19 พ.ย. 2021 เวลา 08:12 • การเมือง
"ยุกติ " วัดอุณหภูมิการเมืองใหม่..เยาวรุ่นไทยล้ำ !?
ผู้มีอำนาจสูงสุด..นำการเปลี่ยนแปลง – จบแบบสันติ ?
ผู้มีอำนาจสูงสุด..ฝืนการเปลี่ยนแปลง – รุนแรงก่อนจบ ?
เพราะสังคมลองโควิดเคลื่อนไหวเชี่ยวกรากเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านประเทศไทย ในมุมมอง รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร รองคณบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาวิเทศสัมพันธ์และวิจัย คณะสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภูมิทัศน์การเมือง – เยาวรุ่นไทยล้ำหน้า !?
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ (เยาวรุ่น) เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดขึ้น มันขยับจาก “ยุคคนเสื้อเหลือง – เสื้อแดง” มาค่อนข้างไกล หรือจะบอกว่าเหมือน “คน 6 ตุลา - 14 ตุลา” หรือไม่ หากมองในเชิงคุณภาพมันก็แตกต่างกันในประเด็นสำคัญ ๆ หลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นขบวนการขับเคลื่อนการเมือง ของกลุ่มเยาวรุ่น มีการกระจายตัวของกลุ่มคนไปตามจังหวัด สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทำให้ภาพขบวนการใหญ่ขึ้น
กลุ่มเยาวรุ่นที่แสดงออกทางการเมือง มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ แค่เด็กมัธยม อายุ 14-15 ปี ก็น่าทึ่งแล้ว ! รวมพลังแสดงออกกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เป็นผู้เข้าร่วมประปรายเท่านั้น ซึ่งการแสดงออกในโรงเรียน คิดว่ามีความกล้าหาญ..ต่างจากอดีตไม่เคยมีแบบนี้เลย
ยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ขับดันสารพัดกลุ่มเยาวรุ่นเคลื่อนไหวอิสระ – สร้างแนวร่วม - มีอุดมการณ์ร่วมกันอย่างเสรีได้ เราจะเห็นว่าที่มาของเยาวรุ่นแต่ละคนไม่ได้สังกัดองค์กรเดียวกันหมด
จำนวนหนึ่งมีอิสระตามแบบฉบับของตัวเองด้วยซ้ำ บางกลุ่มเล็ก บางกลุ่มใหญ่ ทำให้การชุมนุมแต่ละครั้ง ฉายภาพแนวร่วมของกลุ่มนู้นกลุ่มนี้เต็มไปหมด เป็นอีกประเด็นที่ต่างจากสมัยก่อนที่มี “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” เป็นแกนนำ เชื่อมร้อยองค์กรต่าง ๆ เข้ามา
 
ประการสำคัญที่ต้องพูดถึง คือ ประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเยาวรุ่น
ในแง่หนึ่งมีประเด็นร่วมกันใหญ่ที่สุด “มุ่งเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง” ที่ไม่เคยมี “การแตะต้องสถาบันสูงสุด” มาก่อนชัดเจนเท่านี้
“ย้อนกลับไปอดีต ประเด็นแตะต้องสถาบันสูงสุดที่ชัดเจน ตอนมีขบวนการคอมมิวนิสต์ หรือขบวนการ 2475 คณะราษฎร”
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองย่อย ๆ ที่ไม่อาจละเลย คือ กลุ่มเยาวรุ่นมีการเคลื่อนไหวทั้งการเมืองระดับโครงสร้างใหญ่ และการเมืองวัฒนธรรม
ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกของเด็กนักเรียน – สิทธิตรงตามเพศวาระ – อัตลักษณ์ทางเพศ – ทำแท้ง – โสเภณี ฯลฯ มัดรวมในกระบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ มาจากการถูกกดทับในสังคมมานาน จนต้องเปิดรื้อให้เห็น และคิดกันใหม่
ทั้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ ที่ยังไม่ได้ทำอะไรให้เป็นรูปธรรม ปัญหาการคุกคามทางเพศในโรงเรียน การใช้ความรุนแรงต่อเด็กนักเรียน
วันนี้คนเป็นเหยื่อของความบิดเบี้ยวในสังคม “ลุกขึ้นมาพูดด้วยตนเอง” ไม่มีผู้ใหญ่พูดแทนเหมือนที่ผ่านมา
รัฐธรรมนูญ – กฎหมายสะท้อนสังคม !?
