28 พ.ย. 2021 เวลา 12:45 • ปรัชญา
นิทานเซนสอนใจ ตอนที่ 2
“เคล็ดลับแห่งความสำเร็จ”
เครดิตภาพ: Pixabay by truthseeker08
นิทานเซน หรือ Tales of Zen เป็นเรื่องราวคำสอนของศาสนาพุทธนิกายเซน ชื่อตัวละครในเรื่องอาจแตกต่างกันบ้างตามคนที่แปลและเรียบเรียงมาครับ พอดีอ่านเจอเลยอยากแชร์ให้อ่าน โดยผมตั้งใจจะลงให้เป็นทุกหัวค่ำของวันอาทิตย์ก่อนจะขึ้นวันจันทร์สัปดาห์ใหม่ จะได้เป็นข้อคิดทบทวนในสิ่งที่ผ่านมาและได้เริ่มต้นสิ่งดีๆต่อไป
1
เรื่อง “เคล็ดลับแห่งความสำเร็จ”
เหล่าลูกศิษย์ถามพระอาจารย์ว่า “ทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ”
1
อาจารย์จึงพูดว่า “วันนี้พวกเราจะเรียนเรื่องธรรมดาๆและง่ายที่สุด”
ให้ทุกคนแกว่งแขนไปข้างหน้าให้สุด แล้วแกว่งไปข้างหลังให้สุดเช่นกัน
พระอาจารย์สาธิตให้ดู พร้อมกับกำชับว่า “ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ให้แกว่งแขนวันละ 300 ครั้ง ทุกคนทำได้หรือเปล่า?”
เหล่าลูกศิษย์รู้สึกสงสัยจึงถามว่า “ทำไมต้องทำเรื่องอย่างนี้”
พระอาจารย์ตอบว่า “หลังจากทำเรื่องนี้แล้ว ผ่านไปหนึ่งปี พวกเจ้าจะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จ”
เหล่าลูกศิษย์คิดในใจว่า “เรื่องง่ายๆอย่างนี้ ทำไมถึงจะทำไม่ได้”
หลังจากผ่านไปหนึ่งเดือน พระอาจารย์ถามเหล่าลูกศิษย์ว่า “เรื่องที่อาจารย์สั่งให้ทำ มีใครยังทำอยู่หรือเปล่า?”
1
ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ยังตอบอย่างมั่นคงว่า ยังทำอยู่ พระอาจารย์รู้สึกพอใจ พยักหน้าบอกว่า “ดีๆ”
และเมื่อผ่านไปอีกหนึ่งเดือน พระอาจารย์ก็ถามอีกว่า “ตอนนี้ใครยังทำอยู่อีก”
ที่สุดก็เหลือเพียงครึ่งเดียวที่บอกว่าทำแล้ว
หนึ่งปีผ่านไป พระอาจารย์ถามทุกคนว่า "พวกเจ้าจงบอกซิว่า การออกกำลังกายด้วยการแกว่งแขนแบบง่ายๆ ยังมีใครยังคงทำอยู่?”
ตอนนี้มีเพียงคนเดียวที่ตอบว่ายังคงทำอยู่
พระอาจารย์จึงพูดว่า “อาจารย์เคยบอกกับพวกเจ้าว่า เมื่อทำเรื่องนี้เสร็จพวกเจ้าจะรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะประสบผลสำเร็จ”
ตอนนี้สิ่งที่อาจารย์อยากจะบอกพวกเจ้าคือ “เรื่องที่ทำง่ายที่สุดในโลก บ่อยครั้งก็เป็นเรื่องที่ทำยากที่สุด”
“เรื่องที่ทำยากที่สุด ที่บอกว่าง่าย เพราะขอเพียงยอมไปทำ ใครๆก็สามารถทำได้”
1
และที่บอกว่าเรื่องง่ายทำยาก ก็เพราะว่าคนที่ทำได้อย่างแท้จริง ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่น้อยคนจะทำได้
2
หลังจากนั้นพระรูปที่ทำต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อไป ในบรรดาศิษย์ทั้งหลายมีพระรูปนี้ที่ประสบความสำเร็จอยู่รูปเดียว
สรุปข้อคิดจากนิทานและถอดเป็นความคิดออกมาได้ว่า
1. จงตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้ให้ชัดเจนว่าต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเป็นการทำงานเราอาจจะเรียกว่า Action Plan โดยที่เป้าหมายนั้นจะต้องเป็นไปได้ด้วย ไม่ใช่ตั้งไว้จนเลยความเป็นจริงที่ขีดจำกัดของร่างกายตัวเองจะรับได้ เหมือนดั่งในนิทาน อาจารย์เพียงแค่ให้ลูกศิษย์แกว่งแขนไปมา
2. เดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อาจมีช้าลงบ้างเป็นบางช่วงเนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ ขอจงมุ่งมั่นไปเรื่อยๆไม่ย่อท้อ อย่างที่กล่าวไปในนิทาน อาจารย์ไม่ได้ระบุว่าต้องทำนานขนาดไหน เป็นปลายเปิดไว้ เพื่อที่ต้องการทดสอบดูว่าลูกศิษย์คนไหนผ่านเรื่องความมุ่งมั่นบ้าง
3. ถ้าพูดในมุมมองธุรกิจก็เหมือนกับว่าใครพยายามคงอยู่ในตลาดนานที่สุด คนนั้นย่อมอยู่รอดและประสบความสำเร็จ เพราะคู่แข่งยอมแพ้กันหรือไม่ได้จริงจังในตลาดดังกล่าวเหมือนที่เราอยู่ คนที่จริงจังและมุ่งมั่นคือผู้ที่ตลาดเลือก เปรียบเหมือนอาจารย์เลือกลูกศิษย์ในเรื่องนั่นเอง
2
ผมขอยกตัวอย่างคำคมที่เกี่ยวข้องกับนิทานเรื่องนี้ มาอีก 2 ประโยค คือ
“ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะเดินช้าสักแค่ไหน ตราบใดที่คุณไม่หยุดเดิน” ― ขงจื้อ (Confucius)
1
”ความอ่อนแอที่ใหญ่หลวงที่สุดของมนุษย์ก็คือ การยอมแพ้ และวิธีที่ดีที่สุดในการจะทำให้มันสำเร็จได้นั้นก็คือ การลองใหม่อีกครั้ง” ― โทมัส เอดิสัน (Thomas Edison)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา