17 พ.ย. 2021 เวลา 02:03 • ข่าวรอบโลก
Armenia Vs. Azerbaijan ปะทะกันที่ชายแดน!! | เทศกาลประจำปีแห่งคอร์เคซัสกลับมาอีกละ
เมื่อคืนนี้ตามเวลาในประเทศไทยมีการปะทะกันของกำลังทหารระหว่าง อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจาน อีกแล้ว ในบริเวณแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ เขต Kalbajar – Lachin ผลจากการปะทะกันครั้งนี้ ทำให้ทหารอาร์เมเนีย เสียชีวิต 15 นาย ถูกอาเซอร์ไบจานจับตัวไป 12 นาย บาดเจ็บ 4 นาย และเสียฐานปฏิบัติการบริเวณแนวชายแดนไป 2 ฐาน นี่เป็นการใช้กำลังทหารครั้งใหญ่นับตั้งแต่การสู้รบ 44 วัน เมื่อปีที่แล้วจบลง หลังการเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาของรัสเซีย และความไม่สมดุลทางขีดความสามารถทางการทหาร ที่ทำให้อาร์เมเนียแพ้หมดรูป
การปะทะกันครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าโดนอีกฝ่ายยั่วยุทางการทหาร Military Provocation ก่อน โดยฝั่งอาเซอร์ไบจานกล่าวว่าจำเป็นต้องป้องกันตนเองจากการรุกด้วยกำลังทหารของอาร์เมเนีย และในทางตรงกันข้าม อาร์เมเนียร์ โดยกระทรวงกลาโหมได้แถลงว่า กองกำลังของอาเซอร์ไบจานได้รุกล้ำดินแดนของอาร์เมเนียและทำให้อาร์เมเนียสูญเสียตามที่เราได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
โดยอาเซอร์ไบจานใช้กำลังทหารราบและยานเกราะ กำลังขนาดกองพลน้อยยานเกราะ เข้ารุกต่อที่หมายทางทหารในเขตชายแดน และมีการตอบโต้กันด้วยอาวุธยิงสนับสนุนทั้งปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิดของทั้งสองฝ่าย
การตอบโต้ของฝั่งอาร์เมเนียร์ในครั้งนี้มีขีดความสามารถพอที่จะหยุดยั้งอาร์เซอร์ไบจานได้ อาจเป็นเพราะอาเซอร์ไบจานยังไม่ได้ใช้ขีดความสามารถทางการทหารเช่น โดรนหรืออากาศยานไร้คนขับ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในสงครามเมื่อปีก่อนก็เป็นได้ แต่นอกเหนือจากด้านการทหาร อาร์เมเนียร์ใช้วิธีทางการเมืองในทุกรูปแบบจากการออกแถลงการณ์และข่าวอย่างต่อเนื่องของทางการอาร์เมเนียร์
Nikol Pashinyan นายกรัฐมนตรีของอาร์เมเนียร์ได้เรียกร้องให้ประชาชนทุกคน “เตรียมตัวในการป้องกันมาตุภูมิ” และทางเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติอาร์เมเนียร์ ยังยืนยันว่า อาร์เมเนียร์มีสิทธิอย่างเต็มที่ในการใช้กำลังตอบโต้การก่อสงครามเต็มรูปแบบของอาเซอร์ไบจานตามกฎบัตรของสหประชาติในการป้องกันการใช้กำลังละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของรัฐ
โดยที่อาร์เซอร์ไบจานละเมิดข้อตกลงสามฝ่ายและยังมีสิทธิในการร้องขอการประชุมเร่งด่วนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติต่อความพยายามในการยึดดินแดนในอธิปไตยของสาธารณรัฐอาร์เมเนียร์ในครั้งนี้
ความพยามของอาร์เมเนียร์ในการหยุดอาเซอร์ไบจานยังใช้ทุกรูปแบบโดยสภาความมั่นคงของอาร์เมเนียร์ได้หารือกับ Shoigu รัฐมนตรีว่าการกระทรววงการต่างประเทศของรัสเซีย ซึ่งทางการรัสเซียเองยืนยันที่จะพยามอย่างเต็มที่ให้สถานการณ์ครั้งนี้ลดระดับลงให้ได้ ทั้งนี้ทางอาร์เมเนียร์ยังประกาศเรียกร้องด้วยว่าให้ขอให้รัสเซียช่วยในการปกป้องการโดนโจมตีของอาร์เมเนียร์ในครั้งนี้ ตามสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันที่ทั้งสองฝ่ายมี
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่ารัสเซียมีฐานทัพที่102 อยู่ในอาร์เมเนียร์ และมีกำลังรักษาสันติภาพที่เข้าไปใน Nagorno-Karabakh เมื่อปีที่แล้วเพื่อยุติสงคราม มีกำลังประมาณ 2000 นาย และรัสเซียเป็นตัวกลางตัวตั้งตัวตีในการพูดคุยเจรจาในความขัดแย้งระหว่างอาร์เซอร์ไบจานและอาร์เมเนียร์มาโดยตลอด
และสุดท้ายเมื่อเวลา 18นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น ทางมอสโคว โดยกระทรวงกลาโหมรัสเซียได้ออกแถลงการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงบริเวณพื้นที่แนวชายแดนฝั่งตะวันออกระหว่างอาร์เมเนียร์กับอาเซอร์ไบจานเป็นที่เรียบร้อย และทางอาร์เมเนียร์ได้ออกแถลงการณ์ถึงข้อตกลงนี้เช่นกัน โดยกล่าวว่า ภายใต้การดำเนินการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยโดยรัสเซีย สถานการณ์ความขัดแย่งได้กลับสู่เสถียรภาพ แต่ทั้งนี้ไม่มีการแถลงจากฝั่งอาร์เซอร์ไบจานแต่อย่างใด
อันที่จริงแล้วต้องบอกว่า ความตึงเครียดระหว่าง อาร์เมเนียร์และอาเซอร์ไบจาน เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และมีการปะทะกันประปราย ยิงกันขนาดเล็ก มาหลายครั้งแล้ว สาเหตุจากความพยามลุกล้ำแนวชายแดนของทหารอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นคนละพื้นที่กับ Nagorno-Karabakh ที่เป็นสงครามใหญ่ในคราวก่อน โดยดินแดนดังกล่าวเป็นดินแดนที่ชาวชาติพันธ์อาร์เมเนียนครอบครองอยู่แต่ไปอยู่ใจกลางดินแดนของอาร์เซอร์ไบจาน
แต่ในรอบนี้เดือนพฤศจิกายน อาร์เซอร์ไบจาน มีวัตถุประสงค์ชัดเจนไปที่การความต้องการเส้นทางและข้อตกลงในเรื่องดินแดนที่จะเป็นช่องทางไปสู่พื้นที่ของรัฐปกครองตนเองที่ชื่อ Nakchivan ซึ่งเป็นรัฐอิสระภายใต้การปกครองของอาร์เซอไบจานที่เป็นเมืองอกแตกถูกกั้นกลางไว้ด้วยดินแดนของอาร์เมเนีย
อาร์เซอร์ไบจานต้องการเส้นทางที่เรียกว่า Zangezur corridor เพื่อเชื่อมเส้นทางระหว่างอาร์เซอร์ไบจาน และดินแดนที่อาร์เซอร์ไบจานได้มาหลังสงครามใน Nagorno-Karabakh เมื่อปีก่อน ไปสู่ Nakchivan และ มีการประกาศร่วมกันกับตุรกี ให้เส้นทางนี้เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างและเชื่อมรัฐชาวเติร์กเข้าด้วยกัน กลายเป็นการเชื่อม Turkic World ขึ้นมา
ความต้องการช่องทางตรงนี้ทำให้เกิดความตึงเครียดมาโดยตลอด เพราะอาร์เมเนียไม่ต้องการเสียดินแดน เพราะรู้ดีว่าการสร้างช่องทางนี้จะทำให้อาเซอร์ไบจานอ้างสิทธิเหนือดินแดนในช่องทางดังกล่าว หรือใช้กำลังเข้าควบคุมดินแดนเหล่านี้ ซึ่งทำให้รัสเซียพี่ใหญ่คนดีคนเดิมของอาร์เมเนีย เข้ามาเป็นตัวกลางในการจัดการเจรจาเรื่องนี้ต่อเนื่องมาจากการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงที่ทำขึ้นเมื่อพฤศจิกายนปี 2020
การเจรจาแทบไม่เคยประสบความสำเร็จ จนอาร์เมเนียพอจะยอมได้กับการบูรณะเส้นทางรถไฟเก่าสมัยโซเวียตที่จะเชื่อมอาเซอร์ไบจานกับ Nakchivan เข้าหากันได้ แต่อาเซอร์ไบจานก็ยังคงกดดันต่อเนื่องด้วยการเข้าควบคุมเส้นทางตั้งจุดตรวจบนถนนหนทางในเขตชายแดน และในเขต Nagorno-Karabakh
---ความเห็นของ BFSS ---
เรามองการปะทะกันในครั้งนี้แล้วมีความเห็นว่า เป็นไปได้ที่ฝั่งอาร์เซอร์ไบจานมีความมั่นใจในขีดความสามารถและศักยภาพทางการทหารของตนเองเป็นอย่างมาก จากผลของชัยชนะในเขต Nagorno-Karabakh ที่ทำให้รัสเซียต้องรีบส่งกำลังเข้าไปและเจรจาไกล่เกลี่ยก่อนที่อาร์เมเนียร์จะสูญเสียไปมากกว่านี้ ด้วยความไม่สมดุลของขีดความสามารถที่อาร์เซอร์ไบจานใช้โดรนได้มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก ด้วยอากาศยานไร้คนขับจากตุรกี ทำให้อาเซอร์ไบจานเลือกที่จะใช้กำลังทหารบุกอาร์เมเนียร์เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
จากที่เราได้กล่าวไปข้างต้นเรื่องของการสร้าง Turkic World จึงชัดเจนว่านอกจากการขายอาวุธให้อาร์เซอร์ไบจานแล้ว ยังสนับสนุนอาร์เซอร์ไบจานอย่างเต็มที่ในด้านอื่นๆด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าตุรกีในช่วงหลังจะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย แต่การสนับสนุนอาร์เซอร์ไบจาน ในประเด็นนี้ก็สร้างความขุ่นเคืองให้รัสเซียพอสมควรและกำลังเกิดความรู้สึกแบบเดียวกันนี้กับสถานการณ์ในยูเครน อันเนื่องมาจากการที่ยูเครนใช้โดรน Bayraktar TB2 แบบเดียวกับที่อาเซอร์ไบจาน จัดหาจากตุรกี ไปปฏิบัติการโจมตีกำลังของฝ่ายโปรรัสเซียในเขต Donbass รวมไปถึงกำลังทหารรัสเซียด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่อาร์เมเนียร์สามารถหยุดยั้งและตอบโต้กำลังอาร์เซอร์ไบจานได้ประมาณนึงในครั้งนี้ผนวกกับความพยายามใช้การเมืองระหว่างประเทศในการรับมือเหตุการณ์ เป็นไปได้ว่า เมื่ออาร์เซอร์ไบจานไม่ได้ใช้งานอากาศยานไร้คนขับเป็น Force Multiplier ในครั้งนี้ กำลังทางบกของอาร์เมเนียร์ที่เป็นกำลังหลัก ไม่ใช่กองกำลังป้องกันชายแดนที่โดนโจมตีก่อนนั้น พอที่จะรับมือกับกำลังของอาเซอร์ไบจานได้
และอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจคือ เหตุการณ์นี้มาเกี่ยวโยงกับรัสเซีย อีกแล้วแม้รัสเซียไม่ใช้ผู้อยู่เบื้องการปะทะ เพราะเป็นฝ่ายสนับสนุนอาร์เมเนีย แต่เงื่อนไขจังหวะเวลาที่รัสเซียกำลังมุ่งความสนใจและติดพันกับสถานการณ์ในเบลารุสโปแลนด์ และสถานการณ์ในยูเครน ที่รัสเซียกำลังเพิ่มและขยายการวางกำลังในพื้นที่ ทำให้อาร์เซอไบจานเลือกช่วงเวลานี้ในการเริ่มปฏิบัติการทางทหารหรือไม่อย่างไร หรือได้รับคำแนะนำจากใคร ว่าขณะที่รัสเซียกำลังยุ่งๆ นี่คือเวลาที่เหมาะจะบุกอาร์เมเนียร์หรือเปล่า
เอวัง ด้วยประการละฉะนี้
ที่มา
Armenia announces ceasefire after Azerbaijan border clashes | News | Al Jazeera
Armenian troops killed in Azerbaijan border clash - BBC News
Tension again spikes between Armenia and Azerbaijan | Eurasianet
2021 Armenia–Azerbaijan border crisis - Wikipedia
โฆษณา