13 พ.ย. 2021 เวลา 13:00 • หนังสือ
The Call of Cthulhu เสียงเพรียกจากคธูลู ความกลัวจากสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจเข้าใจ
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสได้เข้าไปสู่โลกของสื่อแนวสยองขวัญ ที่ตลอดชีวิตที่ผ่านมานั้นผมพยายามหลีกเลี่ยงมันมาโดยตลอด อาจจะด้วยภาพในวัยเด็กที่อาจจะไม่ค่อยไปได้สวยกับสื่อแนวนี้เสียเท่าไหร่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็เริ่มรู้สึกอยากสัมผัสกับมันมากขึ้น จนทำให้เริ่มเข้าหาสื่อแนวสยองขวัญมากขึ้น
และก็ไม่รู้ว่าด้วยความบังเอิญ หรือว่าอะไร ทำให้ผมได้โอกาสเข้าไปพบกับเรื่องราวสยองขวัญพวกหนึ่ง ที่ทั้งแปลกและน่าสนใจ เป็นเรื่องราวของสิ่งลึกลับ ปีศาจ หรือเทพเจ้าโบราณ หรือบางสิ่งบางอย่างที่มนุษย์อย่างเราไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย
The Call of Cthulhu เป็นชื่อที่อาจคุ้นหูในกลุ่มคนบางกลุ่ม แต่สำหรับหลายๆคนอาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก The Call of Cthuluh เป็นผลงานประพันธ์ของนักเขียนชาวอเมริกันที่มีชื่อว่า Howard Phillips Lovecraft หรือที่เราจะคุ้นหูกันมากกว่าในนามของ H. P. Lovecraft
The Call of Cthulhu คือชื่อเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในทั้งหมด 6 เรื่อง จากหนังสือรวมเรื่องสั้นในชื่อเดียวกัน โดยฉบับที่ผมมีโอกาสได้อ่านนั้นเป็นฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์เวลา โดยที่หนังสื่อเล่มนี้รวบรวมเรื่องสั้นทั้ง 6 ได้แก่ เดกอน(Dagon) นครไร้นาม(The Nameless City) ล่า(The Hound) คืนสู่เหย้า(The Festival) เสียงเพรียกจากคธูลู(The Call of Cthulhu) และ เรื่องสยองของดันวิช(The Dunwich Horror) โดยที่แต่ละเรื่องนั้นจะมีเรื่องราวและตัวละครเป็นของตัวเอง แต่ก็อาจจะมีบางอย่างที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องอื่นๆได้เช่นกัน
ในส่วนของเนื้อเรื่องทั้ง 6 นั้น ผมขอไม่พูดถึงเพราะยังไงก็ยังอยากให้เหล่านักอ่านทั้งหลายได้สัมผัสด้วยตัวเอง แต่ส่วนมากนั้นจะกล่าวถึงเรื่องราวของมนุษย์ที่จะต้องเผชิญหน้ากับบางสิ่งที่ทั้งเก่าแก่ ลึกลับ และมีอำนาจมหาศาลเสียจนมนุษย์อย่างเราถ้าได้เห็นหรือเข้าไปข้องเกี่ยวกับมันเพียงน้อยนิด ไม่ตายก็อาจกลายเป็นบ้า
หลังจากที่อ่านหนังสื่อเล่มนี้จบด้วยความยาวหนังสือราวๆ 200 กว่าหน้า ผมเองก็อยากจะมาแบ่งปันความรู้สึกหลังจากที่ได้เข้าไปสุดโลกที่ไม่เคยรู้จักที่ทั้งลึกลับและแปลกประหลาด สิ่งแรกที่ผมพูดขึ้นกับตัวเองคือ “นี่ผมอ่านหนังสือบ้าอะไรอยู่กันนะ” ฟังดูไปในเชิงลบสุดๆแต่อยาเพิ่งปิดบทความนี้ไป ผมกำลังจะอธิบายว่า หนังสื่อเล่มนี้ มีวิธีการเล่าเรื่องที่แปลกประหลาดกว่าหนังสือวรรณกรรมทั่วๆไปที่ผมเคยได้สัมผัสอยู่มากทีเดียว ซึ่งบางอย่างก็เล่าออกมาได้น่าประทับใจ แต่บางอย่างก็แอบเข้าใจยากเอามากๆเช่นกัน
ไม่รู้ว่าด้วยตัวบทประพันธ์ดั้งเดิมนั้นเป็นแบบนี้อยู่แล้ว หรือเพราะว่า ผมอ่านฉบับแปลไทยครั้งที่ 1 เรื่องราวของหนังสือ The Call of Cthulhu นั้นตามความรู้สึกของผม มันมีทั้งเรื่องที่ประทับใจ ไปจนถึงเรื่องที่ผมไม่เข้าใจอะไรเลย พูดง่ายๆคือใน 6 เรื่องสั้น ผมกลับชอบแค่ 2-3 เรื่องเท่านั้นจากทั้งหมดของมัน โดยผมจะให้เหตุผลว่า มันดูเป็นงานเขียนในแบบที่ผมอ่านและสามารถสนุกไปกับมันได้มากที่สุดแล้ว ซึ่งโดยส่วนตัวนั้นเป็นคนที่รู้จักงานเขียนของ H. P. Lovecraft น้อยมากๆ และส่วนมากก็ได้ยินมาจากปากของคนที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ที่ชื่นชอบผลงานของนักเขียนท่านนี้อยู่แล้ว เลยรู้สึกไปว่าเราอาจจะหวังกับหนังสือเรื่องนี้มากไปนิดหน่อย แล้วสุดท้ายได้อ่านเข้าจริงๆมันไม่ได้เป็นเหมือนที่เราจินตนาการไว้มากนัก
อย่างไรก็ดี นี่ก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัวจากผมที่แค่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรก กับ เล่นเกมในชื่อเดียวกัน เท่านั้น ยังคงมี ผลงานอีกมากมายของ H. P. Lovecraft ที่ผมยังไม่มีโอกาสได้สัมผัส ยังไม่รวมถึงผลงานอื่นๆที่ได้รับอิทธิพลผลจากงานของนักเขียนท่านนี้อีก ซึ่งเอาเข้าจริงๆแล้วถึงผมอาจจะไม่ได้ชอบทุกอย่างที่อยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้นฉบับนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนี้ก็นับเป็นต้นทางที่ดี ที่ทำให้ผมเริ่มที่จะสนใจในวรรณกรรมและสื่อแนวนี้ และถ้ามีผลงานของนักเขียนท่านนี้เรื่องอื่นๆถูกแปลเป็นภาษาไทย รับรองว่าผมต้องหามาอ่านให้ได้อย่างแน่นอน
หนังสือ The Call of Cthulhu ฉบับแปลไทย โดยสำนักพิมพ์เวลา ในปัจจุบันนั้นตัวหนังสืออาจจะหาซื้อยากสักนิดนึง แต่เท่าที่ตามข่าวมาหนังสือกำลังจะมีการพิมพ์ซ้ำในเร็วๆนี้ เพราะว่ายังไง ผมก็สามารถพูดได้เลยว่า ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบหนังสือ The Call of Cthulhu แต่สำหรับผม มันคือหนังสื่อที่อยากให้นักอ่านทุกท่านได้สัมผัสมันสักครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะนักอ่านที่ชอบเรื่องราว ลึกลับ และ สยองขวัญ
ทอย : เขียนและเรียบเรียง
ผา : ภาพประกอบ
โฆษณา