17 ม.ค. 2022 เวลา 17:27 • ประวัติศาสตร์

เครื่องบินขับไล่ "ฮันเตอร์" ในกองทัพอากาศสิงคโปร์

ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่ากองทัพอากาศสิงคโปร์ถือได้ว่าเป็นกองทัพอากาศที่มีแสนยานุภาพสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งด้านอากาศยานและบุคลากร แต่มีใครจะจำได้บ้างว่าเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบแรกกองทัพอากาศสิงคโปร์คือ ฮอว์คเกอร์ ฮันเตอร์ มาร์ค ๗๔/๗๕ (Hawker Hunter Mk.74/75) จากประเทศอังกฤษ ที่เริ่มทยอยเข้าประจำการตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ โดยแบ่งการจัดหาออกเป็น ๒ ช่วง รวมทั้งสิ้น ๔๖ เครื่อง ก่อนที่ฮันเตอร์เครื่องสุดท้ายจะปลดประจำการในปี ๒๕๓๕ รวมเป็นเวลาที่ประจำการอยู่ในกองทัพอากาศสิงคโปร์ทั้งสิ้น ๒๓ ปี
ฮันเตอร์ เอฟจีเอ.๗๔ ของฝูงบิน ๑๔๐ "ออสเปรย์"
ย้อนไปในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๑ กองทัพอากาศสิงคโปร์ลงนามจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ ฮอว์คเกอร์ ฮันเตอร์ ชุดแรก ๒๐ เครื่อง จาก บริษัท ฮอว์คเกอร์ ซิดเดลี่ย์ เอวิเอชั่น แห่งประเทศอังกฤษ โดยทั้งหมดเป็นเครื่องบินที่เคยประจำการอยู่ในกองทัพอากาศอังกฤษ และนำมาปรับปรุงใหม่เป็นรุ่น มาร์ค ๗๔/๗๕ ซึ่งเป็นรุ่นส่งออกสำหรับกองทัพอากาศสิงคโปร์ เริ่มรับมอบตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๑๒ ถึง สิงหาคม ๒๕๑๔ แบ่งเป็น
  • เครื่องบินขับไล่/โจมตีที่นั่งเดียวแบบ ฮอว์คเกอร์ ฮันเตอร์ เอฟจีเอ.๗๔ (Hawker Hunter FGA.74) : ๑๒ เครื่อง ซึ่งเป็นการนำเครื่องบินขับไล่แบบ ฮันเตอร์ เอฟ.๖ มาปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานเดียวกับ ฮันเตอร์ เอฟจีเอ.๙ (Hunter FGA.9) ซึ่งเป็นรุ่นขับไล่/โจมตีที่ดีที่สุดของเครื่องบินในตระกูลฮันเตอร์
  • เครื่องบินขับไล่ลาตระเวนถ่ายภาพที่นั่งเดียวแบบ ฮอว์คเกอร์ ฮันเตอร์ เอฟอาร์.๗๔เอ (Hawker Hunter FR.74A) : ๔ เครื่อง ที่นำเครื่องบินขับไล่แบบ ฮันเตอร์ เอฟ.๖ มาปรับปรุงให้เป็นเครื่องบินขับไล่ลาดตระเวนในมาตรฐานเดียวกับ ฮันเตอร์ เอฟอาร์.๑๐ (Hunter FR.10)
  • เครื่องบินฝึกขับไล่สองที่นั่งเคียงกันแบบ ฮอว์คเกอร์ ฮันเตอร์ ที.๗๕ (Hawker Hunter T.75) : ๔ เครื่อง โดยการนำเครื่องบินฝึกขับไล่แบบ ฮอว์คเกอร์ ฮันเตอร์ รุ่น ที.๔/๗/๘ มาปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานเดียวกับ ฮันเตอร์ ที.๘ (Hunter T.8)
ฮอว์คเกอร์ ฮันเตอร์ มาร์ค ๗๔/๗๕ รุ่นแรกสำหรับสิงคโปร์ โดยทั้งหมดเข้าประจำการในฝูงบิน ๑๔๐ ออสเปรย์ (Osprey) ฝูงบินขับไล่ฝูงแรกของกองทัพอากาศสิงคโปร์ ที่ฐานทัพอากาศเตงกาห์ บนเกาะสิงคโปร์
ฝูงบิน "ฮันเตอร์" ของฝูงบิน ๑๔๐ ออสเปรย์
ในปี ๒๕๑๔ กองทัพอากาศสิงคโปร์ได้ตกลงจัดหา “ฮันเตอร์” ฝูงที่สองเพิ่มเติมอีกจำนวนรวม ๒๗ เครื่อง แต่ได้รับมอบจริง ๒๖ เครื่อง เนื่องจากมีหนึ่งเครื่องประสบอุบัติเหตุตกก่อนส่งมอบ โดยได้รับมอบระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๑๕ ถึงเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่ง “ฮันเตอร์” ในฝูงที่สองนี้ ประกอบด้วย
  • เครื่องบินขับไล่ลาดตระเวนแบบ ฮอว์คเกอร์ ฮันเตอร์ เอฟอาร์.๗๔บี (Hawker Hunter FR.74B) : ๒๒ เครื่อง โดยเป็นการนำเอาเครื่องบินขับไล่แบบ ฮันเตอร์ เอฟ.๔ จำนวน ๘ เครื่อง และ ฮันเตอร์ เอฟ.๖ จำนวน ๑๔ เครื่อง มาปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานเดียวกับ ฮันเตอร์ เอฟอาร์.๗๔ รุ่นแรก แต่มีข้อแตกต่างกับ ฮันเตอร์ เอฟอาร์.๗๔เอ รุ่นแรก ตรงระบบวิทยุที่เปลี่ยนมาให้วิทยุแบบมาโคนี่ เอดี๓๗๐บ
  • เครื่องบินฝึกขับไล่สองที่นั่งเคียงกันแบบ ฮอว์คเกอร์ ฮันเตอร์ ที.๗๕เอ (Hawker Hunter T.75A) : ๔ เครื่อง จากจำนวน ๕ เครื่อง แต่เกิดอุบัตเหตุขึ้นการส่งมอบ ต้องสูญเสีย ฮันเตอร์ ที.๗๕เอ ไปหนึ่งเครื่อง โดยนำเครื่องบินฝึกขับไล่แบบ ฮอว์คเกอร์ ฮันเตอร์ รุ่น ที.๔/๑๑ มาปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานเดียวกับ ฮันเตอร์ ที.๗๕ แต่ในรุ่น ฮันเตอร์ ที.๗๕เอ นี้แตกต่างตรงติดตั้งเครื่องยนต์ที่มีกำลังสูงกว่า และสามารถติดถังน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองที่มีขนาดใหญ่ขี้น
ฮอว์คเกอร์ ฮันเตอร์ มาร์ค ๗๔/๗๕ รุ่นที่สอง เข้าประจำการในฝูงบิน ๑๔๑ เมอร์ลิน (Merlin) ที่ ฐานทัพอากาศเตงกาห์ บนเกาะสิงคโปร์ เช่นเดียวกับฮันเตอร์ฝูงแรก
ฮันเตอร์ ที.๗๕ รุ่นฝึกสองที่นั่งเคียงกัน
ในช่วงปี ๒๕๒๓ มีการปรับปรุง ฮันเตอร์บางส่วนให้มีขีดความสามารถในการใช้อาวุธปล่อยนำวิถีแบบ AIM-9J Sidewinder ต่อมาในปี ๒๕๓๑ ลดบทบาทของฮันเตอร์ลงมาเป็นฝูงบินฝึกนักบินพร้อมรบ ก่อนจะนำ เอฟ-๑๖ เข้าประจำการแทนในภารกิจขับไล่เมื่อปี ๒๕๓๓ และอาร์เอฟ-๕อี เข้าประจำการแทนในภารกิจลาดตระเวนทางยุทธวิธีในปี ๒๕๓๔ ก่อนปลดประจำการทั้งหมดในปี ๒๕๓๕ โดยขายต่อให้กับบริษัทเอกชนในออสเตรเลียเพื่อนำไปขายให้กับนักสะสมอากาศยานเก่าต่อไป
โฆษณา