7 ธ.ค. 2021 เวลา 01:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ราคาค่าขนส่ง” เริ่มปรับลดลงท่ามกลางการแพร่ระบาดของ Omicron
1
📌 โอมิครอน
โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ตรวจพบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ ได้ตรวจพบในหลายประเทศแล้วตอนนี้ สร้างความท้าทายครั้งใหม่ให้กับรัฐบาลทั่วโลกอีกครั้งในการจำกัดการแพร่ระบาด ในสหรัฐอเมริกา นิวยอร์กกลายเป็นรัฐที่ 5 ที่ยืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนรัฐอื่นๆ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย มินนิโซตา โคโลราโด และฮาวาย
4
ด้วยเหตุนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกนโยบายเพิ่มเติม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยให้ชาวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้ามาในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วหรือยังไม่ฉีด จะต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ ที่ตรวจภายใน 24 ชั่วโมงก่อนการเดินทางมาถึงสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังยืดระยะเวลาของข้อบังคับที่ให้ใส่หน้ากากอนามัยขณะนั่งเครื่องบิน รถไฟ หรือรถประจำทางไปจนถึงช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า
ทางด้านประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้รายงานผู้ติดเชื้อโอมิครอนสองรายแรกแล้ว ทำให้รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องปิดประเทศและออกมาตรการไม่ให้มีการจองตั๋วเครื่องบินขาเข้า อย่างไรก็ตาม คำสั่งห้ามจองตั๋วดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปหลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งภายในและภายนอกประเทศว่าข้อจำกัดดังกล่าวนั้นเข้มงวดเกินไป ญี่ปุ่นอนุญาตให้เดินทางเข้ามาได้โดยมีจำนวนจำกัดที่ 3,500 คนต่อวัน สำหรับชาวญี่ปุ่นเองหรือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ส่วนประเทศจีนและประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน (ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2564) เนื่องจากจีนยังคงใช้นโยบาย Zero-COVID และไทยได้มีการห้ามไม่ให้ผู้เดินทางจากประเทศแอฟริกาใต้กว่า 8 ประเทศเดินทางเข้าไทย
4
สำหรับในตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเร่งหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดประเภทโอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่มีความน่ากังวล (Variant of Concern) เพราะว่าในประเทศแอฟริกาใต้สายพันธุ์นี้สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่าสายพันธุ์นี้อาจมีความรุนแรงลดลงและไม่ทำให้เสียชีวิต ซึ่งจะสอดคล้องกับพฤติกรรมของไวรัสตัวอื่นในอดีตที่ค่อยๆ มีความรุนแรงลดลงหลังมีการกลายพันธุ์
รูปที่ 1: ข้อมูลการแพร่ระบาดในประเทศแอฟริกาใต้ในช่วงที่ผ่านมา
📌 Supply Chain
นักวิเคราะห์มองว่าโอมิครอนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงได้ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงทั่วโลกเป็นผลมาจากการขาดแคลนพลังงาน ต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น และอุปสงค์ที่ฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญจากปีที่แล้วที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามอัตราค่าระวางเรือสำหรับสินค้าที่ส่งจากเอเชียไปสหรัฐฯ เริ่มปรับลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมปีนี้ไม่นานมานี้ ชี้ให้เห็นว่าข้อจำกัดด้านอุปทานเริ่มผ่อนคลายในระดับหนึ่ง
รูปที่ 2: อัตราค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากทวีปเอเชียไปยังสหรัฐอเมริกาลดลงต่ำสุดในรอบหลายเดือน
จากข้อมูลดัชนี Drewry World Container Index ล่าสุดวันที่ 2 ธันวาคม ค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จากเซี่ยงไฮ้ไปยังลอสแองเจลิสลดลง 4% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ค่าขนส่งจากเซี่ยงไฮ้ไปนิวยอร์กก็ลดลงถึงเกือบ 5% เช่นกัน
ดัชนี Baltic Dry Index (BDI) ซึ่งเป็นมาตรวัดค่าระวางเรือในเส้นทางการค้ารอบโลก ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาในเดือนพฤศจิกายนต่ำกว่าระดับ 2,700 ก่อนปรับขึ้นมาอยู่ที่ราว 3,115 ในเดือนธันวาคม (ยังต่ำกว่าช่วงเดือนตุลาคมที่พุ่งสูงถึง 5,650) การลดลงของ BDI ชี้ให้เห็นว่าต้นทุนการขนส่งสินค้าที่พุ่งสูงเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว
รูปที่ 3: ดัชนี Baltic Dry Index
📌 Manufacturing PMI
PMI ภาคการผลิตทั่วโลกลดลงมาอยู่ที่ 54.2 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากตัวเลขสามเดือนก่อนหน้า โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกันที่ดัชนีอยู่เหนือ 50
ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 58.3 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 59.1 แต่ยังคงอยู่ในแดนขยายตัว แต่อัตราการเติบโตของผลผลิตช้าที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ท่ามกลางความกังวลเรื่องปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ที่ลดลง
ในทำนองเดียวกัน PMI ของจีนลดลงจาก 50.6 ในเดือนตุลาคมเป็น 49.9 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 50.5 แม้ว่าโดยปกติแล้วเดือนพฤศจิกายนจะมีการฟื้นตัวตามฤดูกาล เนื่องจากจำนวนวันทำงานที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมที่มีการปิดทำการในช่วงสัปดาห์วันหยุดแห่งชาติ แต่กิจกรรมโรงงานลดลง เนื่องจากความต้องการที่ลดลงและการจ้างงานที่ลดลงส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนพลังงานได้เริ่มดีขึ้น เนื่องจากบริษัทถ่านหินได้เพิ่มกำลังการผลิต ดังนั้นจึงน่าจะเห็นกิจกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้น ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
PMI ภาคการผลิตทั่วไปของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 53.2 ในเดือนตุลาคมเป็น 54.5 ในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากอัตราการฉีดวัคซีนที่พุ่งสูงขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค COVID-19 ในขณะเดียวกัน PMI ภาคการผลิตของไทยลดลงเหลือ 50.6 ในเดือนพฤศจิกายนจาก 50.9 ในช่วงก่อนหน้า ท่ามกลางการยกเลิกข้อจำกัด COVID-19 และการเปิดประเทศอีกครั้ง
2
รูปที่ 4: ดัชนี Manufacturing PMI
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2564
ผู้เขียน :
ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ปรียา ชัชอานนท์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ :
จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา