7 พ.ย. 2021 เวลา 15:21 • การศึกษา
■​ พระเจ้า(คามิ)สำหรับคนญี่ปุ่น
ผู้เขียน : ฮาชิซึเมะ ไดซาบุโร่ (橋爪大三郎)
รูปภาพจาก Google
ในญี่ปุ่นหากพูดถึงเรื่องศาสนา สิ่งที่คนในประเทศส่วนใหญ่พอจะนึกขึ้นได้คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ "พระเจ้า" หรือเรื่องของ "พระพุทธเจ้า" โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า "คามิ" (カミ หมายถึง เทพ,นางฟ้า,พระเจ้า) อันเป็นหลักความเชื่อตั้งแต่ก่อนที่จะรับพุทธศาสนาเข้ามาสู่แดนอาทิตย์อุทัย ทว่านับจากญี่ปุ่นยุคเก่าจวบจนมาสู่ยุคสมัยใหม่นี้ แนวคิดในเรื่องคามินั้นได้มีพัฒนาการมาในลักษณะอย่างไรกัน?
■ God , 神 , カミ
คำว่า "God" ในภาษาญี่ปุ่นจะเหมือนกันกับอักษรจีนคือตัว "神" (เทพ,นางฟ้า,พระเจ้า) โดยจะออกเสียงแบบญี่ปุ่นว่า "คามิ" ซึ่งตรงนี้ถ้าคนที่ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาจีนมาก่อนเลยก็อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจข้อมูลที่ผิดพลาดได้ ดังนั้นจึงอยากให้เรามาทำความเข้าใจความเหมือนหรือแตกต่างของคำทั้งสามคำกันก่อน นั่นคือคำว่า God , 神 และカミ
God คือพระเจ้าในศาสนาที่เชื่อเรื่องของพระเจ้าองค์เดียว ซึ่งเขียนด้วยอักษรตัวพิมพ์ใหญ่(G) ตามหลักภาษาอังกฤษ เนื่องจากมีเพียงพระองค์เดียวในโลก แต่หากเขียนด้วยตัวพิมพ์เล็ก(god) จะมีความหมายถึงเทพเจ้าในศาสนาที่เชื่อว่ามีเทพเจ้าหลายองค์ที่สถิตอยู่ ณ ที่ต่างๆ
ต่อมาคือ" 神 " ที่จริงอักษรตัวนี้ในภาษาจีน(รวมถึงภาษาญี่ปุ่น)
หมายถึง "เทพเจ้า" แต่เมื่อใดที่อักษรตัวนี้ไปปรากฏร่วมกับอักษรตัวอื่น(หมายถึงเป็นคำศัพท์หนึ่งๆ) มันจะเป็นคำที่สื่อความหมายถึงปรากฏการณ์ทางด้านจิตใจ รวมถึงทางด้านความคิด-ความรู้สึกและระบบประสาทของมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น คำว่า " 精神 " (เซอิชิน = จิตใจ,ความคิด,อารมณ์) หรือคำว่า " 神経 " (ชินเคอิ = ระบบ/เส้นประสาท) ซึ่งถ้าดูจากความหมายในตัวอักษรของคำศัพท์ที่ยกมาให้ดูนี้ในอีกแง่มุมหนึ่งมันก็แสดงถึงภาวะการมีอยู่ราวกับเทพเจ้า(เพราะมีตัวอักษร神ที่แปลว่าเทพเจ้า) ที่ถึงแม้จะไม่อาจเห็นด้วยตาแต่ก็สามารถแสดงออกมาเป็นภาวะทางใจและกายให้ตนเองและผู้อื่นรับรู้ได้นั่นเอง
เพียงแต่ไม่ใช่ภาวะการมีอยู่ในระดับที่สูงส่งพอที่จะเรียกว่าเทพเจ้าได้ในความหมายตามที่มนุษย์เข้าใจ เพราะสิ่งที่สูงส่งที่สุดกว่านั้นจะเรียกว่า " 天 " (เท็น = ฟ้า,สวรรค์) หรือ " 上帝 " (โจเทอิ = พระผู้เป็นเจ้า,พระผู้สร้าง)
ส่วน "カミ" (คามิ) ที่มีมาแต่โบราณของญี่ปุ่นถ้าจะให้อธิบายง่ายๆก็คือเป็นการเปลี่ยนปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์คุ้นเคยให้กลายมาเป็นบุคลาธิษฐานของเทพเจ้านั่นเอง
คามิตามที่มีปรากฎอยู่ในหนังสือเก่าแก่ของญี่ปุ่น อันได้แก่คัมภีร์ "โคจิกิ" และ "นิฮงโชะกิ" หรือจะเป็นคามิที่ได้รับการสักการะบูชาอยู่ในศาลเจ้านั้น เหล่านี้ล้วนถือเป็นเรื่องปกติในญี่ปุ่น
แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ สิ่งใดที่มีลักษณะพิเศษและแตกต่างไปจากธรรมดาหรือมีความโดดเด่นในตัวเอง เช่น ดวงอาทิตย์ พระจันทร์ สายลม ฝน ทะเล ต้นไม้ใหญ่ หินผา รวมถึงสัตว์ พืชพันธุ์ หรือแม้แต่มนุษย์เอง คนญี่ปุ่นก็ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นคามิได้เช่นกัน
