4 ธ.ค. 2021 เวลา 11:13 • การเมือง
ผมขอเชียร์แอมเนสตี้ เหมือนผมเชียร์ประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การเคารพคนและเห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญ มีคำกล่าวว่า “คนเห็นคนเป็นคนนั่นแหละคน คนเห็นคนใช่คนชอบกลนัก” คนทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่ว่าจะใหญ่โตหรือมั่งมีแค่ไหน ก็คนเหมือนกัน ตายเหมือนกัน การไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของคน การมองคนว่าไม่เท่าเทียมกัน ถือเป็นเรื่องที่ชอบกลนัก ดังนั้นผมจึงชอบแอมเนสตี้ เพราะแอมเนสตี้เห็นคนเป็นคนและพยายามช่วยคนที่ถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน
โคทม อารียา : ขอเชียร์แอมเนสตี้
ในประเทศไทย แอมเนสตี้มีสถานะเป็นสมาคม เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย และก็เป็นหน่วยงานที่ทำงานประสานสอดคล้องกับ แอมเนสตี้ สากล (Amnesty International) หรือจะเรียกเป็นสมาชิกขององค์กรสากลก็ว่าได้ แต่มิใช่สมาชิกในนัยที่ว่าอยู่ในสายบังคับบัญชาของสำนักงานใหญ่ หากเป็นหนึ่งในสมาชิกที่ก่อตั้งขึ้นและมีคณะกรรมการบริหารของตน ปัจจุบันมีสำนักงานของสมาชิกประมาณ 70 แห่งทั่วโลกที่ดำเนินการในกรอบของวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารของแต่ละแห่ง
แอมเนสตี้สากลก่อตั้งขึ้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว โดยเป็นการริเริ่มของทนายความชาวอังกฤษชื่อ ปีเตอร์ เบเนนสัน จากการเขียนบทความเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาชาวโปรตุเกสสองคนที่ถูกรัฐบาลเผด็จการในขณะนั้นจับติดคุก เพียงเพราะดื่มเหล้าและชนแก้วสดุดีเสรีภาพ จุดเริ่มต้นได้บ่งชี้การไม่มีพรมแดน เราทุกคนน่าจะรู้สึกเดือดร้อนเมื่อมีใครคนหนึ่งถูกอำนาจเผด็จการจับเข้าคุกอย่างไม่เป็นธรรม เพียงเพราะเขาท้าทายอำนาจที่ไม่เป็นธรรมนั้น แต่ผู้มีอำนาจจะบอกว่านี่เป็นการบ่อนทำลายรัฐ หรือความมั่นคงของประเทศ เพราะผู้หลงอำนาจมักคิดว่าตัวเองคือรัฐ และความมั่นคงในการเถลิงอำนาจของตนเอง คือความมั่นคงของประเทศ
คำว่า แอมเนสตี้เป็นคำที่ไพเราะ แปลเป็นไทยได้ว่า “นิรโทษกรรม” หรือการกระทำที่ทำให้ไม่มีโทษ ในทางกฎหมายก็คือ การไม่มีโทษให้ต้องรับผิดทางแพ่ง หรือไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือในทางอาญาก็มิต้องให้รับโทษอาญาเช่นกัน แต่ความไพเราะของคำคำนี้ไม่เชิงอยู่ในนัยทางกฎหมาย แต่เป็นนัยทางจิตวิญญาณที่เปิดกว้าง ถ้าเขาทำผิด รู้ว่าผิด พร้อมจะกลับตัวกลับใจ เราควรโอบรับเขาให้กลับมาสู่เส้นทางของคนธรรมดา เราทุกคนเคยทำผิด รู้สึกผิด เคยถูกความรู้สึกผิดกัดกร่อนจิตใจ ถ้าคิดเช่นนี้ เราคงมีความกรุณาในการนิรโทษกรรมแก่ผู้อื่น เหมือนกับที่เราอยากพ้นทุกข์ ถ้าคนอื่นยอมนิรโทษกรรมให้แก่เรา
ผมมีภาพจำเกี่ยวกับองค์กรแอมเนสตี้อยู่สองสามภาพ ภาพแรกคือการต่อต้านโทษประหารชีวิตที่แอมเนสตี้สากลดำเนินงานจนประสบความสำเร็จมากขึ้นตามลำดับ ชาวโลกจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นว่าการประหารชีวิตคือการละเมิดสิทธิในชีวิตที่ถือเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ ทุกศาสนาบัญญัติห้ามการตัดชีวิต แต่ทางการเมือง บางประเทศถือว่าทำได้ แต่กระนั้น การประหารชีวิตคือการปิดโอกาสการนิรโทษกรรมอย่างเด็ดขาดถาวร
ภาพจำที่สองคือความพยายามของแอมเนสตี้ที่จะให้ความช่วยเหลือกแก่นักโทษทางมโนธรรมสำนึก (prisoner of conscience) การชนแก้วเพื่อสดุดีเสรีภาพเป็นเรื่องของมโนสำนึก หรือในศัพท์แสงปัจจุบันคือการแสดงออกทางความคิดเห็น ซึ่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรับรองไว้ ผู้ใช้สิทธิเช่นนี้ไม่ควรถูกจำคุก อย่างไรก็ตาม เผลอๆ พวกเขาอาจถูกอำนาจนิยมตั้งข้อหาว่ามีเจตนาแอบแฝงที่เห็นชัดว่าประสงค์จะล้มล้างฝ่ายที่มีอำนาจ
ภาพจำที่สามคือวิธีการที่แอมเนสตี้นิยมใช้มาแต่ต้น คือในสถานการณ์ที่อำนาจนิยมครองบ้านครองเมือง คนที่อยู่ในบ้านเมืองเช่นนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกอำนาจนิยมพาลเข้าใส่ กุศโลบายของแอมเนสตี้สากล คือ การให้คนที่นอกบ้านเมืองนั้นๆ เป็นผู้ทักท้วงการใช้อำนาจผิดทำนองคลองธรรม คือเป็นผู้ทักท้วงแทนคนที่อยู่ในบ้านเมืองนั้นเอง
สำหรับบ้านเรา แอมเนสตี้เคยมีการทักท้วงที่สำเร็จ เมื่อคนจากประเทศอื่นๆ พากันทักท้วงเข้ามา เพราะเขาประจักษ์อยู่เองแล้วว่า ผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นนักโทษทางมโนธรรมสำนึก นักศึกษาใช้สิทธิในการแสดงออกทางการเมือง แต่รัฐบาลสมัยนั้นก็คุมขังพวกเขาหลังจากที่ได้อำนาจมาโดยการรัฐประหาร แล้วเอานักศึกษาเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ คนต่างชาติตั้งคำถามในเชิงว่าใครผิดกันแน่ แต่เอาเถอะ เพื่อประโยชน์ในทางนิรโทษกรรม ถือว่าผู้นำนักศึกษาและผู้ทำรัฐประหารไม่ผิดทั้งคู่จะได้ไหม เห็นได้ว่าในการรณรงค์เช่นนี้ ไม่มีคนในประเทศ “ชักศึกเข้าบ้าน” ไปยุยงให้คนต่างประเทศเกลียดชังประเทศของตนก็หาไม่ เพราะเรื่องนี้ไม่ต้องยุยง เขาเห็นจะแจ้งอยู่เองแล้วว่าไม่เป็นธรรม ในเรื่องนี้ แอมเนสตี้สากลได้รณรงค์จนมีการปล่อยผู้นำนักศึกษาออกจากเรือนจำในที่สุด ขอขอบคุณรัฐบาลชุดที่ตัดสินใจ
นิรโทษกรรม เพื่อประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันของชนในชาติ
ในหนังสือชื่อ “แด่จริยธรรมแห่งความคลุมเครือ” ที่เขียนโดยนักเขียนชาวฝรั่งเศสชื่อ ซีโมน เดอ โบวัวร์ มีการกล่าวถึงมนุษย์ที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ตกต่ำ (sub-men) อย่างน่าสนใจและสอดคล้องกับความคลั่งไคล้ที่นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และอาจสอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน
โดยซีโมนเขียนว่า มนุษย์ผู้ตกต่ำ “จะลี้ภัยไปอยู่กับคุณค่าที่เสร็จสรรพแล้วของโลกที่เคร่งคุณค่า เขาจะอวดอ้างความคิดเห็นบางประการ เขาจะหลบอยู่เบื้องหลังป้ายชื่อ และเพื่อซ่อนความไม่แยแสของเขา เขาจะปล่อยตัวไปกับความรุนแรงทางวาจาได้โดยง่าย หรือถึงกับแสดงความพลุ่งพล่านทางกาย เมื่อวานเขานิยมราชา วันนี้นิยมอนาธิปไตย เขาพร้อมอาสาเป็นผู้ต้านยิว ผู้ต้านสงฆ์ ผู้ต้านสาธารณรัฐ ดังนี้ แม้ว่าเราจะได้นิยามมนุษย์ผู้ตกต่ำว่าเหมือนการปฏิเสธและการหนี แต่เขาหาใช่คนไร้พิษสงไม่ เขาทำให้ตนมีตัวตนในโลกนี้ในฐานะพลังที่มืดบอด ไร้ควบคุม ซึ่งไม่ว่าใครก็ตามอาจฉวยมาใช้ได้ เขาถูกใช้ในการลงประชาทัณฑ์ ในการรุมทำลายชุมชนยิว (pogrom) การเคลื่อนไหวสำคัญๆ อันโชกเลือดแต่ไม่เสี่ยงทั้งหลายที่จัดขึ้นโดยคตินิยมคลั่งไคล้ของความเคร่งคุณค่าและอารมณ์แรง ก็จะจัดหาผู้ออกแรงจากบรรดามนุษย์ผู้ตกต่ำเหล่านี้”
