14 พ.ย. 2021 เวลา 10:00 • ข่าว
70 ปี น้ำหนุน 60 ซม. กางแผนรับมือ กทม. จมน้ำ ควรอยู่หรือย้ายเมืองหลวง
1
วันที่ 8 พ.ย. 2564 ชาวบ้านหลายพื้นที่ โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี ต้องเจอกับสภาพน้ำท่วมอย่างหนัก เพราะมีสาเหตุมาจาก “น้ำทะเลหนุนสูง” จากการวัดระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ระดับน้ำขึ้นเต็มที่เวลา 09.38 น. สูง 2.32 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง แต่ยังต่ำกว่าแนวคันป้องกันน้ำท่วมสูง 2.5-2.7 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง
4
ส่วนบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ ตรวจวัดระดับน้ำขึ้นเต็มที่เวลา 08.14 สูง 2.27 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง สูงกว่าตลิ่งบางช่วง ส่วนแนวคันป้องกันน้ำท่วมหรือตลิ่งสูง 1.8-2.7 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง
2
ข้างต้นคือสถิติ ส่วนความเป็นจริง คือ ความเดือดร้อนที่เพิ่งผ่านพ้นไป แต่มันก็ยังไม่จบซะทีเดียว เพราะในอีกไม่กี่วันครั้งหน้า ก็จะมีปรากฏการณ์ “น้ำทะเลหนุนสูง” อีกครั้ง....
ก่อนจะไปถึงตรงนั้น นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) “TEAMG” หรือ ทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ
1
เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่า น้ำท่วมในช่วงวันที่ 8-9 พ.ย.ที่ผ่านมา ในพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดทุกปี
1
✦ 3 น้ำ กับต้นตอปัญหาน้ำท่วม
สิ่งที่กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล เจอ คือปรากฏการณ์น้ำ 3 อย่างได้แก่
☉น้ำเหนือ
☉น้ำทะเลหนุน
☉น้ำฝน
รวมกันและน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาก่อนจะไหลผ่านออกทะเล ซึ่งปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน เราวัดจากสถานีวัดน้ำบางไทร เฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 ลบ.ม./วินาที ( กรณีนี้ ไม่นับปี 2554 เพราะมีปัจจัยต่างกันเนื่องจากปัจจุบันน้ำตามทุ่งไม่ได้เข้าพื้นที่ นนทบุรี หรือ รังสิต)
น้ำเหนือ : ตอนนี้เราสร้างคันกั้นน้ำไว้ดีระดับหนึ่งแล้ว ทำให้ปริมาณน้ำเหนือไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีน้ำท่วมพื้นที่เมื่อวันที่ 8-9 พ.ย.ที่ผ่านมา
1
“ที่เราเห็นคลองรังสิต น้ำเอ่อ ก็เป็นเพราะแม่น้ำป่าสักน้ำเยอะ จึงปล่อยผ่านคลองระพีพัฒน์ แต่ก็สามารถควบคุมได้ ดังนั้น จะเห็นว่าคนกรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ ไม่ได้เดือดร้อนจากน้ำเหนือ เพราะสามารถปกป้องได้”
น้ำทะเลหนุน : เมื่อวันที่ 10-11 ตุลาคม ที่ผ่านมา “น้ำหนุน” ก็สูงเช่นกัน (วัดได้ 3.02 เมตร หน้ากรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ) ซึ่งเวลานั้น น้ำที่มาจากบางไทรมากกว่านี้ ประชาชนที่อาศัยนอกคันกั้นน้ำก็เจอกับภาวะน้ำท่วม 3-4 ชั่วโมง จากนั้นน้ำก็เริ่มลด
1
กูรูด้านการป้องกันน้ำท่วมจากทีมกรุ๊ป อธิบายว่า ความสูงของคันกั้นน้ำ สูง 2.5 เมตร มีบางจุดก็เป็น “ฟันหลอ” ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับความจริงว่า บางพื้นที่ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือ บางพื้นที่ก็มีปัญหา และแก้ปัญหาด้วยการใช้กระสอบทรายมากั้นน้ำ ซึ่งเวลาน้ำลดบางครั้งก็มีการนำกระสอบทรายออก
แต่เมื่อถามว่าทำไมวันที่ 8-9 พ.ย. จึงท่วมหนักกว่าช่วงนั้น นายชวลิต ตอบว่าตอนนั้นประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำก็เดือดร้อน แต่ครั้งนั้นเขาไม่ประมาท แต่พอมาถึงวันที่ 8-9 พ.ย. รู้สึกว่าประมาทไปหน่อย...
1
“คราวนี้น้ำหนุนทะลักไหลบ่า ส่วนหนึ่งเพราะเราประมาท ไม่ได้ไปดูแลคันกั้นน้ำให้ดี โดยเฉพาะพื้นฟันหลอและพื้นที่ต่ำต้องดูแลให้ดี การจะกล่าวโทษแต่หน่วยงานภาครัฐ เช่น กทม. เทศบาล อบต. อย่างเดียวว่าดูแลไม่ดี ก็คงไม่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะบางจุดอยู่ตรงหน้าบ้านท่าน เราทุกคนจึงต้องช่วยกันดูแล”
1
นายชวลิต ย้ำว่า พูดเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคมแล้ว ว่าปัญหาน้ำท่วมจะอยู่ยาวไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ของเดิมที่เคยพูดไว้ว่า ให้ดูแลคันกั้นน้ำถึงวันที่ 5 พ.ย. แต่เผอิญว่าน้ำหนุนมันเลยมาจนถึง 8-9 พ.ย. และมันยังไม่จบแค่นั้น...
1
✦ จับตา 23 พ.ย. นี้ น้ำหนุนสูงอีกครั้ง
กูรูด้านน้ำจากทีมกรุ๊ป ยังฝากเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนว่า ในวันที่ 23 พ.ย. ปรากฏการณ์ “น้ำทะเลหนุน” จะกลับมาอีกครั้ง
วิธีการคำนวณปริมาณน้ำ เราจะดูที่ระดับน้ำทะเลหนุน บวกกับ น้ำเหนือ ที่มาจากบางไทร ซึ่งจากการคำนวณเบื้องต้น เชื่อว่าฐานน้ำทะเลที่ป้อมพระจุลฯ จะอยู่ที่ประมาณ 1.4 เมตร บวกกับน้ำเหนือ รวมกันแล้วจะมีน้ำหนุนประมาณ 2 เมตร
1
“เชื่อว่าวันที่ 23 พ.ย. จะไม่สูงเท่ากับวันที่ 8 พ.ย. แต่ก็อย่าประมาท ต้องเตรียมตัวรับให้พร้อมโดยเฉพาะแนวคันกั้นน้ำ และจุดที่ต้องเฝ้าระวังได้แก่ ชุมชนเชิงสะพานกรุงธนฯ วัดเทวราชกุญชร ท่าเตียน ตลาดน้อย ชุมชนเจริญนคร 29 ชุมชนหลัง รพ.เจริญกรุง และ วัดบางโคล่นอก”
น้ำฝน : ตอนนี้หายไปแล้ว ช่วงที่ผ่านมา กทม. ทำงานค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะ หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของ กทม. หรือหน่วย BEST การนำขยะออกจากท่อ หรือบางจุดขยะไหลลงไปในท่อ ทำให้ท่อน้ำตามถนนไหลไม่สะดวก ก็ต้องไปเก็บกำจัดออกไป
“หรือท่อถนนบางพื้นที่แอ่นตัว หรือมีปัญหา ก็ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ ระบายลงคูคลองใหญ่ เพื่อรวบรวมสูบออกแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ รวบรวมใส่อุโมงค์ยักษ์ ซึ่งบางครั้งเราจะเห็นตะแกรงหน้าอุโมงค์เต็มไปด้วยขยะ เรื่องแบบนี้ต้องร่วมมือกัน ซึ่งหน้าฝนนี้อาจจะหมดแล้ว ฝนหน้าค่อยมาว่ากันใหม่”
✦ สะท้อนปัญหาน้ำท่วมไทย กับแผนป้องกันน้ำท่วมระดับโลก “Delta works” ของเนเธอร์แลนด์
นายชวลิต บอกว่า กทม. เป็นที่ลุ่มต่ำ อุปกรณ์ที่ใช้ระบายน้ำที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีตก็อาจจะเสียหรือหมดอายุบ้าง บางจุดกลายเป็น “แอ่งตกท้องช้าง” ได้บ้าง หากจะทำระบบป้องกันน้ำท่วมที่สมบูรณ์จริงๆ จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล แค่ท่อระบายน้ำข้างถนน อาจจะต้องใช้ถึง 1,600 กิโลเมตร...นี่แค่ กทม. อย่างเดียว
1
บางพื้นที่ก็เป็นแอ่งตกท้องช้าง จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำเสริม รวมถึงใช้ “pipe jacking” เหมือนท่อคู่ขนาน ฝังในดิน เพื่อดึงน้ำเพื่อเป็นการเร่งระบายน้ำ ซึ่งตรงไหนเป็นจุดอ่อน ก็จะเร่งทำก่อน