โมโตะโอริ โนรินากะ(本居宣長) นักวิชาการด้านวรรณกรรมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นแห่งยุคเอโดะผู้นี้คือผู้ที่ได้ให้คำจำกัดความต่อคามิของญี่ปุ่นตามที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับตัวเขาแล้ว สิ่งที่ส่งผลให้มนุษย์เกิดความรู้สึกซาบซึ้งไปกับความเศร้าสะเทือนใจ(あはれ) สิ่งนั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นคามิ
โมโตะโอริ โนรินากะ
สำหรับคนญี่ปุ่นที่มีความคิดแบบเช่นที่ว่ามา ก็เชื่อว่าดินแดนนี้คือประเทศแห่งคามิ ที่ซึ่งมีคามิสถิตอยู่ในทุกหนแห่งพร้อมกับทั้งรายล้อมไปด้วยธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งความเชื่อแบบนี้ได้ทำให้เกิดการถูกเข้าใจผิด(จากต่างชาติ) ว่ามีลักษณะอันแสดงให้เห็นถึงความคิดแบบชาตินิยมที่งมงาย เนื่องมาจากได้มีการแปลคำว่าประเทศแห่งคามิออกไปเป็นภาษาต่างประเทศด้วย ทั้งที่ความจริงแล้วแต่เดิมนั้นคามิไม่ได้มีความหมายไปในทางนั้น
■ ชินโต ความเชื่อที่เกิดจากการหลอมรวมปัจจัยต่างๆเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน
ความเชื่อที่มีมาแต่โบราณของญี่ปุ่นในการสักการะบูชาเทพเจ้าเรียกว่า ชินโต
ชินโตในยุคเก่าจะเป็นไปในลักษณะใดนั้นไม่มีข้อมูลหรือรายละเอียดที่แน่ชัด แต่ก็อาจจะมีสถานภาพมั่นคงพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นชินโตมาตั้งแต่แรกเริ่มแล้วก็เป็นได้ หรือไม่อย่างนั้นก็คงมีปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย เช่น
・ ปัจจัยจากประเพณีการเคารพบูชาธรรมชาติของคนโจมง(縄文人) อันเป็นช่วงขั้นล่าสัตว์และเก็บของป่า
・ ชาวยาโยอิ(弥生人) ที่รู้จักการเพาะปลูกข้าวซึ่งบูชาสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินในรูปของตุ๊กตาดินเผา(土偶) รวมถึงการรับเอาลัทธิหมอผีคนทรงมาจากคาบสมุทรเกาหลีด้วย
・อาวุธที่ทำมาจากทองสัมฤทธิ์ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากจีนหรือกระจกเงาที่ใช้เป็นอุปกรณ์ในพิธีกรรมหรือเป็นเครื่องมือสาปแช่งของบรรดาหัวหน้า
・การพยากรณ์ดวงชะตาที่มีต้นกำเนิดมาจากจีน วิชาปฏิทินดาราศาสตร์หรือแนวคิดเรื่องเซียน(ผู้วิเศษ) ที่ถูกสะท้อนผ่านเทศกาลทางศาสนาหรือในพิธีศพของชนชั้นปกครอง
・ชุมชนหรือกลุ่มที่มีอิทธิพลในแต่ละท้องที่ได้สร้างศาลเจ้าเพื่อบวงสรวงเทพประจำตระกูลอันมีต่างๆกันไป
ตุ๊กตาดินเผา (土偶)
ปัจจัยในอดีตข้างต้นก่อให้เกิดการหลอมรวมปัจจัยต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน แต่การตระหนักได้ถึงความเป็นศาสนาชินโตก็ภายหลังจากที่พุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาสู่ญี่ปุ่น และผู้คนก็เริ่มรู้สึกได้ถึงการต่อต้านในความแตกต่างที่มีต่อพุทธศาสนา
■ มโนคติของคามิที่เกิดจากการเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้า
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่พระโคตมพุทธเจ้า(สิทธัตถะโคตม = ประสูติราวศตวรรษที่6หรือราวศตวรรษที่5ก่อนคริสตศักราช) เริ่มเผยแผ่ในประเทศอินเดีย พระองค์ได้ทำให้เกิดตำราคำสอนที่ครอบคลุมร่วมกับทฤษฎีที่มีความละเอียดลึกซึ้ง