เหตุขัดแย้งปัจจุบัน สืบเนื่องมาจากการที่เอมเนสตี้ดำเนินงานตามวิธีเดิม คือให้คนในประเทศถอยห่างออกมาระดับหนึ่งและให้คนต่างประเทศเข้าร่วมรณรงค์ ตามโครงการ Write for Rights คือขอให้เขียนหนังสือมาช่วยพิทักษ์สิทธิ์ บังเอิญเป็นจังหวะที่นักศึกษาและเยาวชนจำนวนมิใช่น้อย ถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาทางการเมือง พอมีหนังสือถึงผู้นำประเทศขอให้ทบทวนทั้งข้อกฎหมายและข้อปฏิบัติ อย่าให้มองได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิการแสดงออกทางการเมืองที่รับรองโดยหลักสากล ผู้นำไม่ชอบถูกทักท้วง เลยตีความว่า แอมเนสตี้ประเทศไทยถือดีอย่างไร จึงไปยุยงให้คนต่างชาติเกลียดไทย และผูกเรื่องไปว่า ในการประชุมของสภาสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ มีตัวแทนประเทศตะวันตกบางประเทศที่ตั้งคำถามและขอให้พิจารณาทบทวนมาตราต่างๆ ของกฎหมายอาญาในเรื่องความมั่นคง ประกอบกับรัฐบาลไทยที่ประกาศแล้วว่าเป็นประชาธิปไตย
แล้วไฉนองค์กร เช่น มหาวิทยาลัย Wurzburg ของเยอรมัน และ Freedom House ต่างระบุว่าคุณภาพประชาธิปไตยของไทยอยู่ในระดับอำนาจนิยมมากกว่าประชาธิปไตย และมีเหตุทำให้ขุ่นเคืองขึ้นไปอีก กล่าวคือ ในการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกาจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 9 – 10 ธันวาคม 2564 มีประเทศที่ได้รับเชิญ 110 ประเทศ แต่ไม่มีประเทศไทย โฆษกฝ่ายไทยบอกว่าเราเคารพสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว แต่ในใจผู้นำคงมีอารมณ์โกรธที่พาไปให้สั่งให้มีการตรวจสอบแอมเนสตี้ในเรื่องการดำเนินงานตามธรรมนูญของสมาคมแอมเนสตี้ และความโปร่งใสทางการเงิน มีประโยคหนึ่งที่พูดออกมายามขุ่นเคืองว่า เราจะปล่อยให้ใครมาคิดล้มล้างสิ่งที่เราเทิดทูนไม่ได้ แนวคิดเช่นนี้น่าวิตกอย่างยิ่ง
คงจำกันได้ว่าในระหว่างการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 โฆษกรัฐบาลแสดงแผนผังการล้มเจ้าของผู้นำการชุมนุมบางคน ที่แสดงการโยงใยเป็นเครือข่ายขึ้นมา ไม่ว่าแผนดังกล่าวมาจากฝ่ายช่างคิด หรือช่างสมคบคิด แต่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการสลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคมของปีดังกล่าว มาบัดนี้ มีการยกประเด็นว่า เยาวชนผู้นำการประท้วงรัฐบาลมีเจตนาแอบแฝงในการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็เกิดอารมณ์แรงขึ้นในฝ่ายผู้รักสถาบันฯ
ซีโมนใช้ประโยคที่ว่าเกิด “ความพลุ่งพล่านทางกาย เมื่อวานเขานิยมราชา วันนี้นิยมอนาธิปไตย เขาพร้อมอาสาเป็นผู้ต้านยิว ผู้ต้านสงฆ์ ผู้ต้านสาธารณรัฐ” ผู้ที่มีอารมณ์พลุ่งพล่านบางคน เมื่อวานต่อต้านคอมมิวนิสต์ วันนี้ต่อต้านประเทศตะวันตกที่ถือว่าเข้ามาแทรกแซง เมื่อวานอยู่กับทักษิณ วันนี้อยู่กับฝ่ายโค่นล้มทักษิณ เมื่อวานอยู่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย วันนี้อยู่ฝ่ายอำนาจนิยม หรือยอมรับประชาธิปไตยที่ไม่เสรี (illiberal) แม้แต่เลือกชอบการปกครองของจีน
เหตุการณ์ที่เป็นข่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 กลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบันและเครือข่ายปกป้องสถาบัน 6 องค์กร ได้มายื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล ขอให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบการทำงานขององค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ว่ามีพฤติกรรมการกระทำเข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ นายเสกสกล พูดกับผู้มายื่นหนังสือความตอนหนึ่งว่า “ถ้าผมไล่แอมเนสตี้ฯ ออกนอกประเทศไม่ได้ จะลาออกจากตำแหน่ง เพื่อมาขับเคลื่อนร่วมกับพี่น้องประชาชนและไล่แอมเนสตี้ฯ ออกไป”
ในเรื่องนี้แอมเนสตี้ให้ข้อมูลโดยหวังลดความเคลือบแคลงใจว่า
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ บางคนเข้าใจผิดว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รับเงินมาจากรัฐบาลต่างประเทศ แต่เงินทุนสำหรับการจัดกิจกรรมนั้นล้วนมาแต่การรับบริจาคของบุคคลทั่วไป และค่าสมัครสมาชิกในแต่ละปี แอมเนสตี้ เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร และปฏิเสธที่จะรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือแหล่งทุนอื่นๆ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่รณรงค์ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมือง หรือลัทธิใดๆ เน้นทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทำงานมาแล้ว 60 ปี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพสำหรับการรณรงค์ต่อต้านการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และรางวัลองค์การสหประชาชาติสาขาสิทธิมนุษยชน และเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับและให้ความเชื่อถือ องค์กรฯสามารถจัดส่งผู้แทนไปพบรัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ และมีส่วนร่วมในการอภิปรายในประเด็นสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ
ก่อนจบ ขอยกคำกล่าวของวินสตัน เชอร์ชิลว่า “ได้มีการทดลองรูปแบบการปกครองมาแล้วหลายรูปแบบ … ไม่มีใครอ้างว่า ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบและเปี่ยมด้วยปัญญาญาณ อันที่จริงมีการกล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่แย่ที่สุด แต่ก็แย่น้อยกว่ารูปแบบอื่นๆ ที่เคยทดลองใช้กันมาครั้งแล้วครั้งเล่า” แอมเนสตี้ย่อมไม่สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาในหลายๆ ประเทศ ผู้มีอำนาจได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งแล้วครั้งเล่า แต่อำนาจย่อมเป็นอนิจจัง ใครจะแน่ใจได้ว่าจะไม่มีวันถูกอำนาจรังแก ถึงวันนั้นอาจจะนึกว่า มีองค์กรที่คอยช่วยเหลืออย่างแอมเนสตี้ไว้ดีกว่าไม่มี คำถามมีอยู่ว่า การขับไล่แอมเนสตี้ทำให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงในทางที่ดีขึ้นหรือในทางที่เสียในสายตาของคนส่วนใหญ่ในโลก
ผมจึงอยากให้แอมเนสตี้อยู่ต่อ และขอยกแก้วน้ำเปล่าเชียร์แอมเนสตี้ 3 หนครับ
โฆษณา