18 พ.ย. 2021 เวลา 04:10 • ข่าวรอบโลก
การแข่งขันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
การพบระหว่างผู้นำสหรัฐอเมริกาและผู้นำจีน เมื่อช่วงเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมาใช้เวลานานถึงสามชั่วโมงครึ่ง แม้จะไม่ใช่การพบกันโดยตรงเช่นในอดีต แต่ผลจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การพบของผู้นำสูงสุดทั้งสองต้องเกิดขึ้นผ่านหน้าจอแทน แน่นอนว่า การพบกันครั้งนี้ของสองผู้นำโลกในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ของโลกนั้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อ “สุขภาพของการเมืองโลก” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตรัสเซีย ที่มีส่วนโดยตรงต่อการกำหนดความเป็นไปในการเมืองโลกในยุคสงครามเย็น
ดังนั้น การพบกันระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในครั้งนี้ ต้องถือว่าเป็นผลดีต่อสถานการณ์โลกมากกว่าการไม่พบ เพราะการไม่พบระหว่างผู้นำสองฝ่ายจะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น ดังนั้น ในทางการทูตแล้ว การพบปะในระดับสูงสุดจึงต้องถือว่าเป็นเรื่องบวก แม้ในทางปฎิบัติ จะไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ที่เป็นปัญหาระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ของโลกจะลดระดับลงได้จริง
อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสองรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงประเด็นของ “การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่” ในการเมืองโลก ซึ่งสำหรับนักเรียนในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว การแข่งขันเช่นนี้มีนัยสำคัญอย่างมากว่า จะต้องจบลงด้วย “สงคราม” เช่นที่เคยปรากฎมาแล้วในประวัติศาสตร์การเมืองโลกหรือไม่? ซึ่งนักประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมองว่า ปรากฎการณ์ของการแข่งขันนี้เกิดมาตั้งแต่ยุคนครรัฐกรีกแล้ว และเป็นแนวโน้มของการเมืองโลก
การเติบโตของจีนในทางเศรษฐกิจนั้น ทำให้จีนกลายเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญของสหรัฐ และวันนี้เศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก อันทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เศรษฐกิจจีนจะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ได้เมื่อใด อีกทั้ง โลกเห็นการขยายตัวของจีนผ่าน “ความริเริ่มแถบและเส้นทาง” (โครงการ BRI) ที่จีนบุกเข้าไปในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลก ด้วยการทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อกับการเติบโตของเศรษฐกิจจีน
ในอีกด้านหนึ่ง การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนยังมีนัยถึงการเพิ่มพลังอำนาจทางทหาร ที่เห็นได้ชัดจากการเพิ่มงบประมาณทางทหาร และการมุ่งสร้างขีดความสามารถทางทหารในด้านต่างๆ โดยเฉพาะขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ จนเห็นได้ชัดว่า การเร่งสร้างศักยภาพทางทหารของจีนจึงเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองอย่างมาก
อีกทั้งในบริบทของความเติบโตของจีน ยังเห็นได้ถึงการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะในส่วนของเทคโนโลยีเอไอ (AI) ซึ่งต้องยอมรับว่า จีนประสบความสำเร็จในหลายส่วน และกลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีด้านนี้ของโลกในปัจจุบัน
สภาวะเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่า จีนได้ก้าวสู่การเป็น “รัฐมหาอำนาจใหม่” ของโลกในศตวรรษที่ 21 และมีสถานะเป็นคู่แข่งขันโดยตรงกับสหรัฐอเมริกาที่เป็น “รัฐมหาอำนาจเก่า” ซึ่งว่าที่จริงแล้ว การแข่งขันในตัวแบบเช่นนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกยุคทุกสมัย อีกทั้ง รัฐแต่ละฝ่ายมักจะมีทัศนะในการมองปัญหาการเมืองโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หรือเกิดสภาวะ “สองขั้ว” ในการเมืองโลก
ความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม หากถอยกลับไปเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาระหว่างปี 2017-2020 ในยุคสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ นั้น การแข่งขันเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเริ่มจากการตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีน ด้วยข้ออ้างถึงการเอาเปรียบทางการค้าของจีน โดยเฉพาะในประเด็นของการ “ขโมยเทคโนโลยี” ซึ่งสะท้อนถึงทัศนะของฝ่ายสหรัฐต่อจีนในทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และขณะเดียวกัน ปัญหาเช่นนี้ก็ขยายตัวไปสู่ประเด็นอื่นๆ โดยเฉพาะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเมืองวูฮั่นของจีน
ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ในยุคของทรัมป์และสี จึงมีส่วนโดยตรงที่ทำให้การเมืองโลกมีความตึงเครียด จนเกิดความหวังหลังการเลือกตั้งอเมริกันว่า การขึ้นสู่อำนาจของไบเดน อาจจะลดทอนความร้อนแรงของการแข่งขันเช่นนี้ลงได้บ้างหรือไม่ อย่างน้อยท่าทีและบุคลิกของทำเนียบขาวเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก ไม่มีบุคลิก “เผชิญหน้า” เช่นในแบบของทรัมป์ แต่ก็มิได้หมายความว่า การแข่งขันดังกล่าวจะลดระดับลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงของตัวสถานการณ์โลก โดยเฉพาะในกรณีของปัญหาไต้หวัน ปัญหาฮ่องกง จนถึงปัญหาเมียนมา และปัญหาทะเลจีนใต้ ประเด็นเหล่านี้ทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันในเวทีโลก
อีกทั้งในภาวะปัจจุบัน ประเด็นไต้หวันกำลังถูกยกระดับขึ้นเป็นปัญหาสำคัญทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจีนได้แสดงท่าทีอย่างไม่ปกปิดว่า ถ้าปีกเรียกร้องเอกราชในไต้หวันเดินหน้าต่อแล้ว จีนก็พร้อมจะใช้กำลังเข้าจัดการ ภายใต้ข้ออ้างว่า “ไต้หวันเป็นของจีน” ในขณะที่ผู้คนในไต้หวันอาจจะมองอีกแบบ และไม่เคยยอมรับว่าไต้หวันเป็นของจีน ในอีกด้าน สหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีในการปกป้องไต้หวัน ซึ่งอาจจะไม่ต่างจากท่าทีก่อนหน้านี้ของรัฐบาลอเมริกันต่อปัญหาการประท้วงในฮ่องกง ดังนั้น ในขณะนี้คงต้องยอมรับว่า ประเด็นไต้หวันเป็นปัญหาที่ร้อนแรงที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจ
อีกทั้งยังรวมถึงปัญหาที่ตกค้างมาจากความสัมพันธ์ในยุคทรัมป์ ได้แก่ ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ปัญหาการต่อสู้ทางเศรษฐกิจและการค้า ปัญหาการแข่งขันทางเทคโนโลยี อีกทั้งยังรวมถึงมุมมองในเรื่องของปัญหาสิทธิมนุษย์ชน การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศอีกด้วย
ความหวังในอนาคต
การพบกันของสองผู้นำใหญ่ของโลกเช่นนี้ อาจจะมีส่วนโดยตรงต่อการจัดวางกรอบของความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ของโลก และขณะเดียวกันก็หวังว่า สองผู้นำจะช่วยผลักดันให้ความสัมพันธ์เช่นนี้เดินไปในทิศทางดังกล่าว เพราะอย่างน้อยเป็นความหวังว่า ผู้นำสหรัฐในยุคของไปเดนจะไม่มีลักษณะสุดโต่งแบบทรัมป์ และจะพาบทบาทของสหรัฐกลับมาอยู่ในที่ที่เหมาะสมของความเป็นมหาอำนาจของโลก
นอกจากนี้ เป็นความหวังอีกว่า การพบกันในระดับสูงสุดเช่นนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่การทำงานของเจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศ ที่จะสามารถใช้แนวทางในการพูดคุยเจรจากัน เพื่อเป็นหนทางในการหาจุดที่เหมาะสมของความสัมพันธ์ มากกว่าที่จะเน้นในเรื่องของการแข่งขันอย่างสุดโต่ง จนกลายเป็นการเผชิญหน้าในที่สุด
ในท้ายที่สุดของการพบกันในระดับสูงสุด แม้จะมีประเด็นของความเห็นต่าง โดยเฉพาะในกรณีของไต้หวัน ซึ่งหลายฝ่ายเกิดความกังวลถึงปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต แต่อย่างน้อย การพบกันครั้งนี้เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้นำเสนอท่าทีของตน พร้อมกับแสดงโวหารในประเด็นที่สำคัญ ซึ่งเท่ากับเป็นความพยายามในการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ที่ลดระดับลงก่อนหน้านี้แล้วไม่ให้ “ร้อนแรง” จนไม่อาจควบคุมได้
ความหวังสุดท้ายที่สำคัญก็คือ การพบกันของสองผู้นำเช่นนี้จะเป็นหนทางที่ช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่ไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยสงครามเสมอ หรืออย่างน้อย การเมืองโลกในอนาคตจะไม่เดินไปติด “กับดักสงคราม” เช่นที่เห็นในอดีตมาแล้ว… แต่อย่างน้อยผลที่เป็นรูปธรรมของการพบครั้งนี้ทำให้ตลาดหุ้นในเอเชียพุ่งสูงขึ้นทันที !!
โฆษณา