4 ธ.ค. 2021 เวลา 09:06 • สุขภาพ
ส่องกระแส "รับสมัครนักนอน" ทำไม "การนอนหลับ" อย่างมีคุณภาพจึงสำคัญ?
จากกรณีเปิด "รับสมัครนักนอน" ที่เรียกเสียงฮือฮาในโลกโซเชียลได้ไม่น้อยเมื่อไม่กี่วันก่อน ชวนรู้ลึกเกี่ยวกับ "อาการนอนไม่หลับ" ที่กลายเป็นปัญหาสำคัญของผู้คนยุคนี้ พร้อมส่องวิธีที่จะช่วยให้ "นอนหลับ" ได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
ส่องกระแส "รับสมัครนักนอน" ทำไม "การนอนหลับ" อย่างมีคุณภาพจึงสำคัญ?
หลายคนคงได้เห็นป้ายประกาศ “รับสมัครนักนอน” แคมเปญการตลาดของบริษัทขายที่นอนรายหนึ่ง ที่กลายเป็นกระแสไวรัลในโลกโซเชียล เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนสามารถจุดกระแสเรื่องปัญหาอาการ "นอนไม่หลับ" ให้ถูกพูดถึงกันอีกครั้ง
อันที่จริงแล้วเรื่อง “การนอนหลับ” เป็นประเด็นที่ผู้คนยุคนี้ให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากก่อผลกระทบเรื้อรังทางสุขภาพให้กับผู้คนวัยทำงาน จนต้องหายา วิตามิน เทคโนโลยี หรือการบำบัดเข้ามาช่วยบรรเทากันอย่างจริงจัง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้ปัญหาสุขภาพการนอนของคนไทยในปัจจุบัน พร้อมส่องวิธีที่จะช่วยให้สามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
1. การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ เป็นสิ่งที่คนไทยสนใจมากขึ้น
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติเรื่อง การดูแลสุขภาพของคนไทยในปี 2563 ที่ผ่านมา โดยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
แม้คนไทยจะหันมาดูแลเรื่องสุขภาพมากขึ้นถึง 68.10 % แต่ระดับความวิตกกังวลกลับสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 67.75 % ซึ่งสอดคล้องกับการใช้จ่ายเพื่อการดูแลสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นถึง 59.38 % ทั้งนี้ “การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ” เป็นหนึ่งในปัญหาเรื่องสุขภาพที่คนไทยสนใจอยากรู้เพิ่มเติมในปีที่ผ่านมา
โดยข้อมูล "เรื่องสุขภาพที่คนไทยสนใจ" อยากรู้เพิ่มเติม 5 อย่าง เรียงตามลำดับความสนใจของประชากรจากมากไปน้อย ดังนี้
1. เทคนิคการดูแลสุขภาพตนเอง (71.98 %)
2. การป้องกันโรคโควิด-19 (69.69 %)
3. การป้องกันโรคต่างๆ (62.56 %)
4. การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ (53.39 %)
5. การดูแลสุขภาพจิต (46.34 %)
2. พฤติกรรมการนอนของคนไทย น่าห่วงแค่ไหน?
หากเจาะลึกถึง “พฤติกรรมการนอนของคนไทย" ให้มากขึ้น ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจจากผลสำรวจของเอไอเอ ประเทศไทย ปี 2562 ที่บ่งชี้ว่า ปัญหาการนอนไม่หลับเป็นปัญหาที่มีความร้ายแรงมากขึ้นในทวีปเอเชีย อาจส่งผลให้เกิดโรคติดต่อที่ไม่ร้ายแรง (NCD)
โดยคนไทยนอนหลับคืนละ 6 ชั่วโมง หรือน้อยกว่า (61 %), รู้สึกกังวลที่นอนหลับไม่เพียงพอ ต้องการมีเวลานอนมากขึ้น (55 %), ไม่พอใจในคุณภาพการนอนหลับของตนเอง (23 %) และคนไทยมองว่าหากได้นอนเพิ่ม 1 ชั่วโมง จากชั่วโมงการนอนปกติของตนเอง จะทำให้อารมณ์คงที่และกระตือรือร้นมากขึ้น (73 %)
3. ปัญหาสุขภาพเกิดจากการนอนไม่หลับ
ปัญหาการนอนไม่หลับนั้น หากปล่อยไว้ในระยะที่ยาวนานโดยไม่รักษาหรือแก้ไข อาจส่งผลเสียกระทบกับสุขภาพด้านอื่นๆ ตามมาด้วย ดังนี้
- อาการหลงลืม เบลอ สมองไม่แล่น
- เกิดความอ่อนเพลียระหว่างวัน รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา ไม่สดใส
- เกิดความเครียดสะสม
- อาจเกิดความเจ็บป่วยโรคอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น
- ร่างกายขาดออกซิเจน โรคซึมเศร้า โรคหัวใจวาย โรคปอดอักเสบ อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคอื่นๆ
4. วิธีช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น
ทางคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีคำแนะนำที่ช่วยให้การนอนหลับของคุณมีคุณภาพดีขึ้น หากปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- ออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน
- ทานกล้วยหอม เพราะผลไม้ชนิดนี้มีกรดอะมิโน (Tryptophan) ซึ่งช่วยคลายความกังวลได้ดี
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสเผ็ด รสจัด ก่อนเวลานอนหลับ 3-4 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินส่งผลให้นอนหลับยากขึ้น
- เข้านอนให้เป็นเวลา อย่างสม่ำเสมอ เพราะหากนอนในเวลาที่ไม่เหมือนกันจะส่ง- - ผลให้การนอนวันต่อๆ ไปไม่เหมือนเดิม
- เข้านอนเมื่อร่างกายพร้อม หากยังไม่รู้สึกง่วงไม่ควรเข้านอน เพราะการฝืนนอนอาจทำให้เกิดการตึงเครียด
- จัดระเบียบห้องนอน เอาสิ่งรบกวน หรือเครื่องมือสื่อสารออกห่างจากบริเวณที่ต้องนอน
- ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจก่อนนอน ด้วยการทำสมาธิ อาบน้ำอุ่น เดินเบาๆ
- หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ แอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีสารกระตุ้นประสาท อย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงก่อนนอน
อ้างอิง: โรงพยาบาลรามาธิบดี, เอไอเอ ประเทศไทย (1), เอไอเอ ประเทศไทย (2), สวนดุสิตโพล
โฆษณา