ในเวลานั้นเนื่องจากพุทธศาสนาที่เผยแผ่เข้ามาสู่ญี่ปุ่นได้เข้ามาโดยผ่านทางจีน จึงทำให้ในส่วนของหนังสือตำราได้มีพระธรรมคำสอนที่ถูกแปลถูกเขียนขึ้นด้วยอักษรจีน อีกทั้งองค์กรด้านศาสนาหรือการบริหารงานในสมัยนั้นก็ยังคงเป็นรูปแบบที่มาจากจีนอยู่
คนญี่ปุ่นจึงได้นำเอามโนคติเรื่องของคามิมาใช้ ด้วยการนำคามิไปเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้าที่ได้เรียนรู้มาข้างต้น
หากเปรียบเทียบพระพุทธเจ้ากับคามิ สามารถกล่าวได้ดังต่อไปนี้
・พระพุทธเจ้าดำเนินชีวิตในฐานะมนุษย์ผู้รู้แจ้ง(ซาโตริ) เนื่องจากพระองค์ละกายสังขารโดยได้หลุดพ้นจากสังสารวัฏเข้าสู่นิพพานถึงซึ่งความไร้การมีอยู่ของตัวตน ส่วนคามิต่างจากมนุษย์ก็จริง แต่หากก็เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ด้วย มีชีวิตและยังสามารถตายได้
・พระพุทธเจ้าเป็นบุรุษผู้รักษาพรหมจรรย์ ส่วนคามินั้นมีทั้งที่เป็นชายเป็นหญิง มีการแต่งงานได้
・ด้านพระพุทธเจ้า จะมีการทำรูปเคารพไว้เป็นพระพุทธรูปและประดิษฐานไว้ที่วัด แต่พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ที่วัด ส่วนคามิไม่มีการสร้างเทวรูป โดยที่ในศาลเจ้าจะประดิษฐานสิ่งของแทนองค์คามิเอาไว้(依代) แต่คามิไม่ได้สถิตอยู่ที่ศาลเจ้า
สิ่งของแทนองค์คามิ (依代)
วัฒนธรรมชั้นสูงที่มาจากจีนอาทิเช่น พุทธศาสนา ระบบกฎหมายและพระราชบัญญัติ(律令制) การคำนวณปฏิทินดาราศาสตร์ ยารักษาโรคและสถาปัตยกรรม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นปกครองใช้เพื่อทำให้อำนาจและบารมีของตนดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น อย่างนี้พุทธศาสนาที่ได้รับการหยั่งรากในญี่ปุ่นแล้วนั้นได้มีการแยกออกจากชินโตได้อย่างไร
■ การสถาปนาบรรดาคามิและความศรัทธาต่อพุทธศาสนาของขุนนางภายใต้อำนาจการปกครองยามาโตะ
ในบรรดากลุ่มอิทธิพลที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่อยู่ในแต่ละพื้นที่นั้น กลุ่มอำนาจการปกครองยามาโตะ(ヤマト政権) อันเป็นกลุ่มที่นับถือเทพีอามาเทระสุเป็นบรรพบุรุษ(アマ氏) ได้ประสบความสำเร็จในการรวบรวมพันธมิตรที่ได้ถือครองสิทธิในพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษเพียงกลุ่มเดียว
เทพีอามาเทระสุ
ส่วนกลุ่มอิทธิพลอื่นๆที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่แต่มีอำนาจน้อยกว่าก็จะมีคามิที่มีลักษณะเฉพาะในแบบของตนเองแตกต่างกันไป
ซึ่งที่จริงก็เป็นคามิที่ได้รับการซึมซับรับอิทธิพลมาจากคามิที่เป็นบรรพบุรุษนั่นเอง (ตัวอย่างเช่น เทพอิสุโมะ โนะ โอคุนินุชิ) ซึ่งพันธมิตรในพื้นที่สามารถที่จะสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจผ่านตำนานเทพปกรณัมที่ให้บรรดาเหล่าคามิทั้งหลายดำรงอยู่ร่วมกันด้วยความกลมกลืน
เทพอิสุโมะ โนะ โอคุนินุชิ
ในศตวรรษที่8 "นิฮงโชะกิ" และ "โคจิกิ" ได้ถูกรวบรวมเข้าไว้ด้วยกัน คัมภีร์นี้ได้อธิบายไว้ว่าในบรรดาทวยเทพ(คามิ)ทั้งหลายนั้น เทพีอามาเทระสุเป็นเทพเจ้าองค์หลัก และทายาทผู้สืบสายเลือดต่อจากพระนางนั้นก็คือจักรพรรดิผู้ได้สืบทอดสิทธิในพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษและสิทธิในการปกครองแต่เพียงผู้เดียว ผลคือกลุ่มอิทธิพลที่อยู่นอกเหนือเชื้อสายจักรพรรดิจะถูกกันออกจากสิทธิในพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษหรือสิทธิในการปกครอง
ถึงอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้หากเทียบกับชาวอิสราเอลที่พวกเขาได้ก่อตั้งศาสนาอันมีพระยาห์เวห์เป็นGodเพียงหนึ่งเดียวของพวกเขา และก็ยังได้มีการปฏิเสธความเชื่ออื่นด้วยนั้น กลุ่มอำนาจการปกครองยามาโตะกลับมีจุดเด่นตรงที่ยังคงให้ฐานะอย่างเดิมในระดับที่ยอมรับได้แก่สิ่งเหล่านั้น(บรรดาคามิทั้งหลาย) โดยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาต่อเทพีอามาเทระสุ นี่จึงเป็นการสื่อให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกันได้ของบรรดาคามิก็มีความหมายเทียบเท่ากับการอยู่ร่วมกันได้ของกลุ่มอิทธิพลต่างๆในพื้นที่ด้วยนั่นเอง
1
คุณลักษณะเด่นของพระพุทธเจ้า คือเป็นผู้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบรรดาคามิทั้งหลาย อีกทั้งไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของเทพีอามาเทระสุ ดังนั้นด้วยสถานการณ์ที่นอกจากจักรพรรดิได้เป็นผู้ถือครองสิทธิในพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษแต่เพียงผู้เดียวแล้ว ชินโตเองก็ได้มีการถูกปรับใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อใช้เป็นเหตุผลรองรับสิทธิในการปกครองของจักรพรรดินั่นเอง
1
จากนั้นกลุ่มอิทธิพลที่ถูกกันออกไปจากสิทธิในการปกครองที่เหลืออยู่นั้นภายหลังสามารถที่จะรับพุทธศาสนาเข้ามาใช้ได้อย่างอิสระ ซึ่งกลุ่มอิทธิพลในแต่ละพื้นที่เหล่านี้อาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่นในภูมิภาคยามาโตะ ซึ่งต่อมาก็กลายมาเป็นขุนนางที่รับราชการในรัฐบาลรวมถึงได้สืบทอดการถือครองที่ดิน(荘園) อีกด้วย
ขุนนางส่วนใหญ่มีความศรัทธาต่อพุทธศาสนา ได้มีการสร้างวัดโดยหวังการได้ไปเกิดใหม่บนสวรรค์ในโลกหน้า ความคิดที่ว่าหลังการตายจะได้ไปเกิดใหม่เป็นพระพุทธเจ้านั้นเป็นแนวคิดใหม่ที่แตกต่างจากชินโต ในอีกด้านหนึ่ง ขุนนางและบรรดาชาวนาที่ทำงานเลี้ยงปากท้องในที่ดินของวัดและศาลเจ้านั้น ดูเหมือนว่าฝ่ายความศรัทธาตามประเพณีดั้งเดิมที่พวกเขามีต่อบรรดาคามิในท้องถิ่นจะยังดูเป็นสิ่งใกล้ตัวพวกเขามากกว่าพุทธศาสนา
■ ชินโตกับพุทธศาสนา ความต่างในมุมมองเรื่องชีวิตและความตาย
คนญี่ปุ่นมีความคิดในเรื่องโลกหลังความตายอย่างไร?
ในเรื่องนี้ก็มีทั้งความคิดที่ว่าภายหลังจากที่ตายแล้วผู้ตายจะเดินทางกลับสู่ภูเขาหรือมุ่งไปสู่ก้นพื้นพสุธา(เมืองนรก) รวมถึงมีความเชื่อว่าจะไปสู่ฝากโน้นของทะเล(โลกอันเป็นนิรันดร์) มีแนวคิดในเรื่อง "ความไม่บริสุทธิ์ของผู้ตาย" หมายถึงถ้าหากผู้ตายไปสู่ที่ไหนสักแห่งที่ไกลห่างจากชุมชน ตัวเขาก็จะมีความนึกคิดที่คลุมเครือไม่ชัดเจน และไม่มีความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดตามหลักพุทธศาสนา
อีกทั้งเมื่อแนวคิดจากจีนที่เชื่อว่าผู้ตายจะไปอาศัยอยู่ในนรกโดยกลายเป็นยักษ์นั้นได้เข้ามาสู่ญี่ปุ่นผ่านทางลัทธิเต๋าหรือพุทธศาสนา เรื่องนี้ก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่ค่อยๆแพร่หลายออกไป
ยักษ์ (鬼)
จักรพรรดิบูชาเทพีอามาเทระสุ พระองค์สักการะบรรดาทวยเทพทั้งหลายและกราบไหว้บรรพบุรุษของพระองค์ พิธีกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้แบบอย่างมาจากธรรมเนียมปฏิบัติของผู้ปกครองในประเทศจีน แต่การกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษที่สิ้นชีวิตไปแล้วด้วยการยกฐานะให้เป็นคามินั้นเป็นลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในญี่ปุ่น
โดย ณ ที่ไหนสักแห่งที่ห่างไกล หลังจากที่ผู้ตายถูกทำให้ "ความไม่บริสุทธิ์" ดังกล่าวได้กลับสะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมาอีกครั้ง ก็จะถือว่าได้กลายมาเป็นดังเช่นคามิแล้ว
ส่วนพุทธศาสนานั้นมีแนวคิดว่าความสำคัญของการฝึกปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อเป้าหมายในการมุ่งสู่นิพพานในระหว่างที่มนุษย์ยังคงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ มนุษย์ที่ตายไปแล้วนั้นจะกลับมามีชีวิตบนโลกใบนี้อีกครั้งด้วยการมาเกิดใหม่เป็นอีกชีวิตหนึ่งทันที และคิดว่าไม่มีทั้งโลกของคนตายและวิญญาณ
ดังนั้นกล่าวได้ว่า พุทธศาสนามีแนวคิดที่แตกต่างไปจากชินโตอย่างสิ้นเชิงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความตายของมนุษย์
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การที่พุทธศาสนาได้แพร่หลายออกไปนั้น เหตุใดจึงเป็นสิ่งที่ทำได้
■ สมัยคามาคุระจนถึงสมัยเอโดะ ที่ไร้การแบ่งแยกคามิกับพระพุทธเจ้า
เรื่องทฤษฎีการให้คามิของชินโตเปรียบดั่งภาคหนึ่งของพระพุทธเจ้า(本地垂迹説) แนวคิดนี้ได้มีการถูกสาธยายท่องจำกันมาในสมัยเฮอัน ราวกับจะยืนยันว่าบรรดาคามิในญี่ปุ่นคือพระพุทธเจ้าหรือเป็นบรรดาโพธิสัตว์องค์ต่างๆของอินเดียที่เสด็จมาถึงโดยการเปลี่ยนรูปร่างลักษณะพระวรกาย
กล่าวคือ คามิ = พระพุทธเจ้านั่นเอง ในสมัยคามาคุระเรื่องนี้ได้กลายเป็นธรรมเนียมทั่วไปของคนญี่ปุ่น ถ้าหากคามิ = พระพุทธเจ้า อย่างนี้แม้จะพนมมือไหว้คามิก็เท่ากับได้พนมมือไหว้พระพุทธเจ้าด้วยเหมือนกัน ถ้าเช่นนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นในการที่ต้องไปแบ่งแยกระหว่างศาลเจ้า(ของชินโต) กับวัด(ของพุทธ) และก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปแบ่งแยกพุทธศาสนากับชินโต นับแต่นั้นจวบจนสิ้นสุดสมัยเอโดะคนญี่ปุ่นก็ไม่ได้เคร่งครัดในการแบ่งแยกระหว่างคามิกับพระพุทธเจ้าอีกต่อไป
เพราะถ้าเมื่อคนตายแล้วกลายเป็นคามิได้ คนก็ตายแล้วกลายเป็นพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน ในพุทธศาสนานิกายโจโดะ(浄土宗) เป็นนิกายที่ปรารถนาการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดและได้ไปอุบัติเกิดใหม่บนสวรรค์ พระอมิตาภะพุทธะเมื่อครั้งสมัยบำเพ็ญตนนั้นได้มีปณิธานว่าจะนำพาสรรพสัตว์ในโลกนี้ไปเกิดใหม่ ณ ดินแดนพุทธเกษตรของพระองค์(แดนสุขาวดี)
ซึ่งการที่จะได้ไปเกิดใหม่บนสวรรค์หรือไม่นั้นเป็นจุดที่สำคัญ เนื่องจากหากได้ไปเกิดในสวรรค์จะได้รับการพยากรณ์ให้อยู่ในระดับขั้นของการเกิดอีกเพียงชาติเดียวก็จะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ(一生補処 เอกชาติปฏิพันธ์)
และจากหลักคำสอนที่ว่า หลังจากตาย➔จะได้ไปเกิดบนสวรรค์➔และเข้าสู่นิพพานเป็นพระพุทธเจ้า ทำให้แนวคิดที่ว่ามนุษย์ถ้าหากตายไปแล้วจะกลายเป็นพระพุทธเจ้านี้ก็ได้แพร่หลายออกไป
ดังนั้นจนถึงวันนี้ มุมมองเรื่องชีวิตและความตายโดยเฉลี่ยทั่วๆไปของคนญี่ปุ่นคือ..
