7 พ.ย. 2021 เวลา 17:07 • สิ่งแวดล้อม
COP26 รวมมิตร กู้วิกฤตโลกร้อน
COP26 คือการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 (2021) เป้าหมายเพื่อให้ทุกชาติให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยกันลดปัญหาโลกร้อน ควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 ॰C โดยต้องจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 หมายความว่า ถ้าทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้นมาปริมาณเท่าไรก็ต้องรับผิดชอบกำจัดให้ได้ทั้งหมด
ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas หรือ GHG) สำคัญยังไง GHG เป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก ก๊าซนี้จะดูดคลื่นรังสีความร้อนไว้ตอนกลางวัน แล้วค่อยๆ ปล่อยความร้อนออกมาในเวลากลางคืน ช่วยรักษาระดับอุณหภูมิของโลก ถ้ามีน้อยเกินโลกก็เย็น มากเกินโลกก็ร้อน หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทุนนิยมขับเคลื่อนโลก อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง และหลากหลายกิจกรรมของมนุษย์ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น โลกก็ร้อนขึ้นมาเรื่อย ๆ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เมื่อแบ่งสัดส่วนจะพบว่ามาจากภาคการผลิตสิ่งของเครื่องใช้มากที่สุดประมาณ 31% รองลงมาคือการผลิตไฟฟ้า 27% ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ 19% การเดินทาง/ขนส่ง 16% และเครื่องปรับอากาศ 7%
จากการประชุม COP26 ส่วนใหญ่จะเป็นเวทีเสวนาด้านเทคโนโลยีในการกำจัดก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานทางเลือก การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากมองสาเหตุที่แท้จริงแล้วจะเห็นว่า ทุกอย่างเกิดจากภาคการผลิต และค่านิยมของสังคมที่กระตุ้นการสร้างความต้องการของผู้บริโภคจนเกินความจำเป็น เกินสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อย่างไรก็ดี การเริ่มดำเนินการแก้ไขก็ยังดีกว่าไม่คิดจะแก้เลย เนื่องจากข้อตกลงภายใต้ COP26 ไม่ได้มีโทษหรือบทปรับตามกฎหมาย กรณีทำไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ก็ได้แต่หวังว่าผู้นำแต่ละประเทศจะยึดมั่นในคำสัญญาและผลักดันให้เกิดขึ้นจริง
ข้อตกลงการควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 ॰C เราอาจจะคิดว่ามันไม่มากมายอะไร ทำไมต้องทำเป็นเรื่องใหญ่โต แต่ที่จริงแล้วนักวิทยาศาสตร์รายงานผลการศึกษาไว้ว่าหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 ॰C อาจทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงถึงขั้นหายนะ เนื่องจากมันเป็นค่าเฉลี่ย ดังนั้น บางพื้นที่อากาศอาจร้อนจนปลูกพืชไม่ได้ บางแห่งอาจมีน้ำท่วมทำให้แผ่นดินบางส่วนหายไป เมื่อแผ่นดินไม่พออยู่ ก็ย่อมมีปัญหาเรื่องผู้อพยพตามมา นอกจากนี้ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง สัตว์บางประเภทก็ต้องสูญพันธุ์ สุดท้าย ถ้าเปรียบโลกเป็นมนุษย์ก็คงเข้าขั้นโคม่า หมอก็ช่วยไม่ได้แล้ว และถ้าเปรียบเราเป็นปรสิตที่อาศัยในร่างกายมนุษย์ ด้วยสภาพแวดล้อมที่วิกฤต เราก็คงไม่สามารถอยู่รอดได้ ถ้าหาที่อยู่ใหม่ไม่ทัน ก็ต้องตายอย่างแน่นอน
ปัจจุบันถ้าติดตามข่าวสารก็จะเห็นข่าวภัยธรรมชาติ ทั้งพายุ น้ำท่วม คลื่นความร้อน อากาศหนาวจัด ไฟป่า ฯลฯ เกิดขึ้นทั่วโลก กรรมเป็นผลของการกระทำ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพอากาศแปรปรวน และปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ เป็นผลที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง ถ้าเราไม่แก้ที่การกระทำของเราก็เตรียมตัวรับผลได้เลย ข้อตกลงนี้จึงนับว่าท้าทายต่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ และไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นความรับผิดชอบของเราชาวโลกทุกคนว่าจะรักษาโลกนี้ไว้ได้หรือไม่
โฆษณา