16 ม.ค. 2022 เวลา 12:00 • การศึกษา
ตอนที่ 1 – ประเด็นดอกเบี้ยเช่าซื้อไม่เกิน 15%
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฉบับใหม่ เพื่อกำหนดแนวทางธุรกิจเช่า ซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร
คุมดอกเบี้ยเช่าซื้อไม่เกิน 15%
โดยมีเจตจำนงในการดูแลผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่เหมาะสมและเป็นธรรม เนื่องจากสถิติการรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคของ สคบ. ในภาคการเงินส่วนใหญ่กว่า 30% มาจากธุรกิจบริการให้เช่าซื้อ
ประกอบกับยังไม่มีหน่วยงานทางการที่กำกับดูแลผู้ให้บริการเช่าซื้อที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอย่างชัดเจนในขณะนี้ อย่างไรก็ดีมีเสียงสะท้อนหลายประเด็นในระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะและผู้ประกอบการ
ซึ่งในบทความตอนที่ 1 นี้ ขอเลือกประเด็น “เพดานอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี" มาแบ่งปันเพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องนี้กันก่อน
One Rate not Fit for All: เพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ 15% ต่อปี อาจสะเทือนตลาดสินเชื่อรากหญ้า
โดยเฉพาะตลาดเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ (ที่มีลูกค้าใหม่ในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย) และตลาดเช่าซื้อรถใช้แล้ว
โดยในปัจจุบัน กรอบดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์อยู่ที่ระดับประมาณ 32-35% ต่อปี ขณะที่กรอบดอกเบี้ยเช่าซื้อสำหรับรถใช้แล้วจะมีช่วงดอกเบี้ยค่อนข้างกว้างประมาณ 7-24% ซึ่งจะแปรผันตามอายุและรุ่นรถ
ซึ่งจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถใช้แล้วจะอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับเพียง 4-7% ต่อปี
อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงเบื้องหลังของอัตราดอกเบี้ยที่สูงสำหรับการเช่าซื้อรถบางประเภท (อาทิ จักรยานยนต์ และรถมือสอง) ก็คือ ส่วนชดเชยให้กับผู้ประกอบการ ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้นในประกอบธุรกิจกับลูกค้ารายย่อย โดยมีประเด็นสำคัญๆ จาก
>>> การปิดความเสี่ยงด้านลูกค้า
ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยและไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ที่แน่นอน อาจประกอบอาชีพรับจ้างที่ได้ค่าแรงตามจำนวนวันทำงาน และประกอบอาชีพอิสระ
เช่น เกษตรกร ลูกจ้างร้านอาหาร ลูกจ้างโรงงาน พ่อค้าหาบเร่ แผงลอย รวมทั้งมีความเสี่ยงหนี้เสียที่สูงมาก (จากสถิติเครดิตบูโรก่อนปี 2560 ที่รวบรวมโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า
หนี้เสียของการให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์มีสัดส่วนสูงถึง 37.2% เทียบกับหนี้เสียของธุรกิจเช่าซื้อรถในระบบธนาคารพาณิชย์ขณะนั้นที่ต่ำเพียง 2% ของยอดคงค้างสินเชื่อ)
>>> ความเสี่ยงของหลักประกัน
การให้เช่าซื้อรถนอกจากมีค่าเสื่อมตามอายุการใช้งานแล้ว รถบางประเภทยังมีข้อจำกัดในการติดตามคืนได้ยาก
โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ เนื่องจากสามารถแปลงสภาพง่าย ถอดรถออกเป็นชิ้นส่วนได้สะดวก ทำให้เมื่อลูกหนี้จงใจขาดการติดต่อ จึงยากต่อการติดตามทวงถาม
>>> ต้นทุนการดำเนินงานที่สูงกว่าตามการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก ​
ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่าในท้ายที่สุด สคบ. จะพิจารณาข้อเสนอจากฝั่งผู้ประกอบการที่ขอให้แยกกำหนดเพดานดอกเบี้ยตามประเภทรถหรือไม่อย่างไร
ซึ่งหากอัตราที่ทางการกำหนดไม่สามารถชดเชยต้นทุนและความเสี่ยงที่แท้จริงของธุรกิจได้ คงยากที่ผู้ประกอบการจะสามารถให้บริการเช่าซื้อได้ภายใต้เงื่อนไขธุรกิจดังที่เคยเป็นมา
โดยอาจนำไปสู่การปรับตัวในหลายมิติเพื่อควบคุมความเสี่ยงของการให้เช่าซื้อรายใหม่ โดยเฉพาะความพยายามคัดกรองลูกค้าอย่างระมัดระวังและเพิ่มความเข้มงวดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการจ่ายเงินดาวน์ และอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ ซึ่งในท้ายที่สุดคงยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อลูกค้าโดยรวมได้ อีกทั้งยังอาจมีผลต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องในภาคการผลิตรถและชิ้นส่วนที่รองรับตลาดในประเทศ
รอบหน้ามาติดตามประเด็นร้อน สคบ.-เช่าซื้อ ในอีก 3 เรื่อง ดังนี้
(1) การคืนรถจบหนี้ ซึ่งอาจชักนำให้เกิดปัญหาด้านจริยธรรม (Moral Hazard) ของลูกค้า
(2) การ Haircut ติ่งหนี้ที่เหลือหลังขายทอดตลาด ซึ่ง สคบ. เสนอให้ผู้ให้บริการเช่าซื้อและผู้เช่าซื้อร่วมรับภาระส่วนสูญเสียคนละครึ่ง
(3) การให้ส่วนลดปิดบัญชีก่อนกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีส่วนลด 50% แต่ สคบ. เสนอให้ปรับเพิ่มเป็น 80% ของดอกเบี้ยตามสัญญาที่ยังไม่เกิดขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด
#KResearch #KBankLive
ขอบคุณภาพจาก Shutterstock.com
โฆษณา