่อ โม ทุน (Kyaw Moe Tun) เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ ผู้ประกาศกร้าวว่าต่อต้านรัฐประหารและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชน ให้เป็นตัวแทนพม่าประจำสหประชาชาติต่อไป ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงตำแหน่งนี้มานาน ฝ่ายคณะรัฐประหารเองก็ต้องการส่งคนของตนเข้าไปประจำสำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์ก เพราะจะเพิ่มความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมให้ตนได้แบบก้าวกระโดด แต่ในท้ายที่สุด ประเทศเสรีทั้งหมดก็เลือกเข้าข้างรัฐบาลคู่ขนานในนาม NUG และมีบางประเทศที่เริ่มรับรอง NUG อย่างเป็นทางการในฐานะตัวแทนของพม่าไปแล้ว
เท่ากับในตอนนี้ รัฐบาลคณะรัฐประหารอยู่แบบลำบาก จะหันไปพึ่งพาจีนก็ไม่ได้ เพราะจีนไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น จะหวังให้อาเซียนเป็นมิตรแท้คอยช่วยเหลือในยามยากก็ยิ่งไม่ได้ใหญ่ ไม่ต้องพูดถึงท่าทีของชาติตะวันตกที่เดินหน้าประณามพม่าแบบเปิดเผย แม้แต่รัสเซียเองก็น่าจะเริ่มเบื่อพม่าในไม่ช้า เมื่อดีลการซื้ออาวุธสิ้นสุดลง หรือรัสเซียเล็งเห็นแล้วว่าพม่าไม่ได้มีประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์กับตนขนาดนั้น ส่วนไทยเองก็ไม่ได้มีนโยบายต่างประเทศที่เป็นรูปธรรมอะไร พร้อมจะเข้าหาทุกชาติที่มอบผลประโยชน์ให้
4
หลังจากนี้ไทยเองคงไม่สามารถเชียร์พม่าออกนอกหน้าได้อีกแล้ว ดังที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ว่าผู้นำไทยจะรู้สึกผูกพันกับผู้นำในกองทัพพม่าอย่างไรก็ตาม แต่ในท้ายที่สุด คนในรัฐบาลไทยย่อมเข้าใจดีที่สุดว่าทั้งโลกกำลังตีตัวออกห่างจากพม่า เพราะโลกในศตวรรษนี้ไม่ใช่โลกของผู้นำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกแล้ว หากแต่เป็นโลกที่โปร่งใสขึ้น และให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากพอๆ กับความมั่นคงทางการเมืองและพัฒนาการทางเศรษฐกิจ
4
โฆษณา