・เมื่อมนุษย์ตายแล้ว จะกลายเป็นวิญญาณและเร่ร่อนไร้จุดหมาย ณ บริเวณแวดล้อมรอบๆอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
・หลังจากนั้นจะไปสู่โลกโน้นด้วยการข้ามแม่น้ำยมโลก(三途の川) และได้กลายเป็นพระพุทธเจ้า(หรือกลายเป็นคามิ)
・ในชาตินี้ กรณีที่ความหลงยึดติดหรือความอิจฉาริษยายังมีกำลังแรง ก็จะกลายเป็นภูติผีไม่สามารถนิพพานเป็นพระพุทธเจ้าได้
・ผู้ที่ทำกรรมไม่ดี โทษคือตกนรกและถูกพญามัจจุราชหรือพวกยักษ์จับทรมาน
・ในเทศกาลบ้ง(盆 เทศกาลไหว้บรรพบุรุษช่วงกลางเดือน ส.ค.) บรรดาผู้ตายจะกลับมาสู่บ้าน
・ในส่วนของบรรพบุรุษจะเซ่นไหว้ป้ายวิญญาณที่มีการสลักชื่อใหม่ที่พระเป็นผู้ตั้งให้(戒名)ไว้บนหิ้งพระ และมีการจุดธูปด้านหน้า
ก็มีประมาณนี้ แต่เมื่อคิดวิเคราะห์ให้ดีแล้วมันก็ไม่ได้เป็นทั้งชินโตหรือพุทธศาสนา ยิ่งไปกว่านั้นเนื้อหายังมีความย้อนแย้งกันเองด้วย
■ สู่ลัทธิชาตินิยมที่เคารพนับถือจักรพรรดิเยี่ยงเทพเจ้า
ในสมัยเอโดะ รัฐบาลของโชกุนสั่งห้ามการนับถือศาสนาคริสต์และบังคับคนญี่ปุ่นทุกคนให้เข้าเป็นชาวพุทธ ในเรื่องนี้ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนคือการให้ทุกครัวเรือนเข้าสังกัดนิกายและต้องลงทะเบียนกับวัดที่อยู่ ละแวกใกล้บ้าน (檀家制度) ทางด้านพระสงฆ์ ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆได้นอกจากพิธีศพ
อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลของโชกุนยังได้สนับสนุนการศึกษาลัทธิขงจื๊อใหม่แบบเอโดะ(朱子学 Neo-Confucianism โดย จูซี) ให้แก่บรรดาเหล่านักรบซามูไรด้วย
ลัทธิขงจื๊อใหม่นี้ได้แพร่หลายไปในกลุ่มคนระดับสูงที่เป็นชาวเมือง(พ่อค้า,ช่างฝีมือ) และชาวนาด้วย และแม้รัฐบาลของโชกุนจะมีทั้งการบังคับเรื่องพุทธศาสนาและยังมีทั้งการสนับสนุนลัทธิขงจื๊อใหม่ในคราวเดียวกันอีก แบบนี้เหมือนว่าได้มีการดำเนินนโยบายที่ย้อนแย้งกันเองแต่ก็ไม่ได้มีการตระหนักต่อเรื่องเหล่านี้สักเท่าไหร่
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะลัทธิขงจื๊อใหม่นั้นต่อต้านพุทธศาสนา เป็นลัทธิที่ปฏิเสธการมีอยู่ในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดหรือเรื่องวิญญาณ อีกอย่าง เพราะความคิดที่ว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามหากได้ศึกษาหาความรู้ก็สามารถขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งปกครองได้ จึงปฏิเสธระบบชนชั้นที่มีใช้กันอยู่ในสมัยเอโดะ อันประกอบด้วยนักรบ,ชาวนา,ช่างฝีมือและพ่อค้า (土農工商)
ชนชั้นต่างๆในสมัยเอโดะ
อีกทั้งเพราะให้ความสำคัญไปที่การทุ่มเทความจงรักภักดีที่มีต่อรัฐบาล(ผู้ปกครอง)ที่มาอย่างถูกต้องตามธรรมเนียม กลายมาเป็นการสร้างแนวคิดเทิดทูนบูชาจักรพรรดิที่ให้ความเคารพพระองค์ว่าเป็นผู้ปกครองที่แท้จริง กล่าวได้ว่า ด้วยศักยภาพที่ลัทธิขงจื๊อใหม่มีอยู่นั้นเองได้เก็บซ่อนความสามารถที่จะทำลายระบบการจัดการปกครองในสมัยเอโดะเอาไว้ด้วย ตรรกะนี้ ยามาโมโตะ ชิจิเฮอิ ได้อธิบายเนื้อหารายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในหนังสือ "เหล่าผู้รังสรรค์สมมุติเทพ"(現人神の創作者たち)
