25 ธ.ค. 2021 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
COP26 คืออะไร การประชุม COP26 เป็นการประชุมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและจับตามองอยู่ในขณะนี้
โดย COP26 มาจาก the 26th UN Climate Change Conference of the Parties หรือชื่อไทยอย่างเป็นทางการ คือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26
COP26 วันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมือง Glasgow สหราชอาณาจักร
ซึ่งการจัดประชุมในปีนี้ จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมือง Glasgow มีสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ
โดยเชิญผู้นำ 197 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือการดำเนินการให้บรรลุข้อตกลงในก​ารลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission: Net Zero) ภายในปี 2050 และมีเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงกว่า
COP26 สำคัญอย่างไร
จากผลการศึกษาสภาพภูมิอากาศล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC)1 และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO)2 ยืนยันว่า
ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศแปรปรวนและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในหลายประเทศทั่วโลก โดยปี 2563 นับเป็นปีที่โลกมีก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงที่สุด ระดับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ที่ชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
โดยเฉพาะค่าความเข้มข้นของก๊าซ CO2 ในปี 2020 สูงกว่าปี 1850 ที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถึงกว่าร้อยละ 149 ซึ่งก๊าซเรือนกระจกนี้ส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ และหากไม่มีการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง คาดว่า จะทำให้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า1.5 – 2 องศาเซลเซียสภายในกลางศตวรรษที่ 21 นี้
ซึ่งแน่นอนว่า สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ ต่อเนื่องไปถึงสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก
เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าว การประชุม COP26 ในครั้งนี้ ผู้นำทั่วโลกจะหารือร่วมกันเพื่อบรรลุข้อตกลงในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามที่ได้เคยมีการรับรอง Paris Agreement เมื่อปี 2015
เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งการประชุม COP26 เป็นการประชุมครบรอบ 5 ปี ตาม Paris Agreement ที่ทุกประเทศภาคีจะต้องนำเสนอแผนต่อ สำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (the UNFCCC Secretariat) และประกาศจุดยืนในการดำเนินการไปสู่เป้าหมาย Net Zero
นอกจากนี้ การประชุมยังมีวัตถุประสงค์ที่จะระดมทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ถึงปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปช่วยประเทศที่กำลังพัฒนาในการปรับตัว และจะหารือถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และ NGOs อีกด้วย
ประเด็นที่ต้องจับตาในการประชุม COP26
ประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองและให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ การเข้าร่วมของผู้นำประเทศในการประกาศจุดยืนและมาตรการของแต่ละประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ซึ่งประเทศภาคีจะต้องมีการส่งแผนการดำเนินการดังกล่าวต่อที่ประชุม โดยประเทศที่ทั่วโลกจับตามอง ได้แก่ ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น
ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย จะประกาศไม่เข้าร่วมเดินทางไปประชุมด้วยตัวเอง แต่ผู้นำทั้งสองประเทศก็ได้แสดงจุดยืน ในการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง
โดยทางการจีนได้ประกาศยุติการสนับสนุนการผลิตถ่านหินและมีการจัดทำแผนเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนให้ได้ร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานในประเทศภายในปี 2025 และลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลเหลือไม่เกินร้อยละ 20 เพื่อเข้าสู่ Net Zero ในปี 2060
ขณะที่ทางการรัสเซียอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2ได้ร้อยละ 79 ภายในปี 2050 โดยการลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด เพื่อเข้าสู่ Net Zero ในปี 2060 เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ผู้นำจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างประเทศซาอุดีอาระเบียได้ออกมาประกาศจุดยืนอย่างเป็นทางการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2060 ขณะที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประกาศแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่
Net Zero ภายในปี 2050
ท่าทีของไทยและผลกระทบจากข้อตกลงที่มีต่อไทย
สำหรับประเทศไทยนั้นรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้มีการบรรจุเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ
และการลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น 2 กลยุทธ์หลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 135
และเมื่อ 19 ต.ค. 64 คณะรัฐมนตรีผ่านร่างยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS) สำหรับดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดในปี 2030
มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2065 และเพื่อให้เข้าสู่ Net Zero ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและขนส่งอย่างเร่งด่วน
รวมถึงการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการลดการปล่อยเรือนกระจกในภาคเอกชน ซึ่งร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะนำเสนอต่อ the UNFCCC Secretariat สำหรับ การประชุม COP26 ที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นผู้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง
นอกจากนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณาแผนพลังงานชาติ โดยจะมีการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและการอนุรักษ์พลังงาน
ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเชื้อเพลิง ควบคู่ไปกับการพัฒนาประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชน ส่งเสริมภาคเกษตรอินทรีย์และเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ตลอดจนปรับมาตรฐานอุตสาหกรรม เน้นการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการดำเนินการตามแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 เพื่อดูดซับก๊าซ CO2 ให้ได้ถึง 120 ล้านตัน
อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีส่วนร่วม (Nationally Determined Contributions: NDCs) ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero
ภาครัฐจะต้องกำหนดนโยบายในทางปฏิบัติที่ชัดเจน ออกกฎหมายกำกับดูแลและควบคุมการปล่อยมลภาวะที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สร้างการรับรู้ถึงความสำคัญต่อภาคธุรกิจและประชาชน รวมถึงสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
ในขณะที่ภาคเอกชนจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจในองค์กรและปรับตัว เพื่อรักษาระดับความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในแง่ของการดำเนินนโยบาย Net Zero การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสีเขียว พลังงานสะอาด การจัดทำ Carbon Footprint หรือเอกสารกำกับกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เนื่องจากการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป นโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะถูกนำมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงและการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุน อีกทั้งประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทย
โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา จะเริ่มมีการนำนโยบายกีดกันทางการค้ามาใช้ในหลายกลุ่มสินค้าและอุตสาหกรรม ผ่านการพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2
อาทิ อุตสาหกรรมการบิน การขนส่งทางเรือ การผลิตเหล็ก การผลิตพลังงาน เป็นต้น
ดังนั้น การดำเนินการเพื่อมุ่งสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนควรเร่งให้ความสำคัญและเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
1 Climate Change 2021: The Physical Science Basis, Working Group I contribution to the Sixth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. (IPCC AR6 WGI) (https://www.ipcc.ch/report/ar6/wg1/)
2 WMO Greenhouse Gas Bulletin No.17, 25 October 2021 https://library.wmo.int/doc_num.php?explnum_id=10838
#KResearch #KBankLive
ขอบคุณภาพจาก Shutterstock.com
โฆษณา