ส่วนระบบป้องกันน้ำเหนือ เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2556 ถึง ปัจจุบันก็เริ่มใช้งานได้ดีแล้ว ซึ่งสิ่งที่หน่วยงานท้องถิ่น อบต. เทศบาล ต้องทำคือ การบูรณะซ่อมแซม ท่อระบายน้ำข้างถนน
“คูคลอง คือ ปัญหาโลกแตก ยิ่งเป็นชุมชน ยิ่งมีคนอาศัยอยู่มาก รุกล้ำมากๆ โดยช่วงแรกๆ ที่เข้ามาอยู่อาจไม่มีคนไปไล่ แต่พออยู่นานไปกลายเป็นมรดกให้คนอื่นเช่าต่ออีก ซึ่งหากจะป้องกันให้ดี เราต้องบูรณะคลองเหล่านี้ให้กลายเป็นคลองระบายน้ำได้สะดวก ซึ่งตรงนี้ ทาง กทม.ได้ตั้งงบไว้แล้ว และใช้เวลาทำประมาณ 10 ปี
✦ อุโมงค์ยักษ์ กับการระบายน้ำลงเจ้าพระยา
นายชวลิต เผยว่า ปัจจุบันการทยอยสร้างอุโมงค์ยักษ์หลายจุด ซึ่งต้องทยอยสร้างตามงบประมาณ
1
อุโมงค์บางซื่อ : สร้างเสร็จมา 2 ปีแล้ว ถามว่าทำไม ถ.รัชดาภิเษก ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ เวลาฝนตกหนักเกิน 60 มิลลิเมตร คำตอบคือ ปัญหาเรื่องคลอง ยังแก้ไม่หมด กว่าน้ำจะไหลไปลงอุโมงค์อาจจะต้องใช้เวลา เราก็ต้องแก้ปัญหากันต่อ
1
อุโมงค์บึงหนองบอน : คาดว่าปีหน้าจะสร้างเสร็จ ปัญหาก็คล้ายกับอุโมงค์บางซื่อ กทม. ก็ต้องเร่งปรับปรุงคูคลอง เพื่อดึงน้ำไปให้ถึงอุโมงค์เร็วที่สุด
1
โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร : มีอุโมงค์ใต้คลองเปรมประชากร ตอนนี้เพิ่งจะเริ่มสร้าง คาดว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณ 4 ปี ถึงจะเสร็จ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำคือ การที่จะดึงน้ำไปส่งอุโมงค์อย่างไร คือ สิ่งที่ต้องแก้ไข เพราะมันต้องเริ่มเดี๋ยวนี้
อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน : ตอนนี้ใช้งานแล้ว เป็นการระบายน้ำที่อาจจะเชื่อมต่อไปยังรัชดาภิเษก
2
อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและลาดพร้าว : ยังไม่เริ่มก่อสร้าง โดยอาจจะใช้งบปี 2565 เดิมทีเรามีอุโมงค์พระราม 9 แต่ระบายน้ำจากคลองแสนแสบไม่ทัน โดยอุโมงค์แสนแสบลาดพร้าว จะเป็นการต่อขยายเพื่อให้เป็นการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น
อุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา และ อุโมงค์คลองพระยาราชมนตรี : ทั้ง 2 อุโมงค์นี้จะช่วยดูแลชาวบางแค บางเชือกหนัง โดยเอามาใช้ดึงน้ำจากบริเวณลุ่มต่ำ เพื่อไปคลองทวีวัฒนา ไปคลองภาษีเจริญ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569
1
ถ้าทำแผนเหล่านี้เสร็จ กรุงเทพฯ ยังจมน้ำหรือไม่ กูรูเรื่องการป้องกันน้ำท่วม บอกว่า มันอยู่ที่วิธีการดึงน้ำไปลงอุโมงค์ให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะการขุดลอกคลอง การขยายคลอง เอาชาวบ้านออกจากคลอง เอาคลองไปทำถนนเยอะมาก โดยเฉพาะชาวฝั่งธนบุรี
“หากเราดูในแผนที่ กทม. เราอาจจะขยายคูคลองได้ แต่พอมาสำรวจจริง ปรากฏว่า ไปต่อไม่ได้ แค่ฝั่งธนฯ คาดว่าต้องใช้การปรับปรุง 400-500 กิโลเมตร”กรุงเทพฯ จมน้ำ กับความจริง ที่ยังเหมาะเป็น “เมืองหลวง” หรือไม่?
ทีมข่าว ยิงคำถามฯ กับจั่วหัวข้างต้น นายชวลิต ตอบด้วยเสียงเรียบๆ ว่า เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เบลเยียม เขาก็มีแผนป้องกันน้ำท่วมทั้งนั้น การพูดว่าจะย้ายเมืองหลวง พูดแล้วอาจจะดูดี...
“ส่วนตัวคิดว่า ถ้าอยากย้ายก็ย้ายได้ในเฉพาะบางส่วน เช่น ศูนย์ราชการอย่างเดียวก็ได้ เพราะกรุงเทพฯ เองยังสามารถปกป้องตัวเองจากน้ำท่วมได้อยู่ และที่ผ่านมา ก็มีการทำนุบำรุงมาตลอด ตอนนี้ที่เราทำอยู่ก็เรียกว่า “น้องๆ ประเทศอิตาลี” แล้ว แม้จะเทียบ เนเธอร์แลนด์ไม่ได้ เพราะเขาใช้เวลาทำมา 22 ปี”
1
ถามว่าย้ายจริงได้ไหม ก็ย้ายได้ แต่คิดว่า น่าจะย้ายส่วนที่เป็นศูนย์ราชการไปอย่างเดียวก็ได้ ซึ่งพื้นที่ที่เหมาะสำหรับผม คือ “แปดริ้ว” ฉะเชิงเทรา เพราะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง สามารถระบายน้ำได้ดี ทางด่วน มอเตอร์เวย์ มีหมด
ก่อนหน้านี้ เดิมเคยคิดว่าอยากจะย้ายไปอยู่ อำเภอบ้านนา แต่ไม่มีทางด่วน ไปพระนครศรีอยุธยาก็ไม่เหมาะ เป็นที่ลุ่มต่ำ หรือไป สระบุรี ก็ดี มีทางด่วน แต่ก็ไกลไปหน่อย...
2
คำว่า “เมืองหลวง” ในที่นี้ เราอาจจะเปลี่ยนเป็นเมืองหลวงธุรกิจ ก็คือ กรุงเทพฯ ส่วนเมืองหลวงราชการ ที่ “แปดริ้ว” ก็ได้ คล้ายกับ วอชิงตัน ดี.ซี. กับ นิวยอร์ก แต่...นิวยอร์กเพิ่งน้ำท่วมไป (หัวเราะ) สาเหตุเพราะไม่บูรณะของเก่าให้ดี
1
ในช่วงท้ายการพูดคุย นายชวลิต ยังเชื่อว่า กรุงเทพฯ ยังสามารถต่อสู้ในเรื่องน้ำหนุนได้ ถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่าอีก 70 ปี น้ำทะเลจะสูงขึ้นกว่านี้ 60 ซม. แต่การทำระบบป้องกันน้ำ เราก็ยังต้องทำกันต่อ
1
เช่น ระบบคันกั้นน้ำ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 2.50 เมตร เราก็ต้องอาจจะยกขึ้นอีก ซึ่งตรงนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ว่าเราอยู่เมืองต่ำ ถ้าไม่อยากเห็นกำแพงสูงขึ้น ก็อาจจะต้องย้ายที่อยู่
2
“เราต้องทำระบบระบายน้ำที่มีรากฐานให้ดี ไล่ตั้งแต่ข้างถนน คลอง อุโมงค์ เราก็จะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้”กูรูด้านป้องกันน้ำท่วม จากทีมกรุ๊ป กล่าวทิ้งท้าย
1
ผู้เขียน : อาสาม
1
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
โฆษณา