แต่ลัทธิขงจื๊อใหม่ก็ได้ก่อให้เกิดทฤษฎีจินไซของอิโต้ จินไซ(伊藤仁斎) และ ทฤษฎีโซไรของโอกิว โซไร(荻生徂徠) อันเป็นทฤษฎีที่ยังคงยึดหลักความเชื่อแบบดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่นที่เรียกว่าเป็นการกลับไปสู่ "วิถีแห่งขงเม่ง" (ขงเม่ง หมายถึงขงจื๊อและเม่งจื๊อ) จากนั้น ใช้การศึกษาวรรณกรรมและวัฒนธรรมนำไปตีความทำความเข้าใจในหนังสือตำราต้นฉบับเดิมที่มีมาแต่โบราณของญี่ปุ่นโดยยึดหลักความเชื่อแบบลัทธิขงจื๊อดั้งเดิมมาใช้เป็นรากฐาน
โอกิว โซไร
โมโตะโอริ โนรินากะ บุคคลผู้เป็นศูนย์กลางสำคัญของการศึกษาวรรณคดีและวัฒนธรรมโบราณของญี่ปุ่นได้แต่งหนังสือ "คำวิจารณ์โคจิกิ"(古事記伝) โดยหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่นำเอาญี่ปุ่นในช่วงที่ประเทศยังเป็นสังคมก่อนรู้หนังสือในสมัยเดียวกับที่วาด"โคจิกิ" ขึ้นมาเป็นองค์ประกอบอีกครั้ง
ซึ่งในเวลานั้นได้มีรัฐบาลอยู่แล้วก่อนหน้านี้ และผู้คนก็ยืนยันในความคิดของตนว่าจะอ่อนน้อมยอมเชื่อฟังต่อจักรพรรดิ การอ่อนน้อมยอมเชื่อฟังต่อจักรพรรดินี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังตามคำสอนของลัทธิขงจื๊อใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นสิ่งที่มาจากความรู้สึกในใจตามธรรมชาติของผู้คน ด้วยเหตุนี้เอง โอกาสในการเข้าสู่ลัทธิชาตินิยมที่เคารพนับถือจักรพรรดิเยี่ยงเทพเจ้าก็ได้ถูกคนญี่ปุ่นทั้งหลายเปิดแง้มออกมา
■ ชินโตฮิราตะที่เปิดทางไปสู่ชินโตแห่งรัฐ
ตั้งแต่ปลายสมัยเอโดะจนมาถึงการปฏิรูปเมจิ สิ่งที่มาเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในเรื่องคามิของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างมากคือชินโตแบบฮิราตะ ที่ฮิราตะ อะซึทาเนะ(平田篤胤)ได้บรรยายไว้
ฮิราตะ อะซึทาเนะ
ฮิราตะ อะซึทาเนะ ที่อ้างตัวว่าเป็นลูกศิษย์ของโมโตะโอริ โนรินากะ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องชินโตและได้บรรยายเอาไว้ดังนี้
มนุษย์เมื่อตายแล้วไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้หมายความว่าจะไปยมโลก แต่จะกลายเป็นวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิญญาณของเหล่าผู้พลีชีพในภารกิจของชาตินั้นจะกลายมาเป็นวิญญาณวีรชน(วิญญาณที่ดี) อันปราศจากความไม่บริสุทธิ์ที่กำลังปกปักพิทักษ์รักษาผู้คนรุ่นหลังต่อๆมา
แนวคิดที่เปลี่ยนแปลงใหม่นี้ (ในคนแต่ละคนมีวิญญาณ แม้หลังการตายก็จะไม่สูญเสียลักษณะเฉพาะของคนๆนั้นไป) ว่ากันว่าฮิราตะ อะซึทาเนะได้เรียนรู้มาจากศาสนาคริสต์โดยการแอบอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลที่แปลเป็นภาษาจีนซึ่งถือเป็นหนังสือต้องห้าม
หากทุกคนกลายเป็นวิญญาณ ถึงแม้คนญี่ปุ่นทุกคนได้ถูกผูกมัดไว้กับพุทธศาสนาตามระบบลูกวัด(檀家制度) และจัดพิธีศพแบบพุทธก็ตาม ถึงอย่างนั้นก็ยังสามารถจัดพิธีกรรมเซ่นไหว้ดวงวิญญาณตามแบบชินโตได้โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน และสามารถทำการสักการะผู้ที่เสียชีวิตในสงครามได้ โดยกองทัพรัฐบาลที่ก่อตั้งรัฐบาลเมจิได้นำชินโตแบบฮิราตะมาใช้จัดพิธีเซ่นไหว้ดวงวิญญาณวีรชนผู้เสียชีวิตในสงคราม
ในปีเมจิที่2 ศาลเจ้าที่สร้างอุทิศให้ดวงวิญญาณที่เสียชีวิตในสงครามได้ถูกกำหนดให้ตั้งขึ้นที่เมืองคุดัง(九段) ในโตเกียว และต่อมาภายหลังได้กลายมาเป็นศาลเจ้ายาสุคุนิ(靖国神社) ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกองทัพบกร่วมกับกองทัพเรือ เป็นสถานที่สำหรับสักการะวิญญาณวีรชนที่เป็นผู้พลีชีพเพื่อชาติ เช่น ผู้อุทิศตนเพื่อการปฏิรูปสมัยเมจิหรือเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในสงคราม เป็นต้น เป็นศาลเจ้าที่บุคคลทั่วไปที่เสียสละชีวิตเพื่อประเทศจะได้รับการสักการะในฐานะคามิ
ทั้งนี้สื่อทางฝั่งยุโรปและอเมริกามีการเผยแพร่ข่าวว่าศาลเจ้ายาสุคุนินั้นเป็น "ศาลเจ้าแห่งสงคราม" (war shrine) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ในความเป็นจริงแล้วเป็นสถานที่ที่คล้ายๆกับอนุสรณ์สถานแห่งการปฏิรูปหรือเป็นเสมือนสุสานของทหารนิรนามมากกว่า
ศาลเจ้ายาสุคุนิ
ชินโตแบบฮิราตะและศาลเจ้ายาสุคุนิสัมฤทธิ์ผลในการสร้างสรรค์ประชากรในปัจจุบันที่อุทิศตนทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ และเพื่อคงไว้ซึ่งความสัมฤทธิ์ผลนี้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องแยกชินโตกับพุทธศาสนาออกจากกัน
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยเอโดะจนมาถึงการปฏิรูป คือการเคลื่อนไหวในเรื่องการรณรงค์ต่อต้านพุทธศาสนาในช่วงต้นสมัยเมจิ การแบ่งแยกชินโตกับพุทธศาสนา ด้วยการชี้นำของรัฐบาล ศาลเจ้ากับวัดก็ได้ถูกแบ่งแยกกันอย่างชัดเจนขึ้น ส่วนเรื่องใดที่มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนก็ไม่ได้รับการอนุญาต และพร้อมกับการปฏิรูปเมจิ ชินโตแห่งรัฐที่มีรัฐบาลเป็นประธานดำเนินงานก็ถือกำเนิดขึ้น ถึงขนาดที่กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นได้แสดงทัศนะว่า "เนื่องจากชินโตผสมกลมกลืนอยู่ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นอยู่แล้ว จึงไม่จัดว่าเป็นศาสนา" และมีการบังคับใช้ชินโตแห่งรัฐนี้แก่คนญี่ปุ่นทุกคน
จากแนวคิดเรื่องมนุษย์ที่ตายไปแล้วได้กลายเป็นคามิทำให้นับตั้งแต่สมัยเมจิมีศาลเจ้าแห่งใหม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจำนวนมาก เช่น ศาลเจ้าเมจิที่บูชาพระจักรพรรดิเมจิ , ศาลเจ้าโนกิที่บูชาโนกิ มาเระสุเกะ(乃木希典)
แห่งกองทัพบก , ศาลเจ้าโตโกที่บูชาโตโก เฮฮะจิโร่(東郷平八)แห่งกองทัพเรือ , ศาลเจ้าที่ปกปักรักษาประเทศ(護国神社)อันเป็นศาลเจ้าที่สักการะเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในสงครามที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่
มีการติดรูปถ่ายของจักรพรรดิในโรงเรียนไว้สำหรับเป็น "พระบรมฉายาลักษณ์" วิธีการทำความเคารพ วิธีการส่งจิตเคารพบูชาจากที่ไกลด้วยการหันหน้าสู่ทิศของพระบรมมหาราชวัง เหล่านี้เป็นต้นได้ถูกคิดประดิษฐ์ขึ้นมา เป็นการศึกษาแบบจักรวรรดินิยมที่ให้จักรพรรดิเป็น"สมมุติเทพ"
พระบรมฉายาลักษณ์ (ご真影)
■ หลังสงคราม ชินโตแห่งรัฐถูกห้ามจากกองกำลังทหารที่เข้ามายึดครอง
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่2 ด้วยการออกคำสั่งจากกองกำลังทหารที่เข้าควบคุม ทำให้ชินโตแห่งรัฐถูกยุติไป ศาลเจ้ายาสุคุนิดำรงอยู่ต่อไปในฐานะองค์กรทางศาสนาของเอกชน ความคิดเรื่องวิญญาณวีรชนที่ตายในสงครามหรือที่ว่ามนุษย์ตายแล้วจะกลายเป็นคามินั้นก็ยังคงหลงเหลืออยู่อย่างนั้นช่วงหนึ่งในคนญี่ปุ่นสมัยหลังสงคราม
ขนาดคนญี่ปุ่นเองบางทีพวกเราคิดอย่างไรเกี่ยวกับคามิบ้างก็ยังไม่รู้เลย แล้วจะให้ไปอธิบายต่อบุคคลภายนอกก็ทำไม่ได้แน่ๆ ดังนั้น เรื่องการมีจิตสำนึกรู้ว่าพวกเรากำลังคิดอะไรอยู่ กำลังเชื่ออะไรอยู่ จึงเป็นหัวข้อที่ยังไม่ได้ถูกทำให้สำเร็จลุล่วงแม้จนถึงตอนนี้สำหรับคนญี่ปุ่นเอง
โฆษณา