เมื่อใดกฎหมาย สถาบันต่าง ๆ ที่เป็นทางการ หรือรัฐธรรมนูญไม่สะท้อนความจริงทางสังคม มักเป็นชนวนขัดแย้งนำไปสู่ทางตันของสังคม เท่ากับประเทศตกอยู่ในสภาพอันตราย
ทว่าขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจเหล่านั้นด้วยว่า จะโอนอ่อนผ่อนปรนต่อการเปลี่ยนแปลงตามสังคมได้มากน้อยเพียงใด
มีตัวอย่างให้เห็นในหลายประเทศพัฒนาแบบก้าวกระโดด หรือกำลังมีอนาคตดีขึ้น ก็มาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับโครงสร้าง เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และสังคมไทยไม่ช้าก็เร็วต้องมาถึงจุดนี้..เราไม่ควรจะดึงดันต่อไป !!
“ผมคิดว่าผู้นำ หรือผู้มีอำนาจเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านทางสังคม ที่ผ่านมาประชาชนไปข้างหน้าก่อนเสมอ และพร้อมรออยู่แล้วเสมอ กลุ่มผู้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงช้าเสมอ”
สังคมไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม หรือรัฐธรรมนูญแบบอนุรักษ์นิยมไปนานแล้ว เวลานี้เรารอ “รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร....” ที่ผู้มีอำนาจมานำปรับแก้ไขตามการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับใช้สภาวะสังคมอย่างแท้จริง
อีกเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง “อ.ยุกติ” บอกว่า กลุ่มประเทศอาเซียนปรารถนาให้ประเทศไทยเป็น “ฮับด้านสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อพิพาทต่าง ๆ เวทีให้ประชาชนในประเทศต่าง ๆ มีพื้นที่แสดงออก แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เพราะรอบบ้านเราเป็นเผด็จการหมดเลย
แต่สถานะไทยเวลานี้ ตอกย้ำให้อาเซียนเป็นพื้นที่ปิดทางการเมือง - สิทธิมนุษยชน หากบ้านเมืองอยู่ในสภาวะประชาธิปไตยมากกว่านี้ ประเทศไทยน่าจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพการแสดงออก และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในอาเซียน
ปม 112 - หมวดความมั่นคง !?
สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้อยู่ที่การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดี 112 มีการจับกุมมากเกินไป และแนวทางการปฏิบัติกับผู้ต้องหาไม่ชัดเจน
ตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง ถือเป็นกฎหมายที่รุนแรงต้องฝากขัง บางทียังพิสูจน์ไม่ได้เลยว่า ข้อความดังกล่าวเขาเป็นคนพูดหรือโพสต์เองหรือไม่
แม้แต่การใช้คำพูดเชิงเสนอแนะ วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตก็ไม่ได้รับการยกเว้น ทำให้แนวโน้มการฝากขังเพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการปฏิบัติ ที่ผู้ต้องหาคดี 112 ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นอาชญากรร้ายแรง
มีเยาวรุ่นอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ถูกดำเนินคดีมากขึ้น - จับกุม - ไม่ให้ประกันตัว - การปฏิบัติต่อผู้ต้องหาในห้องขัง บางทีไม่มีความชัดเจนแน่นอนว่าบุคคลเหล่านี้ได้รับการดูแลในลักษณะไหน ในแง่การปฏิบัติก็มีปัญหาในตัวของมันเอง
“หลักการสำคัญที่ค้ำจุนประชาธิปไตย คือหลักสิทธิมนุษยชนที่คุ้มครองเสรีภาพการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น แต่แน่นอนใช่ว่าจะพูดอะไรก็ได้
.
คนไทยชอบเปรียบเทียบคำว่า วิจารณ์เป็นการด่า !! จะปล่อยให้ประชาชนไปด่าประมุขประเทศนั้น ประเทศนี้..จะยอมอย่างนั้นเหรอ อันนี้เป็นการบิดเบือน
.
เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่การด่า.. เราอยู่ในระบบอาวุโส !! ”
ตัดสลับปฏิกิริยาพรรคการเมืองต่าง ๆ มีแนวโน้มเอาปม 112 ทั้งหนุนแก้ หนุนยกเลิก หรือแก้ตรงนี้ ปรับตรงนั้นไปรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไป ถือเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ต่างกับสมัยก่อนไม่เคยมีขนาดนี้
“สมัยผมเคลื่อนไหวปม 112 แค่แก้ไข บางพรรคไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ เลย อย่างรัฐบาลนายกฯปู - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ถึงกับห้ามปราม แค่ส่งคนมาขู่ ๆ บ้าง
.
แต่ปัจจุบันพอประกาศจะเคลื่อนแก้ไขหรือยกเลิก ผู้นำทุกพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น ไม่ต้องประชุมลับแล้ว
.
ยิ่งถ้าผู้มีอำนาจลากไปเรื่อย ๆ สังคมก็ยิ่งพูดกันอย่างกว้างขวางขึ้นเช่นกัน”
ปลายทางแรงปะทะ อำนาจเก่า – อำนาจใหม่ !?
แรงปะทะทุกวันนี้ ถ้าไม่ระมัดระวังอาจนำไปสู่สิ่งที่ไม่คิด !!??
หากทำอย่างระมัดระวังย่อมเกิดการพัฒนา
“อ.ยุกติ” อยากให้มองประเด็นความขัดแย้งที่กว้างขึ้น คนต่างวัย ต่างรุ่น (Generation) อยู่ในโลกที่สังคมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันมีเงื่อนไขใหม่ ๆ มีสภาพโครงสร้างพื้นฐานต่างจากเดิม วิถีชีวิตเปลี่ยนไป วิธีคิดใหม่ ๆ ย่อมเปลี่ยนเช่นกัน
การเปลี่ยนผ่านแรงปะทะไปสู่สันติ
ด้วยวิธีประนีประนอม – ไม่ฝืนการเปลี่ยนแปลง
โดยมีโจทย์สำคัญว่า จะมีวิธีประนีประนอมอย่างไร ?.. กับสิ่งที่ตกค้างอยู่ในความคิด ความเชื่อของคนอีกรุ่นยังมองโลกตามแบบฉบับที่เขาเคยเห็นจนชินที่จะอยู่แบบนั้น อย่างน้อยที่สุดต้องพยายามทำให้เขาเข้าใจถึงความเปลี่ยนผ่านตรงนี้ และจะมีวิธีอย่างไรต่อ ?.. เพื่อให้เขาค่อย ๆ ปรับตัวกันไป
“ในแง่ของผู้มีอำนาจ คือ การปรับเปลี่ยนในเชิงสถาบันทางสังคม เกี่ยวกับตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ให้รับใช้สังคม ไม่ใช่ไปฝืนการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เป็นเครื่องมือกดทับสังคม..มันเป็นสัญญาณอันตราย”
สถานการณ์ปัจจุบันพลังของประชาชนท่วมท้นจริง ๆ มองแนวโน้มว่า ประชาชนจะผลักดันจนผู้มีอำนาจยอมตามที่สุด แต่กว่าจะถึงจุดนั้นอาจต้องผ่านช่วงความรุนแรง ผ่านอะไรต่อมิอะไร ไม่รู้ต้องมีการรัฐประหารกันอีกกี่ครั้ง !?
การเปลี่ยนผ่านแบบผู้มีอำนาจเข้าร่วมด้วย เป็นบทบาทที่เขาต้องเลือกว่า จะนำพาการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ หรือยอมให้เกิดความรุนแรงก่อนแล้วตามด้วยกลไกแบบสันติ ซึ่งบรรดาผู้มีอำนาจ มีความรู้ ในประวัติศาสตร์ก็มีบทเรียนให้แล้ว
ทุกคนมีลูกหลาน ลูกหลานของพวกท่านก็อยู่ในม็อบ คุณจะปล่อยให้อนาคตลูกหลานเผชิญภาวะความรุนแรงก่อน แล้วค่อยนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างนั้นหรือ !?
อันนี้เป็นสิ่งที่พวกท่านต้องรับผิดชอบด้วย !!
ขอบคุณที่เข้ามาติดตามอ่านทุกเรื่องราว
และเข้ามาทักทาย WhoChillDay นะคะ
#WhoChillDay #ยุกติ มุดดาวิจิตร
#ม็อบ #เยาวรุ่น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา