26 พ.ย. 2021 เวลา 00:31 • ข่าวรอบโลก
ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สตรี มีอำนาจความรับผิดชอบมากที่สุดในโลก
นางกมลา แฮร์ริส เป็นสตรีคนแรกที่เป็นชาวอเมริกันผิวสีและชาวเอเชียใต้คนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในประวัติศาสตร์เกือบ 250 ปี ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็นสตรีคนแรกผู้ได้รับมอบอำนาจทำหน้าที่ประธานาธิบดีในช่วงสั้นๆ เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้าตรวจสุขภาพตามปกติ โดยไบเดน ได้ถ่ายโอนอำนาจให้แฮร์ริสเป็นเวลาสั้นๆ ประมาณ 85 นาที ขณะเขาถูกวางยาสลบ (ทำให้ไม่สามารถสั่งการได้ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน) เพื่อตรวจลำไส้ตามปกติในเช้าวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านมานี้ ซึ่งเป็นการตรวจร่างกายครั้งแรกของประธานาธิบดีไบเดน นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีก่อนวันเกิดอายุครบ 79 ปี ในวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายนนี้ หลังจาก 85 นาทีแล้วประธานาธิบดีไบเดนก็กลับมาเป็นประธานาธิบดีผู้มีอำนาจเต็มดังเดิม
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
การถ่ายโอนอำนาจของประธานาธิบดีให้กับรองประธานาธิบดีนี้ความจริงแล้วเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมีรัฐบัญญัติกำหนดวิธีการปฏิบัติและขั้นตอนการถ่ายโอนอำนาจอยู่ชัดแจ้งแล้ว และกรณีที่ ประธานาธิบดีไบเดนถ่ายโอนอำนาจให้แก่รอง ประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ก็ไม่ใช่เป็นการถ่ายโอนอำนาจของประธานาธิบดีไปสู่รองประธานาธิบดีครั้งแรก เนื่องจากมีประธานาธิบดีในอดีต เช่น ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เคยปฏิบัติมาแล้วโดยโอนอำนาจของประธานาธิบดีให้แก่อดีตรองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ เพราะต้องถูกวางยาสลบในช่วงที่ต้องเข้าโรงพยาบาล เมื่อ พ.ศ.2545 เป็นเวลา 133 นาที และ พ.ศ.2550 เป็นเวลา 125 นาที
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2562 ในระหว่างที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องเข้ารับการรักษาตัวจากโรคโควิด-19 ที่ศูนย์การแพทย์วอลเทอร์ รีดและต้องถูกวางยาสลบ แต่ทรัมป์กลับไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจเป็นการชั่วคราวให้แก่รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์
การเป็นข่าวใหญ่ในเรื่องที่ดูไม่น่าสำคัญเท่าไรนักนี้ ความจริงอยู่ที่ความสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกาและตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งของโลกเนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศพัฒนาสูงโดยมีเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกและเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นหลังอุตสาหกรรม (post-industrial) ซึ่งมีลักษณะที่ให้บริการอย่างกว้างขวางและเศรษฐกิจความรู้ครอบคลุมอีกด้วย
นอกจากนี้ ภาคการผลิตยังมีขนาดใหญ่สุดอันดับสองของโลกแม้มีประชากรรวมเพียง 4.3% ของโลก แต่สหรัฐอเมริกามีจีดีพีคิดเป็นเกือบหนึ่งในสี่ของจีดีพีโลกและเป็นประเทศที่ใช้จ่ายในทางการทหารกว่าหนึ่งในสามของรายจ่ายทางทหารของโลกทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นชาติเดียวในโลกที่มีศักยภาพในการทำสงครามทั้งด้านคอนเวนชั่นแนลและด้านสงครามนิวเคลียร์เป็นอันดับหนึ่งนำหน้าทุกประเทศแบบที่เรียกว่าทิ้งมหาอำนาจทางการทหารอันดับ 2 ของโลกอย่างห่างไกลแบบไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว
นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่การเมืองและวัฒนธรรมโดดเด่น และเป็นผู้นำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเทคโนโลยีอีกด้วย เนื่องจากเป็นประเทศที่เปิดกว้างสำหรับทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพสูงเพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
1
สำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกานั้นเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจและความรับผิดชอบสูงที่สุดในโลก เพราะเป็นประมุขของประเทศและหัวหน้ารัฐบาลฝ่ายบริหาร และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มีอำนาจเต็มของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ทรงอำนาจอิทธิพลมากที่สุดในโลก หากเปรียบเทียบกับประเทศให้เห็นภาพชัดก็คือตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคือตำแหน่งพระมหากษัตริย์ และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบวกกับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มีอำนาจเต็มในการบัญชาการรบได้ทุกระดับ และสามารถปลดและแต่งตั้งนายทหารได้ตามแต่จะเห็นสมควร และที่สำคัญที่สุดคือเป็นผู้บัญชาการกองทัพและควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาเพียงผู้เดียว
1
รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา มาตรา 2 บัญญัติว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายส่วนกลาง รับผิดชอบแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายบริหาร ข้าราชการทูต ข้าราชการประจำ และข้าราชการตุลาการในส่วนกลาง ทั้งมีอำนาจทำสนธิสัญญาเมื่อได้รับคำแนะนำและยินยอมของวุฒิสภา นอกจากนี้ ประธานาธิบดีมีอำนาจอภัยโทษ ลดโทษ เปลี่ยนโทษ เรียกและเลื่อนประชุมสมัยวิสามัญแห่งสภาทั้งสองของรัฐสภา ประธานาธิบดียังมีบทบาทนำในการออกกฎหมายระดับสหพันธรัฐ และการดำเนินนโยบายในประเทศ
ในสมัยหลัง ประธานาธิบดีมีการใช้คำสั่งของฝ่ายบริหาร ออกข้อบังคับหน่วยงานและการแต่งตั้งตุลาการเพื่อดำเนินนโยบายเพิ่มขึ้น และนับแต่สถาปนาประเทศเป็นต้นมา ประธานาธิบดีและรัฐบาลกลางมีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแม้ปัจจุบันไม่มีอำนาจนิติบัญญัติอย่างเป็นทางการนอกเหนือไปจากการลงนามและยับยั้งร่างกฎหมายที่รัฐสภาอนุมัติ แต่ประธานาธิบดีก็แบกรับความรับผิดชอบขนานใหญ่ในการกำหนดวาระประชุมพรรค รวมถึงกำหนดนโยบายการต่างประเทศและในประเทศด้วย
1
นอกจากประธานาธิบดียังมีอำนาจพิเศษคือ “การออกคำสั่งฝ่ายบริหาร” อันเป็นสิทธิพิเศษของประมุขของฝ่ายบริหารตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐ มาตรา 2 ประโยค 1 วรรค 1 ที่ให้อำนาจการออกคำสั่งฝ่ายบริหารถือว่าเป็นกฎหมายอีกด้วย
ครับ! การถ่ายโอนอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแม้ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ถึง 3 ชั่วโมง จึงเป็นที่จับตาของสื่อทั่วโลกด้วยประการฉะนี้
โฆษณา