2 ธ.ค. 2021 เวลา 08:53 • ประวัติศาสตร์
สมันตภัทรจริยาปณิธานวรรค (๑)
สมัยนั้น พระสมันตภัทรโพธิสัตว์มหาสัตว์เมื่อสรรเสริญพระคุณอันประเสริฐของพระตถาคตเจ้า* แล้วจึงกล่าวกับบรรดาโพธิสัตว์ทั้งหลายและสุธนกุมาร** ว่า
“ดูก่อนกุลบุตรอันพระคุณแห่งพระตถาคตเจ้านั้น สมมุติว่าเราจะกล่าวแสดงต่อไปโดยไม่หยุดไปตลอดหลายกัลป์* เท่ากับจำนวนปรมาณู**ธุลีที่มีอยู่ ในพุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทั่วทศทิศ*** ที่จะกล่าวถึงจำนวนด้วยวาจามิได้นั้น ย่อมไม่อาจอวสานสิ้นสุดลง แต่หากปรารถนาจะสำเร็จในกุศลประการนี้ พึงบำเพ็ญมหาจริยปณิธานอันไพบูลย์สิบประการเถิด”
*พระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีเป็นเอนกประการสุดที่จะพรรณนา แต่เมื่อรวบรัดกล่าวโดยย่อแล้วก็มี ๔ ประการคือ
๑. อรหํ เป็นผู้ไกลจากข้าศึกคือ กิเลส อีกนัยหนึ่งว่า เป็นผู้ที่ไม่มีที่รโหฐาน หมายความว่า แม้แต่ในที่ลับก็ไม่กระทำบาป
๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ที่ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง
๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะวิชา และจรณะนี้ได้แสดงแล้วในปริจเฉทที่ ๒ ตอนสัพพสังคหะ ตรงมัคคอริยสัจจ์ ขอให้ดูที่นั่นด้วย
๔. สุคโต แปลว่า ทรงไปแล้ว
๕. โลกวิทู พระพุทธองค์ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง ด้วยประการทั้งปวงคือ ทรงรู้จักโลก รู้จักเหตุเกิดของโลก รู้จักธรรมที่ดับของโลก และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงธรรมที่ดับของโลก
๖. อนุตฺตโร ปุริสทมุมฺสารถิ ทรงสามารถฝึกอบรมสั่งสอนแนะนำผู้ที่สมควรฝึกได้เป็นอย่างเลิศไม่มีใครเสมอเหมือน ทั้งนี้เพราะทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์นั้นๆ
๗. สตฺถา เทวมนุสฮสานํ ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งไม่มีศาสดาใดจะเทียมเท่า เพราะทรงนำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากกองทุกข์ได้
๘. พุทฺโธ ทรงเห็นทุกอย่าง (สพฺพทสฺสาวี), ทรงรู้ทุกสิ่ง (สพฺพญฺญู) ทรงตื่น, ทรงเบิกบานด้วยธรรม
๙. ภควา ทรงเป็นผู้ที่มีบุญที่ประเสริฐสุด ทรงสามารถจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ตามควรแก่อัตตภาพของสัตว์นั้นๆ
**สุธนกุมาร ราชโอรสของพระเจ้าปัญจาละ ได้ไปคารวศึกษากับอาจารย์ ๕๕ ท่านและเป็นกุมารองค์เดียวกับที่ยืนอยู่ข้างพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
“สิบประการนั้นมีเช่นไรเล่า”
“หนึ่ง เคารพในพระพุทธเจ้าทั้งปวง
สอง สรรเสริญพระตถาคต
สาม สักการะอย่างไพบูลย์
สี่ สำนึกกลับใจต่อวิบากกรรม
ห้า พลอยยินดีกับกุศล
หก อาราธนาให้หมุนธรรมจักร
เจ็ด อัญเชิญให้ทรงสถิตในโลก
แปด ศึกษาตามพุทธอนุศาสน์
เก้า อนุโลมตามสรรพสัตว์สิบอุทิศให้ทั้งสิ้น”
*คำว่า “กัป” (บาลี) และคำว่า กัลป์ (สันสกฤต) เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน, สมมุติมีกล่องใบหนึ่งกว้าง ๑๐๐ โยชน์ (๑๖,๐๐๐ กิโลเมตร) ยาว ๑๐๐ โยชน์และสูง ๑๐๐ โยชน์ในเวลา ๑๐๐ ปีให้เอาเมล็ดผักกาด ๑ เมล็ดใส่ลงไปในกล่องนั้นทำอย่างนี้จนเมล็ดผักกาดนั้นเต็มเสมอเรียบปากกล่องนั้นละจึงเท่ากับ ๑ กัป, บางตำราว่าคือ จึงได้เวลา ๑ กัป ประมาณสามล้านสองแสนเจ็ดหมื่นหกพันแปดร้อยล้านล้านล้านล้านปีประมาณ ๓.๓ คูณ ๑๐ ยกกำลัง ๓๐ ปี
**ปรมาณูคือ ส่วนของสารเคมีที่เล็กที่สุด จนไม่สามารถแยกย่อยได้อีกด้วยวิธีเคมี ตามนัยยะแห่งพระสูตรนี้จะใช้ปรมาณูเป็นคำเปรียบให้เห็นว่ามีจำนวนมากมายและยังมีสิ่งแยกย่อยในจักรวาลอีกมาก
***ทศทิศคือ ทิศทั้ง ๑๐ มีเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศเบื้องบนและทิศเบื้องล่าง
สุธนกุมาร
สุธนกุมารกล่าวว่า “พระคุณเจ้าเช่นไรคือการเคารพจนถึงการอุทิศเล่า”
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์กล่าวกับสุธนกุมารว่า
พระสมันตภัทรโพธิสัตว์
“ดูก่อนกุลบุตร อันการเคารพในพระพุทธเจ้าทั้งปวงนั้น คือ ในบรรดาพระผู้มีพระภาคทั้งหลาย ที่มีจำนวนเท่ากับปรมาณูธุลีในพุทธเกษตรทั่วทิศทั้งสิบ ในกาลทั้งสาม*ตลอดสิ้น ทั้งธรรมธาตุ**และอากาศธาตุนั้น เราจักอาศัยกำลังแห่งจริยาปณิธานของพระสมันตภัทร ยังให้เกิดศรัทธาอันน้อมไปอย่างยิ่งยวด***ประดุจพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ประทับอยู่เบื้องหน้าแล้วใช้การกระทำแห่งกายวาจาและใจที่บริสุทธิ์หมดจด ทำการเคารพนอบน้อมอยู่สม่ำเสมอ
๑. เคารพในพระพุทธเจ้าทั้งปวง
อันพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้น ล้วนปรากฏพระวรกายเท่ากับจำนวนปรมาณูธุลีที่มีอยู่ในพุทธเกษตรทั้งปวง อันจะกล่าวถึงจำนวนด้วยวาจามิได้ ในกายหนึ่ง ๆ ของเรานั้น ก็จักวันทนานอบน้อมอยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าจำนวนเท่ากับปรมาณูธุลีที่มีอยู่ในพุทธเกษตรทั้งปวงนั้น อันจะกล่าวถึงจำนวนด้วยวาจามิได้ จนอากาศธาตุสิ้นไปแล้วการวันทนาของเราจึงจักสิ้นสุด แต่เหตุเพราะอากาศธาตุนั้นมิอาจสิ้น การนอบน้อมวันทนาของเรานี้จึงไม่สิ้นสุด เช่นนี้เรื่อยไปจนถึงการอวสานแห่งสัตวธาตุการอวสาน
*คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต
**ธรรมธาตุ ธาตุคือธรรม จักรวาลทั้งหมดอันอยู่ในขอบข่ายของธรรม คือสภาวะความจริงสูงสุด ไม่เกิด ไม่ดับ
***คืออธิมุกติ
แต่เหตุเพราะอากาศธาตุนั้นมิอาจสิ้น การนอบน้อมวันทนาของเรานี้จึงไม่สิ้นสุด เช่นนี้เรื่อยไปจนถึงการอวสานแห่งสัตวธาตุการอวสานแห่งกรรมธาตุ การอวสานแห่งกิเลสธาตุนั้นแล การนอบน้อมวันทนาของเราจึงจักอวสาน แต่ทว่าสัตวธาตุจนถึงกิเลสธาตุนั้น มิอาจอวสานการนอบน้อมวันทนาของเรานี้จึงไม่สิ้นสุด ระลึกสืบเนื่องอยู่ไม่ขาดสิ้น จักมีการกระทำแห่งกาย วาจา ใจ ที่ไม่รู้เบื่อหน่ายเลย
๒. “สรรเสริญพระตถาคต”
ดูก่อนกุลบุตร อันการ “สรรเสริญพระตถาคต” นั้นคือในบรรดาปรมาณูธุลีหนึ่ง ๆ ที่มีอยู่ในโลกธาตุทั้งปวง ในทศทิศ ในกาลทั้งสาม ตลอดสิ้นทั้งธรรมธาตุ และอากาศธาตุนั้น ล้วนมีโลกธาตุทั้งปวง และมีพระพุทธเจ้าจำนวนเท่าปรมาณูธุลี ประทับอยู่ภายใน แต่ละพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ๆ ยังมีหมู่โพธิสัตว์ เปรียบด้วยห้วงมหาสาคร* แวดล้อมอยู่ เราจักอาศัยศรัทธาอันน้อมไปอย่างคัมภีรภาพ ยังให้ได้รู้เห็นยังเบื้องหน้า ต่างก็ใช้อินทรีย์คือชิวหา ที่ยิ่งกว่าชิวหาอันวิเศษแห่งนางสุรัสวดีเทวกัญญา โดยแต่ละชิวหาหนึ่ง ๆ เปล่งสัทสาคร คือเสียงสำเนียงที่ไม่มีประมาณ แต่ละเสียงหนึ่ง ๆ ก็เป็นศัพทสาคร คือ คำศัพท์ที่ไม่มีประมาณ สรรเสริญสดุดีพระคุณสาครอันไม่มีประมาณของพระตถาคตทั้งปวง จนถึงที่สุดของอนาคตภาคเรื่อยไปไม่สิ้นสุด ตลอดสิ้นทั่วธรรมธาตุนั่นแล
ดั่งเช่นอากาศธาตุได้อวสานลง สัตวธาตุได้สิ้นลง กิเลสธาตุของหมู่สัตว์ได้สิ้นลง การสรรเสริญของเราจึงอวสานจบสิ้น แต่ทว่าอากาศธาตุตลอดถึงกิเลสธาตุไม่มีจบสิ้นการสรรเสริญของเรานี้จึงไม่จบสิ้น ระลึกสืบเนื่องอยู่ไม่ขาดสิ้น จักมีการกระทำแห่งกาย วาจา ใจ ที่ไม่รู้เบื่อหน่ายเลย
*สาคร, มหาสมุทร เป็นสํานวน เปรียบว่ามีจํานวนมากมาย เหมือนห้วงแห่งมหาสาครกว้างออกไปไม่มีขอบเขตและลึกหยั่งวัดไม่ได้
พระวิศวภัทร แปล
Aputi.com ภาพ
โฆษณา