2 ธ.ค. 2021 เวลา 15:00 • นิยาย เรื่องสั้น
NYKU ตอนที่ 43 'เหยียบงานสองแคม'
เชื่อว่าสมัยเป็นเด็กตอนไปโรงเรียนนั้น พี่น้องต่างก็ต้องนั่งท่องจำสุภาษิตไทยกัน อย่างเช่น ‘น้ำขึ้นให้รีบตัก’ ที่แปลว่า เมื่อได้เป็นสส. ก็ต้องรีบกินให้เต็มที่ หรือจะเป็นนกสองหัว ที่มีพฤติกรรม คล้าย ๆ กับนักการเมืองที่เข้าได้ทั้งทุกฝ่าย ตอนตัวเองเป็นฝ่ายค้านก็ขุดสารพัดมาด่า พอเขาให้เข้าร่วมก็เลียซะหนังหน้าเปียกกันไปเลย ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ หมายถึง เอาของเก่ามาทำให้ดูเหมือนเป็นของใหม่ เปลี่ยน package หีบห่อซะใหม่เอี่ยม หลอกชาวบ้านได้ แต่พอเปิดออกก็รู้ว่าของเดิม ๆ นี่นา คล้ายกับนักการเมืองเก่าบ้านเราที่ย้ายไปอยู่ในพรรคใหม่ พยายามจะทำตัวเป็นคนใหม่ สุดท้ายมันก็เน่าเหมือนเดิมนั่นแล หรือจะเป็น ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ ที่เหมือนกับเรื่องการเมือง ที่ต่างก็รู้ไส้รู้พุง เรื่องไม่ดีของกันทั้งนั้น เอ๊ะ! ทำไมเกี่ยวกับการเมืองหมดเลย หรือสุภาษิตไทยเราจะมีรากมาจากการเมือง! กรี๊สสสส!
แต่วันนี้ไม่ได้จะมาเล่าถึงเรื่องการเมือง แต่จะมาเล่าถึงสุภาษิตไทยที่ว่า ‘เหยียบเรือสองแคม’ แปลว่า เข้าได้กับทั้งสองฝ่าย เผื่อเกิดอะไรขึ้น ก็จะได้ไปเข้ากับอีกฝ่ายหนึ่งได้ทัน ผมว่ามันคล้ายกับ การที่ทำอะไรสองอย่างพร้อมกัน เหมือนขาแต่ละข้างล้วนเหนี่ยวยึด เหยียบแคมเรือเอาไว้ พอเห็นเรือลำไหนจะจม ก็สามารถชิ่งไปอีกลำนึงได้ทัน แต่ต้องระวัง ถ้ายืนไม่ดี เกิดเรือแยกห่างออกจากกันก็จะตกน้ำได้
ซึ่งเรื่องของการเหยียบเรือสองแคมของผมนั้น เกิดในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2007 หลังจากที่เพิ่งมานิวยอร์กได้ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น ตอนนั้นยังทำงานเป็นหล๋งจู๊ อยู่ร้านคร้วข้าวไทยอยู่เลย ด้วยความที่ทำงานได้คืนละ $50 พอมานั่งคำนวณดู ก็ร้องกรี๊สสส... เพราะผมก็จะมีรายได้ประมาณ $1,000 ต่อเดือนเท่านั้น เมื่อมาหักลบกลบหนี้กับค่าใช้จ่าย ที่มีทั้งค่าเช่าห้อง $400, ค่าโทรศัพท์, ค่าบัตรโทรทางไกล, ค่าบัตร Subway, ค่าข้าวกินอยู่ อีกประมาณ $300 นี่ขนาดคิดแค่วันละ $10 เท่านั้นนะครับ (อยู่เมืองไทยยังใช้มากกว่านี้อีก!) รายจ่ายก็ตกไป เกือบ $700 แล้ว เท่ากับว่าผมจะเหลือเงินเก็บบ้าง แค่ประมาณเดือนละ $300 เท่านั้น
โอ้ววว...คุณพระช่วย! (หรือ Oh My God!) ท่าทางจะไม่เข้าท่าล่ะ เพราะว่าผมเองก็ไม่มีเงินเก็บหรือเงินสำรองเลย เกือบจะเรียกได้ว่ามาแต่ตัวด้วยซ้ำ! ยิ่งค่าเทอมที่โรงเรียนก็แพงหูแทบฉีก เทอมละ $1,200 โอ้ววว...แม่พระ! (หรือ Oh My Goddess!) ขืนผมไม่เปลี่ยนแผนการใช้ชีวิต หรือไม่หารายได้เพิ่ม อย่าว่าแต่ค่ากินอยู่เลยครับ ค่าเทอมยังไม่มีปัญญาจ่าย! เรียกว่าความเสี่ยงสูงมาก หากร้านที่ทำงานอยู่นั้นเกิดไฟไหม้ (เฮ๊ย! ไม่ได้แช่งนะ) หรือเกิดอะไรขึ้นกับผม จนทำงานไม่ได้ มีหวังได้กลายร่างเป็น Homeless คนไร้บ้านนอนตรงสถานี Subway แน่นอน ผมก็เลยตัดสินใจ หางานที่สอง เริ่มแผนปฎิบัติการณ์เหยียบเรือสองแคม!
หลังจากหาอยู่ซักพัก ก็ได้ร้านที่อยู่ใกล้บ้านขึ้นมาหน่อย อยู่ใน Queens แถว Roosevelt ave ย่านที่พี่น้องคนไทยอาศัยอยู่กัน ร้านนี้ชื่อ ร้านสไบครับ ร้านสไบเป็นร้านอาหารไทยเล็ก ๆ เน้นถูกและอร่อย ร้านไม่ค่อยยุ่งเท่าไหร่นัก แถมร้านสไบนั้นมีเงินประกันให้ด้วย เงินประกันก็คือ เงินที่ร้านจะเติมให้ หากว่าวันนั้น ร้าน Slow โคตร ลูกค้าน้อย ทำให้เงินทิปได้ไม่ถึงเป้า ร้านก็จะเติมส่วนต่างนั้นให้ครับ โดยอยู่ที่ $120 ต่อวัน แบ่งเป็นกะเช้า $50 กะเย็น $70 ครับ เรียกว่าเหมาะกับเว๊ทใหม่ป้ายแดงอย่างผมจริง ๆ
คำว่า ‘เด็กเสิร์ฟ’ ที่บ้านเราใช้กันนั้น คนไทยที่นิวยอร์กชอบเรียกว่า ‘เว๊ท’ มาจากภาษาอังกฤษที่เราเรียนมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งก็คือ Waiter, Waitress แต่เอาจริง ๆ แล้วNew Yorker เขาชอบเรียกว่า Server มากกว่านะ น่าจะเพราะว่าง่ายกว่า ไม่ต้องแบ่งเพศให้เสียเวลา
ซึ่งตอนนั้นร้านสไบก็มี Server รุ่นเดอะ อายุเข้าวัยเกษียณอยู่คนนึงครับ แกชื่อ Stephen คนในร้านเรียกแกว่า ‘ลุงตีฟ’ แกเป็นคนมาเลเซียโดยกำเนิด ย้ายประเทศมาตั้งรกรากที่นิวยอร์กตั้งแต่ก่อนผมยังไม่ทันเกิด พูดอังกฤษได้ พูดจีนก็คล่อง แถมได้ทั้งจีนกลาง จีนกวางตุ้ง ประสบการณ์การทำงานร้านอาหารก็มากมายนานหลายทศวรรษ เรียกว่ารู้งานเป็นอย่างดีครับ
“อ็อตโต้ทำงานกับลุงตีฟนะ มีอะไรก็ถามแกแล้วกัน” พี่แอ๊นท์ น้าสาวเจ้าของร้านสไบบอก ก่อนจะฝากฝังผมเอาไว้กับลุงตีฟ ได้รู้ว่าจะมีรุ่นใหญ่ มือเก๋ามาประกบเป็นพี่เลี้ยงให้แบบนี้ ก็ใจชื้นครับ ผมจะได้ศึกษาจากลุงตีฟให้มาก ๆ ครับ
แต่งานสบาย ๆ ได้เงินดี ๆ น่ะ นั่งกินนอนกินน่ะ มันมีแค่ในรัฐสภาบ้านเราเท่านั้นแหละครับ ยังไม่ทันที่ผมจะได้ดีใจเลย ก็ต้องผงะ เมื่อเห็นหน้าลุงตีฟโคตรจะไม่รับแขก สีหน้าประหนึ่งว่าขี้ไม่ออกมาสัก 5 วัน ผมหันหน้าไปมองพี่แอ๊นท์ จะขอกำลังใจ ขอ Back up จากเจ้าของร้านสักหน่อย พี่แกก็หายไปเสียแล้ว เฮ้ย! นี่มันไงฟ่ะเนี่ย ทิ้งให้ผมอยู่กับลุงตีฟกันสองต่อสองแบบนี้ ใจไม่ดีเลย... ลุงตีฟแกมองผมด้วยหางตา ปากเบ้ ๆ เผยอออกมาบอกผมว่า วันนี้ยูลงอาหารอย่างเดียวนะ ที่เหลือชั้นจัดการเอง
สิ่งที่ลุงตีฟก็คือ การแบ่งแยกหน้าที่ครับ โดยให้ผมรับผิดชอบเรื่องของการลงอาหารเท่านั้น ไม่ต้องคุยกับลูกค้าให้มาก ให้ Server อีกคนหรือในที่นี่คือ ลุงตีฟนั่นเอง เป็นคนจัดการ สรุป ลุงตีฟให้ผมรับผิดชอบเรื่องของการลงอาหาร เสิร์ฟอย่าให้ผิด เวลาลูกค้าออกจากร้านไป ก็มาช่วยเก็บจานชาม กับหัดเช็ดถูโต๊ะให้สะอาด ๆ ว่าง ๆ ก็ไปเอาของมาเติมให้เต็ม ส่วนแกจะคอยรับออเดอร์ลูกค้า กับเก็บตัง ปิดบัญชีอะไรประมาณนั้น ลุงตีฟแกก็โยนงานมาให้ผมเรียบร้อย จากสมัยอยู่ครัวข้าวไทย ได้คุยแต่กับโทรศัพท์ กับเครื่องคิดเลข ก็เปลี่ยนมาเป็นคุยกับจานชามในห้องครัวแทน แล้วก็ไม่รู้เป็นอะไรนะครับ วันแรก ๆ ที่ผมอยู่กับลุงตีฟ ร้านสไบก็โคตรจะยุ่งครับ ยุ่งจนพี่แอ๊นท์ถึงกับบอกว่า สงสัยผมจะเป็นนางกวัก! แหม่ว่าไปนั่น 555
แต่ให้ลงอาหารกับเก็บโต๊ะ ใช้แรงงานอย่างเดียว มันก็ออกจะดูแคลนภูมิปัญญาของผมไปมากอยู่ครับ จบมหาลัยมาแล้วนะ พูดอังกฤษก็พอไหว อาหารไทยก็พอรู้ ทำไมชั้นจะรับออเดอร์บ้างไม่ได้วะ ผมเริ่มอารมณ์เสีย จนแอบมีไปแย่งรับออเดอร์จากลุงตีฟมาบ้าง ลุงตีฟมองหน้า ผมก็ไม่สนใจ
“ชาขอเป็น Whole milk ได้ไหม ไม่กิน Half & half?” ลูกค้าถาม ผมก็งงครับ แต่ก็ยิ้มไว้ก่อน ตอบเยส ๆ ไป จริง ๆ ร้านสไบเขาใช้นมอะไร และอะไรคือ Half & half วะ ไม่รู้จัก ลุงตีฟบอกว่า ที่ร้านมีแต่ Half & half ซึ่งจะเป็นนมที่มีความข้นมากกว่านมทั่วไป ออกครีมนิด ๆ ผมจึงต้องไปบอกลูกค้าอีกที พอลูกค้าได้ฟัง ก็ทำหน้าไม่พอใจ หัวเสียประหนึ่งว่าทำไมผมไม่บอกแกไปตอนแรก
“ช่วยทำ แกงเขียวหวานให้ไม่เผ็ด หรือเผ็ดน้อยได้ไหม?” เอาอีกล่ะ ลูกค้าถามอีกล่ะ ผมก็ยิ้มสู้อีกที ก่อนคิดในใจว่า ทำไมจะทำให้เผ็ดน้อยลงไม่ได้ล่ะ ก็ใส่เครื่องแกงน้อย ๆ สิ ไม่เห็นเป็นไรเลย ว่าแล้วก็ตอบ เยส ๆ ไปเลย
แต่พอเขียนออเดอร์เข้าไปในครัวเท่านั้นแหละ พี่เชฟอ่านแล้วก็ตะเพิดใส่ว่า “ทำไม่ได้! แกงเขียวหวานเป็นแกงที่เผ็ดที่สุด ทำให้ไม่เผ็ดไม่ได้ ไปคุยกับลูกค้าใหม่ไป!” น่าน...โดนไปอีกดอกนึง.... แถมพอบอกคุณลูกค้าว่า ทำไม่ได้เท่านั้นแหละ นางทำหน้าไม่ค่อยพอใจ แบบอยากจะกินแกงอันนี้มา ก ถ้าไม่ได้กินแกงนี้ รสชาติแบบนี้จะเสียใจมาก เดี๋ยวนะ ๆ จะอินอะไรเบอร์นั้นวะ?
“พอดีแกงเขียวเป็นแกงที่เผ็ดมาก ๆ ถ้าทำให้ไม่เผ็ดเลย มันจะไม่อร่อยนะ เราเป็นห่วงอยากให้ได้กินของอร่อย เอางี้ไหม? ถ้าคุณกินเผ็ดไม่ได้ ลองกินแกงมัสมั่นไหม แกงโปรดชั้นเลยล่ะ ชั้นเองก็กินเผ็ดไม่ค่อยได้” ลุงตีฟแกเข้ามาช่วยซับให้ หลังจากเห็นผมเริ่มออกอาการ รับมือลูกค้าไม่ถูก
พออาหารมา นางก็ยิ้มหวานมีความสุข มียกนิ้วโป้งให้ลุงตีฟด้วย แล้วลุงตีฟก็เดินเข้าไปหา พร้อมกับชาเย็นสองแก้ว ก่อนจะบอกว่า
“ท่าทางจะยังเผ็ดเกินไปหน่อยนะ อ่ะ Thai Iced Tea on the House นะ สำหรับคุณและเพื่อน” แจกชาเย็นไปสองแก้วแค่นี้ นางยิ้มแก้มแทบปริ บอกขอบคุณ ๆ เดี๋ยวนะ ๆ จะซาบซึ้งอะไรเบอร์นั้นวะ? ก่อนที่จะกินเสร็จแล้วจากไปอย่างมีความสุข พร้อมวางเงินทิปให้อีก 20%!
“ยูรู้จักอาหารร้านนี้หมดแล้วหรือยัง” ลุงตีฟถาม ผมตอบไปว่ารู้สิ ลุงตีฟก็เลยถามผมว่า ในผัดไทยนั้นมีส่วนผสมอะไรบ้าง ผมก็ตอบไปแบบเก้กัง ๆ ถูกแต่ไม่หมด
“แล้วในผัดไทยมี Soy Sauce ไหม” ลุงตีฟถามมาอีก คราวนี้ผมเองจนปัญญา ไม่รู้ครับ ก่อนที่แกจะยิงมาอีกหลายคำถาม เฮ้ย! กรูไม่ได้เป็นพ่อครัว ไม่ได้เป็นเชฟกะทะเหล็กนะโว๊ย จะไปรู้ได้ไงล่ะ ผมสวนไป
“ลองคิดดูซิว่า นายเป็นลูกค้าที่ไม่รู้จักอาหารไทย พอถาม Server Server ก็ไม่รู้อีก แล้วนายจะสั่งอะไร ใครมันจะอยากมากิน? แบบนี้ชั้นจะให้นายรับออเดอร์อาหารได้ยังไง นายไม่รู้จักอาหารในร้านเลย!” ลุงตีฟทำหน้าสส ฝ่ายค้าน ตอนซักรัฐบาล เล่นเอาผมเองยอมจำนนเลยครับ เพราะผมแถไม่เป็น ก็มันเรื่องจริงนี่หว่า ลุงตีฟอธิบายต่อ
“สาเหตุที่ชั้นให้นายลงอาหารอย่างเดียว เพราะว่าอยากให้นายได้เห็นหน้าอาหารให้มาก ๆ ได้รู้ว่าแต่ละจาน มีส่วนผสมอะไรบ้าง เมื่อนายรู้จักส่วนผสมดีแล้ว เมื่อนั้นนายก็จะรับออเดอร์อาหารได้แบบไม่มีปัญหา” ลุงตีฟอธิบายร่ายยาว
โอ้วววว.....มันเป็นอย่างนี้นี่เอง เรามองลุงตีฟผิดไป จริง ๆ แล้วนี่คือการเทรนงานให้เรา ผมรีบบอกขอบคุณ ๆ หลังจากนั้น ผมก็ฝึกฝนการเป็นเว๊ทที่ร้านสไบนี่แหละครับ จากนั้นก็ทำค่อย ๆ เพิ่มตารางงานที่ร้านสไบ และก็ลดตารางของร้านครัวข้าวไทยลง จนสุดท้ายก็เหลือแค่ที่ร้านสไบเท่านั้น
 
ตอนนั้นนี่เรียกว่าออกอาหารจนชิน เริ่มรู้จักหน้าตาอาหาร เทคนิคการแบกถืออาหารแบบถือสองจานในมือเดียว ก็ได้ลุงตีฟนี่แหละครับ เป็นคนสอนให้ โดยผมทำงานร่วมกับลุงตีฟอยู่นานเป็นเดือน
“ลุงตีฟล่ะ ยังไม่มาเหรอครับ ไมมาสาย?” ผมถามพี่แอ๊นท์ เพราะเห็นว่าวันนี้สายมากแล้ว ยังไม่เห็นลุงตีฟเลย พี่แอ๊นท์ตอบมาว่า ลุงตีฟ แกลาออกไปทำงานร้านมาเลแล้ว แกทำงานสองร้านเหยียบเรือสองแคมมาพักใหญ่ ๆ ผมก็อ้าวว เหมือนกันนี่นาลุงตีฟ!
ฝากกดติดตาม กดไลค์ ตามอัพเดท เอ็น.วาย.กู. NYKU: New York Kitchen University เรื่องวุ่น ๆ ของมนุษย์ห้องครัวในมหานครนิวยอร์กได้ที่ 

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา